Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ประกาศรายงานผลประกอบการไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2022 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยรวมบริษัทได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ แต่ยังสามารถเพิ่มกำไรต่อหุ้นได้จากปีก่อน
รายงานผลประกอบการแสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของบริษัทนั้นเป็นไปตามความคาดหวังของเหล่าผู้ลงทุน ส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นมาร้อยละ 7.6 อยู่ที่ 155.74 เหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้น Nasdaq ร่วงลงมาร้อยละ 1 และมีรายงานการระบาดของโควิด-19 ที่โรงงานของ Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายสำคัญของ Apple ราคาหุ้นบริษัทลดลงมา 2.40 เหรียญ เหลือเพียง 153.34 เหรียญล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
เงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าส่งผลต่อการเติบโตของรายได้
รายได้ประจำไตรมาสของบริษัทอยู่ที่ 9 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เทียบกับ 8.34 หมื่นล้านเหรียญของไตรมาสสุดท้ายในปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 41 จาก 6.4 หมื่นล้านเหรียญของไตรมาสสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายนในปี 2019 ก่อนวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ ผลประกอบการของปีนี้ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าถึง 5 พันล้านเหรียญ
Toni Sacconaghi นักวิเคราะห์จากบริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงิน Bernstein ทำการประเมินและสรุปว่า รายได้ของ Apple ในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงช่องทางการจัดจำหน่ายและการแก้ปัญหาซัพพลายเชนสำหรับสินค้าตระกูล Macs และ iPads ในไตรมาสสามสิ้นสุดเดือนมิถุนายน โดย Sacconaghi เชื่อว่าในสัดส่วนร้อยละ 8 ของการเติบโตทางรายได้ในปีนี้มีที่มาจากสินค้าสองประเภทนี้ร้อยละ 5
รายได้จากยอดขาย iPhone ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 4.26 หมื่นล้านเหรียญ เติบโตขึ้นร้อยละ 9.7 จาก 3.89 หมื่นล้านเหรียญในไตรมาสสี่ของปี 2021 โดยรายได้จากการขายโทรศัพท์ iPhone นับเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 47 ของรายได้สุทธิของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทเปิดตัวโมเดลบางรุ่นของ iPhone 14 เร็วกว่าหนึ่งสัปดาห์เมื่อเทียบกับตอนที่บริษัทเปิดตัว iPhone 13 ในปีที่แล้ว ทำให้ Apple มีเวลาในการทำรายได้จากยอดขาย iPhone มากขึ้นสำหรับไตรมาสนี้
ธุรกิจในด้านการให้บริการของ Apple ไม่ว่าจะเป็น iCloud, AppleCare, หรือ Apple Pay เป็นหน่วยที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากธุรกิจในส่วนของผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทถึง 1.92 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ 1.99 หมื่นล้านเหรียญ
ในส่วนของรายได้จากสินค้าประเภท Wearable หรืออุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับสวมใส่ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 10 นับเป็นมูลค่า 9.7 พันล้านเหรียญ โดยครั้งนี้ถือว่าเป็นไตรมาสครั้งที่ 9 แล้วที่สินค้าประเภทดังกล่าวมียอดขายนำหน้าสินค้าตระกูล iPad และนับเป็นปีที่สามติดต่อกันที่ทำรายได้มากกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและแล็บท็อปอย่าง Mac
อัตรากำไรขั้นต้นยังคงแข็งแกร่ง
อัตรากำไรขั้นต้นของ Apple เติบโตแบบก้าวกระโดดจากช่วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากปัจจัยหลายด้านประกอบกัน ได้แก่ การเติบโตของรายได้รวมถึง Margin หรือกำไรขั้นต้นของสินค้าฮาร์ดแวร์และธุรกิจด้านบริการที่เพิ่มสูงขึ้น
จากรายงานผลประกอบการในไตรมาสนี้ อัตรากำไรขั้นต้นสุทธิของบริษัทอยู่ที่ร้อยละ 42.3 เทียบกับปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 42.2 ในขณะที่ Margin ในส่วนของธุรกิจด้านการบริการของบริษัทอยู่ที่ร้อยละ 70.5 และ Margin ของสินค้าฮาร์ดแวร์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.3 เป็นร้อยละ 34.6
กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นจากการซื้อหุ้นคืน
กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 4 อยู่ที่ 1.29 เหรียญ จากที่มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.26 ทั้งนี้ กำไรต่อหุ้นทั้งปีอยู่ที่ 6.11 เหรียญ ขึ้นมาจากปีก่อนร้อยละ 9 ซึ่งมีมูลค่า 5.61 เหรียญ
ในปีที่แล้ว Apple ทำการซื้อหุ้นบริษัทคืนโดยมีมูลค่าทั้งหมด 8.94 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งทำให้จำนวนหุ้นของบริษัทที่ชำระแล้วลดลงร้อยละ 3.1 ดังนั้น หากจำนวนหุ้นบริษัทในไตรมาสกันยายนยังคงจำนวนเท่าเดิม กำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้นมาเพียงหนึ่งสลึงอยู่ที่ 1.25 เหรียญ จาก 1.24 เหรียญในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีหุ้นที่เก็บจากการซื้อหุ้นคืนในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 16 ซึ่งสูงกว่าอัตราร้อยละ 11.6 ของปีที่แล้ว ทำให้เงินได้จากกำไรต่อหุ้นลดลง 0.06 เหรียญ
จีนเติบโตแม้นโยบายล็อกดาวน์
ในขณะที่ภูมิภาคแถบอเมริกาและยุโรปจะทำรายได้สูงที่สุดให้แก่บริษัท โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 3.98 หมื่นล้านเหรียญ และ 2.28 หมื่นล้านเหรียญตามลำดับในไตรมาสนี้ จีนทำรายได้อยู่ที่ 1.55 หมื่นล้านเหรียญ
ในบรรดาสามภูมิภาคนี้ ตลาดยุโรปมีอัตราการเติบโตที่แข็งแรงมากที่สุด โดยอยู่ที่ร้อยละ 9.6 เทียบกับร้อยละ 8.1 ในอเมริกาและจีนที่ร้อยละ 6.2
อย่างไรก็ตาม รายงานการเติบโตของจีนนับว่าดีกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์การล็อกดาวน์ที่เข้มงวดของรัฐบาลซึ่งทำให้ซัพพลายเชนและภาคธุรกิจโดยรวมได้รับผลกระทบ
ก่อนช่วงโรคระบาดโควิด-19 การเติบโตของรายได้บริษัทของแต่ละภูมิภาคในไตรมาสที่สี่ของปี 2019 มีดังนี้:
- อเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 35.8
- ยุโรปร้อยละ 35.8
- จีนร้อยละ 38.9
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการเติบโตในปีงบประมาณระหว่างปี 2019 และปี 2022 จีนมีอัตราการเติบโตที่มากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 69.9 รองลงมาได้แก่ยุโรปซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 57.8 และอเมริการ้อยละ 45.1
แปลและเรียบเรียงโดย สิรินนรี อ๋องสกุล จากบทความ Digging Into Apple’s September Quarter Results เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine