7 สายการบิน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทะยานสู่ความยั่งยืน - Forbes Thailand

7 สายการบิน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทะยานสู่ความยั่งยืน

ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนส่วนใหญ่คงหัวเราะเยาะเมื่อได้ยินคำว่า “ยั่งยืน” กับ “สายการบิน” อยู่ในประโยคเดียวกัน 


    “ณ วันนี้ เวลานี้ การบินอย่างยั่งยืนโดยสมบูรณ์ยังไม่เข้าใกล้ความจริงสักเท่าไหร่” Pedro Piris-Cabezas ผู้เชี่ยวชาญการคมนาคมนานาชาติและนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Environmental Defense Fund กล่าว

    แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอุตสาหกรรมการบินจะนิ่งดูดายต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสัญญาณเร่งด่วนในการปรับเปลี่ยนแนวทางต่างๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเข้มข้นขึ้นทุกวินาที

    “ตลอดสองสามปีมานี้ เป็นที่แน่นอนว่าความตระหนักรู้ของสาธารณะเรื่องผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการบินสร้างแรงกดดันต่อสายการบินต่างๆ ในการเสริมแกร่งกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของพวกเขา” Sola Zheng นักวิจัยการบินจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร International Council on Clean Transportation (ICCT) เผย

    เธอเสริมว่าแรงกดดันจากทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนกอปรกับกฎระเบียบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นได้สร้าง “แรงผลักดันสู่ความพยายามลดการปล่อยคาร์บอนจากสายการบิน” ในแวดวงอุตสาหกรรมด้านอากาศยาน

    ฝั่งบรรดานักสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึงแต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้ การบินพาณิชย์ซึ่งขนส่งผู้โดยสารมากกว่า 4.5 พันล้านคนต่อปีก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือผู้อยู่เบื้องหลังการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.5% ทั่วโลกในแต่ละปี โดยความต้องการเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญตามที่มีการคาดการณ์ไว้
“หากนับอุตสาหกรรมการบินเป็นประเทศแล้วละก็คงเป็นหนึ่งใน 10 อันดับแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยล่ะ” Piris-Cabezas ว่า

    เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว International Air Transport Association (IATA) หรือสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนสายการบินนานาชาติประมาณ 300 ราย ได้อนุมัติแนวทางในปี 2021 โดยมีจุดมุ่งหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050
นั่นหมายความว่ามลพิษที่ทำให้โลกร้อนในชั้นบรรยากาศปริมาณเท่ากับที่สายการบินต่างๆ ปล่อยออกมาจะหายไป ซึ่งตรงกับเป้าหมายของ UN อันเปรียบดังเดิมพันความเสี่ยงสูงที่มีไว้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะรักษา “สภาพอากาศที่อยู่อาศัยได้”

    กฎระเบียบใหม่ตลอดจนกฎที่ถูกวางแผนไว้โดยรัฐบาลก็มีส่วนในการสร้างสรรค์การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะในยุโรปซึ่งเที่ยวบินระยะสั้นต่างก็ถูกแบนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนประเทศเดนมาร์กและสวีเดนก็มีแผนจะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศก่อนปี 2030

    “ทั้งตัวอุตสาหกรรมและผู้ออกกฎระเบียบต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เหลือศูนย์ต้องสำเร็จภายในปี 2050” Nicolas Jammes โฆษก IATA กล่าว “อุตสาหกรรมการบินไม่มีทางเลือก มีแต่ต้องยั่งยืนหากต้องการเติบโตหรือดำเนินงานต่อไป”


ปี 2022 เครื่องบิน Airbus Beluga XL มีการใช้เชื้อเพลิงแบบยั่งยืนเป็นครั้งแรก


    Akbar Al Baker ซีอีโอแห่งสายการบิน Qatar Airways เผยกับ CNN เมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมการบินเป็นเสมือน “การบริหารบันทึกสถิติ” โดยจะมีการเฝ้าติดตามเพื่อให้ทันเส้นตายปี 2050

    “เราอย่าหลอกตัวเองกันดีกว่า” เขาว่า “เราไม่มีทางถึงเป้าที่วางไว้ในปี 2030 ด้วยซ้ำ ผมรับรองเลย เพราะว่าไม่มีวัตถุดิบพอจะผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ปริมาณมาก”
ส่วนสำคัญของปัญหาคือการที่อุตสาหกรรมการบินยังคงพึ่งพาเครื่องบินที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล “การบินอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องใช้พลังงานทางเลือก” Zheng กล่าว

    ซึ่งนั่นสอดคล้องกับการที่สายการบินต่างๆ พากันวางเดิมพันอันยิ่งใหญ่ในการสร้างแหล่งผลิตเชื้อเพลิงทางเลือกที่รักษ์โลกกว่าเก่า เพื่อต่อกรกับการปล่อยคาร์บอนของเที่ยวบินมากมายในอนาคต แน่นอนว่ารวมถึงเทคโนโลยีสำหรับรุ่นถัดไปอย่าง ไฟฟ้า ไฮบริด และที่ไกลกว่านั้นคือไฮโดรเจน “มีเทคโนโลยีเกิดใหม่มากมายพร้อมด้วยศักยภาพอย่างดีเยี่ยมในการลดการปล่อยคาร์บอน แต่พวกมันต่างก็อยู่ในระยะแรกเริ่มเท่านั้น” Zheng ว่า

    แนวทางที่ควรตอบรับที่สุดทั้งยังเป็นหลักสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมการบินคงไม่พ้นเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนคาร์บอนต่ำ (SAF) ทางเลือกแทนเชื้อเพลิงชีวภาพผลิตจากขยะและชีวมวลที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากสุดถึง 80%

    ขณะนี้กำลังมีการทดสอบในหลายสิบสายการบิน และทางสหภาพยุโรปก็กำลังจะประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับ SAF ในเร็วๆ นี้ เชื้อเพลิงดังกล่าวถูกวางบทเป็นตัวละครสำคัญโดยสามารถลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิของกลุ่มการบินพาณิชย์ให้เหลือศูนย์ในปี 2050 ได้ประมาณ 65%

    “มันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เหตุผลคือมันเป็นวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วเพียงหนึ่งเดียวในเวลานี้ในการลดคาร์บอน” Jammes โฆษก IATA กล่าว อย่างไรก็ตาม SAF ประสบปัญหาทรัพยากรที่จำกัด ค่าใช้จ่ายมหาศาล และความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยความซื่อสัตย์ในการผลิตต่ำ จากตัวเลขการบริโภคเชื้อเพลิงอากาศยานทั้งหมดของโลกในปี 2021 มีการใช้ SAF เพียง 0.1% เท่านั้น อ้างอิงข้อมูลจาก ICCT

    ท้ายที่สุดแล้ว บรรดานักสิ่งแวดล้อมต่างแนะนำว่าการยกเครื่องเรื่องลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินนั้นยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม และในตอนนี้ สิ่งที่นักเดินทางรักษ์โลกผู้เริ่มแสดงออกว่าเป็นกังวลเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการบินจำนวนมหาศาลเพิ่มมากขึ้น แต่พวกเขามีทางเลือกแค่ บินให้น้อยลง และพิจารณาวิธีการสัญจรเดินทางแบบอื่นที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมากกว่า

    Zheng กล่าวว่านักเดินทางที่ต้องบินควรมองหาเที่ยวบินที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลง ชี้ว่าเสิร์ชเอนจินด้านการเดินทางอย่าง Google Flights และ Kayak ตอนนี้สามารถแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหนึ่งผู้โดยสารจากการคำนวณควบคู่กับผลการค้นหาเที่ยวบินต่างๆ ได้แล้ว
เธอยังแนะนำว่าไม่ควรซื้อโปรแกรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) อันน่ากังขาของสายการบิน เธอบอกว่าโปรแกรมเหล่านี้มักจะไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดและเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางด้านธุรกิจกันอีกตามเคย ควรมองหาสายการบินที่มีการซื้อเครดิต SAF สะสมไว้โดยผ่านการรับรองมาแล้วมากกว่าเมื่อสามารถทำได้

    Piris-Cabezas เตือนว่าอุตสาหกรรมการบินมีการฟอกเขียว (Greenwashing) มากมาย และผู้บริโภคก็ควรกระตือรือร้นที่จะตรวจสอบหลักฐานรับรองสิ่งที่สายการบินต่างๆ กล่าวอ้าง ตลอดจนกดดันสายการบินทั้งหลายเพื่อความโปร่งใสในประเด็นของความยั่งยืน

    “การกล่าวอ้างว่ารักษ์โลกของสายการบินต่างๆ มักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่แผนกตรวจสอบข้อเท็จจริงของพวกเขาจะหาหลักฐานที่เชื่อถือได้มายืนยัน” เขาเผย

    Zheng เห็นด้วยทั้งยังเสริมว่า “จนกว่าเราจะได้เห็นการลดการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงเกิดขึ้น และอัตราการลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มสูงกว่าอัตราการปล่อยคาร์บอนในแวดวงคมนาคมนั้น การไปแปะป้ายใครสักคนในอุตสาหกรรมการบินว่าใส่ใจความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องชวนเข้าใจผิดเอามากๆ”

    อย่างไรก็ตาม Jammes กล่าวว่านักเดินทางผู้โดยสารเครื่องบินสามารถคาดหวังจะเห็นการพัฒนาอย่างรวดเร็วในภูมิทัศน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายการบินที่ยั่งยืนได้ “แน่นอนว่า คงไม่ได้มาโดยง่ายปราศจากความท้าทาย” และผู้บริโภคต้อง “เข้าใจว่ามันไม่สามารถเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน” แต่เขาบอกว่าพอพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใส่ใจความยั่งยืนแล้ว “อนาคตคงน่าตื่นเต้นมากทีเดียว”

    ขณะที่สายการบินทั้งหลายมีงานต้องทำมากมาย เจ็ดสายการบินเหล่านี้กลับล่วงหน้านำร่องความยั่งยืนด้านต่างๆ ในระยะแรกของการนำเทคโนโลยีเชื้อเพลิงทางเลือกมาใช้แล้ว ทั้งโปรแกรมการลดขยะจากอาหาร (food waste), เครดิต SAF, วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย



United Airlines


    United วางแผนเปิดตัวบริการเที่ยวบินระดับภูมิภาคของสหรัฐอเมริกาภายในปี 2028 โดยซื้อเครื่องบินไฟฟ้าไฮบริดรองรับผู้โดยสาร 30 คนจำนวน 100 ลำจากบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติสวีเดน Heart Aerospace

    เครื่องบินดังกล่าวเป็นหนึ่งในความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมไฟฟ้าและไฮโดรเจนหลายๆ อย่างที่ทางสายการบินสนับสนุน พร้อมกันนั้นก็ได้ลงทุนในการผลิต SAF ราว 5 พันล้านแกลลอน ซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่ายขนาดจิ๋ว (Microalgae) ทำให้ United เป็นสายการบินที่มีการทุ่มเทเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก

    เร็วๆ นี้สายการบิน United ได้ปล่อยกองทุนเพื่อเที่ยวบินที่ยั่งยืน (Sustainable Flight Fund) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารและคู่ค้าองค์กรร่วมลงทุนในการพัฒนา SAF โดยบนเว็บไซต์ของสายการบินตอนนี้มีการแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยประมาณควบคู่ไปกับผลการค้นหาเที่ยวบินต่างๆ



Wideroe


    Wideroe สายการบินสัญชาตินอร์เวย์อันเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคสแกนดิเนเวียเผยว่าพวกเขากำลังอยู่ระหว่างการเป็นสายการบินปลอดคาร์บอนโดยสมบูรณ์รายแรกของโลก

    อากาศยานไฟฟ้าทั้งลำที่พัฒนาร่วมกับผู้ผลิตเครื่องยนต์ Rolls-Royce พร้อมด้วยบริษัทการบินและอวกาศสัญชาติอิตาลี Tecnam เตรียมจะเข้ามาดำเนินงานแทนที่กองบินในประเทศของ Wideroe ทั้งหมดภายในปี 2028 โดยอากาศยานลำแรกเป็นเที่ยวบินลำเล็กสำหรับขนส่งระยะสั้นและบรรทุกผู้โดยสารได้ 11 คน จะเปิดตัวในปี 2026 (นอร์เวย์มีแผนเปลี่ยนเที่ยวบินระยะสั้นภายในประเทศทั้งหมดเป็นเครื่องบินไฟฟ้าก่อนปี 2040)



SAS


    ในขณะที่สายการบินมากมายยังเป็นมือสมัครเล่นเรื่องเครื่องบินไฟฟ้า สายการบินสแกนดิเนเวีย SAS ก็เป็นรายแรกที่เปิดจองตั๋วเที่ยวบินพาณิชย์ไฟฟ้าไฮบริดสำหรับปี 2028 ซึ่งจะใช้เครื่องบินจาก Heart Aerospace รองรับผู้โดยสาร 30 คน เส้นทางการบิน ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก
SAS เต็มไปด้วยเป้าหมายแสนทะเยอทะยาน หนึ่งในนั้นคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 25% ภายในปี 2025 ก่อนจะลดให้ได้ทั้งหมดทั่วสแกนดิเนเวียภายในปี 2030
สายการบิน SAS ยังสนับสนุนโปรเจ็กต์พัฒนาพลังงานสะอาดและ SAF อีกมากมาย และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้เสนอขายตั๋วพิเศษสำหรับผู้โดยสารที่จะรวมค่าเชื้อเพลิงชีวภาพเอาไว้ ปริมาณเชื้อเพลิงชีวภาพที่ถูกซื้อจะนำไปแทนที่ปริมาณเชื้อเพลิงฟอสซิลในการดำเนินงานต่างๆ ของ SAS



Wizz Air


    สายการบินราคาประหยัดจากยุโรป Wizz Air ประกาศว่าตนเองเป็นหนึ่งในสายการบินที่สร้างผลกระทบด้านการปล่อยคาร์บอนต่อผู้โดยสารหนึ่งคนน้อยที่สุด โดยเป็นความดีความชอบของกองบินใหม่สุดประหยัดน้ำมัน (ส่วนใหญ่คือเครื่องบิน Airbus A321neo อายุน้อยกว่าห้าปี) เที่ยวบินที่มีผู้โดยสารเกือบเต็มลำ และเครือข่ายเส้นทางตรงซึ่งงดเว้นเที่ยวบินที่มีการปล่อยคาร์บอน
สายการบินที่ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนรายนี้ยังลงทุนมากมายใน SAF และอากาศยานขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนร่วมกับ Airbus

    สำหรับผู้โดยสารของ Wizz Air ขณะอยู่บนเครื่องก็จะพบกับสิ่งของสำหรับให้บริการที่ย่อยสลายได้รวมถึงวัสดุรีไซเคิล เช่น ที่นั่งเบาะหนังจากการหมุนเวียนขยะมาผลิต



Etihad Airways


    Etihad Airways หนึ่งในสองสายการบินแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงหนึ่งในสี่ตั้งแต่ปี 2019 ต้องขอบคุณประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่พัฒนาขึ้น นอกจากนี้ยังลดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งลงถึง 80%

    สายการบินรายนี้ยังเป็นพันธมิตรกับ Boeing จากการมีส่วนร่วมในโปรแกรมมุ่งลดการปล่อยคาร์บอน “Greenliner” โดยใช้เครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner เป็นตัวทดสอบ SAF และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

    Etihad ยังมี “Sustainable50” โปรแกรมทดสอบแบบเดียวกันแต่ใช้เครื่องบิน Airbus A350s แทน ในอนาคต ทางสายการบินหวังจะผลิต SAF จากคาร์บอนไดออกไซด์ โดยได้เริ่มดำเนินการปลูกต้นไม้ที่ดูดซับคาร์บอนไปแล้วหลายหมื่นต้นเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ป่าโกงกางของ Etihad (Etihad Mangrove Forest)

    นวัตกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วถูกเมินไปเสียเฉยๆ Ethihad ได้ชื่อว่าเป็น “สายการบินใส่ใจสิ่งแวดล้อมแห่งปี (Environmental Airline of the Year)” ทั้งในปี 2022 และ 2023 โดยองค์กรด้านการจัดอันดับ AirlineRatings.com



Alaska Airlines


    ในขณะที่สายการบินรายหลักของโลกส่วนใหญ่กำลังมุ่งหน้าลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เหลือศูนย์ในปี 2050 สายการบิน Alaska Airlines กลับตั้งใจนำไปให้ถึงก่อน เป้าหมายของพวกเขาคือปี 2040 เพื่อบรรลุภารกิจนี้ ทางสายการบินจึงเทความสนใจทั้งหมดกับการประหยัดเชื้อเพลิงและลงทุนอย่างหนักหน่วงใน SAF (รวมถึงแบบที่ผลิตจากคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย) ทั้งยังประกาศความร่วมมือกับผู้พัฒนาอากาศยานไฟฟ้า-ไฮโดรเจนที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่าง ZeroAvia เพื่อปรับปรุงแก้ไขหนึ่งในอากาศยานสำหรับบินในภูมิภาคของพวกเขาลำหนึ่งเป็นเครื่องบินไฮบริดไฟฟ้า-ไฮโดรเจน 

    บรรดาลูกค้าของสายการบินยังสังเกตว่ามีการลดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งระหว่างเที่ยวบิน ไม่ว่าจะแทนที่ขวดน้ำพลาสติกด้วยกล่องน้ำกระดาษ หรือใช้แก้วกระดาษแทนแก้วพลาสติก สิ่งของเหล่านี้ผลิตโดยใช้ขยะจากอาหาร เช่น กากกาแฟ



Air Canada


    สายการบินประดับตราเมเปิ้ลสีแดงบ่งบอกสัญชาติ Air Canada ตั้งเป้าสู่เที่ยวบินไฟฟ้าในปี 2028 ด้วยข้อตกลงซื้อเครื่องบินไฮบริดไฟฟ้ารองรับผู้โดยสาร 30 คนจำนวน 30 ลำจาก Heart Aerospace ซึ่งจะให้บริการเส้นทางส่วนภูมิภาค

    ทางสายการบินยังลงทุนมหาศาลเพื่อเร่งพัฒนาการผลิต SAF ในประเทศแคนาดา และยังลดปริมาณพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งจำนวนมากในแต่ละเที่ยวบิน (สอดคล้องกับคำสั่งแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งจากรัฐบาลแคนาดาซึ่งกำลังจะมีผลก่อนสิ้นปี 2023 นี้)


    แปลและเรียบเรียงจากบทความ The world’s most eco-conscious airlines ซึ่งเผยแพร่บน CNN


    อ่านเพิ่มเติม : “ALive Powered by AIA” ปลื้มผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ตอกย้ำความสำเร็จของแอปฯครบวงจรด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine