Lee Seung Gun โยนเหรียญ เปิดเกม “Toss” - Forbes Thailand

Lee Seung Gun โยนเหรียญ เปิดเกม “Toss”

FORBES THAILAND / ADMIN
05 Nov 2022 | 08:00 PM
READ 3199

Lee Seung Gun แกนนำของ Viva Republica กำลังพา "Toss" ซูเปอร์แอป ด้านการเงินของเขาก้าวขึ้นไปอีกระดับ ด้วยการผลักดันธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งใหญ่ และการระดมทุนครั้งเขย่าวงการ แต่นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น


    เป็นเวลา7ปีแล้วนับตั้งแต่ Lee Seung-gun เริ่มติดเทอร์โบให้อุตสาหกรรมการจ่ายเงิน ผ่านมือถือของเกาหลีใต้

    ภายใต้แอปโอนเงินชื่อ Toss ของเขา ซึ่งเขาต่อยอดจนกลายเป็นซูเปอร์แอปที่มีบริการด้านการเงินหลายอย่าง และอดีตทันตแพทย์ผู้นี้กำลังหาทางชิงส่วนแบ่งในตลาดเทคโนโลยีการเงินของเอเชียที่โตอย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแผนการใหญ่ที่จะก้าวสู่ระดับโลก “เรามีบริการด้านการธนาคาร หุ้น และทุกอย่างอยู่ในแอปเดียว ซึ่งช่วยให้ (นักลงทุน) มั่นใจได้มากขึ้นว่า Toss น่าจะกลายเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ของวงการฟินเทคทั้งหมดได้” Lee ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Viva Republica ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอปนี้กล่าวในการสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอจากห้องทำงานของเขาในย่านหรู

    เพื่อให้เรื่องนี้สำเร็จ Lee กำลังเตรียมระดมทุนรอบใหม่ด้วยมูลค่าประเมินกิจการกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ “ตอนนี้มีนักลงทุนพยายามติดต่อเรามาเยอะ” เขากล่าว ซึ่งการระดมทุนที่จะเกิดขึ้นในรอบนี้ เป็นการหาเงินเพิ่มจากที่บริษัทเคยได้มาแล้วรวม 940 ล้านเหรียญนับตั้งแต่ปี 2014 จากเหล่านักลงทุนซึ่งรวมถึง PayPal, Sequoia Capital China และ GIC กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ 

    ข้อมูลของบริษัทวิจัย CB Insights ระบุว่า Viva Republica มีเงินทุนก้อนใหญ่วิ่งเข้ามาเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วเมื่อบริษัทระดมทุนได้ 410 ล้านเหรียญด้วยมูลค่าประเมิน 7.4 พันล้านเหรียญ 

    ทำให้บริษัทนี้กลายเป็นสตาร์ทอัพที่ได้รับการประเมินมูลค่าสูงที่สุดในเกาหลีใต้ และทำให้ Lee ซึ่งอายุครบ 40 ปีไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมากลายเป็นเศรษฐีพันล้าน โดยเข้าทำเนียบ Korea Rich List ในปีนี้เป็นครั้งแรกในอันดับที่ 36 ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 1.2 พันล้านเหรียญ

    Toss ได้รับความนิยมทันทีที่ Lee เปิดตัวแอปนี้เมื่อปี 2015 ซึ่งก็ช่วยให้ชาวเกาหลีใต้โอนเงินออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันแอปนี้มียอดดาวน์โหลด 20 ล้านครั้ง และมีคน 11 ล้านคนเข้ามาใช้งานแดชบอร์ดที่มีบริการให้เลือกหลากหลายอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่การซื้อประกัน ขอสินเชื่อ ไปจนถึงลงทุนออนไลน์ และ Lee ลองหยั่งเชิงตลาดอื่นนอกเกาหลีด้วยการเปิดตัว Toss ในเวียดนามเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งการแจกรางวัลเป็นเงินสดและบริการบัตรเดบิตก็ดึงดูดผู้ใช้งานแอปเป็นประจำเข้ามาได้เดือนละ 3 ล้านคน จากนั้นเขาก็ขยายธุรกิจเข้าไปในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภูมิภาคนี้เป็นตลาดที่ใหญ่จริง รายงานของ Google, Temasek และ Bain เมื่อเดือนพฤศจิกายนระบุว่า ปีที่แล้วธุรกิจให้สินเชื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงภาคธุรกิจเดียวก็มีมูลค่าธุรกรรม 3.9 หมื่นล้านเหรียญแล้ว แต่การจับตลาดฟินเทคที่กำลังโตเร็วในภูมิภาคนี้ทำจริงยากกว่าพูด 

    เพราะบรรดายักษ์ใหญ่สายเทคแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง Sea ของ Forrest Li เศรษฐีพันล้านชาวสิงคโปร์ Grab ของ Anthony Tan และ GoTo ของอินโดนีเซียต่างทำศึกกันดุเดือดอยู่แล้วเพื่อจะเป็นซูเปอร์แอปขวัญใจลูกค้าแถบนี้ ซึ่งรวมถึงการให้บริการฟินเทคด้วย และนอกจาก Viva Republica จะต้องสู้สุดตัวเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดแล้วก็ยังมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอย่าง Xendit ของอินโดนีเซียที่มี Tiger Global หนุนหลัง และ Nium ของสิงคโปร์ที่สนับสนุนโดย Temasek บริษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์กับ GIC เข้ามาแข่งในสังเวียนนี้เพื่อจะชนะเช่นกัน

    ด้วยเหตุนี้การหาหุ้นส่วนจึงเป็นกุญแจสำคัญ Seo Hyun-woo ผู้นำฝ่ายกลยุทธ์ของ Viva Republica กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อต้นปีนี้ว่า บริษัทจะเปลี่ยนจากกลยุทธ์เติบโตแบบปกติมาเป็นการเร่งลงทุนในต่างประเทศและการซื้อกิจการ ในเวียดนามบริษัทจับมือกับ CIMB Group ของมาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้สินเชื่อรายใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวัดจากสินทรัพย์ และเมื่อปลายปีที่แล้ว Viva Republica ก็เข้าลงทุนในต่างประเทศเป็นครั้งแรกด้วยการซื้อหุ้นสัดส่วนเล็กๆ ใน Republic แพลตฟอร์มจากสหรัฐฯ ที่ให้บริการลงทุนในสตาร์ทอัพ 

    “เราไม่ใช่แค่บริษัทที่เข้าไปขายผลิตภัณฑ์เหมือนกันเป๊ะๆ ให้กับทุกประเทศที่เข้าไป” Lee กล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน “แต่เราเข้าไปในตลาดและพยายามเรียนรู้ปัญหาของลูกค้า แล้วดูว่าเราจะแก้ (ปัญหา) ได้อย่างไร”

    Lee Sung-bok นักวิจัยอุตสาหกรรมบริการด้านการเงินจาก Korea Capital Market Institute กล่าวว่า ถ้า Viva Republica อยากเป็นบริษัทฟินเทคระดับชั้นนำของโลกก็ต้องเริ่มจากทำกำไรให้ได้เสียก่อน บริษัทกล่าวว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าเป็น 8.2 แสนล้านวอน (672 ล้านเหรียญ) ในปีที่แล้ว ขณะที่ขาดทุนสุทธก็เพิ่มขึ้น แต่บริษัทก็ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมาจากปี 2020 ที่มีรายงานว่าขาดทุน 9.1 หมื่นล้านวอน เนื่องจากมีการจ้างพนักงานและค่าใช้จ่ายด้านการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถ้าบริษัทมีกำไรการเข้าตลาดหลักทรัพย์จะง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ Viva Republica กำลังดูลู่ทางว่าจะทำภายใน 3-5 ปีข้างหน้า


Lee Seung Gun ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Viva Republic


    “ที่ผ่านมา Toss เน้นทำการตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้า แต่ผมคิดว่ากลยุทธ์การตลาดของ Toss กลับทำให้มีพวกที่หวังฉกฉวยผลประโยชน์วิ่งเข้ามามากขึ้นเป็นส่วนใหญ่” เขากล่าว “ในยุคนวัตกรรมดิจิทัลผมเชื่อว่าการดึงเงินจากภายนอกเข้ามาเป็นเรื่องง่าย แต่การรักษาไว้จะหมดเปลืองไม่น้อย ในเมื่อตอนนี้คนรู้กันแล้วว่าโมเดลธุรกิจของ Toss ไม่ยั่งยืน”

    แต่ Lee ไม่เคยถอยหนีเรื่องท้าทาย “ผมเคยเป็นทันตแพทย์” Lee ผู้จบจากคณะทันตแพทยศาสตร์ชั้นนำของเกาหลีใต้ที่ Seoul National University กล่าว “เมื่อก่อนผมไม่รู้เรื่องไอทีเลย” หลังจากผ่านการเกณฑ์ทหารภาคบังคับในเกาหลีใต้แล้ว Lee ซึ่งตอนนั้นอายุ 27 ปีไปพบเพื่อนร่วมคณะเพื่อขอคำแนะนำเรื่องการเปิดคลินิกของตัวเอง 

    แต่แทนที่เขาจะกลับมาพร้อมรายการสิ่งที่ต้องทำ Lee กลับมองเห็นหนทางใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพราะเรื่องที่เพื่อนพูด แต่เป็นเพราะของที่เพื่อนมี นั่นคือ iPhone 3GS รุ่นใหม่ “มันเป็นประสบการณ์เปิดโลกเลย” Lee เล่า มือถือ Apple รุ่นนี้ออกมาหลังจาก iPhone 3G รุ่นปี 2008 ซึ่งปฏิวัติวงการด้วย App Store ที่เปลี่ยนแปลงการใช้งานสมาร์ทโฟนของผู้คน มันเร็วขึ้น 2 เท่าและอัดวิดีโอได้ แต่สิ่งที่ตรึงความสนใจของ Lee คือ แอปซึ่งผลิตโดยบุคคลที่ 3 ประมาณ 65,000 แอป เขาเล่าว่า “สิ่งแรกที่ผมคิดคือ (ฉันอยากสร้างแอป)

    เขาเริ่มเดินหน้าความทะเยอทะยานด้านดิจิทัลของเขาให้เป็นจริง โดยจ้างวิศวกรซอฟต์แวร์ 1 คน Lee ทำงานเป็นทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลในเครือ Samsung สัปดาห์ละ 2 วันเพื่อหาเงินทุนมาทำกิจการ และทุ่มเวลาที่เหลือให้การพัฒนาแอป แอปอะไรก็ได้ “ถึงมันจะ (ห่วยแตก) หรือไม่เข้าท่าเลยก็ตาม” Lee เล่า เขาทำแอปถ่ายเซลฟี่และแอปช่วยยื่นใบคำร้องออนไลน์ทั้งหมด 8 แอป แต่ทำเงินไม่ได้สักแอป

    แล้วต่อมา Lee ซึ่งหงุดหงิดกับระบบจ่ายเงินออนไลน์อันยากเย็นของเกาหลีก็ขุดเจอทองคำในปี 2015 ก่อนจะมี Toss นั้นหากชาวเกาหลีจะโอนเงินได้ก็ต้องฝ่าด่าน 10 ขั้นตอนซึ่งต้องใส่ทั้งรหัส PIN และพาสเวิร์ดหลายชุด แอปของ Lee ซึ่งมีแค่ 3 ขั้นตอนจึงโดนใจผู้ใช้สมาร์ทโฟน และ Toss ก็ได้ลูกค้าสมัครใช้งาน 600,000 รายภายในปีแรก แล้วเมื่อเหล่ายักษ์ใหญ่สายการเงินของเกาหลีพยายามไล่ตามมาด้วยการเสนอบริการของตัวเองบ้าง การจ่ายเงินผ่านมือถือในประเทศนี้จึงเพิ่มขึ้น 4 เท่าจนมีมูลค่า 4.6 พันล้านเหรียญในช่วง 2 ปีต่อมา แต่ Lee กล่าวว่า โจทย์ท้าทายเรื่องใหญ่ที่สุดของเขาคือ การทำให้พ่อแม่เห็นดีเห็นงามที่เขาจะเลิกเป็นหมอฟันแล้วหันมาเป็นผู้ประกอบการ เขาเล่าว่า “นั่นเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ผมขัดใจพ่อแม่”

    Han Kim ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีของ Altos Ventures จากรัฐ California เล่าว่า บริการด้านการเงินผ่านมือถือของเกาหลีใต้ในสมัยก่อนขาดประสิทธิภาพจริง “ผมต้องเปิดหน้าเพจไปหน้าแล้วหน้าเล่า (เพื่อแค่จะโอนเงิน) ผมยังคิดเลยว่าบ้าแท้ๆ” Kim กล่าว บริษัทของเขาลงทุนในสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเกาหลีใต้จำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึง Coupang ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซของ Bom Kim และ Krafton บริษัทผลิตเกมออนไลน์ของ Chang Byung-gyu (Kim อยู่อันดับ 14 ในทำเนียบ Korea Rich List ปีนี้ด้วยทรัพย์สิน 3.2 พันล้านเหรียญ ส่วน Chang อยู่อันดับ 25 ด้วยทรัพย์สิน 1.8 พันล้านเหรียญ)

    Kim กล่าวว่า ด้วยความดื้อรั้นของ Lee ที่อยากแก้ปัญหาระบบการโอนเงินออนไลน์อันแสนโบราณของเกาหลีใต้ให้ได้คือสิ่งที่ช่วยให้ Toss ประสบความสำเร็จ เขาช่วยเบิกทางให้อุตสาหกรรมบริการด้านการเงินที่ยังหัวเก่าด้วยการกล่อมหน่วยงานกำกับดูแลให้เห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง เช่น ความสะดวกและประสิทธิภาพ “ถ้ามองกันที่รากฐานฟินเทคเป็นธุรกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เพราะนวัตกรรมด้านนี้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้บริโภคได้อย่างมาก” Lee กล่าวเมื่อปี 2015 ในการประชุมของกลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลเจ้าหน้าที่รัฐ และ Park Geun-hye ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในตอนนั้น

    Kim ซึ่งเป็นนักลงทุนคนแรกที่หนุน Viva Republica กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ Lee ต่างจากคนอื่นคือ เขาเปิดใจรับการเรียนรู้ “เมื่อเขาผิด เขาก็ยอมรับว่าเขาผิด ซึ่งเป็นนิสัยหายากที่คนจำนวนมากไม่มี” Kim กล่าว Toss ปล่อยฟีเจอร์ใหม่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมบริการที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เคยมีช่วงหนึ่งที่แอปนี้ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ออกมาสัปดาห์ละ 3 อย่างตลอด 6 เดือน โดยเก็บสิ่งที่เข้าท่าไว้และโยนสิ่งที่ไม่เข้าท่าทิ้งไป 

    “เราอยากให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายอะไรสักอย่าง และเป็นมิตรกับความล้มเหลว” Lee กล่าวถึงวัฒนธรรมองค์กรของ Viva Republica “เมื่อคุณล้มเหลวก็แค่ก้าวออกไปใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าจะสำเร็จในที่สุด”


เรื่อง: JOHN KANG เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: JAE-HYUN KIM

อ่านเพิ่มเติม:

>> กวิน พงษ์พันธ์เดชา คนหนุ่มสายพันธุ์ดิจิทัล “Bitazza”

>> ​เชน เหล่าสุนทร “WPH” โตแบบยักษ์เล็ก


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine