ทำไม "จีน" จึงเลือกลงทุนใน "แอฟริกา" - Forbes Thailand

ทำไม "จีน" จึงเลือกลงทุนใน "แอฟริกา"

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Dec 2020 | 07:30 PM
READ 6237

ทวีปแอฟริกา เป็นภูมิภาคที่พัฒนาชุมชนได้รวดเร็วที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีผู้อพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้นกว่าในจีนและอินเดีย สืบเนื่องมาจากการที่ทวีปดังกล่าวได้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

จีน

แม้การเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วเช่นนี้จะนำมาซึ่งข้อท้ายทายหลากหลายประการอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การลงทุนปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้ที่ไม่เหมือนกับที่ใดในโลกย่อมนำมาซึ่งผลตอบแทนที่คุ้มค่า คิดเป็นมูลค่ามากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประเทศที่มองเห็นโอกาสและพร้อมเผชิญความเสี่ยงนี้ก็คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน

ล่าสุด ผลงานวิจัยจาก McKinsey&Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลกระบุว่า ภายในปี 2050 ประชากรของแอฟริกาจะเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าจากที่มีอยู่ในปัจจุบันราว 1.1 พันล้านคน พร้อมไปกับการขยายตัวของชุมชนเมืองในอัตราร้อยละ 80 ส่งผลให้ประชากรในชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.3 พันล้านคน เพราะในปัจจุบัน แค่ Lagos เมืองที่ใหญ่อันดับสองของทวีปแอฟริกาเพียงแห่งเดียวก็มีประชากรเพิ่มมากขึ้นถึง 77 คนต่อชั่วโมง

ในทำนองเดียวกัน การพัฒนาชุมชนเมืองได้นำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเมื่อไม่นานมานี้ IMF ได้ประกาศว่าทวีปแอฟริกาได้กลายเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอันดับ 2 ของโลก ขณะที่นักวิเคราะห์จำนวนมากต่างคาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 ทวีปแอฟริกาจะเดินหน้าเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีเงินหมุนเวียนมากถึง 5 ล้านล้านเหรียญ ขณะที่การใช้จ่ายในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 3.8 ต่อปีหรือราว 2.1 ล้านล้านเหรียญด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่แอฟริกาจะกลายเป็นจุดสนใจของนานาประเทศ ซึ่งต่างจากในยุค 1990 อย่างสิ้นเชิง

ปัจจุบัน จีนได้กลายเป็นผู้เล่นคนสำคัญในการพัฒนาชุมชนเมืองในแอฟริกา ผ่านทางการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภค ทั้งที่ขับเคลื่อนโดยทางการจีนและบริษัทเอกชนสัญชาติจีน

ตอนนี้คุณสามารถบอกได้เลยว่าโครงการขนาดใหญ่ในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นตึกที่มีความสูงมากกว่า 3 ชั้น หรือถนนที่ยาวมากกว่า 3 กิโลเมตร ซึ่งส่วนมากจะถูกสร้างโดยวิศวกรชาวจีนทั้งนั้น Daan Roggeveen ผู้ก่อตั้ง MORE Architecture และผู้ดูแลการก่อสร้างในจีนและแอฟริกา กล่าว

อันที่จริง จีนได้เข้าไปพัฒนาแอฟริกาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประกาศเริ่มต้นโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ในปี 2013 เสียอีก เพราะนับตั้งแต่ปี 1949 ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ขึ้นครองอำนาจ ทางการจีนก็เริ่มให้ความสนใจในภูมิภาคนี้มากกว่าส่วนอื่นๆ ในโลก แล้วจึงเริ่มเข้ามาก่อสร้างทางรถไฟ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ด้วยข้อแม้เพียงหนึ่งอย่างคือการรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติให้คงเดิม

จีน ในฐานะคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในแอฟริกา ได้ลงทุนในภูมิภาคนี้ไปแล้วกว่า 2 แสนล้านต่อปี ซึ่งจากการายงานของ McKinsey ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทสัญชาติจีนกว่า 10,000 แห่งได้เข้ามาทำงานในทวีปนี้ตั้งแต่ปี 2005 คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญ 

และเพื่อต่อยอดความร่วมมือระหว่าง 2 ภูมิภาคไปอีกระดับ จีนจึงได้ประกาศงบประมาณการลงทุนใน Belt and Road Africa Infrastructure Development Fund มูลค่า 1 พันล้านเหรียญในปี 2018 พร้อมกับเงินช่วยเหลือให้กับแอฟริกาอีก 6 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ

โครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ

จีน

Xi Jinping ประธานาธิบดีของจีน เคยกล่าวไว้ว่า “ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือ อุปสรรคในการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งจากการประเมินของ African Development Bank ระบุว่า แอฟริกาจะต้องใช้เงินราว 1.3-1.7 แสนล้านเหรียญต่อปีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งขณะนี้หลายๆ ประเทศยังขาดงเงินทุนมากถึง 6.8 หมื่นล้าน-1.08 แสนล้านเหรียญในการลงทุน

คนยุโรปเริ่มเข้ามาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในแอฟริกาตั้งแต่ในช่วงต้นศตวรรษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นเป็นการเฉพาะ แต่ในความเป็นจริงโครงการเหล่านี้กลับนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพบากรธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จาก โครงการทางรถไฟ Nairobi-Mombasa และ Addis Ababa-Djibouti ที่เชื่อมต่อระหว่างแอฟริกากับเหมืองแร่สำคัญในมหาสมุทรอินเดีย Xiochen Su กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The Diplomat

สาธารณูปโภค คือ สิ่งที่แอฟริกาต้องการ และในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่จีนสามารถทำได้เป็นอย่างดี ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนก็ได้สร้างสรรค์ผลงานให้โลกได้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคให้สอดรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น เครือข่ายเชื่อมโยงรถไฟที่ยาวที่สุดในโลก ที่มีระยะทางกว่า 29,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการปูทางให้กับทางด่วน 100,000 กิโลเมตรในอนาคต ตลอดจนการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่อีก 100 แห่งและอาคารสูงมากกว่า 3,500 ตึกในชุมชนเมือง ซึ่งครอบคลุมไปยัง 500 เส้นทางเศรษฐกิจ และ 1,000 อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนได้เติบโตมากกว่า 10 เท่า จนก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก

ศักยภาพของจีนในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นคุณสมบัติที่ผู้นำของหลายๆ ชาติในแอฟริกากำลังมองหา ซึ่งปัจจุบันโครงการใหญ่ๆ ที่จีนกำลังเข้ามาดำเนินการอยู่ ประกอบด้วย โครงการ Coastal Railway ที่ไนจีเรีย ที่มีมูลค่าราว 1.2 หมื่นล้านเหรียญ โครงการ Addis Ababa–Djibouti Railway มูลค่า 4.5 พันล้านเหรียญ และโครงการพัฒนาท่าเรือและเขตเศรษฐกิจที่มูลค่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญ 

นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา จีน คือ นักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในโครงสร้างพื้นฐานของแอฟริกา โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 40 ขณะที่ผู้เล่นรายอื่นๆ ค่อยๆ มีบทบาทน้อยลงเรื่อยๆ

“SOEs ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีนที่ครองสัดส่วนการลงทุนมากที่สุดในโครงสร้างพื้นฐานของแอฟริกา และเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปยังจุดไหนของแอฟริกา คุณก็จะสามารถพบเห็นทีมงานก่อสร้างชาวจีนได้ในทุกพื้นที่ Zhengli Huang นักวิจัยจาก The University of Sheffield ที่ทำการวิจัยในประเด็นการขยายตัวของเมืองใน Nairobi กล่าว

ในที่นี้ Roggeveen มองว่า ด้วยเหตุที่ชาวแอฟริกันขาดความชำนาญในการทำโครงการใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นถ้าไม่หันไปพึ่งพาชาวยุโรป ก็ต้องเป็นบริษัทจากจีน แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าราคาผู้รับเหมาจากจีนย่อมถูกกว่าอยู่แล้ว

กับดักหนี้

จีน

อย่างไรก็ดี เมื่อเรามองไปยังทวีปแอฟริกา เราจะเห็นว่าหลายๆ ประเทศต่างกำลังแข่งขันกันเข้ามายังพื้นที่แห่งนี้ เพื่อขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านทางลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐาน ที่ในด้านหนึ่งย่อมก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Addis Ababa-Djibouti Railway ที่ใช้เงินกว่าหนึ่งในสี่ของงบประมาณปี 2016 ของ Ethiopia หรือการที่ ไนจีเรียต้องเจรจาข้อตกลงกับผู้รับเหมาชาวจีนอีกครั้งเนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันเวลา โดยในปี 2012 IMF รายงานว่า จีนครองสัดส่วนถึงร้อยละ 15 ของเงินกู้ภายนอกแอฟริกา และในระยะเวลาเพียง 3 ปีต่อจากนั้นกว่า 2 ใน 3 เงินกู้ใหม่ทั้งหมดก็มาจากจีน จนมีการมองว่านี่อาจจะรูปแบบใหม่ของการสร้างอาณานิคม

จีนได้อะไรจากการลงทุนในแอฟริกา

จีน ความอุดมสมบูรณ์ของแอฟริกา คือ ปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพในทางการเมืองของจีน กล่าวคือ กว่า 1 ใน 3 ของน้ำมันที่ใช้ภายในจีนนำเข้ามาจากแอฟริกา เช่นเดียวกับฝ้ายกว่าร้อยละ 20 ของประเทศเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น แอฟริกายังเป็นภูมิภาคที่อุดมไปด้วยแมงกานีส ด้วยสัดส่วนมากถึงร้อยละ 50 จากทั้งหมดที่มีในโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเหล็ก ขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกแค่เพียงประเทศก็มีปริมาณโคบอลต์มากถึงครึ่งหนึ่งของโลกแล้ว อย่างไรก็ดี มักเป็นที่เข้าใจผิดว่า โครงการต่างๆ ของจีนในแอฟริกาต่างได้รับการสนับสนุนจากทางการจีน แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น โครงการส่วนใหญ่จะดำเนินการภายใต้การบริหารของ SOEs บริษัทลงทุนเอกชนสัญชาติจีน ที่ได้รับกำไรโดยตรง ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐบาลแต่อย่างใด แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากในการแบ่งแยกผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชนออกจากยุทธศาสตร์ของภาครัฐก็ตาม แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ What China Is Really Up To In Africa เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: ONE CHINA ยุทธศาสตร์ฮ่องกง หมากก้าวแรกของจีนบนกระดานโลก