Tony Fernandes บอสใหญ่ AirAsia สยายปีกบินทั่วอาเซียน ท่ามกลางการฟื้นตัวหลังโรคระบาด - Forbes Thailand

Tony Fernandes บอสใหญ่ AirAsia สยายปีกบินทั่วอาเซียน ท่ามกลางการฟื้นตัวหลังโรคระบาด

FORBES THAILAND / ADMIN
06 Mar 2023 | 04:07 PM
READ 6334

ภายหลังรอดพ้นจากโรคระบาดและผลขาดทุนมหาศาล Tony Fernandes ผู้ร่วมก่อตั้ง AirAsia ถึงคราวสยายปีกครั้งใหม่ผ่านการร่วมทุนในกัมพูชาและซูเปอร์แอปฯ ด้านการท่องเที่ยว


    นักธุรกิจใหญ่ผู้เด็ดเดี่ยวชาวมาเลเซีย Tony Fernandes ผู้สร้างสายการบินราคาประหยัด AirAsia เจ้าของสโลแกน “ใคร ใคร...ก็บินได้” จำต้องเผชิญวิกฤตในช่วงโรคระบาด การลุกลามของโควิด-19 บีบให้ Fernandes ต้องปิดกิจการ AirAsia Japan ในปี 2020 และขายหุ้นที่เหลือของ AirAsia India ให้กับคู่ค้าที่ร่วมทุนกันอย่าง Tata Group ไปในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา

    จากการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรทางอากาศ นักวิเคราะห์หลายรายได้ตั้งคำถามว่า Fernandes จะสามารถยื้อลมหายใจของสายการบินซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ได้หรือไม่ เมื่อ AirAsia ต้องเผชิญกับการขาดทุนครั้งใหญ่และหนี้สินที่ทับถม ในขณะที่เครื่องบินมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ถูกจอดทิ้งไว้ในช่วงเวลาที่โรคระบาดทวีความรุนแรง

    แต่ขณะนี้มาตรการควบคุมการเดินทางต่างๆ ได้ผ่อนคลายลง การท่องเที่ยวในภูมิภาคกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และ AirAsia เป็นหนึ่งในสายการบินอาเซียนที่ยินดีกับจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น และฝูงบินส่วนใหญ่ก็ทะยานกลับขึ้นฟ้าอีกครั้ง

    Fernandes ได้ใช้ช่วงเวลาที่ธุรกิจการบินหยุดชะงักเร่งดำเนินแผนการแรกเริ่มด้วยการขยายธุรกิจให้หลากหลายไปยังกลุ่มการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ ซึ่งจบลงด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Capital A เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเพื่อส่งสัญญาณว่าพวกเขาจะเป็นมากกว่าแค่สายการบิน (แม้ Fernandes จะยืนยันว่าสายการบินยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัทก็ตาม) โดยเขายังคงนั่งตำแหน่งซีอีโอ

    กุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นธุรกิจของ Capital A คือ airasia Super App แอปพลิเคชันครบวงจรสำหรับจองตั๋วเครื่องบินและบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการจองโรงแรม ตั๋วเรือ บริการส่งอาหาร รถรับส่ง และประกัน

    โดยเขาหวังว่าจะสามารถไล่ตามกลยุทธ์ของเหล่าซูเปอร์แอปฯ ในภูมิภาค เช่น Grab หรือ GoTo ด้วยแอปฯ ของเขาได้มีการเปิดตัวในปี 2020 และทางบริษัทก็กำลังขยับขยายเพิ่มขอบเขตบริการไปยังประเทศใหม่ๆ ทั้งยังร่วมมือกับ Google ที่ช่วยพัฒนาความสามารถต่างๆ ของแอปฯ

    ขณะเดียวกันนั้นเอง Fernandes ก็ดำเนินการวางรากฐานทางการเงินของบริษัทให้มั่นคง เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมาทางบริษัทดำเนินการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เสร็จสมบูรณ์ ในส่วนของสายการบินระยะไกล AirAsia X ขอชำระหนี้ 0.5 เปอร์เซ็นต์จากยอดเต็มจำนวน 3.3 หมื่นล้านริงกิต (7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) แลกกับการยกเลิกสัญญาทั้งหมดกับทางเจ้าหนี้ซึ่งการเจรจาดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลัง AirAsia ได้รับทุนอัดฉีดจำนวน 974.5 ล้านริงกิตจากเหล่าผู้ถือหุ้นเดิมในเดือนพฤศจิกายน 2021

    ธุรกิจสายการบินยังเป็นหัวใจสำคัญของ Capital A ในเดือนธันวาคม 2022 เขาได้ประกาศเปิดตัวสายการบินร่วมทุน AirAsia Cambodia ซึ่งจะเป็นพันธมิตรรายที่ห้าของ AirAsia ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเริ่มบินได้ช่วงครึ่งหลังของปี 2023 หากได้รับการอนุมัติให้ทำการบิน



    การสร้าง AirAsia ถือเป็นการผจญภัยครั้งใหญ่สำหรับ Fernandes และผู้ร่วมก่อตั้ง Kamarudin Meranun ในปี 2001 ทั้งคู่เริ่มต้นด้วยเครื่องบินสองลำก่อนทะยานสู่หนึ่งในสายการบินราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    AirAsia ติดปีกความสำเร็จให้ Fernandes ผู้เริ่มต้นทำงานกับ Virgin Music ในช่วงที่ Richard Branson ยังเป็นเจ้าของ ก่อนจะย้ายไปยัง Warner Music เป็นเวลา 12 ปี Forbes Asia ยกย่องให้เขาเป็นนักธุรกิจแห่งปี 2010 และจัด Fernandes กับ Meranun เป็นมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของมาเลเซีย จนกระทั่งพวกเขาหลุดจากอันดับในปี 2021 เนื่องด้วยราคาหุ้นสายการบินที่ดิ่งหนักเพราะโรคระบาด

    ปัจจุบัน เพื่อให้บริษัทเติบโต Fernandes พุ่งสนใจกลับมาที่มาเลเซียและประเทศใกล้เคียงซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจดีกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก "เราตั้งใจจะฝากตำนานไว้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" Fernandes วัย 58 ปีกล่าวและเขายังเสริมว่าต้องการร่วมทุนใน “ประเทศกลุ่มอาเซียนให้ได้มากที่สุดก่อนเกษียณ”

    ขณะที่ทุกสายการบินยังคงเผชิญปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงราคาแพง ด้วยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเคยเพิ่มขึ้นจนแตะ 175 เหรียญต่อบาร์เรลในเดือนมิถุนายน 2022 ก่อนจะปรับตัวลงมาเหลือ 135 เหรียญต่อบาร์เรลต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2023 

    แต่ด้วยราคาตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้นและความต้องการเดินทางด้วยสายบินที่เพิ่มสูงขึ้นจึงสามารถชดเชยในส่วนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสายการบินต่างๆ ก็ไม่ได้ทำสงครามราคากันดังเช่นที่เคยทำ

     ด้านสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) เผยว่าทิศทางการฟื้นตัวของสายการบินกำลังดีขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย-แปซิฟิกด้วยจำนวนผู้โดยสารที่ทะยานสูงถึง 363 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่ผ่านมา

    ในขณะที่ผลการดำเนินงานต่างๆ ดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 แต่ใช่ว่าปัญหาอันเกิดจากโรคระบาดจะได้รับการแก้ไขทั้งหมด Capital A ยังต้องเผชิญกับการขอคืนเงินคิดเป็นมูลค่าราว 2.1 พันล้านเหรียญจากผู้โดยสารที่ถูกยกเลิกเที่ยวบินระหว่างการระบาด ซึ่งลูกค้าบางส่วนต้องการขอคืนเป็นเงินสด แต่ทางบริษัทตัดสินใจว่า 94 เปอร์เซ็นต์ของการคืนเงินจะอยู่ในรูปแบบของบัตรกำนัลเป็นหลัก

    ธุรกิจดิจิทัลคือกุญแจหลักสู่การสร้าง Capital A แต่เมื่อไขประตูออกไป ซูเปอร์แอปฯ ของ AirAsia ต้องแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ที่มั่นคงในวงการอย่าง Grab Holdings และ GoTo ทว่า Fernandes หาได้กลัวไม่

    เขายืนกรานว่า AirAsia ที่สยายปีกบินไปแล้วทั่วทั้งสิบประเทศในอาเซียน “สามารถเป็นบริษัทด้านการท่องเที่ยวยุคดิจิทัลที่ทรงพลังได้” ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาเชื่อมั่นคือการมีสายการบินของตัวเองซึ่งคู่แข่งไม่มี นอกจากนั้นซูเปอร์แอปฯ ของเขายังสามารถเป็นผู้ช่วยในการท่องเที่ยวทางบกตามจุดหมายปลายทางยอดนิยมส่วนใหญ่ของภูมิภาคได้ เช่น เสียมราฐในกัมพูชา และโบราไกย์ในฟิลิปปินส์

    Fernandes คาดหวังจะยกระดับธุรกิจ AirAsia ขึ้นด้วยซูเปอร์แอปฯ ซึ่งรวมถึงบริการด้านการเงินจาก BigPay หรือบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินของ Capital A ที่พวกเขายืนยันว่ามีอัตราการแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ “เราใส่เทคโนโลยีด้านการเงินเข้าไป (ในซูเปอร์แอปฯ) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ช่วยให้การเดินทางของคุณสะดวกสบายยิ่งขึ้น” เขากล่าว


มุ่งสร้างกำไร

    หลังการขาดทุนต่อเนื่องตลอดหลายปีที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก AirAsia คาดหวังจะกลับมาทำกำไรอีกครั้งในปีหน้าท่ามกลางความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัว

1 หน่วยต่อ 1 พันล้านริงกิต, *ตัวเลขคาดการณ์จาก MayBank


    “พวกเขามีงานต้องทำมากมายแน่นอน” Nirgunan Tiruchelvam หัวหน้าฝ่ายวิจัยผู้บริโภคและอินเทอร์เน็ตแห่ง Aletheia Capital ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงินกล่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Capital A โดย Tiruchelvam ยังไม่ค่อยเชื่อว่าทาง AirAsia จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับรุ่นพี่ในวงการอีคอมเมิร์ซ “ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน” เขาได้กล่าวถึงการที่สายการบินเปลี่ยนแปลงมาเป็นบริษัทเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์บนแอปพลิเคชัน

    Capital A กำลังขยายเข้าไปสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตด้วยความมั่นใจ บริการออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วเดินทาง อีคอมเมิร์ซ และบริการด้านการเงินอื่นๆ นั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 650 ล้านคน ขณะที่ซูเปอร์แอปฯ เขาของมีผู้ใช้รายเดือน 12 ล้านคน ด้าน Teleport ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของ Capital A ก็มีลูกค้ารายใหญ่อย่าง Lazada, Shopee และ Zalora ที่สร้างความได้เปรียบในวงการอีคอมเมิร์ซที่กำลังเฟื่องฟูของภูมิภาค

    โดย Fernandes ยังฝากความหวังไว้ที่กัมพูชาในการช่วยผลักดันธุรกิจการบิน โดย AirAsia เริ่มบินไปกัมพูชาจากกัวลาลัมเปอร์ในปี 2005 และตอนนี้ประเทศแห่งนี้ก็ได้รับความคาดหวังว่าจะกลายเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวต่างๆ หลังมีการเปิดตัว AirAsia Cambodia

    AirAsia มีศูนย์กลางการบินอื่นๆ อยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ จาการ์ตา มะนิลา และกรุงเทพ หมายความว่าทางสายการบินซึ่งมีการร่วมทุนกับบริษัทในแต่ละท้องถิ่นละสามารถรับผู้โดยสารจากพื้นที่เหล่านี้ไปยังประเทศต่างๆ มากมาย เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

    AirAsia Cambodia เป็นการร่วมทุนกันระหว่าง Capital A ที่ถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ และ Sivilai Asia ที่ตั้งอยู่ในพนมเปญถือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ โดยมี Vissoth Nam ผู้อำนวยการ Sivilai Asia นั่งตำแหน่งซีอีโอ AirAsia Cambodia เขาเป็นเจ้าของกิจการชาวกัมพูชา มีร้านอาหารหม้อไฟในเสียมราฐและบาร์ในพนมเปญ ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานที่ธนาคารกลางของกัมพูชาและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

    AirAsia Cambodia จะเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ โดยมีเครื่องบินเพียงสองถึงสี่ลำในปีแรก แต่ทางผู้ร่วมทุนมีความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่ “จำนวนเส้นทางที่มากขึ้นกับราคาสุดคุ้มค่าจะต้องกระตุ้นความต้องการเดินทางทางเครื่องบินได้อย่างแน่นอน” Nam วัย 32 ปีกล่าว

    ก่อนการระบาดของโควิด-19 กัมพูชาซึ่งมีนครวัดอันโด่งดังในเสียมราฐนั้นเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของเหล่านักเที่ยว ในปี 2019 มีผู้มาเยือนจากนานาชาติถึง 6.6 ล้านคนนำมาซึ่งรายได้ 1.8 พันล้านเหรียญ อ้างอิงจากกระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชา

    ภายหลังจากการที่จีนแผ่นดินใหญ่ประกาศเปิดประเทศหลังปิดมาเกือบสามปีจากการแพร่ของโรคระบาด คาดการณ์กันว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มสูงขึ้น Fernandes คิดว่า AirAsia สามารถเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวจากจีนได้ไม่ยาก และเตรียมดึงเอานักท่องเที่ยวจากอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เดินทางเข้าสู่ประเทศนี้

    “มันง่ายมากที่จะเพิ่มจุดหมายปลายทาง 21 สายจากจีนมาที่นี่ (กัมพูชา)” Fernandes กล่าว เขาเชื่อมั่นการลงทุนในกัมพูชาเป็นอย่างมาก “เราจะทำกำไรได้ในทันที” เขาบอก “ทำไมจะไม่ล่ะ? ทุกคนที่นี่ (กัมพูชา) รู้จัก AirAsia อยู่แล้ว”


เดือนธันวาคม 2022 Fernandes ประกาศจับมือกับ Vissoth Nam สร้าง AirAsia Cambodia


    Capital A เองต้องเป็นหนี้มหาศาลผลพวงจากโควิด-19 ทั้งยังมีรายงานว่าตัวเลขขาดทุนในปี 2020 และ 2021 รวมกันสูงถึง 6.3 พันล้านริงกิต ส่วนรายงานทางการเงินประจำปี 2022 จะประกาศสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

    แม้ว่าผลการดำเนินงานจะพัฒนาขึ้นในไตรมาสที่แล้วก็ตาม Maybank ได้คาดการณ์ผลขาดทุน 2.9 พันล้านริงกิตสำหรับปี 2022 มากกว่าปีก่อนหน้านี้ที่ 2.8 พันล้านริงกิตขึ้นมาเล็กน้อย โดยทางสายการบินยังต้องขาดทุนเพิ่มในปีนี้จากค่าบริการนายหน้า 700 ล้านริงกิต คาดว่าจะได้กำไรคืน 258 ล้านริงกิตในปี 2024 โดยปีล่าสุดที่สายการบินกำไรได้คือปี 2018

    Samuel Yin นักวิเคราะห์จาก Maybank เผยว่า AirAsia สามารถตอบรับความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเพราะการตัดสินใจที่ถูกต้องในการรักษาสัญญาเช่าเครื่องบินจำนวนมากที่ถูกจอดทิ้งเอาไว้ระหว่างเกิดโรคระบาด ทำให้ AirAsia ได้เปรียบคู่แข่ง เช่น Batik Air จากอินโดนีเซีย หรือสายการบินมาเลเซีย ซึ่งต่างก็ต้องลำบากหาเครื่องบินมาเพิ่มเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากที่พวกเขาลดขนาดฝูงบินลงเมื่อสองปีที่ผ่านมา

    แม้ AirAsia จะพาฝูงบินกว่า 150 ลำกลับสู่ท้องฟ้าสำเร็จ (และอีก 54 ลำคาดว่าจะขึ้นบินได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้) ทางสายการบินยังคงต้องงัดข้อกับปัญหาทางการเงิน เมื่อบริษัทตรวจสอบบัญชี Ernst & Young เผยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาถึงความคลางแคลงความสามารถในการดำเนินธุรกิจของ AirAsia โดยชี้ว่า AirAsia เป็นบริษัทที่มีความเครียดทางการเงินภายใต้การประเมินของตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย หรือ Practice Note 17 (PN17)


ขึ้นบินอีกครั้ง

จำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวบินค่อยๆ ตีกลับขึ้นมาหลังดิ่งหนักในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก

*นับรวมจำนวนผู้โดยสารจาก AisAisa India และ AirAsia Japan ที่มา: Capital A


    สาเหตุที่ได้รับสถานะ PN17 เป็นเพราะหนี้สินมหาศาลของสายการบินระยะไกล AirAsia X ที่สูงทะลุจำนวนสินทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2022 Fernandes กล่าวว่าแม้สถานะ PN17 “ไม่สามารถสะท้อนภาพความอยู่รอดและแนวโน้มของธุรกิจ Capital A ได้อย่างแม่นยำ” พวกเขาก็กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อนำสถานะดังกล่าวออกไป “ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของแผนการฟื้นฟูหลังโรคระบาดของเรา”

    ตอนนี้เขาคาดหวังให้สถานะ PN17 ถูกถอดถอนออกไปก่อนครึ่งหลังของปีนี้ ในขณะเดียวกันเขาก็กำลังดำเนินการรวมบริษัทในเครือจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และ AirAsia X เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อ AirAsia Aviation Group มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

    Fernandes หวังว่าการปรับโครงสร้างองค์กรล่าสุดจะพาธุรกิจของเขาให้ก้าวไปอีกระดับ เขาวางแผนนำธุรกิจสี่อย่างซึ่งแยกมาจาก Capital A เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอีกสองสามปีข้างหน้าได้แก่ ซูเปอร์แอปฯ, บริษัทโลจิสติกส์ Teleport, บริษัทเทคโนโลยีการเงิน BigPay และบริษัทซ่อมบำรุงอากาศยานครบวงการ Asia Digital Engineering “การรวมธุรกิจหลายอย่างเข้าด้วยกัน Capital A ไม่อาจสร้างมูลค่าที่แท้จริงได้” Fernandes กล่าว “ผมจึงจะแยกมันออกเป็นส่วนๆ”

    การทำธุรกิจนอกเหนือไปจากการบินไม่อาจดึงดูดลูกค้าได้มากพอในทศวรรษที่ผ่านมา Fernandes มองเห็นศักยภาพขั้นสูงของ AirAsia Super App และ Teleport ซึ่งเขาคาดว่าจะขนส่งพัสดุ 94 ล้านกล่องได้ในปี 2024 จากเดิม 8 ล้านกล่องในปี 2022 เพื่อตอบสนองความต้องการด้านอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโต ทางบริษัทจะค่อยๆ เพิ่มเครื่องบินขนส่งสินค้า Airbus A321 จำนวนสามลำเข้ามาในฝูงบินโดยจะเริ่มต้นที่ไตรมาสแรกของปีนี้

    “เครื่องบินลำตัวแคบเหล่านี้จะเสริมแกร่งให้เครือข่ายบรรทุกสินค้าของ Teleport และแก้ปัญหาความต้องการในตลาดที่กระจายตัวทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ช่วยให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก และอีคอมเมิร์ซเชื่อมโยงเข้าหากันง่ายขึ้น”

    หลังจากเพิ่งระดมรอบล่าสุด 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ในเดือนธันวาคม Teleport ก็เดินหน้าเต็มกำลังขยายเครือข่ายการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเป้าก่อตั้งศูนย์กลางโลจิสติกส์ในกัมพูชาเมื่อ AirAsia Cambodia สามารถทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

    “เรารอเข้าสู่ตลาดโลจิสติกส์กัมพูชาอันเต็มไปด้วยสิ่งทอและอาหารแทบไม่ไหวแล้ว” Fernandes กล่าว “เส้นทางการบินนี้จะเติมเต็มเครือข่ายธุรกิจของเราในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

    ทั้งนี้ Tiruchelvam จาก Aletheia ยังแสดงความเห็นถึงความไม่พอใจที่ยังหลงเหลืออยู่ของลูกค้าจากการถูกยกเลิกเที่ยวบินและเที่ยวบินล่าช้าช่วงโควิด-19 ซึ่งอาจกลายเป็น “ปัญหาใหญ่” ในการบริหารแบรนด์ แต่ปัญหานี้จัดว่าเป็นปัญหาในอุตสาหกรรมการบิน “ลูกค้าจะยอมรับอุปสรรคการบินเหล่านี้ได้ตราบเท่าที่ AirAsia ยังคงความเป็นสายการบินราคาประหยัดเมื่อเทียบกับคู่แข่งเจ้าอื่นๆ” เขากล่าว

    Fernandes แสดงความเห็นด้วยว่าทางบริษัทต้องทนทุกข์อย่างมากในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในระยะเวลาหลายเดือนมานี้ AirAsia จำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินมากมายเพราะมีเครื่องบินไม่พอ

“ผู้คนไม่ทันได้ตระหนักว่าถ้าคุณมีเครื่องบินที่ไม่ได้ขึ้นบินเป็นเวลานานและไม่ได้บำรุงรักษา มันจะมีชิ้นส่วนบางอย่างที่ทำงานไม่ได้ มีกรณีที่เราเปิดขายเที่ยวบินแต่เครื่องบินไม่พอเพราะฝ่ายวิศวกรรมของเราไม่สามารถเตรียมเครื่องบินให้พร้อมในเวลาที่กำหนดได้” เขายอมรับ

    Fernandes มั่นใจว่าสายการบินของเขาสามารถพัฒนาด้านการบริการลูกค้าได้ “สิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสาร” เขากล่าว “มันยากเมื่อเราต้องต่อสู้กับอะไรหลายอย่าง แต่เราก็กำลังพยายาม” เพื่อจัดการเรื่องนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ Capital A ได้ยกเลิก Ava แชตบอตที่เคยให้บริการออกและแทนที่ด้วย Ask Bo ซึ่งทางบริษัทมั่นใจว่ามัน “แก้ปัญหาเชิงรุกได้ดีและมีความใส่ใจ” มากกว่า Ava ทั้งยังมีฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น การอัปเดตสถานะเที่ยวบินตามเวลาจริง และมีภาษาใช้งานมากขึ้นซึ่งรวมถึงภาษาญี่ปุ่นและภาษาเวียดนาม

    แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ AirAsia Boss Tony Fernandes Pushes Digital Business, Southeast Asia Expansion Amid Post-Pandemic Recovery ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com


อ่านเพิ่มเติม: พบกับ Stacey Bendet สตรีผู้นำแฟชั่นแห่ง Alice and Olivia


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine