ความรวยมหาศาลของ Bernard Arnault มหาเศรษฐีเจ้าของอาณาจักร LVMH สินค้าลักชัวรีจากฝรั่งเศส คือ บทพิสูจน์การเติบโตของธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือยในยุคโควิด-19
แม้ว่าในปี 2020 ที่ผ่านมา รายได้และกำไรของกลุ่มบริษัท
LVMH ผู้ถือครองลิขสิทธิ์แบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์ระดับโลกจำนวนมากจะลดลงในอัตราร้อยละ 17 และ 28 ตามลำดับ แต่ด้วยมูลค่าหุ้นของบริษัทที่กลับปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงร้อยละ 107 นับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2020 เป็นต้นมา ได้ส่งผลให้
Bernard Arnault มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งอันดับ 3 ของโลก มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 9.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 1.71 แสนล้านเหรียญ ขณะที่ผู้ถือหุ้นต่างมองว่า รายได้และกำไรของบริษัทจะกลับมาโตอีกครั้งหนึ่ง
ล่าสุด ทางบริษัทรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรกของปี 2021 ว่ามีรายได้อยู่ที่ 1.67 หมื่นล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าราวหนึ่งในสาม โดยได้รับอานิสงส์มาจากรายได้ของกลุ่มธุรกิจประเภทนาฬิกา อัญมณี สินค้าแฟชั่น และเครื่องหนังเป็นหลัก
ปัจจุบัน Arnault วัย 73 ปี มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ใน LVMH อยู่ที่ร้อยละ 47 ซึ่งมีบริษัทในเครือตั้งแต่ Louis Vuitton, Fendi ไปจนถึงแบรนด์วอดก้าพรีเมี่ยมอย่าง Belvedere และแชมเปญ Dom Pérignon ขณะที่อีกร้อยละ 2 ของทรัพย์สินส่วนตัวมาจากแบรนด์เครื่องหนังอย่าง Hermes และร้อยละ 6 จาก Carrefour ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส รวมกับเงินสดและการลงทุนอีกกว่า 1 พันล้านเหรียญ
เช่นเดียวกับทุกอุตสาหกรรมที่ปี 2020 ได้กลายเป็นปีแห่งความท้าทายขององค์กร เริ่มตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนมีนาคม หุ้นของ LVMH ได้ปรับตัวลงราวร้อยละ 25 หรือคิดเป็นมูลค่า 343 เหรียญต่อหุ้นเป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่นานหลังจากนั้นทางบริษัทได้ออกมาประกาศว่าจะลดอัตราการทำงานของพนักงานลง เพื่อเข้าสู่โครงการเงินอุดหนุนของรัฐบาลฝรั่งเศสก่อนที่จะ
ยกเลิกการตัดสินใจดังกล่าวไป
ต่อมาในเดือนมิถุนายน หุ้นของบริษัทได้ปรับตัวขึ้นสูงเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดในเดือนพฤศจิกายนก็ได้ทำลายสถิติในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ที่ 589 เหรียญต่อหุ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ LVMH อยู่ระหว่างการเดินหน้าเข้าซื้อกิจการ
Tiffany & Co. ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงในเดือนมกราคม 2021 ที่ผ่านมาที่มูลค่า 1.58 หมื่นล้านเหรียญ
โดยดีล Tiffany & Co. นี้ไม่เพียงแต่จะเสริมความแข็งแกร่งด้านการตลาดให้กับบริษัทเท่านั้น หากยังเป็นการขยายตลาดกลุ่มลูกค้า ที่พร้อมจะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้หมุนเวียนในองค์กร LVMH มากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มจิวเวลรีและรองเท้า เป็นสินค้าที่มียอดขายเติบโตมากกว่าตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นเสียอีก
และภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน LVMH ก็ได้ประกาศเข้าถือหุ้นร้อยละ 50 ที่ 300 ล้านเหรียญในบริษัท
Armand de Brignac ของ
Jay-Z แรปเปอร์ชื่อดัง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าดีลครั้งนี้จะทำให้
Moet Hennessy ซึ่งอยู่ในเครือ LVMH ได้เป็นพันธมิตรจัดจำหน่ายแบรนด์แชมเปญ Ace of Spades ทั่วโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจในภาคส่วนนี้ได้รับผลกระทบจากการ
ปิดตลาดในจีนและยุโรปในช่วงต้นปี 2020 ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในสหรัฐฯ และจีนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี เช่นเดียวกับตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องหนังที่มีแบรนด์สำคัญๆ อย่าง Louis Vuitton และ Givenchy ที่ค่อยๆ มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ด้าน
L Catterton บริษัทร่วมทุนของ LVMH ก็ได้เข้าซื้อกิจการในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจสุขภาพไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ โดยหนึ่งในดีลที่ใหญ่ที่สุด คือ การเข้าถือหุ้นร้อยละ 70 หรือคิดเป็นมูลค่า 3.4 พันล้านใน
Birkenstock บริษัทรองเท้าแตะสุขภาพสัญชาติเยอรมันจนส่งผลให้คู่พี่น้อง
Alex และ
Christian Birkenstock ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีหน้าใหม่แห่งปี
นอกจากนี้ L Catterton ยังได้ลงทุนอีก 250 ล้านเหรียญใน
Jio Platforms ธุรกิจโทรคมนาคมและเทคโนโลยีในเครือ Reliance Industries ของ
Mukesh Ambani มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเอเชีย และอีก 400 ล้านเหรียญในธุรกิจเรือสำราญอย่าง
Norwegian Cruise Line ซึ่งนับเป็นดีลที่คุ้มค่าอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากที่ทาง Norwegian ได้ซื้อหุ้นดังกล่าวคืนในมูลค่าที่มากกว่า 1 พันล้านเหรียญเสียอีก
สำหรับภาพรวมตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา จึงกล่างได้ว่า L Catterton ได้ลงทุนเป็นมูลค่ามากกว่า 2.3 พันล้านเหรียญใน 20 บริษัท และได้สร้างรายได้ก่อนหักภาษีใน 12 ธุรกิจที่ได้ถอนตัวออกมาแล้วเป็นจำนวนกว่า 4 พันล้านเหรียญ
แปลและเรียบเรียงจากบทความ How LVMH Chief Bernard Arnault Got Nearly $100 Billion Richer Over The Past Year เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
การจัดอันดับ อภิมหาเศรษฐีโลก ประจำปี 2021