เทคโนโลยีล้ำหน้า ปฏิวัติความงามยกระดับความหลากหลาย - Forbes Thailand

เทคโนโลยีล้ำหน้า ปฏิวัติความงามยกระดับความหลากหลาย

    หลังการเปิดตัว Bold Glamour ใน TikTok เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ ฟิลเตอร์ดังกล่าวก็เรียกเสียงฮือฮาจากทั่วทั้งโซเชียลมีเดีย โดยฟิลเตอร์สุดไวรัลตัวนี้ใช้เทคโนโลยี Machine Learning ในการแก้ไของคาพยพต่างๆ บนใบหน้าของผู้ใช้งานทั้งในรูปถ่ายและวิดีโอ มีการปรับแต่งโหนกแก้ม เพิ่มความนวลเนียนแก่ผิว และเติมประกายในดวงตา ทั้งหมดนั้นดูเสมือนจริงจนน่ากังวล

    

    ผู้คนบนโซเชียลมีเดียบางส่วนประทับใจเทคโนโลยีนี้ แต่อีกส่วนหนึ่งกลับรู้สึกกังวลที่ฟิลเตอร์เช่นนี้สามารถส่งเสริมมาตรฐานความงามที่ดูไม่สมจริงได้

    ท่ามกลางความไม่สบายใจที่กำลังก่อตัวขึ้นว่าเทคโนโลยีนี้ส่งผลกระทบอันยิ่งใหญ่ต่อแนวคิดต่างๆ เรื่องความงามอย่างไร หลายคนเชื่อว่ามันสามารถเปลี่ยนทัศนคติด้านความงามไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

    สำนักข่าว CNN ได้ขอให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญช่วยแสดงความเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ ในเชิงบวก ดังนี้

        

โซเชียลมีเดียกับฟิลเตอร์

        

    ดิจิทัลฟิลเตอร์และเทคโนโลยีผสมผสานโลกเสมือน (Augmented Reality หรือ AR) กลับกลายมาเป็นเนื้อหาสาระสำคัญในการแสดงออกซึ่งตัวตนในโลกออนไลน์ของผู้คนมากมาย

    City University of London ได้รายงานในปี 2021 ว่าเยาวชนเพศหญิงในสหราชอาณาจักร 90% มักใช้ฟิลเตอร์เวลาโพสต์รูปเซลฟี่ โดยพวกเธอเหล่านี้กว่าครึ่งกล่าวว่าใช้ฟิลเตอร์บ่อยมากๆ

    อ้างอิงจากผลการวิจัย Dove Self-Esteem Project ของแบรนด์ Dove ซึ่งว่าด้วยการเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นพบว่า 80% ของเด็กสาวที่เข้าร่วมทำแบบสอบถามในสหรัฐอเมริกาได้ปรับเปลี่ยนหน้าตาของตนเองในโลกออนไลน์ตั้งแต่อายุ 13 ปี

    อย่างไรก็ตาม Hannah Mauser นักวิเคราะห์สายความงามจากบริษัทผู้คาดการณ์เทรนด์ผู้บริโภค WGSN กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เติบโตมากับโซเชียลมีเดียนั้น ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ไปเสียทั้งหมด เธอชี้ว่ามีความเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์มากมายบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น TikTok ตั้งแต่ #Ac-nePositivity ไปจน #BodyHairPositivity ซึ่งสนับสนุนให้ผู้คนยอมรับผิวแบบต่างๆ ที่ตัวเองมี

    “Gen Z มีบทบาทหลักที่สำคัญยิ่งในการทำลายความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับความงาม เพราะพวกเขากล้าปฏิเสธสิ่งที่ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา และท้าทายประเด็นที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องต้องห้าม” เธอชี้

    Florencia Solari นักเทคโนโลยี AR เชิงสร้างสรรค์และผู้สร้างฟิลเตอร์ได้ออกมาตอบรับกับประเด็นนี้ว่า “ต้องขอบคุณโซเชียลมีเดียที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงแหล่งการแสดงออกซึ่งความแตกต่างอันหลากหลายของสิ่งที่เรียกกันว่าความงาม”

    “ฟิลเตอร์ต่างๆ ใน Instagram สามารถช่วยให้เราได้ลองเล่นและสำรวจรูปลักษณ์ที่แตกต่าง เราไม่จำเป็นต้องเปิดเผยใบหน้าของเรากับทั้งโลกตลอดเวลา และมันก็ไม่ได้หมายถึงความมั่นใจในตนเองต่ำเสมอไป มันอาจเป็นวิธีการทดลองก็ได้"

    Solari เสริมว่ายังมีกลุ่มคนที่อยากลองสวมตัวตนที่แตกต่าง หรือแม้กระทั่งทดลองแสดงออกด้านเพศสภาพ ลองมีใบหน้าที่แตกต่างออกไป อยากเห็นลุคหลังแต่งหน้าหรือย้อมสีผม ซึ่งต้องขอบคุณ AR

    Sampo Parkkinen ซีอีโอของ Revieve Inc บริษัทด้านเทคโนโลยีความงามซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ความงามบนโลกดิจิทัลในแบบเฉพาะของตนเองกล่าวว่า แบรนด์ต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จาก AR เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองเครื่องสำอางแบบเสมือนจริง “โดยปราศจากการเสริมแต่งความงาม และฟิลเตอร์อื่นๆ”

    “การลองตามความเป็นจริง (Authentic Try-On) นี้อาจไม่ได้ออกมากระจ่างใสหรือสวยงามเหมือนการลองเสมือนจริง (Virtual Try-On) ที่มีการประดิษฐ์ความงามขึ้นมา แต่ที่สุดแล้วคือการให้โอกาสผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ในชีวิตจริงที่ดีกว่าร่วมกับทางแบรนด์” เขากล่าว

        

AI กับประสบการณ์ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น

        

    Olivia Houghton ผู้นำด้านความงามและสุขภาพจาก The Future Laboratory บริษัทคาดการณ์การตลาดอย่างมีกลยุทธ์กล่าวว่าผู้บริโภคกำลังมองหา “แนวทางการใช้เทคโนโลยีที่เข้าถึงความรู้สึก มีความใกล้ชิดสนิทสนม และเหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากกว่าเดิม”

    เธอยังยกตัวอย่างแอปซื้อขายสินค้าด้านความงาม Trendio ซึ่งให้โอกาสผู้ใช้ได้สัมผัสประสบการณ์การชอปปิ้งที่เข้ากันกับตัวเองโดยเฉพาะ “มีการ live และเนื้อหาวิดีโอที่อัดไว้ก่อนแล้ว เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานได้ทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนซื้อ”

    เธอยังบอกว่า “มันช่วยให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ร่วมคล้ายๆ กับการเลื่อนดู TikTok โดยพวกเขาสามารถดูวิดีโอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แบบผ่านๆ แล้วเลือกดูอันที่ดึงดูดความสนใจของพวกเขาได้แบบเต็มๆ”

    Trendio ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะแก้ไขวิดีโอให้อัตโนมัติ ตลอดจนนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละคน

    เทคโนโลยีเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนโดย AI สามารถเอื้อให้ผู้คนรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้น คือความคิดเห็นจาก Simi Lindgren ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Yuty แพลตฟอร์มที่ช่วยให้การซื้อผลิตภัณฑ์ความงามง่ายดายกว่าเก่าโดยใช้ AI เพื่อ “การสร้างประสบการณ์ส่วนบุคคลในระดับที่เหนือกว่า (Hyper-personalization)”

    เธอกล่าวอีกว่าการตามหาผลิตภัณฑ์ความงามที่ใช่อาจเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภคที่มาจากกลุ่มประชากรที่ถูกละเลย “ตั้งแต่เฉดสีที่ไม่เข้ากันไปจนการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ผู้บริโภคสินค้าความงามที่ถูกหลงลืมเหล่านี้ต่างเผชิญความยากลำบากในการเสาะแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่เข้ากันได้กับพวกเขา” Lindgren อธิบาย “การสร้างประสบการณ์ส่วนบุคคลโดยใช้ AI จะคืนความเสมอภาคให้กับอุตสาหกรรมความงาม”

        

การเข้าถึง

        

    ในปีนี้ แบรนด์ใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมความงามต่างก็พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อผู้ทุพพลภาพ

    Estee Lauder Companies เปิดตัวแอปผู้ช่วยแต่งหน้าโดยใช้เสียง (Voice-enabled Makeup Artist หรือ VMA) สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการมองเห็น ตัวแอปใช้เทคโนโลยีกระจกอัจฉริยะเพื่อตรวจจับและวิเคราะห์ใบหน้าของผู้ใช้ ร่วมด้วยเสียงแนะนำคอยอธิบายว่าควรแต่งเพิ่มตรงส่วนไหน

        

        Voice-enabled Artist หรือ VMA โดย Estee Lauder

        

    ในเดือนมกราคม ณ งานแสดงสินค้าเทคโนโลยี CES 2023 แบรนด์ LOreal ได้เปิดตัวอุปกรณ์ช่วยแต่งหน้ามือถือนาม HAPTA ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้คนที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวหรืออาการสั่น

    Guive Balooch ประธาน Tech and Open Innovation แห่ง LOreal แสดงความคาดหวังว่า วันหนึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะหมายถึงว่า ทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อที่ถดถอยอันเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น อาการบาดเจ็บไขสันหลัง โรคพาร์คินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ความงามอีกต่อไป

    “เทคโนโลยีเหล่านี้มีไว้เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนได้มีความงามตามที่พวกเขาต้องการ เป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ส่วนบุคคล และความงามสำหรับทุกคน” เขากล่าว

        

การสร้างอวตาร

        

    แนวคิดเรื่องความงามของเรานั้นสะท้อนผ่านตัวละครในวิดีโอเกมและภาพอวตารแทนตัวเองที่ใช้ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง นักวิเคราะห์สายความงาม Mauser บอกว่าแบรนด์ต่างๆ กำลังมุ่งเพิ่มการมีส่วนร่วมในอวตารบนวิดีโอเกมทั้งหลาย

        

        Real Virtual Beauty โดย Dove

        

    เมื่อปี 2022 แบรนด์ความงามอย่าง Dove ได้จับมือกับองค์กร Women in Games, บริษัทพัฒนาเกม Epic Games และ Toya สตูดิโอเกมนำโดยผู้หญิงเพื่อ “สร้างภาพแทนบรรดาผู้หญิงและเด็กสาวในเกมต่างๆ ให้ออกมาดีต่อใจและหลากหลายมากยิ่งขึ้น”

    “การร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะท้าทายภาพแทนเรื่องความงามบนโลกออนไลน์ แต่ยังเสนอคอร์สเพื่อการศึกษาสำหรับผู้สร้างสรรค์เกม คอลเล็กชั่นงานศิลปะที่อุทิศเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วม ตลอดจน Super U Story ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้ความรู้เกี่ยวกับการเห็นคุณค่าในตัวเองแห่งแรกบน Roblox” Mauser กล่าว

    Solari คาดหวังว่าในอนาคต วิธีการที่พวกเราแสดงออกถึงความเป็นตัวของเราเองบนพื้นที่ดิจิทัลจะขยับออกห่างจากรูปลักษณ์ในโลกจริง เธอพูดเกี่ยวกับแนวคิดว่าอวตารคือ “แฝดดิจิทัล” ที่ช่วยให้พวกเราเปิดเผยตัวตนในโลกออนไลน์

    “เมื่อมีแฝดดิจิทัลเข้ามาแทนที่ อัตลักษณ์และตัวตนที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นตัวเราจะยังคงไหลลื่นและแปรสภาพต่อไป อาจจะมีชีวิตเป็นของตัวเอง ในขณะที่ยังคงยึดแก่นแท้ของความเป็นตัวเราเอาไว้” เธอกล่าวทิ้งท้าย

        

    แปลและเรียบเรียงจากบทความ From diversity to accessibility, can technology change the way we think about beauty for the better? ซึ่งเผยแพร่บน cnn.com

        

    อ่านเพิ่มเติม : Neopets Meta คืนชีพเกมสัตว์เลี้ยงสู่โลกเมต้าเวิร์ส

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine