‘Huawei’ ขาย ‘Honor’ หวังลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ - Forbes Thailand

‘Huawei’ ขาย ‘Honor’ หวังลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Nov 2020 | 06:30 PM
READ 4224

Huawei ผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอุปกรณ์อัจฉริยะรายใหญ่จากจีน ประกาศขายธุรกิจสมาร์ทโฟนแบรนด์ Honor ให้กับกลุ่มทุนสัญชาติจีน ที่มีรัฐบาลจีนให้การสนับสนุน

Shenzhen Smart City Technology Development Group

ที่ผ่านมา Huawei โดนข้อกล่าวหาจากทางการสหรัฐอเมริกาว่า ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยความมั่นคงของจีนให้ส่งเทคโนโลยีเข้ามา เพื่อล้วงเอาข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญาของคนอเมริกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีคำสั่งให้คนในหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ดังกล่าว พร้อมกับส่งคำเตือนไปยังประเทศพันธมิตร เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา อิตาลี ว่าอุปกรณ์และเทคโนโลยี 5G ของ Huawei อาจเป็นอันตรายต่อข้อมูลของคนในประเทศ

อย่างไรก็ดี ทาง Huawei ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และ Huawei กลับไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 อดีตประธานาธิบดี Donald Trump ได้ออกคำสั่งแบนบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกดังกล่าว

จากสาเหตุข้างต้น นักวิเคราะห์จึงประเมินว่า การประกาศขาย Honor ซึ่งเป็นธุรกิจลูกออกไป เป็นไปเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับ Honor ในการเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนในสหรัฐฯ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาการคว่ำบาตร แต่ในขณะเดียวกัน การตัดสินใจดังกล่าวก็ต้องแลกมากับการที่ Honor จะไม่สามารถเข้าถึงการใช้ทรัพยากรของ Huawei ในอนาคตอีกต่อไป

การปรับตัวในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อพยุงบริษัท Honor ให้อยู่รอด เพื่อลดผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตร ที่ส่งผลให้ Honor ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทางเทคนิคที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจสมาร์ทโฟน Huawei กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2020

โดย Shenzhen Smart City Technology Development Group ที่จะเข้ามาบริหาร Honor ต่อ เป็น การรวมตัวของตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Honor กว่า 30 รายโดย Huawei ระบุว่าพวกเขาจะเข้ามามีส่วนช่วยในการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ตลอดจนการเชื่อมโยงกับซัพพลายเออร์ เพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

ปัจจุบัน สมาชิกของ Shenzhen Smart City Technology Development Group กลุ่มทุนสัญชาติจีน ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ประกอบด้วย บริษัทด้านพลังงาน สาธารณสุข และการลงทุน ที่ต่างมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับรัฐบาล อาทิเช่น Suning.com Group บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สุดในจีน ที่ดำเนินธุรกิจประเภทกีฬา ค้าปลีก และสื่อความบันเทิง

ในที่นี้ Shenzhen Smart City Technology Development Group ได้กล่าวไว้ในแถลงการณ์ของตนว่า การบริหารในครั้งนี้จะอยู่บนพื้นฐาน “Market-Driven” ซึ่งหมายถึง การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้างความสามารถ ความเข้าใจ การจูงใจ และการรักษาฐานลูกค้าที่สำคัญ และในขณะเดียวกันก็จะดำเนินการ เพื่อรักษาห่วงโซ่อุตสาหกรรมของบริษัท อันได้แก่ ซัพพลายเออร์ ตัวแทนจำหน่าย และผู้บริโภค

การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ จะทำให้ Honor สามารถเชื่อมโยงซัพพลายเออร์รายต่างๆ อีกครั้งได้ก็จริง แต่ในขณะเดียวกันทางบริษัทจะไม่สามารถทำงานร่วมกับ” Huawei ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและการพัฒนา ตลอดจนการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ Kiranjeet Kaur นักจัดการอาวุโสฝ่ายอายวิจัยชาวสิงคโปร์จาก IDC’s Asia Pacific Client Devices Group กล่าว

นอกจากนี้ Kuar ยังกล่าวเสริมอีกว่าฉันไม่แน่ใจว่า Honor จะสร้างความแตกต่างจาก Huawei ในตลาดได้อย่างไร อีกทั้งแรงสนับสนุนจากรัฐบาลที่มีต่อกลุ่มทุนดังกล่าว ก็อาจจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อ Honor ได้เช่นกัน หากต้องการได้รับความยินยอมจากทางการสหรัฐฯ

ความจริงที่ว่า ดีลการซื้อขายนี้ไม่มีผู้ลงทุนในเชิงกลยุทธ์ แต่มีเพียงผู้เล่นที่เป็นกลุ่มทุน ซึ่งจำนวนมากมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ช่วยทำให้เห็นถึงตรรกะที่ซ่อนอยู่บางอย่าง Alexander Sirakov นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีการเงินชาวจีนกล่าว

Shenzhen Smart City Technology Development Group

ในทำนองเดียวกัน นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า มูลค่าการขายกิจการในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มกระแสเงินสดของ Huawei ได้เช่นกัน เพราะเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา มหาเศรษฐีพันล้าน Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Huawei กล่าวว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ส่งผลให้รายได้ของบริษัทลดลงกว่าพันล้านเหรียญเลยทีเดียว

โดยในปี 2019 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้เพิ่ม Huawei และบริษัทในเครืออีก 38 แห่ง เข้าร่วมในรายการที่เรียกว่า “Entity List” ที่ถือว่าเป็นรายการขึ้นบัญชีดำ (Trade Blacklist) เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทในจีนซื้อขายเทคโนโลยีในสหรัฐฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเป็นกรณีพิเศษ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2020 เป็นต้นไป

ขณะที่การเข้ารับตำแหน่งของว่าที่ประธานาธิบดี Joe Biden ในวาระต่อไป นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า โอกาสที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะทำการยกเลิกประกาศดังกล่าวมีอยู่ค่อนข้างน้อย เพราะเขาน่าจะให้ความสนใจกับประเด็นปัญหาภายในประเทศก่อน แต่มีแนวโน้มว่าคงไม่มีมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี ทาง Huawei ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เปิดเผยมูลค่าการขายกิจการครั้งนี้

Honor ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ในฐานะแบรนด์สมาร์ทโฟนราคาประหยัด ที่เน้นการเจาะตลาดออนไลน์ของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งสัญชาติจีนรายอื่นๆ โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 156 เหรียญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา Huawei มียอดขายแบรนด์สมาร์ทโฟนดังกล่าวมากถึง 70 ล้านเครื่องต่อปี  เราหวังว่าบริษัทใหม่ของ Honor จะนำมาซึ่งเกียรติยศแก่ผู้ถือหุ้น พาร์ทเนอร์และพักงานทุกคน

ล่าสุด ในไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2020 Huawei ได้ก้าวขึ้นมาครองส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในจีน จากการจัดอันดับโดย IDC ซึ่งนับเป็นการแตะจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ของ Huawei

แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Huawei Sells Honor Unit ‘To Ensure Its Own Survival,’ But Loses Smartphone Synergy เผยแพร่บน forbes.com อ่านเพิ่มเติม: บทสัมภาษณ์พิเศษ Kai-Fu Lee บุคคลผู้ทรงอิทธิพลด้าน AI