2 ผู้บุกเบิกเส้นทางเศรษฐีพันล้านแห่งวงการนักกีฬา - Forbes Thailand

2 ผู้บุกเบิกเส้นทางเศรษฐีพันล้านแห่งวงการนักกีฬา

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Nov 2022 | 08:00 PM
READ 5361

Tiger Woods และ LeBron James คือนักกีฬาคู่แรกที่กลายเป็นเศรษฐีพันล้านระหว่างที่ยังคงเล่นกีฬาของตัวเองอยู่ และถือเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางให้แก่บรรดาเศรษฐีนักกีฬายุคใหม่


    เป็นเวลา 25 ปีแล้วนับตั้งแต่ที่ Tiger Woods คว้าเสื้อแจ็กเกตสีเขียวประจำตำแหน่งแชมป์ของรายการ Masters มาสวมไว้ได้เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับวันเวลาที่ผ่านมาแล้ว 20 ปี ตั้งแต่ที่ LeBron James ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้ก้าวลงสนามแข่งขันบาสเกตบอลที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศเป็นนัดแรกเช่นกัน

    ชัยชนะ การบาดเจ็บ ข่าวฉาว ความล้มเหลว และชัยชนะครั้งใหม่ ตามติดกันมาเป็นพรวนสำหรับคนทั้งสอง โดยสลับลำดับกันไปบ้างในต่างกรรมต่างวาระ แต่ไม่ว่าจะผ่านร้อนหนาวมาอย่างไรทั้งคู่ยังคงอยู่ที่จุดสูงสุดในแง่การเงินในชนิดกีฬาของตัวเอง ตลอดเส้นทางการเป็นนักกีฬาอาชีพทั้งสองมีรายได้เข้ากระเป๋ารวมกันถึง 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (Woods ได้ไป 1.7 พันล้านเหรียญ และ James ได้ไป 1.2 พันล้านเหรียญ) ทั้งจากเงินเดือน เป็นผู้สนับสนุนแบรนด์สินค้า และรายได้ทางอื่น

    เส้นทางความสำเร็จนี้เปลี่ยนแชมป์ทั้งคู่ให้กลายเป็น "เศรษฐีพันล้าน" ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับนักกีฬาคนใดระหว่างที่พวกเขายังคงโลดแล่นอยู่ในสนามมาก่อน (Michael Jordan เศรษฐีพันล้านนักกีฬาอีกหนึ่งเดียว นอกจาก Woods และ James เพิ่งจะมีทรัพย์สินแตะหลักพันล้านเหรียญหลังจากเกษียณตัวเองไปแล้วจากการเข้าลงทุนอย่างถูกจังหวะกับทีม Charlotte Hornets ในศึก NBA)



    Tiger Woods วัย 46 ปี สั่งสมทรัพย์สินส่วนใหญ่จากที่มีทั้งหมดกว่า 1 พันล้านเหรียญจากค่าตกลงธุรกิจเป็นผู้สนับสนุนในแบรนด์สินค้าราคาสูงลิบ ทั้งแบรนด์ Nike, Gatorade และ Rolex นอกจากนี้ เขายังสะสมอสังหาริมทรัพย์และร่วมเป็นเจ้าของกิจการอย่างภัตตาคาร The Woods ในเมือง Jupiter รัฐ Florida และผู้ให้บริการสนามมินิกอล์ฟชั้นเลิศที่มีแผนจะขยายสาขาไปทั่วประเทศ



    ส่วน LeBron James วัย 37 ปี ก่อร่างสร้างทรัพย์สินสุทธิ 1 พันล้านเหรียญจากการเป็นผู้เล่นที่มีค่าตัวสูงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของ NBA และยังเป็นนักกีฬาในร่างผู้ประกอบการสูง เขาเองก็จับมือกับ Nike เช่นกัน ด้วยการลงนามในสัญญาผู้สนับสนุนตลอดชีพ เมื่อปี 2015 และยังมีแบรนด์สินค้าอื่นๆ 

    เช่น AT&T, PepsiCo และ Beats by Dre ไหนจะ SpringHill ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรายการทีวีและภาพยนตร์ของตัวเองอีก (มีผลงานอย่าง Space Jam และ What’s My Name: Muhammad Ali) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว บริษัท Fenway Sports Group และ Epic Games เข้าร่วมลงทุนโดยซื้อหุ้นคิดเป็นมูลค่า 725 ล้านเหรียญ แต่ James ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด

    “พวกเขามีสุดยอดทักษะในการเข้าร่วมทำธุรกิจต่างๆ หรือสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมาอย่างที่นักกีฬายุคก่อนๆ ทำไม่ได้” Leigh Steinberg ผู้จัดการนักกีฬาระดับตำนานกล่าว เรื่องราวของเขาเองโด่งดังถึงขนาดเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ตัวละครในภาพยนตร์ Jerry Maguire ที่รับบทโดย Tom Cruise

    Steinberg ย่อมรู้ดี เพราะตัวเขายังจำได้ถึงการเจรจาสัญญาผู้เล่นหน้าใหม่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการอเมริกันฟุตบอลเมื่อสมัยปี 1975 ซึ่งทำให้ Steve Bartkowski ผู้เล่นตำแหน่ง quarterback ของทีม Atlanta Falcons ทำรายได้ไป 600,000 เหรียญในเวลา 4 ปี ซึ่งแม้จะคิดคำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วยยังตกปีละ 800,000 เหรียญเท่านั้นเอง น้อยกว่าเงินที่นักกีฬาหน้าใหม่ใน NFL หลายสิบชีวิตได้รับเมื่อปีที่แล้วเสียอีก


แล้วมีอะไรเปลี่ยนไป? -

    สิ่งแรกและสำคัญที่สุดคือ มูลค่าของการถ่ายทอดสดกีฬาทางโทรทัศน์ในยุคแห่งการรับชมสื่อผ่านทางออนไลน์อย่างทุกวันนี้ แทบจะไม่มีรายการไหนแล้วที่ยังมีผู้ชมเหนียวแน่นเป็นจำนวนมหาศาล เมื่อปี 2011 รายการโทรทัศน์ 51 จาก 100 รายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นรายการกีฬา และเมื่อปีที่ผ่านมาตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 95 จากทั้งหมด 100 รายการ ดังนั้น ราคาสัญญารายการโทรทัศน์ที่พุ่งสูงจึงดึงค่าตัวนักกีฬาทะยานขึ้นตามไปด้วย Jack Nicklaus ทำรายได้ 5.7 ล้านเหรียญ (ไม่ถึง 40 ล้านเหรียญเมื่อเทียบค่าเงินปัจจุบัน) 

    ตลอดช่วงเวลา 4 ทศวรรษที่เขาเริ่มเล่นกีฬาอาชีพเมื่อปี 1961 ซึ่งนั่นยังไม่ถึง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับรายได้ของ Woods ที่คำนวณเงินเฟ้อในระยะ 27 ปีแล้ว ส่วน Jordan มีรายได้ 94 ล้านเหรียญ (เท่ากับ 172 ล้านเหรียญในปัจจุบัน) จากเงินเดือนในฐานะผู้เล่น NBA เป็นเวลา 16 ฤดูกาล แต่ James ทำรายได้ในจำนวนเท่ากันนี้ในเวลาเพียง 5 ฤดูกาลที่ผ่านมาล่าสุด

    ดาวเด่นแห่งยุคอย่าง Woods และ James ยังช่วยเพิ่มจำนวนผู้ชมโทรทัศน์ได้อย่างมหาศาล ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ข้อมูลจาก Neal Pilson อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ CBS ระบุว่า จำนวนผู้ชมจะลดลง 30-50% หาก Woods ไม่ได้ร่วมในรายการแข่งขันนั้นๆ (ปัจจุบันเขายังคงดึงดูดผู้ชมได้แต่น้อยลงกว่าเมื่อก่อน) ส่วนการแข่งขัน NBA ที่มีผู้ชมสูงสุด 15 นัดตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นมี James ลงเล่นในสนามทุกนัด “ในแง่หนึ่งคือกีฬาสร้างเหล่าอภิมหาดาวเด่นแห่งวงการเหล่านี้ขึ้นมา แต่อีกมุมหนึ่งพวกเขาเองก็มีส่วนในความนิยมกีฬาแต่ละประเภทเช่นกัน” Steinberg กล่าว

    กระแสนี้ยังส่งให้เม็ดเงินนอกสนามสะพัดยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก แม้ว่าการจ้างนักกีฬาโปรโมทสินค้าต่างๆ จะมีมานานนมตั้งแต่สมัย Babe Ruth จนถึง Arnold Palmer และไล่มากระทั่ง Jordan แต่ทุกวันนี้การสนับสนุนสินค้ามีแนวโน้มที่จะขยายเข้าสู่หลักพันล้านเหรียญก็เพราะอิทธิพลจากสื่อยุคใหม่และเทคโนโลยี ทุกวันนี้ยังไม่มีใครทำรายได้ตลอดเส้นทางอาชีพนักกีฬามากไปกว่า Woods และ James อย่างรายได้ก่อนหักภาษี 1.7 พันล้านเหรียญของ Woods เป็นเงินรางวัลจากการเล่นกอล์ฟเพียง 120 ล้านเหรียญเท่านั้น 

    ขณะที่ James ทำรายได้ในสนามบาสเกตบอล 385 ล้านเหรียญ แต่มีรายได้นอกสนามมากกว่า 900 ล้านเหรียญ “Babe Ruth คงจะทำเงินได้มากกว่านี้อย่างไม่ต้องสงสัยถ้าหากเขามีผู้ติดตามบน Twitter บ้าง” Joe Favorito อดีตที่ปรึกษาธุรกิจกีฬาและอาจารย์มหาวิทยาลัย Columbia กล่าว

    กระแสนิยมที่ไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงเหล่านี้ทำให้ในอนาคตคงจะเป็นไปได้ไม่ยากที่บรรดานักกีฬาชื่อดังจะทำเงินได้มากกว่าและรวดเร็วกว่าที่ Woods หรือ James เคยทำเอาไว้เสียอีก


เรื่อง: MATT CRAIG และ CHASE PETERSON-WITHORN เรียบเรียง: วินิจฐา จิตร์กรี ภาพประกอบ: MATT CHASE
ภาพ: TIGER WOODS และ LEBRON JAMES โดย KWAKU ALSTON/CONTOUR โดย GETTY IMAGES

อ่านเพิ่มเติม:

>> ​พรรณนิภา โอฬารธัมมะกิติ์ เสกทิชชูให้เป็นเงินล้าน

>> ​เจาะผลประกอบการของ Apple ในไตรมาสสี่ของปี 2022


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine