แตกเพื่อโต Sequoia แบ่งย่อยเป็นแบรนด์ใหม่ในเอเชีย - Forbes Thailand

แตกเพื่อโต Sequoia แบ่งย่อยเป็นแบรนด์ใหม่ในเอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Nov 2023 | 06:37 PM
READ 1945

บริษัท VC ระดับโลกที่มีเรื่องราว ความเป็นมาน่าสนใจที่สุดอย่าง Sequoia กำลังแยกย่อยกิจการหลังเป็นที่รู้จักจากการเข้าลงทุนในบริษัทเทคสัญชาติอเมริกันอย่าง Airbnb, WhatsApp และ Zoom ในสหรัฐฯ​ ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม เช่นเดียวกับกิจการทรงพลังอย่าง ByteDance และ GoTo ผ่านกองทุนบริษัทในจีนและอินเดีย ซึ่ง VC เจ้านี้กำลังจะแยกตัวออกเป็น 3 บริษัทที่ขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง


    แกนนำระดับโลกของ Sequoia ยืนยันกระแสข่าวนี้ผ่านทางจดหมายที่ส่งถึงหุ้นส่วนในวงจำกัดเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ลงนามโดยผู้บริหารบริษัททั้ง 3 แห่ง คือ Roelof Botha, Neil Shen และ Shailendra Singh ซึ่ง 3 บริษัทที่จะแยกตัวกัน ได้แก่ Sequoia Capital ในสหรัฐฯ​ และยุโรป, HongShan ในจีน และ Peak XV Partners ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งวางแผนจะดำเนินการเปลี่ยนผ่านให้เสร็จสิ้น “ไม่เกิน” เดือนมีนาคม ปี 2024 นี้

    ระหว่างการให้สัมภาษณ์เดี่ยวกับ Forbes ผู้บริหารการลงทุนทั้ง 3 คนต่างบอกว่า การตัดสินใจแยกย่อยแบรนด์ระดับโลกอย่าง Sequoia มาจากการหารือกันที่ค่อยๆ เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาพวกเขาอ้างถึงปัจจัย เช่น ข้อขัดแย้ง ระหว่างพอร์ตการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพของแต่ละกองทุน ความสับสนในแบรนด์ที่วางกลยุทธ์ไปคนละแนวทาง และความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้นจากความพยายามรักษาแนวทางการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับแบบรวมศูนย์ พร้อมกับยอมรับว่าสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้นก็เป็นปัจจัย แต่ยังพยายามเลี่ยงการให้ความสำคัญกับประเด็นนี้

    “อะไรๆ ดูจะเป็นไปในทิศทางที่ยุ่งมากมากขึ้นแทนที่จะง่ายดายขึ้น” Botha กล่าว “นี่ไม่ใช่การยอมแพ้แล้วประกาศว่า ขอยกธงขาว เราแพ้แล้ว แต่เป็นชัยชนะเสียมากกว่า เพราะเรามีธุรกิจอันเป็นอิสระจากกันเหล่านี้ซึ่งจะยังเติบโตต่อไปได้อีก”

    จากการก่อตั้งเมื่อปี 1972 ในฐานะกองทุนมูลค่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ Sequoia กลายเป็นขาประจำในศูนย์กลางเทคแห่ง Silicon Valley จากการลงทุนตั้งแต่ช่วงต้นๆ ในบริษัทอย่าง Apple, Cisco, Google และ Nvidia ในช่วงทศวรรษต่อๆ มา จนมีทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้นสู่หลักหลายหมื่นล้านเหรียญ

    ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2000 บริษัทนี้ได้ขยายกิจการไปในระดับนานาชาติ ตั้งกองทุนภายใต้การจับมือกับพันธมิตรด้านการลงทุนในท้องถิ่นในจีนและอินเดีย (ก่อนจะค่อยๆ ยุบกองทุนในอิสราเอลที่เปิดตัวเมื่อปี 1999 ในเวลาต่อมา) แต่กองทุนอื่นๆ ทั้ง Sequoia China และ Sequoia India and Southeast Asia ต่างเติบโตจนขึ้นแท่นเป็นต้นแบบในระดับภูมิภาค

    ขณะที่กิจการของ Sequoia ในสหรัฐฯ ​(ที่ขยายไปครอบคลุมทั้งยุโรปและอิสราเอล) สามารถอ้างความสำเร็จของการลงทุนในธุรกิจที่โดดเด่นอย่าง Airbnb, DoorDash, Snowflake, WhatsApp และ Zoom ได้ Sequoia China เองก็มีอะไรให้อวดอ้างอยู่เหมือนกัน ทั้งการลงทุนใน Alibaba และ Meituan รวมถึงบริษัทแม่ของ TikTok อย่าง ByteDance

    ส่วนกองทุนในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มี Byju s, GoTo และ Zomato ให้คุยได้ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทุกกองทุนของ Sequoia มักส่งให้หุ้นส่วนส่วนใหญ่เข้าสู่ทำเนียบ Midas List ที่จัดอันดับสุดยอดนักลงทุน VC ได้อยู่เสมอ โดยครองถึง 10 ตำแหน่งในปี 2023 นำโดย Shen ที่ขึ้นแท่นอันดับ 1 มาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยในรอบ 22 ปีที่ผ่านมาของการจัดอันดับทำเนียบนักลงทุน VC ใน Midas List มีนักลงทุนของ Sequoia ได้ขึ้นแท่นครองอันดับ 1 มาแล้วถึงครึ่งหนึ่งด้วยกัน

    อันที่จริงตั้งแต่แรกเริ่ม Sequoia มองภาพกองทุนระดับภูมิภาคค่อนข้างเป็นอิสระจากกันอยู่แล้ว มีทั้งการกระจายอำนาจให้ตัดสินใจเรื่องการลงทุนในพอร์ตและเรื่องของความไหลลื่นในการเจรจาข้อตกลงธุรกิจได้เอง โดยบรรดาหุ้นส่วนจากกองทุนในภูมิภาคหนึ่งจะไม่เข้าไปตรวจสอบข้อตกลงที่อีกกองทุนหนึ่งกำลังศึกษาอยู่ 

Neil Shen


    แต่กองทุนเหล่านี้ใช้งานระบบหลังบ้านร่วมกัน ทั้งในด้านการกำกับดูแล การเงิน และนักลงทุนสัมพันธ์ โครงสร้างพื้นฐานและช่องทางออนไลน์สำหรับบรรดาหุ้นส่วนที่มีจำนวนจำกัด นักลงทุนในกองทุนต่างๆ ประจำแต่ละภูมิภาคก็ยังมีส่วนที่ซ้อนทับกันและหุ้นส่วนต่างก็ลงทุนส่วนตัวข้ามกองทุนไปมา แต่ทว่ากองทุนในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันในบางมิติตามคำบอกเล่าของหุ้นส่วน เช่น กิจกรรมนักลงทุนสัมพันธ์ที่ปรับให้เหมาะสมกับท้องถิ่นมากกว่า และการจัดทำซอฟต์แวร์ของแต่ละกองทุนเอง

    ในอนาคตบริษัทแห่งใหม่ทั้งสามจะวางรากฐานโครงสร้างเป็นของตัวเองและหุ้นส่วนจะไม่ลงทุนข้ามกองทุนกันเอง ซึ่งการแบ่งสัดส่วนกำไร (และการใช้งานระบบหลังบ้าน) ระหว่างกองทุนระดับภูมิภาคแต่ละแห่งจะยุติลงภายในวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งทาง Sequoia ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการกำไรในช่วงก่อนหน้านี้

    แม้จะครองตลาดธุรกิจร่วมลงทุนมานานหลายทศวรรษ แต่ข่าวคราวในระยะหลังมานี้ไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับแบรนด์ Sequoia สักเท่าไร หน่วยกองทุนในสหรัฐฯ​ และยุโรปเผชิญคำถามเกี่ยวกับการเข้าลงทุนใน Twitter​ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น X) ของ Elon Musk รวมถึงจุดจบอันอื้อฉาวของธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตอย่าง FTX และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการระดมทุนของกองทุนในสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ผ่าน Sequoia Capital Fund ซึ่งนำเงินทุนจากกองทุนปลายเปิดขนาดมหึมามาลงทุน และเปิดให้ถือครองตราสารทุนเป็นระยะเวลายาวนานกว่าเดิม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ตลาดจะปรับฐานพอดิบพอดี

    เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Sequoia เปิดให้หุ้นส่วนแบบจำกัดความรับผิดชอบต่างๆ สามารถถอนเงินทุนได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าเกิดขึ้นจริงตามการรายงานของ The Information (แหล่งข่าวที่มีข้อมูลรายหนึ่งระบุว่า ทางบริษัททำแบบนี้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้นักลงทุนหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาด)​ โดยกองทุนนี้ถือครองสินทรัพย์มูลค่ามากกว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อ้างอิงข้อมูลตามการยื่นแบบ

    ขณะเดียวกับธุรกิจฝั่งจีนก็เติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ว่าความสัมพันธ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างแต่ละประเทศในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ​ กับจีนจะเย็นชามากขึ้น Sequoia China ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ByteDance โดยถือหุ้น 10% ที่คาดว่ามีมูลค่าสูงหลายหมื่นล้านเหรียญตามการรายงานของ Forbes

    ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กองทุน Sequoia ในสหรัฐฯ เองก็ถือหุ้นของ ByteDance เช่นกัน ผ่านบรรดากองทุน Growth Fund ที่ตั้งขึ้นช่วงไม่กี่ปีมานี้เพื่อลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ทั่วโลก แน่นอนว่า ByteDance เป็นบริษัทแม่ของ TikTok ที่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เผชิญปัญหาและการตรวจสอบอย่างหนักหน่วงจากบรรดานักการเมืองในสหรัฐฯ

    โดยในปี 2020 อดีตผู้บริหารกิจการในระดับโลกของทางกองทุนอย่าง Doug Leone ที่ดูแลกองทุนในสหรัฐฯ และยุโรปวิ่งเต้นช่วยเหลือ ByteDance ระหว่างช่วงรัฐบาลของ Trump และปีที่แล้วมีกระแสข่าวว่า กองทุนนี้จ้างบริษัทที่ปรึกษาใน Washington, D.C. เพื่อช่วยจัดการเรื่องดังกล่าว

    Shen ยังคงเป็นกรรมการบริษัท ByteDance และปฏิเสธจะให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว แต่ในการพูดคุยแบบกว้างๆ เขาปฏิเสธแนวคิดที่ว่าการแยกกองทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทที่อยู่ในจีนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะในฮ่องกงหรือที่อื่นๆ

    “บริษัทเหล่านี้ไม่ใช่ใหม่ๆ แล้ว” เขากล่าว “ผมไม่อยากประเมินความสามารถของเราสูงจนเกินไปในการนำพาบริษัทหนึ่งไปสู่การ IPO เพียงแค่เพราะเราถือหุ้นบริษัทนั้นๆ อยู่


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 10 อันดับ บริษัทเอกชนใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2023

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine