Patrick Walujo ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการ Northstar Group มองเห็นโอกาสมากมายในวิกฤต
หนึ่งในบรรดาหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียในปีที่ผ่านมาคือ หุ้นของธนาคารที่ประสบกับการขาดทุนที่ชื่อ Bank Jago หลังจากการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ปี 2016 และไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวใดๆ ให้เห็นมากนัก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2019 หุ้นของธนาคารขนาดเล็กจากเมือง Bandung กลับถีบทะยานขึ้น 35 เท่า ในเวลานั้น Bank Jago (ซึ่งใช้ชื่อว่า Bank Artos) ขานรับนักลงทุนคนใหม่ที่ชื่อ Patrick Walujo เข้ามาช่วยปฏิรูป จากธนาคารรูปแบบดั้งเดิมให้กลายเป็นธนาคารดิจิทัล แม้ว่า Bank Jago เป็นหนึ่งในธนาคารขนาดเล็กของอินโดนีเซียโดยวัดจากขนาดสินทรัพย์ แต่การดีดตัวขึ้นของหุ้นได้เปลี่ยนให้กลายเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในแง่ของมูลค่าตามราคาตลาด เหตุผลส่วนใหญ่มาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตัวผลงานที่ผ่านมาของ Walujo ที่ได้รวมสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเข้ากับการพลิกสถานการณ์การลงทุนแล้วดึงคุณค่าที่แท้จริงของบริษัทออกมา Walujo ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของ Northstar Group บริษัทไพรเวทอิควิตี้ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารอยู่ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2003 บริษัทได้ทำข้อตกลงทางธุรกิจต่างๆ คิดเป็นมูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญ ซึ่งรวมไปด้วยในปี 2007 ได้เข้าลงทุนกับยักษ์ใหญ่ไพรเวทอิควิตี้จากสหรัฐฯ ที่ชื่อ TPG Capital เพื่อเข้าลงทุนใน Bank BTPN จากเมือง Bandung ซึ่งให้ผลตอบแทนมากกว่า 900% ในช่วงเวลา 7 ปี และในปี 2014 ได้เข้าลงทุนใน Gojek บริษัทที่ดำเนินธุรกิจการร่วมเดินทาง (ride sharing) ของอินโดนีเซียเป็นจำนวนเงิน 800,000 เหรียญโดยไม่เปิดเผยจำนวนหุ้นส่วนน้อยที่ได้เข้าซื้อ ปัจจุบันสตาร์ทอัพแห่งนี้มีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Gojek ยังได้เข้าซื้อหุ้นเกือบจะ 1 ใน 5 ของ Bank Jago เป็นจำนวนเงิน 2.2 ล้านล้านรูเปียห์ (159.4 ล้านเหรียญ) ส่งผลให้ Walujo ได้กำไรที่ยังไม่ได้เป็นตัวเงินจริงถึง 2,500%- การเติบโตของ Northstar -
Northstar ให้คำปรึกษากับ Adira Finance บริษัทที่ดำเนินธุรกิจสินเชื่อรถยนต์เกี่ยวกับการขายหุ้นใหญ่ให้กับ Bank Danamon ในปี 2004 และข้อตกลงทางธุรกิจนี้ได้ให้ผลตอบแทนเป็นสายสัมพันธ์ให้กับ Walujo นั่นก็คือ เขาได้พบกับ Jerry Ng นายธนาคารระดับชั้นแนวหน้า ซึ่งตอนนั้นเป็นรองซีอีโอที่ Danamon และปัจจุบันเป็นนักลงทุนร่วมใน Bank Jago ในปี 2005 Northstar กระโจนเข้าสู่ธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ที่กำลังเฟื่องฟู โดยสวมบทบาทเป็นนายหน้าในการเข้าซื้อหุ้น 40% ใน Adaro ให้กับกลุ่มบริษัทที่รวมไปด้วย Thohir และกลุ่มของนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลในอินโดนีเซีย เช่น Theodore Rachmat ผู้เป็นพ่อตาของเขาและลูกพี่ลูกน้องของ Rachmat และเพื่อนนักธุรกิจใหญ่อย่าง Edwin Soeryadjaya Datells ประทับใจกับผลงานของ Northstar มากจากการทำข้อตกลงทางธุรกิจของ Adaro จุดนี้เองได้ทำให้เขาได้พบกับ Walujo และ Sugita และเขาก็มีข้อเสนอกับทั้งคู่ว่า ให้ยุติบทบาทวาณิชธนกิจในการระดมทุนให้กับไพรเวทอิควิตี้ โดย TPG แนะนำให้ทั้งคู่เปิดตัว TPG Indonesia อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ได้โน้มน้าวให้ TPG เข้าช่วยหนุน Northstar แทน โดยพวกเขาได้ทำการจัดหาเงินทุนและช่วยระดมทุนในรอบแรก 110 ล้านเหรียญในปี 2006 ความเฟื่องฟูของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยังทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ในเดือนมีนาคม ปี 2008 Northstar และ TPG ได้ใช้เงิน 1.8 ล้านล้านรูเปียห์เข้าลงทุนใน BTPN พร้อมกับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักจากเดิมเป็นผู้รับเงินบำนาญในประเทศไปยังกลุ่มมิลเลนเนียล ราวปี 2014 Walujo คาดการณ์ว่า อินโดนีเซียน่าจะเดินตามดิจิทัลเทรนด์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนและอินเดีย “การเปลี่ยนแปลงเข้าสู้ยุคดิจิทัลของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในอินโดนีเซียนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” Walujo กล่าว ดังนั้น Northstar จึงได้ตั้งกองทุนร่วมลงทุนที่ชื่อ NSI Ventures เพื่อเข้าไปเดิมพันเล็กๆ และหาโอกาสในธุรกิจที่มีอนาคตในระยะยาว โดยกล้าที่จะเสี่ยงขาดทุนกับเงินไม่กี่ล้านเหรียญกับสตาร์ทอัพที่เดินหน้าเข้าสู่ระดับยูนิคอร์น หนึ่งในการลงทุนแรกของ NSI คือ ลงทุน 800,000 เหรียญเพื่อเข้าถือหุ้นแบบไม่เปิดเผยจำนวนใน Gojek ปี 2015 Northstar ก็เดินตามรอยโดยเข้าซื้อหุ้นใน Gojek แบบไม่เปิดเผยจำนวน ราวปี 2019 Gojek ได้กลายเป็นสตาร์ทอัพแรกในระดับเดเคคอร์น และได้รับการประเมินมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ Walujo บอกว่า Gojek เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จสูงสุดที่ Northstar เข้าไปลงทุน และเมื่อเดือนเมษายนปี 2020 ได้เปิดตัวอัตลักษณ์ใหม่ของธนาคาร ทั้งนี้ เป้าหมายที่จะเป็นธนาคารดิจิทัลของ Bank Jago ก็เริ่มประจักษ์ขึ้นหลังได้รับแรงส่งจาก Gopay บริษัทลูกของ Gojek ที่ดำเนินธุรกิจชำระเงินเข้าซื้อหุ้น 18% ใน Bank Jago เป็นจำนวนเงิน 2.25 ล้านล้านรูเปียห์ ทำให้เพิ่มการครอบครองหุ้นเป็น 22% และยังได้เพิ่มมูลค่าการลงทุนของ Walujo และ Ng ที่พวกเขาลงทุนในครั้งแรก 26 เท่า เหมือนกับที่ Walujo ได้กล่าวไว้ ข้อตกลงธุรกิจนี้ได้ช่วยให้ปี 2020 เป็นหนึ่งในปีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Northstar โดยเขายอมรับว่า การออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินจากธนาคารกลางต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเดินหน้าของกระบวนการออกกฎหมายที่เรียกว่า ประมวลกฎหมาย Omnibus Law ของอินโดนีเซีย และในเดือนเมษายนขณะสถานการณ์โรคระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้นในอินโดนีเซีย แต่ Northstar ยังสามารถระดมทุนได้มากกว่า 250 ล้านเหรียญในการระดมทุนรอบใหม่ เพื่อใช้ลงทุนในสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ โรคระบาดก็ได้ยุติแผนการของ Northstar ที่จะขายหุ้นราว 20% ในบริษัทปล่อยสินเชื่อรถ BFI Finance Indonesia ให้กับ Mediobanca จากอิตาลี แต่กระนั้น Northstar ก็สามารถขายธุรกิจหลายแห่งจากการลงทุนใหญ่ๆ ได้ และในเวลาเดียวกันก็ได้เข้าซื้อธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ เข้าซื้อหุ้น 80% ในบริษัท Greenfields Dairy Singapore โดยร่วมกับ TPG คิดเป็นมูลค่า 236 ล้านเหรียญ Walujo ยังคงมั่นใจกับอนาคตแม้ว่าโรคระบาดยังเกิดขึ้นอยู่ “โควิดจะไม่อยู่กับเราตลอดไปหรอก” Walujo กล่าว “ทุกๆ วิกฤตนำมาซึ่งโอกาสมากมาย งานของพวกเราคือ หาผลตอบแทนให้กับนักลงทุนของพวกเรา” **บทความนี้ดัดแปลงมาจาก Forbes Indonesia ซึ่งเป็นฉบับลิขสิทธิ์ของ Forbes Media** เรื่อง: Elisa Valenta เรียบเรียง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: Indra Leonardi อ่านเพิ่มเติม:คลิกอ่าน “ดาวจรัสแห่ง Northstar” ฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine