สูตรลับธุรกิจของ Takaya Awata เศรษฐีพันล้านเจ้าของเชนร้านอุด้งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น - Forbes Thailand

สูตรลับธุรกิจของ Takaya Awata เศรษฐีพันล้านเจ้าของเชนร้านอุด้งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Jan 2025 | 09:00 AM
READ 101

Takaya Awata ขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีพันล้านด้วยการปลุกปั้นร้านอาหารเล็กๆ ให้กลายเป็นอาณาจักรธุรกิจอาหาร Toridoll Holdings เจ้าของเชนร้านอุด้งที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และตอนนี้เขาฝันที่จะลิ้มรสความสำเร็จระดับโลก


    เส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการและเศรษฐีระดับพันล้านเหรียญของ Awata ไม่ได้ง่ายดาย พ่อของ Takaya Awata เสียชีวิตตอนเขาอายุ 13 ปี และเขาเติบโตขึ้นมาที่เมือง Sakaide จังหวัด Kagawa โดยมีแม่เป็นคนเลี้ยงดู เขาลาออกจากมหาวิทยาลัย Kobe City University ขณะศึกษาคณะด้านภาษาต่างประเทศเพื่อทำงานหาเงินช่วยเหลือครอบครัว ขณะทำงานที่ร้านกาแฟเขาก็ได้ค้นพบความฝันของตนเอง “ผมมีความสุขในการทำอาหาร เสิร์ฟอาหารให้ลูกค้า และได้ยินพวกเขาพูดคุยกันว่า มันอร่อยมากแค่ไหน” เขาเล่าถึงอดีต

    ด้วยความมุ่งมั่นที่จะออมเงินเพื่อเปิดร้านอาหารของตนเอง Awata จึงหันไปประกอบอาชีพขับรถบรรทุกซึ่งเป็นงานที่ทำรายได้มากที่สุดเท่าที่เขาสามารถหาได้ เขาขับรถขนส่งสินค้าแทบทั้งวันทั้งคืนและอาศัยอยู่ในหอพักของบริษัท เขากล่าวว่า ชีวิตช่วงนั้นมืดมนและอ้างว้างแต่เขาพบกับความสบายใจเมื่อได้ไปนั่งที่ร้านขายไก่ย่างริมทางในละแวกนั้น สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเปิดร้านยากิโทริโดยช่วยกันกับภรรยา (Awata บอกว่า คำว่า Toridoll ไม่ได้มีความหมายใดพิเศษและเขาเลือกชื่อนี้เพราะจำง่าย)


    การเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของพ่อผู้ล่วงลับช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ใน Marugame จังหวัด Kagawa ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องอุด้ง Sanuki ที่ทำจากข้าวสาลีที่ปลูกในท้องถิ่น เกลือ และน้ำ ทำให้ Awata เจ้าของร้านอาหารที่เพิ่งเริ่มต้นเส้นทางธุรกิจได้แนวคิดและแรงบันดาลใจครั้งใหม่ โดยเฉพาะร้านอุด้งแห่งหนึ่งที่ดึงดูดคนให้มาเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อรอกินเมนูอุด้งที่ทำสดๆ ตรงหน้าลูกค้า ไอเดียตกตะกอนมาเป็นร้าน Marugame Seimen สาขาแรกที่เปิดขึ้นใน Kagawa เมื่อปี 2000 (seimen ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า การทำเส้น)

    ปัจจุบัน Toridoll Holdings ของ Awata ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo กลายเป็นเครือร้านอาหารบริการด่วนเกือบ 2,000 สาขา ที่กระจายอยู่ใน 28 ประเทศ และครอบคลุมหลายภูมิภาคภายใต้ 21 แบรนด์ ร้านอาหารเรือธงคือ Marugame Seimen เครือร้านอุด้งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นทั้งในด้านตัวเลขรายได้และจำนวนสาขา ความสำเร็จในการบริหารธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีพันล้านคนหนึ่งและเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้มากยิ่งขึ้น

    “ผมอยากให้ Toridoll ก้าวไปแข่งขันในระดับโลก” กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทและซีอีโอวัย 62 ปีกล่าว ณ สำนักงานใหญ่ที่ย่าน Shibuya ของ Tokyo พร้อมเสริมว่า เขาตั้งเป้าที่จะทำให้บริษัทสร้างรายได้ทะลุ 1 ล้านล้านเยน (7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้ Awata จะต้องลดการพึ่งพาตลาดภายในประเทศที่กำลังหดตัวและมุ่งขยายสาขาในต่างประเทศ

    อุตสาหกรรมร้านอาหารบริการด่วนทั่วโลกมีอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 5% ในช่วงปี 2019-2023 จนมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดจากอุตสาหกรรมบริการอาหารทั้งหมดจากข้อมูลที่ Tommaso Nastasi หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษา Deloitte ประจำ Milan กล่าวผ่านอีเมลว่า ประเทศญี่ปุ่นซึ่งกำลังเผชิญปัญหาภาวะสังคมสูงอายุ จำนวนการจ้างพนักงานประจำลดลงและอัตราค่าจ้างแรงงานชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องรับมือกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

    ยิ่งไปกว่านั้น Awata ยังเผยอีกว่า ภาคธุรกิจอาหารในประเทศมีการแข่งขันที่รุนแรง การเติบโตของรายได้ภายในประเทศจึงหมายถึงบริษัทต้องแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากบรรดาคู่แข่ง เช่น Hanamaru เครือร้านอุด้งของยักษ์ใหญ่ที่มี Yoshinoya Holdings ยักษ์ใหญ่กิจการข้าวหน้าเนื้อที่เปิดมานานกว่า 100 ปี และบริษัท Zensho Holdings ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo เจ้าของเชนร้านข้าวหน้าเนื้อราคาประหยัดยอดนิยม Sukiya ซึ่งก่อตั้งโดยเศรษฐีพันล้าน Kentaro Ogawa เป็นเจ้าของ นอกจากนั้น Toridoll ยังต้องสู้รบกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันอย่าง McDonald’s และ KFC ซึ่งรวมกันแล้วมีสาขามากกว่า 4,000 แห่งในญี่ปุ่น

    การแข่งขันเพื่อแย่งชิงลูกค้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ร้านอาหารแห่งอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้าวกล่องเบนโตะและข้าวปั้นที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงอาหารพร้อมทานในซูเปอร์มาร์เก็ตตามข้อมูลจาก Shun Igarashi นักวิเคราะห์ของ Daiwa Securities ใน Tokyo “ด้วยเทรนด์การรับประทานอาหารที่มีความหลากหลายบริษัทต่างๆ จึงพยายามอย่างหนักเพื่อดึงดูดลูกค้า” เขากล่าว


    ท่ามกลางสมรภูมิแข่งขัน Toridoll ยังสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งด้วยแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวที่หลัั่งไหลเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น บริษัททำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.32 แสนล้านเยนในปีงบการเงินที่สิ้นสุด ณ เดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยรายได้ประมาณ 38% มาจากธุรกิจในต่างประเทศ กำไรสุทธิของบริษัทโต 48% เป็น 5.7 พันล้านเยน ซึ่งค่าเงินเยนที่อ่อนตัวช่วยให้กำไรจากสาขาต่างประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อแปลงค่าโอนกลับมายังญี่ปุ่น 

    แต่ราคาหุ้นของ Toridoll กลับปรับตัวลดลง 5% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจากที่มีการซื้อขายที่ P/E สูงหลายเท่าหลังจากการระบาดใหญ่เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับไปทานอาหารนอกบ้าน Awata ซึ่งมีสินทรัพย์ในครอบครองแตะระดับพันล้านเหรียญเมื่อปี 2023 และติดอันดับในกลุ่ม 50 ผู้ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่นมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิล่าสุดอยู่ที่ 1.1 พันล้านเหรียญ

    ก่อนเดือนมีนาคม ปี 2028 Toridoll ตั้งเป้าทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 3 เท่าจากรายได้รวม 4.2 แสนล้านเยน โดยตัวเลขเกือบครึ่งหนึ่งจะมาจากสาขาในต่างประเทศ เขาอธิบายว่า เป้าหมายนี้เป็นไปได้หากสามารถเพิ่มจำนวนสาขาร้านอาหารขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 4,900 แห่ง โดยเป็นสาขาในต่างประเทศ 3,000 แห่ง (บริษัทเป็นเจ้าของสาขาเกือบทั้งหมดในประเทศที่มีอยู่ 1,100 แห่ง ยกเว้นเพียง 4 สาขา ขณะที่ร้านอาหารราวครึ่งหนึ่งจาก 861 สาขาในต่างประเทศเป็นการดำเนินการในรูปแบบแฟรนไชส์หรือธุรกิจร่วมทุน) Awata คาดว่า สัดส่วนรายได้ในต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียง 60% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า



เรื่อง: Zinnia Lee และ James Simms, เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา, ภาพ: Shunichi Oda



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Hirotake Yano ชายผู้ “ล้มเหลวแต่ไม่ล้มเลิก” ปั้นอาณาจักร Daiso แสนล้าน

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine