พบกับ Stacey Bendet สตรีผู้นำแฟชั่นแห่ง Alice and Olivia - Forbes Thailand

พบกับ Stacey Bendet สตรีผู้นำแฟชั่นแห่ง Alice and Olivia

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Mar 2023 | 02:44 PM
READ 3190

ณ ขณะนี้ พระอาทิตย์ฤดูร้อนกำลังลับขอบฟ้าที่สวนแห่งหนึ่งใน West Chelsea ลูกบอลเป่าลมขนาดใหญ่มากมายรายล้อมแขกกว่า 700 คนที่มาร่วมงานเลี้ยงฉลองด้วยธีมงานพรอมในโอกาสครบรอบ 20 ปีของแบรนด์ Alice and Olivia


ภาพบรรยากาศภายในงานครบรอบ 20 ปีของแบรนด์ Alice and Olivia ภาพโดย: Rony Alwin


    บรรดาลูกบอลเป่าลมเหล่านั้นพิมพ์ลายแว่นกันแดดสีดำและปากสีแดง เครื่องหมายการค้าและตัวแทนของ Stacey Bendet ซึ่งเป็นรู้จักกันในชื่อ “Staceface” และในค่ำคืนของการเฉลิมฉลอง Staceface ได้กระจายอยู่ทุกหนทุกแห่งตั้งแต่คุกกี้ไปจนฉากถ่ายรูป

    เธอพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้งานเลี้ยงเต็มไปด้วยสีสันฉูดฉาดสุดอลังการโดยร่วมมือกับศิลปินผู้นำเทรนด์สื่อและศิลปะหลายแขนงอย่าง Kid Super ออกแบบพู่เชียร์ อัฒจรรย์ และซุ้มถ่ายรูปวิบวับสำหรับเก็บภาพประทับใจ Bendet ยืนอยู่บนลานกลางสวน (ที่ตกแต่งเป็นห้องล็อคเกอร์โรงเรียนมัธยม)

    เธอสวมชุดราตรีเป็นประกายตัดเย็บด้วยผ้าหลากสีเรียงกันลงมาเป็นชั้นๆ คอยทักทายมิตรสหายคนดังมากมายด้วยท่วงท่าสง่างาม ไม่ว่าจะ Busy Phillips, Lea Michele, Gracie Abrams และ Dylan Lauren

    ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหนๆ Bendet ยังคงตนเป็นต้นแบบความเก่งกาจในแบบที่เธอเป็น โดยมี Staceface เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพลังอันเอ่อล้นจากตัวตนของเธอ

    Bendet ถือผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าสตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคแบรนด์หนึ่ง เธอเป็นทั้งภรรยาผู้ทุ่มเทและคุณแม่ลูกสาม Eloise ลูกสาวคนหนึ่งของเธอเป็นนักกีฬาแข่งขันขี่ม้าฝีมือยอดเยี่ยม ขณะที่ท่วงท่าในการออกอัษฎางคโยคะของ Bendet นั้นน่าอัศจรรย์ยิ่ง

    เธอเรียนจบจาก University of Pennsylvania ตอนอายุ 21 ปีและตอนนี้เธอก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาของ Baker Retailing Center ซึ่งตั้งอยู่ภายใน Wharton School of Business ที่เธอจบมา เธอและกลุ่มเพื่อนยังทรงอิทธิพลมากเสียจนแก๊งของ Taylor Swift ยังรู้สึกได้

    อาจกล่าวได้ว่า Stacey Bendet เป็นอัจฉริยะแห่งยุค 2000 ตัวจริง การที่ไม่อาจบอกได้ว่าเธอเริ่มต้นที่ไหนและมันจะไปจบลงที่ใดทำให้เธอดูราวกับไร้ขีดจำกัด แต่จากการพูดคุยระหว่างสัมภาษณ์ Bendet ทำให้เข้าใจได้ว่า เธอไม่ได้ไร้ขีดจำกัดแต่เธอทำงานตัวเป็นเกลียวต่างหาก

    “ไม่มีบริษัทใดจะประสบความสำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน และแฟชั่นก็ไม่ใช่อุตสาหกรรมสำหรับคนขี้เกียจ” Bendet บอกชัดเจน

    “ฉันทำงานมาตลอด 20 ปีในทุกๆ วัน เพราะเมื่อมุ่งมั่นทำสิ่งใดแล้ว ต้องทุ่มเทเต็มที่ ผู้คนอาจจะไถฟีตแล้วเจอฉันใน Instagram เจอฉันในงานปาร์ตี้หรือภาพข่าวก็ตามแต่ พวกเขาอาจจะคิดว่านั่นคือสิ่งที่ฉันเป็น แต่ความเป็นจริงคือฉันอยู่บ้านหกคืนต่อสัปดาห์เพื่อใช้เวลากับลูกๆ ส่วนที่เหลือฉันเอาไปทำธุรกิจ”

    แม้ Bendet จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเครือ Ivy League แต่เธอเรียนรู้ด้านธุรกิจแฟชั่นจาก Andrew Rosen เจ้าพ่อวงการแฟชั่นอเมริกันช่วงปลายยุค 90s ถึงต้น 2000s ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์แฟชั่นของสหรัฐในห้วงเวลานั้น

    เขาเป็นต้นคิดเบื้องหลังแบรนด์เสื้อผ้าร่วมสมัยอย่าง Theory ที่ให้นิยามของคำว่าดูดีมีสไตล์ไร้กาลเวลาซึ่งเป็นแบรนด์ที่เขาและ Elie Tahari ร่วมกันก่อตั้ง

    จากบทเรียนความสำเร็จต่างๆ ของ Theory ทำให้เขากระจายความเสี่ยงในการลงทุนกับแบรนด์นิชแฟชั่นหลายๆ แบรนด์ที่มีการออกแบบในสไตล์อเมริกันร่วมสมัยคล้ายคลึงกับแบรนด์ของเขา คือ สวมใส่ได้จริง เข้าถึงได้ ดึงความเป็นตัวตน และทันสมัย Rosen ลงทุนใน Rag & Bone, Proenza Schouler และท้ายที่สุดเขายังเลือกลงทุนร่วมกับ Bendet กับแบรนด์ Alice and Olivia ของเธอ

ภาพโดย Amy Lombard


    “ฉันจัดแฟชั่นโชว์เซ็ตแรกที่ Russian Tea Room” Bendet ย้อนเล่าถึงช่วงที่ Rosen ได้ก้าวเข้ามาในชีวิตของเธอ “เรายังเป็นวัยรุ่นผู้นำเทรนด์และวันนั้นก็มีงานเลี้ยงและฉันก็จัดงานโชว์กางเกงบ้าๆ ของตัวเอง ตอนนั้นฉันยังทำแค่กางเกง ไม่ได้ทำเสื้อ แฟชั่นโชว์ครั้งนั้นก็เลยเปลือยอก และ Andrew ก็อยู่ที่นั่น เราเจอกันวันนั้นแล้วก็เป็นหุ้นส่วนกันเสมอมา”

    ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ของการร่วมทุนทำธุรกิจ พวกเขายังพัฒนาความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นด้วย เป็นทั้งครูและศิษย์ คนไว้ใจ และกระทั่งเพื่อนสนิท

    คนที่เธอสนิทที่สุดในเรื่องของหน้าที่การงานอาจเป็นผู้ชาย ทว่า Bendet คือผู้หญิงในอุดมคติของผู้หญิง และหากมุมมองสนับสนุนพลังสตรีของเธอยังไม่ชัดเจนพอ ถ้ามีโอกาสได้รู้จักกับเธอแม้จะเพียงผิวเผินจะพบว่าเธอคือพลังหญิงเดินได้เลยทีเดียว

    “หญิงแกร่งจะช่วยเสริมแกร่งให้ผู้หญิงด้วยกัน” เธอกล่าวโดยอ้างวลีดังพลังหญิงระหว่างสัมภาษณ์ กระทั่งคนวงการสื่ออย่างฉัน (ผู้เขียน) เมื่อเผชิญหน้ากับเธอก็ยังให้ความเคารพ ความช่วยเหลือ และความสนับสนุน

    Huma Abedin เพื่อนสนิทซึ่งเป็นอดีตผู้ช่วยของ Hillary Clinton เผยว่า “Stacey เป็นผู้บริหารและนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จ แต่เธอไม่เคยลืมตัวตนว่าเธอมาจากไหนและอยากทำอะไรให้กับโลกใบนี้” Abedin ยังบอกต่อไปว่า

    “เธอเป็นนักประสานงาน มักมองหาและสนับสนุนโครงการใหม่หรือมูลนิธิต่างๆ และในฐานะของเพื่อน เธอก็ไม่เคยทอดทิ้ง เธอเป็นคนแรกที่จะคุณจะโทรหาเมื่อต้องการความช่วยเหลือ คำปรึกษา หรือมีเรื่องกลุ้มใจ หรือไม่ก็แค่หัวเราะ”

Bendet และเพื่อนสนิท Huma Abedin ภาพโดย: Getty Images for Hulu


    แนวคิดในการสนับสนุนพลังหญิง ทำให้ Bendet เป็นผู้ทรงอิทธิพลในกลุ่มผู้หญิงสมัยใหม่ทั้งกับที่บ้านและในวงการแฟชั่น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเมื่อถามว่าการอยู่ในธุรกิจแฟชั่นกว่า 20 ปีมีความหมายอย่างไรต่อเธอ เธอกล่าวว่า “มันคือการพิสูจน์ว่าผู้หญิงสามารถมาได้ไกลแค่ไหนในวงการนี้”

    “ตอนฉันเริ่มตั้งบริษัท มี CEO หญิงเพียงไม่กี่คนในวงการแฟชั่น” เธอเล่า “มีนักออกแบบชื่อดังหลายคนก็จริง แต่พวกเธอไม่ได้เป็นเจ้าของหรือบริหารบริษัท และอันที่จริงแบรนด์ส่วนใหญ่ก็มีการถกเถียงกันว่าผู้ชายออกแบบให้ผู้หญิงกับผู้หญิงออกแบบให้ผู้หญิงอย่างไหนดีกว่ากัน”

    เธอกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่าจำนวนอัตราการกลับมาทำงานของพนักงานหญิงที่ Alice and Olivia สูงถึง 96 เปอร์เซ็นต์ เนื่องมาจากความยืดหยุ่นต่อชีวิตครอบครัวซึ่งเธอสร้างให้ที่ทำงาน ความยืดหยุ่นนี้ฟังดูเป็นสิ่งที่คิดที่เขียนขึ้นมาได้ง่ายๆ หมายถึงการสร้างสมดุลในชีวิตให้กับแม่ที่ต้องทำงาน


Nicky Hilton Rothschild กับกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ภาพโดย: BFA


    อย่างไรก็ตาม การออกมาทำงานนอกบ้านของผู้หญิงเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเริ่มมีในช่วงต้นถึงกลางทศวรรษ 1900 และบทบาทของผู้หญิงทำงานต่อสังคมก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องคอยดูกันต่อไป

    เมื่อผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้าน เราได้เรียนรู้ว่าจากผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าพวกเธอยังมีภาระหน้าที่ที่มองไม่เห็นที่ต้องรับผิดชอบซึ่งเรียกว่า “งานที่มองไม่เห็น” (Invisible Labor) เป็นคำจำกัดความของ Arlene Daniel นักสังคมวิทยา ที่ตีความถึงงานที่ไม่มีใครสังเกต ไม่ได้รับค่าแรง และกลายมาเป็นภาระหนักหนักอึ้งของผู้รับผิดชอบ โดยงานที่มองไม่เห็นส่วนใหญ่ตกเป็นของผู้หญิง

    และจากการอ้างอิงของ The United Nations ได้ยกตัวอย่างหากมีงานที่มองไม่เห็นเป็นจำนวนสี่ชั่วโมงพวกเธอต้องใช้เวลาทำงานเหล่านั้นถึงสามชั่วโมง สรุปสั้นๆ คือผู้หญิงไม่ใช่แค่ทำงานหาเงิน พวกเธอทำมากกว่านั้น

    Bendet เข้าใจในจุดนี้

    “ฉันรักการเป็นแม่ แต่พูดตามตรง หลายปีที่ต้องดูแลเด็กอ่อนวัยเตาะแตะเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสโดยเฉพาะเมื่อคุณต้องทำงาน ฉันสนับสนุนให้ผู้หญิงหยุดไปลาคลอดและคิดหาวิธีจัดการเรื่องต่างๆ ที่พวกเธอต้องการ ซึ่งโดยปกติแล้วก็คือการแบ่งปันหน้าที่รับผิดชอบภายในบ้านกับคู่สมรส

    ดังนั้นถ้าผู้หญิงจะทำงาน เราสนับสนุนให้พวกเธอสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความสำเร็จที่บ้าน ส่วนเราคอยช่วยในการคงไลฟ์สไตล์แบบนี้เอาไว้ พนักงานของเราจะได้มีทั้งสองอย่าง”

    “มันเกี่ยวกับความยืดหยุ่นจริงๆ” เธอพูดต่อ “เราไม่หวังให้คนทำงานเป็นบ้าเป็นหลังหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เรารู้ว่าเหล่าแม่ๆ ทั้งหลายต้องพาลูกไปโรงเรียนก่อนมาทำงาน และให้ความสำคัญกับการประชุมผู้ปกครอง หรืออาจจะต้องทำงานจากบ้านถ้าลูกป่วย

    เราจัดประชุมในช่วงเวลา 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น จะได้มีเวลากลับไปดูลูก เราสนับสนุนให้เหล่าพ่อแม่ในบริษัทช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยมีแพลตฟอร์มเปิดสำหรับคำถามและคำแนะนำ มันไม่ใช่เรื่องยาก แค่ต้องคิดเยอะ”

    การไตร่ตรองพร้อมด้วยแรงผลักดันต่างเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมงานของเธอแข็งแกร่ง

    “ฉันบอก Stacey เสมอว่าเธอเหมือนกับยอดหญิง ไม่มีอะไรที่เธอทำไม่ได้” Nicky Hilton Rothschild เพื่อนสนิทอีกคนของ Bendet บอกเมื่อถูกขอให้บรรยายเกี่ยวเพื่อนของเธอ

    “เธอมีครอบครัวที่ดี มีธุรกิจที่กำลังเติบโต มีส่วนร่วมในงานการกุศลต่างๆ มีงานอดิเรกมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเวลาให้กับเพื่อนทุกคน นอกเหนือจากนั้น เธอยังเป็นคนแรกที่ส่งอีเมลหรือข้อความหาฉันตอนตีสี่ครึ่ง ไม่รู้ว่าเธอได้นอนบ้างหรือเปล่า”

    ตอนนี้ Bendet กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการแสดง New York Fashion Week ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมง เธอเป็นหนึ่งในแบรนด์แรกๆ ที่มีการจัดแต่งพื้นที่นำเสนอผลงานอย่างเต็มที่ต่างจากแนวทางปกติของ Fashion Week ซึ่งจะเน้นการเดินแบบบนเวที

    เนื่องจากเธอตระหนักมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าการสร้างบรรยากาศ การปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึก และการเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมานั้นมีผลต่อแบรนด์ของเธอ ในขณะที่แฟชั่นโชว์มีลำดับชั้นและนโยบายเกี่ยวกับที่นั่งที่ให้ความสำคัญกับผู้ชมที่ควรค่าต่อวงการ

    การนำเสนอแฟชั่นโชว์ในรูปแบบใหม่จะพาผู้เข้าชมให้ได้สัมผัสถึงแบรนด์ ผู้ก่อตั้ง และผู้เข้าร่วมงานคนอื่นๆ รูปแบบการแสดงนี้สนับสนุนการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นคุณค่าที่ Bendet ยึดถือ


รูปแบบการจัดแสดงแฟช่ันที่แตกต่างขอ งAlice and Olivia ภาพโดย: BFA


    “ฉันไม่อยากให้ผู้หญิงคนไหนออกจากร้านหรือพื้นที่จัดแสดงงานของฉันพร้อมความรู้สึกกระอักกระอ่วน” เธอกล่าว “เสื้อผ้ามีไว้เพื่อยกระดับ สร้างแรงบันดาลใจ และทำให้คุณรู้สึกเป็นตัวของตัวเองในแบบที่ดีที่สุด ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ฉันต้องการ ฉันอยากให้ผู้หญิงทุกคนได้เป็นตัวของตัวเองใบแบบที่ดีที่สุดเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าของฉัน”

    จากที่แบรนด์เริ่มต้นมาแค่กางเกง Alice and Olivia มีคอลเล็กชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า แคชเมียร์ ชุดราตรี เดนิม และเครื่องประดับ เธอเริ่มต้นแบรนด์ Alice and Olivia ผลิตคอลเล็กชั่นต่างๆ ส่งขายไปยังผู้จัดจำหน่ายกว่า 800 แห่งทั่วโลก

    เธอเปิดช็อปแห่งแรกในปี 2005 ซึ่งปัจจุบันได้ขยายไปถึง 20 สาขาทั้งในและนอกสหรัฐ รวมถึงการจำหน่ายผ่านช่องทางการขายออนไลน์ ถึงแม้จะก่อตั้งแบรนด์เพื่อให้ผู้หญิงทั่วไปได้สวมใส่ แบรนด์ Alice and Olivia ยังเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าคนดัง เช่น Michelle Obama, Beyonce, Gwyneth Paltrow, Gigi Hadid, Meghan Markle และอีกมากมาย

    Bendet ไม่ได้ใช้อิทธิพลของตนเพียงเพื่อความก้าวหน้าของธุรกิจ เธอยังใช้เครือข่ายอันทรงพลังของตนทั้งคนจริงๆ และออนไลน์ (Alice and Olivia มีผู้ติดตามเกือบ 2 ล้านคนบน Instagram) เพื่อดำเนินแคมเปญ Share the Mic ที่เธอร่วมสร้างขึ้นมากับ Bozoma Saint John นักบริหารหญิงผู้ทรงอิทธิพลในวงการมาร์เก็ตติ้งและบุคคลอื่นๆ

    โดยแคมเปญนี้จัดตั้งเพื่อให้เหล่าผู้หญิงผิวดำได้แบ่งปันเรื่องราวของตนผ่านบัญชี Instagram ของคนดังผิวขาวที่มีชื่อเสียงและ Bendet ยังได้ต่อยอดแคมเปญดังกล่าว เปิดตัว EveryWomanRise แคมเปญกระตุ้นให้ผู้หญิงออกมาร่วมกันแบ่งปันพื้นที่บนโซเชียลในการเป็นกระบอกเสียงให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือจากทั่วโลกเร็วๆ นี้


ภาพโดย: Sansho Scott/BFA.com


    สำหรับแผนการในอนาคต Bendet ตั้งใจจะสร้างความเท่าเทียมด้านแฟชั่นผ่านธุรกิจและแคมเปญต่างๆ ของเธอต่อไป เธอยังมีส่วนร่วมกับเหล่านักศึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการสร้างและดูแลแบรนด์อย่างสม่ำเสมอในการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย Wharton ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาในชั้นเรียนต่างๆ และแนวคิดสำคัญที่ควรมีในหลักสูตร ซึ่งรวมถึงแนวทางการสร้างแบรนด์ไปพร้อมๆ กับสร้างครอบครัว

    Bendet ยังเปิด Creatively แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ใครๆ ก็หางานในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ ซึ่งเปิดรับนักสร้างสรรค์จากทุกแขนง พวกเขาจะได้รับโอกาสพร้อมๆ กับข้อมูลไม่ขาดสายที่ Creatively ผลิตขึ้นเพื่อสนับสนุนการหางาน

    เมื่อลองมาคิดดูแล้ว อาณาจักรแฟชั่นแห่งนี้เริ่มต้นจากแฟชั่นโชว์เปลือยอกสุดจะเกินเบอร์ที่ Russian Tea Room ในมุมหนึ่ง Alice and Olivia ไม่ได้ออกห่างจากแก่นหลักว่าด้วยความแข็งแกร่งของผู้หญิงที่ปรากฏบนเวทีในค่ำคืนนั้นสักเท่าไหร่

    “งานของฉันตอนนี้วิเศษตรงที่มันช่วยเปิดโอกาสและการเข้าถึงให้ผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินดาวรุ่งหรือใครก็ตามที่ต้องการความสนใจ” Bendet สรุป “ทั้งหมดนั้นอยู่ในจิตวิญญาณของแบรนด์ ความแข็งแกร่ง การสนับสนุน และการผลักดัน คือตัวตนของเรา Alice and Olivia เสมอมา”


แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ "Meet Stacey Bendet, A Female Founder In Fashion" ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine