ปริมาณขยะอาหาร (Food Waste) ทั่วโลกอยู่ที่ราว 1.6 ล้านตัน 80% พิจารณาแล้วว่ายังรับประทานได้ ขยะอาหารเหล่านี้คิดเป็น 30% จากอาหารที่ผลิตออกมาทั้งหมด และยังมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 6%
ขยะเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและการผลิตอาหาร ไปจนพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่ส่วนที่น่าพิจารณาคือความอ่อนแอของห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารต่อผู้ผลิตและหน้าร้านค้าปลีก
ต้องขอบคุณที่มีการตรวจสอบและปรับเปลี่ยนการจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ให้เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อทราบว่าขยะอาหารมีมูลค่าราว 3-6% ของต้นทุนขาย (COGS) อ้างอิงจากผลวิจัยของ McKinsey
การลดขยะอาหารกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในธุรกิจ ห้างร้านค้าปลีกต่างมองหาวิธีการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความพยายามดึงดูดผู้ซื้อให้มาช่วยกันอีกแรง
ดึงดูดลูกค้าด้วยส่วนลด
จุดเริ่มต้นการลดขยะอาหารที่ง่ายที่สุดคือ เมื่ออาหารวางอยู่บนชั้นพร้อมโปรโมชั่นต่างๆ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหากปรับเปลี่ยนราคาเหล่านั้นตามแต่ละช่วงเวลา (Dynamic Pricing)
Wasteless คือสตาร์ทอัพที่นำเครื่องมือตั้งราคาด้วยปัญญาประดิษฐ์มาใช้งาน เพื่อช่วยให้บรรดาร้านค้าปลีกจัดการกับรายได้และลดขยะอาหาร ผ่านการดึงดูดลูกค้าด้วยส่วนลด เทคโนโลยีนี้ยังช่วยติดตามและปรับราคาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมตามเวลาจริงโดยอ้างอิงจากวันหมดอายุ กระตุ้นให้ผู้ซื้อหยิบสินค้าชิ้นนั้นซึ่งมีโปรโมชั่นเพราะใกล้หมดอายุแล้ว
สตาร์ทอัพอีกรายที่ตั้งภารกิจลดขยะอาหารในระดับค้าปลีกคือ Too Good To Go ซึ่งก่อตั้งในปี 2015 ที่ยุโรป ก่อนจะมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา สตาร์ทอัพรายนี้เชื่อมโยงผู้บริโภคและร้านค้าปลีกเข้าด้วยกันเพื่อไม่ให้อาหารแต่ละมื้อต้องกลายเป็นขยะ เงื่อนไขดึงดูดทั้งสองฝั่งนั้นชัดเจน ผู้บริโภคจะได้อาหารสดใหม่ลดราคา ในขณะที่ร้านค้าสามารถลดปริมาณสินค้าขายไม่ออกลงได้ ทั้งยังทำเงินจากอาหารที่อาจกลายไปเป็นขยะหากไม่มีคนซื้อ
ในปี 2020 บริษัท Too Good To Go ช่วยให้อาหารกว่า 78 ล้านจานจากการกลายเป็นขยะ และขยับขยายไปทั่วสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วโดยมีเป้าหมายคือประจำการพร้อมทุกเมืองภายในปีหน้า โมเดลธุรกิจของพวกเขาคือฝั่งร้านค้าและผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์กันทั้งคู่ ซึ่งอธิบายได้ว่าเหตุพวกเขาจึงมีลูกค้ามากมายเติบโตว่องไวทั่วประเทศ
Surprise Bag ของ Too Good To Go
“สำหรับเราแล้ว ความร่วมมือกับ Too Good To Go นำมาซึ่งข้อดีหลายประการ นอกจากข้อเท็จจริงว่าเราดีใจกับการให้โอกาสพืชผักที่เหลือในร้านอีกครั้ง เรายังได้เห็นยอดลูกค้าที่เข้าหาเราทางแอปเพิ่มขึ้นด้วย อีกเรื่องคือ ยอดขายก็เติบโตขึ้นเพราะผู้ใช้แอปซื้อสินค้าอื่นๆ ไปพร้อมกันผ่าน Surprise Bag”
ผู้จัดการ Edeka ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกอาหารรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีเผยในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อต้นปีนี้ โดย Surprise Bag คือถุงใส่สินค้าลดราคาที่ทางร้านสุ่มจัดมาให้ แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องคุณภาพ เพราะสินค้าเหล่านั้นยังไม่หมดอายุและรับประทานได้
สร้างสรรค์ป้ายต่อเวลาชีวิตอาหาร
จากผลวิจัยของ TNS ในยุโรป ผู้บริโภคกว่า 50% ไม่รู้ความแตกต่างระหว่าง “ควรใช้ก่อน (use by)”, “ควรบริโภคก่อน (best before)” และ “ควรจำหน่ายก่อน (sell by)” ซึ่งมักนำไปสู่การทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น
เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภค และวิธีการลดจำนวนสินค้าที่ขยายไม่ได้ในแต่ละวันแก่ร้านค้า Too Good To Go จึงร่วมมือกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Carrefour ในการรับมือกับขยะอาหาร โดยบริหารจัดการป้ายบอกวันหมดอายุให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีการให้ข้อมูลแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้นแก่ผู้บริโภคเพื่อให้เข้าใจป้ายเหล่านี้ ซึ่งเป็นอีกวิธีการอันเป็นรูปธรรมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขยะอาหาร
Too Good To Go พัฒนาป้าย “รูป-กลิ่น-รส (Look-Smell-Taste)” ซึ่งมีมากกว่า 400 แบรนด์ที่ทำมาใช้ ช่วยให้ผู้ซื้อได้ไตร่ตรองดูอีกครั้งก่อนตัดสินใจว่าจะไม่ซื้อสินค้าชิ้นนั้นเนื่องมาจากวันหมดอายุ (หรือเพราะหน้าตามัน)
ขยะอาหารกว่า 40% มาจากผักผลไม้ที่หน้าตาไม่ค่อยสวยงามนัก ร้านค้าต่างๆ จึงพยายามสรรหาวิธีการจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อผลิตภัณฑ์ซึ่งอาจไม่ได้ดูสวยงาม พร้อมกับผ่อนปรนมาตรฐานคุณภาพในใจลง ช่วยให้สินค้าเหล่านี้ขายได้ง่ายขึ้น
ผู้ค้าปลีกอีกรายที่ทดสอบผลกระทบจากการสร้างสรรค์ป้ายเพื่อจำกัดปริมาณขยะอาหารคือ Makro ที่โคลัมเบียร้านค้าปลีกในรูปแบบของขายส่งสัญชาติดัตช์รายนี้จับมือกับองค์กรท้องถิ่น Grey Colombia ในการพัฒนาวิธีการสุดสร้างสรรค์และประหยัดค่าใช้จ่าย ดึงดูดให้ลูกค้าหันมาซื้อผักผลไม้ไม่ว่ามันจะอยู่ในช่วงชีวิตใดก็ตาม โดยใช้สติ๊กเกอร์ยืดอายุ
สติ๊กเกอร์ยืดอายุผักผลไม้โดย Makro โคลัมเบีย
“เราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เรียบง่ายทว่าทรงพลังต่อพฤติกรรมของผู้คน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผักผลไม้อย่างมีความรับผิดชอบ” Juan Yepes ผู้อำนวยการการตลาดแห่ง Makro Colombia บอกกับ Contagious “ข้อมูลเชิงลึกก็คือ เมื่อผักผลไม้ไม่ได้มีหน้าตาสมบูรณ์แบบ คือช่วงเวลาที่พวกมันอร่อยขึ้น แต่ผู้คนมักไม่รู้ด้วยอคติเรื่องของความสวยงาม”
แคมเปญนี้เริ่มดำเนินตั้งแต่เดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมาใน Makro 22 สาขา และตั้งเป้ายืดอายุผลิตภัณฑ์ออกไปราว 6 วันเพื่อลดขยะอาหารให้ได้ 70 ตันต่อสัปดาห์
ผ่าห่วงโซ่อุปทานลดขยะอาหาร
ครึ่งหนึ่งของการสูญเสียและขยะอาหารเกิดขึ้นก่อนถึงร้านขายผัก ส่วนอีกครึ่งเกิดขึ้นภายใต้ความดูแลของผู้ขาย และภายในครัวเรือนของผู้บริโภค ทำให้อุตสาหกรรมจำเป็นต้องป้องกันการเกิดขยะอาหารที่ร้าน และให้ความรู้แก่ลูกค้าควบคู่กัน
สตาร์ทอัพอย่าง Too Good To Go คอยช่วยเหลือบรรดาผู้ค้าปลีกลดสินค้าประเภทของสดที่ขายไม่ได้ซึ่งอาจกลายไปเป็นขยะ ขณะเดียวกันก็อำนวยให้ผู้ซื้อยินดีกับของสดใหม่ในราคาที่ลดลง กลายเป็นผลประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
ยังมีวิธีการด้านโปรโมชั่นและป้ายอื่นๆ อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อก่อให้เกิดอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งเป็นก้าวที่ดีและจำเป็นยิ่ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อรับมือกับความท้าทายว่าด้วยขยะอาหารโดยแท้จริง ต้องมีการดำเนินการในระดับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมมากกว่านี้ ตั้งแต่การประเมินความต้องการให้แม่นยำขึ้นไปจนปรับความเหมาะสมในการขนส่งและการกักเก็บสินค้า มีการกระตุ้นผู้ขายให้ยกระดับการลงมือเพื่อตอบรับกับความตื่นตัวที่เพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลปรับกฎหายเกี่ยวกับขยะอาหารให้รัดกุมกว่าเดิม
สิ่งนี้เป็นดั่งโอกาสอันน่าเหลือเชื่อ ซึ่งไม่เพียงแก้แค่วิกฤตเลวร้ายที่มีราคาแพงเท่านั้น แต่ยังพลิกขยะอาหารสู่การลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้ โดยการผลักดันให้ขายสินค้าได้ แทนที่จะปล่อยให้พวกมันกลายเป็นขยะไปอย่างน่าเสียดาย
แปลและเรียบเรียงจาก Food Waste Is Becoming Top Priority For Grocers - And They Are Trying To Get Shoppers Involved Too ซึ่งเผยแพร่บน Forbes
อ่านเพิ่มเติม : JUST FEEL ธุรกิจเพื่อสังคม ระดมทุนเพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้นของนักเรียน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine