จากผู้เพาะพันธุ์เป็ด สู่ ผู้พิชิตวิกฤติโอไมครอน - Forbes Thailand

จากผู้เพาะพันธุ์เป็ด สู่ ผู้พิชิตวิกฤติโอไมครอน

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Feb 2022 | 04:31 PM
READ 4100

ในสนามแข่งของเหล่าผู้ผลิตวัคซีนที่ทุกคนล้วนอยากจะเป็นฮีโร่ที่เอาชนะโควิด-19 สายพันธุ์ โอไมครอน ให้ได้ แต่ตัวเต็งในครั้งนี้ก็คงหนีไม่พ้นบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสเล็กๆ ที่ในใบประวัติของพวกเขามีทั้งธุรกิจเพาะพันธุ์เป็ด เพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องทดลอง และพัฒนาโปรตีนจากแมลง 

Valneva เป็นบริษัทย่อยแบบมหาชนของธุรกิจครอบครัวอย่าง Groupe Grimaud ประสบความสำเร็จในการทดสอบเบื้องต้น และสามารถขายวัคซีนให้กับคณะกรรมาธิการยุโรปได้ราวๆ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ วัคซีนของพวกเขาจัดการกับ โอไมครอน โดยการใช้ไวรัสเชื้อตาย ซึ่งเป็นวิธีแบบดั้งเดิม ต่างจากวัคซีนของ Moderna และ Pfizer

ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็หวังว่านี่จะช่วยทำให้ผู้ต่อต้านวัคซีนเนื่องจากหวาดกลัวเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหลายหันไปฉีดวัคซีน และช่วยให้โลกใบนี้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่ติดต่อกันง่ายเหลือเกินนี้มากขึ้นกว่าเดิม

มันมีแนวโน้มว่ามันจะมีผลบางอย่างในการต่อต้านโอไมครอน Naor Bar-Zeev รองผู้อำนวยการ International Vaccine Access Center Bloomberg School of Public Health จาก Johns Hopkins University กล่าวแต่จะขนาดไหน และต้านได้เต็มที่หรือไม่ นั่นก็ยังไม่ชัดเจนนัก

โอไมครอน เริ่มที่จะระบาดไปทั่วโลกในปี 2021 ในช่วงที่ทุกคนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ หลังจากที่ต้องล็อกดาวน์หนีโควิด-19 ที่คร่าชีวิตคนไปกว่า 5.6 คนทั่วโลก แม้ว่าโอไมครอนจะไม่ร้ายแรงเท่าโควิดสายพันธุ์ที่ผ่านๆ มา แต่ความสามารถในการแพร่กระจายอันรวดเร็วของมันนั้น ก็ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ต้องปวดหัวไม่ใช่น้อย 

การผลิตวัคซีนในห้องทดลองของ Valneva
 

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ณ เวลาที่เผยแพร่บทความนี้ (26 มกราคม 2022 บนเว็บไซต์ Forbes.com) มีรายงานกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 700,000 กรณีในสหรัฐอเมริกา และในอาทิตย์ที่เผยแพร่บทความนี้ ในสหรัฐฯ ก็มีตัวเลขผู้ป่วยในโรงพยาบาลสูงเป็นปรากฏการณ์ อีกทั้ง ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันโดยเฉลี่ยยังสูงกว่าตัวเลขช่วงที่สายพันธุ์เดลต้าจู่โจมอย่าหนักอีกต่างหาก

วัคซีนสักเข็มที่สามารถป้องกันเราจากโอไมครอนได้ดีกว่านี้อาจจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้การอยู่ในฝันร้ายที่เราต้องเผชิญไวรัสอันน่ากลัวสองปีนี้จบลงเร็วขึ้น

แต่เรื่องราวของ Valneva ก็ยังมีอะไรที่ดูทะแม่งๆ อยู่ เมื่อเดือนกันยายน ทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ยกเลิกสัญญาสั่งซื้อกับผู้ผลิตวัคซีนรายนี้  เนื่องจากทางบริษัทละเมิดข้อตกลงในการจัดหา ข้อกล่าวหาที่ทางบริษัทปฏิเสธ นอกจากนี้ผลจากการทอสอบเบื้องต้นของทาง Valneva มายังผลการทดสอบในห้องทดลอง ไม่ใช่ผลจากการทดสอบในมนุษย์เหมือนกับ Pfizer อีกทั้ง ยังมีการพิสูจน์พบว่าวัคซีนต่างๆ ที่เป็นผลผลิตจากเทคโนโลยีของ Valneva มีประสิทธิภาพในการต่อต้านโอไมครอนในชีวิตจริงน้อยกว่าในห้องทดลอง

ถึงแม้จะอย่างนั้นก็เถอะ ทางบริษัทเองก็ได้เซ็นข้อตกลงในการเป็นผู้จัดส่งวัคซีนถึง 60 ล้านโดสให้กับคณะกรรมาธิการยุโรป และอีก 1 ล้านโดสให้กับประเทศบาห์เรน โดยขณะนี้อยู่ในช่วงรอการอนุมัติ และคาดว่าจะสามารถส่งวัคซีนได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า ทาง Jefferies Group ธนาคารวาณิชธนกิจและบริษัทให้บริการด้านการเงินจาก New York คาดการณ์ว่า ดีลยุโรปครั้งนี้มีมูลค่าอยู่ที่ราวๆ 1 พันล้านเหรียญเลยทีเดียว 

อีกทั้ง หุ้นของ Valneva ที่เปิดซื้อขายบน Euronext ก็พุ่งขึ้นถึงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วอีกด้วย ณ ตอนนี้ ทาง Valneva กำลังพยายามจดทะเบียนอนุมัติการใช้วัคซีนโควิด-19 ของทางบริษัทอยู่ และคาดว่าจะสำเร็จภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม Groupe Grimaud ปฏิเสธที่จะออกความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น

Frédéric Grimaud

Groupe Grimaud ตั้งอยู่ที่ Loire Valley ในประเทศฝรั่งเศส ห่างจากกรุง Paris ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 250 ไมล์ และนำทีมโดยซีอีโอ Frédéric Grimaud โดย Forbes คาดว่าหุ้นที่ครอบครัว Grimaud ถืออยู่ในบริษัทของพวกเขามีมูลค่าอย่างน้อย 500 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ ทาง Groupe Grimaud ยังถือหุ้นใน Valneva อยู่ร้อยละ 13 ซึ่งตีเป็นมูลค่าประมาณ 230 ล้านเหรียญอีกด้วย

ทาง Valneva เองก็ยังได้อ้างว่าทางบริษัทมีรายได้ประจำปีมากกว่า 365 ล้านเหรียญ โดย 3 ใน 4 ของยอดขายและเงินค่าลิขสิทธิ์ที่พวกเขาได้รับนั้น มาจากนอกประเทศฝรั่งเศส

ก่อนที่จะมาวิจัยไวรัสโคโรน่า โดยปกติแล้ว Valneva เป็นผู้ชำนาญการเรื่องวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว พวกเขาวางจำหน่ายวัคซีนอหิวาตกโรคชนิดกิน และกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสชิคุนกุนยาซึ่งมียุงเป็นพาหะ ที่เป็นปัญหาที่ 100 ประเทศต้องเผชิญอีกด้วย นอกจากนี้ Valneva ยังกำลังอยูในช่วงพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคลายม์อีกด้วย

หลายปีที่ผ่านมา จุดโฟกัสหลักของ Groupe Grimaud คือการเพาะพันธุ์ปศุสัตว์ โดยบริษัทแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1966 โดยสองพี่น้องผู้เพาะเป็ดและภรรยาของพวกเขา และพวกเขาก็ได้ขยายธุรกิจนี้ได้ด้วยการรักษาสายพันธุ์เนื้อหายาก อย่างเป็ด กระต่าย  ไก่ต๊อก และนกพิราบ

ผู้เพาะพันธุ์เป็ดกลายมาเป็นผู้ผลิตวัคซีนได้อย่างไร?

ความจริงแล้ว ทั้งสองอุตสาหกรรมนี้ใกล้เคียงกันมากกว่าที่คิด โดยผู้ออกกฎเกณฑ์อาหารและยาทั่วโลก ส่วนมากมักจะใช้กฎดกณฑ์คล้ายๆ กัน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์บริโภคเหมือนกัน และการที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจทั้งสองนี้ได้ ก็ต้องมีทั้งการบริหารงานสุดวุ่นวาย การทดลองไม่หยุดหย่อน วิเคราะห์ผลลัพธ์เรื่อยๆ และตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยให้ได้ และทั้งสองธุรกิจยังมีระเบียบวินัยแสนเคร่งครัดอีกด้วย

ในปี 1970 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ชูโรงให้เป็ดของ Grimaud Freres เป็นมาตรฐานในการเพาะพันธุ์ และในปี 2005 ทางบริษัทก็ได้เข้าซื้อ Hubbard บริษัทด้านพันธุกรรมสัตว์ปีกที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ที่ขายพันธุ์พื้นเมืองอยู่ 

จุดมุ่งหมายของผมคือการเติบโตแบบออแกนิกและการเข้าซื้อกิจการ Frédéric Grimaud บอกกับ Poultry World เมื่อปี 2012 มันเป็นฝันของผมมาตลอดที่จะได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัทเพาะพันธุ์ไก่

การขาย Hubbard ให้กับ EW Group บริษัทสัญชาติเยอรมันในปี 2018 ของครอบครัว Grimaud มีนัยยะสำคัญมากๆ ต่อการรวมตัวในวงการเพาะพันธุ์สัตว์ปีก โดยผู้กุมบริษัท EW Group คือ Erich Wesjohann และครอบครัวของเขา ซึ่งเศรษฐีพันล้านคนนี้และครอบครัวของเขาอาจมีทรัพย์สินถึง 6.8 พันล้านเหรียญเลยทีเดียว

Groupe Grimaud

การเข้าซื้อ Hubbard ช่วยให้ EW Group และผู้เพาะพันธุ์ไก่เนื้อเชิงพาณิชย์อีกรายอย่าง Aviagen สามารถเข้ากุมตลาดหลักของตลาดพันธุกรรมไก่เนื้อทั่วโลกได้ถึงร้อยละ 70

มันทำให้คนตัวเล็กๆ ลำบากมากเลยล่ะ Matt Wadiak กล่าว Wadiak เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Blue Apron บริษัทแม่ของ Cooks Venture ซึ่งปัจจุบันกำลังพัฒนาไก่สายพันธุ์เจริญช้าของพวกเขาเองอยู่

Groupe Grimaud เริ่มผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ในปี 2000 โดยส่วนมากแล้ว ใช้เพื่อจัดการปัญหาดื้อยาปฏิชีวนะอันเนื่องจากการทำปศุสัตว์มากเกินไป

หลังจากที่ขาย Hubbard ไป Groupe Grimaud ก็หันมาให้ความสนใจกับการทดลองการเพาะเนื้อเยื่อจากเซลล์สัตว์ในห้องทดลองที่แสนแพงอีกครั้ง ธุรกิจเนื้อสัตว์จากห้องทดลองอาจดูเป็นธุรกิจที่แหวกแบรนด์ไปสักหน่อยสำหรับผู้ผลิตวัคซีนและผู้เพาะพันธุ์เป็ด แต่เนื้อสัตว์จากห้องทดลองจำเป็นต้องใช้เครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพในการผลิตเช่นเดียวกับการผลิตวัคซีน 

เนื่องจากบริษัทสตาร์ทอัพในตลาดเนื้อสัตว์จากห้องทดลองหลายบริษัทไม่สามารถเข้าถึงเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ เครื่องนี้กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในการผลิตวัคซีน แบรนด์ของ Groupe Grimaud จึงแซงโค้งไปแล้วระดับหนึ่ง โดยแบรนด์ของพวกเขาใช้ชื่อว่า Vital Meat 

นอกจากนี้ Groupe Grimaud ยังได้ทุ่มเงินลงทุนในพันธุกรรมแหล่งโปรตีนยั่งยืนอย่าง หนอนแมลงวันลาย อีกด้วย โดย Frédéric Grimaud เคยเขียนไว้ว่าเราเชื่อว่าสุขภาพมนุษย์ สวัสดิภาพสัตว์ และสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้มีสายใยใกล้ชิดกัน มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้หากไม่มีคววามสัมพันธ์ที่ดีกับสิ่งรอบๆ ตัวพวกเขา กลุ่มของเราก้าวไปข้างหน้าด้วยแนวคิดธุรกิจแบบเปิดปลายอันซึ่งเคารพชีวิตและโลกของเรา สถานที่ซึ่งเศรษฐกิจมีอยู่เพื่อรองรับมนุษย์

อนาคตกับโอไมครอน

Wall Street Journal ได้รายงานว่า ทาง Pfizer และ BioNTech ได้เริ่มทดสอบวัคซีนโอไมครอน โดยมีเป้าว่าจะผลิตให้ได้ 4 ล้านโดสภายในปีนี้ เมื่อต้นเดือนมกราคม ซีอีโอจากทั้งสองบริษัทได้กล่าวว่า พวกเขาคาดว่าวัคซีนบูสเตอร์นี้จะได้รับการอนุมัติในเดือนมีนาคม หากมีข้อมูลหนุนหลังเพียงพอ ส่วนทาง Moderna ก็ได้ให้ไทม์ไลน์ที่คล้ายๆ กันเมื่อเดือนธันวาคม

แต่ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนเหล่านั้น รวมทั้งของ Valneva ด้วย จะไม่ได้ผล หรือไม่ก็โอไมครอนจะกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ก่อนที่วัคซีนเหล่านั้นจะพร้อมกระจายใช้ทั่วไป หรือหากเกิดสายพันธุ์อื่นๆ ในอนาคตวิวัฒน์มาจากโอไมครอน เจ้าวัคซีนตัวนี้ก็จะกลายเป็นอาวุธที่มีค่าในคลังเครื่องมือต่อสู้กับโควิด-19 ได้เช่นกัน

วัคซีนของ Valneva มีข้อได้เปรียบตรงทีวัคซีนของพวกเขานั้น ไม่จำเป็นต้องแช่เย็นระหว่างขนส่ง และดูเหมือนว่าจะมีราคาต่ำกว่าวัคซีนที่ทาง Pfizer กำลังทดสอบอยู่อีกด้วย

Valneva อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะมีวัคซีนที่ต่างจากคนอื่นๆ Maury Raycroft นักวิเคราะห์ไปโอเทคโนโลยีแห่ง Jefferies Group กล่าวบางที จากการที่เรามีตัวเลือกเพิ่มขึ้นนี้ ซึ่งมันก็เป็นวัคซีนแบบดั้งเดิมซะด้วย น่าช่วยให้กลุ่มสุดท้ายนี้ฉีดวัคซีนซะที

แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ The French Duck Breeder That’s Helping To Vanquish Omicron เผยแพร่บน ​Forbes.com

อ่านเพิ่มเติม: Ian MacLachlan ฮีโร่วัคซีนโควิดผู้ถูกลืม


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine