Leandro Leviste นายใหญ่แห่ง “SPPPHI” ผู้พลิกโฉมพลังงานแสงอาทิตย์ในฟิลิปปินส์ - Forbes Thailand

Leandro Leviste นายใหญ่แห่ง “SPPPHI” ผู้พลิกโฉมพลังงานแสงอาทิตย์ในฟิลิปปินส์

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Dec 2022 | 08:00 PM
READ 5364

Leandro Leviste วัย 28 ปี นายใหญ่ของบริษัท Solar Philippines Power Project Holdings หรือ SPPPHI หนุ่มผู้รีบเร่งจะยกระดับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในฟิลิปปินส์ ผลักดันเป้าหมายขยายโซลาร์ฟาร์มลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงจัดเตรียมด้านการเงินเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ถึง 10 กิกะวัตต์ภายในปี 2025


    Leandro Leviste ลูกชายของวุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ผู้เป็นที่รู้จักกว้างขวางไม่เคยประสบปัญหาในการเข้านอกออกในสถานที่ไหนๆ ใน Manila แต่ซีอีโอหนุ่มอายุน้อยคนนี้บอกว่า บางครั้งเขาไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจมากเท่าที่ควร แต่เมื่อผู้คนปรับเปลี่ยนมาพบปะกันผ่านทางระบบวิดีโอในโลกออนไลน์แทนระหว่างการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 ระบาด เขาก็รู้สึกถูกอกถูกใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้

    “เราเคยไปประชุมตามสำนักงานของคนที่อายุมากกว่าและโดนดูถูกเพราะเราดูเหมือนจะเป็นแค่บริษัทสตาร์ทอัพ” นายใหญ่ของบริษัท Solar Philippines Power Project Holdings หรือ SPPPHI วัย 28 ปีกล่าว “พอเราได้มาคุยกับนักลงทุนและผู้ร่วมทุนผ่านระบบทางไกลแทน เรื่องช่องว่างของวัยก็ไม่ปรากฏชัดเหมือนเมื่อก่อน”

    แต่สิ่งที่ชัดเจนอย่างมากคือ Leviste เป็นคนหนุ่มผู้รีบเร่งจะยกระดับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในฟิลิปปินส์ ปัจจุบันเขามีโซลาร์ฟาร์มที่เปิดดำเนินการอยู่ 2 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกัน 163 เมกะวัตต์ เขายังได้ใบอนุญาตในการศึกษาสำรวจ และได้ผลักดันเป้าหมายการวางรากฐานต่างๆ ให้ลุล่วง รวมถึงจัดเตรียมด้านการเงินเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ถึง 10 กิกะวัตต์ภายในปี 2025 ด้วย ซึ่งมากกว่าที่บริษัทของเขาผลิตได้ในปัจจุบันถึง 60 เท่าตัว และยังมากกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของทั้งประเทศถึงราว 7.5 เท่า

    เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ฟิลิปปินส์เองก็ตั้งเป้าจะร่วมขบวนไปกับกระแสการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะเมื่อแสงแดดเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือในประเทศนี้ ซึ่งข้อกฎหมายกำหนดให้บริษัทผลิตไฟฟ้าต่างๆ ต้องจัดหาไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 35% ภายในปี 2030 เพิ่มจากเดิมที่กำหนดไว้ 21% ในปี 2020 ขณะที่ปัจจุบันในฟิลิปปินส์มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อยู่เพียง 3% เท่านั้น



แผนการขยายธุรกิจของ Leviste -

    ใช่ว่าจะทำได้ด้วยเงินเพียงเล็กน้อย เขาประเมินว่าจะต้องใช้งบประมาณทั้งหมดราว 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็เชื่อว่าเป้าหมายอย่างแรงกล้านี้จะเป็นไปได้จริง ดังนั้น หากจะไปให้ถึงจุดหมายได้ก็ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากบรรดาพันธมิตร 

    ปัจจุบันเขาจับมือกับ Enrique Razon Jr. เศรษฐีพันล้านชาวฟิลิปปินส์ และกลุ่มธุรกิจ Ayala ของ Jaime Zobel de Ayala รวมทั้ง Korea Electric Power (Kepco) ที่ทุ่มเงินถึงเกือบ 40 ล้านเหรียญเพื่อแลกกับการเข้าถือหุ้น 38% ของโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกที่เปิดทำการซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัด Batangas ที่พ่อของ Leviste เคยเป็นผู้ว่าการมาก่อน ฟาร์มนี้ดำเนินการโดยบริษัท Solar Philippine Calatagan (SPCC) ซึ่งบริษัทแม่ SPPPHI ถือหุ้นอยู่ 62% ณ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

    Leviste ไม่เพียงที่จะมุ่งขยายกิจการในบ้านเกิด แต่เขายังมีแผนการลงทุนในอินโดนีเซียอีกด้วย โดยได้จับมือกับบริษัท Medco Energi ของตระกูล Panigoro ซึ่งเพิ่งจะลงนามในข้อตกลงซื้อขายพลังงาน (PPA) กับบริษัทสาธารณูปโภค PLN ของภาครัฐ จากโซลาร์ฟาร์มขนาด 25 เมกะวัตต์ 2 แห่งบนเกาะบาหลีในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

    การขยับขยายไปสู่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในวงกว้างต้องมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ ที่ดินสำหรับทำโซลาร์ฟาร์ม CAPEX (ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์) ก้อนโต และ PPA เพื่อรับประกันว่าจะได้ขายไฟฟ้าให้แก่บริษัทด้านสาธารณูปโภคในระยะยาวเพื่อนำจ่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สู่ครัวเรือนต่อไป ฟิลิปปินส์เองแตกต่างจากอินโดนีเซียและประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายแห่งเพราะไม่มีบริษัทผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าที่รัฐเป็นเจ้าของ


Leandro Leviste นายใหญ่ของบริษัท Solar Philippines Power Project Holdings หรือ SPPPHI


    Leviste มีที่ดินอยู่ในมือ ซึ่งเขาหวังว่าจะทำให้ได้เปรียบและล้ำหน้าไปบ้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หลังจากช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเขาทยอยซื้อหรือเช่าซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นที่ราบสำหรับทำการเกษตรและปศุสัตว์ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากแนวสายส่ง โดยส่วนมากอยู่บนเกาะ Luzon ซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุด นักธุรกิจผู้นี้ที่ตั้งเป้าว่าจะกวาดที่ดินมาอยู่ในกำมือให้ได้สัก 10,000 เฮกเตอร์ (62,500 ไร่) เขาเล่าว่าครอบครัวทางฝั่งพ่อของเขาที่มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นเคยซื้อที่ดินในย่าน Makati เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1970 ได้ในราคาเพียงตารางเมตรละ 100 เปโซฟิลิปปินส์ (ประมาณ 7 เหรียญในขณะนั้น) “ผมโตมากับคำสอนที่ว่า *อย่ารอซื้อที่ให้ซื้อที่แล้วรอ*” เขากล่าว

    ในด้านเงินทุน ส่วนหนึ่งเขาจะได้เงินจากนำบริษัท Solar Philippines Nueva Ecija (SPNEC) ของตัวเองเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และจะได้เงินทุนเพิ่มจากบรรดาพันธมิตรทั้งหลาย ในการนี้สำหรับ Leviste แล้วเหนือสิ่งอื่นใดคือการได้จับมือกับ Razon ซึ่งบริษัท Prime Infrastructure Capital ของ Razon ได้ถือหุ้นในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นเจ้าของร่วมกัน 2 โครงการอยู่ถึง 50% ซึ่งขณะนี้โครงการ Solar Philippines Tarlac ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนโครงการ Solar Philippines Tanauan กำลังสร้างโซลาร์ฟาร์มกำลังผลิตไฟฟ้า 170 เมกะวัตต์บนที่ดิน 2 ผืน คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงต้นปี 2023 

    นักธุรกิจทั้งคู่หวังว่าจะทำกำลังการผลิตได้สูงกว่านี้อีกมาก ในปี 2021 พวกเขาตั้งบริษัทร่วมทุนผ่านทางบริษัท SPPPHI และ Prime Infrastructure ในนาม Terra Solar Philippines ซึ่ง Razon ถือหุ้นอยู่ 50.01% และ Leviste ถือหุ้นอีก 49.99% ซึ่งอีกไม่นานนี้คาดว่าบริษัทดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในการเจรจาสัญญา PPA ระยะเวลา 20 ปีเพื่อขายพลังงานก้อนใหญ่ให้แก่บริษัท Manila Electric (Meralco) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าในเขต Metro Manila เพียงรายเดียวได้สำเร็จ 

    โดยพลังงานแสงอาทิตย์เหล่านี้จะมาจากโซลาร์ฟาร์มที่จะพัฒนาร่วมกับ Razon ซึ่งจะกระจายตัวอยู่ในอย่างน้อย 5 จังหวัดบนเกาะ Luzon และจะมีกำลังการผลิตรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจจะกลายเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เป็นได้ และสัญญา PPA ระยะ 20 ปียังจะเปิดทางให้สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารสำหรับทำโครงการนี้ได้อีกด้วย

    เมื่อปลายเดือนมิถุนายน Solar Philippines ได้เซ็นสัญญาระยะยาว 5 ฉบับ เพื่อขายพลังงานในตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับค้าส่งหลังจากยื่นซองประมูลกับกระทรวงพลังงานได้สำเร็จ ทำให้มีตลาดรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกหลายโครงการที่มีกำลังการผลิตรวมกันถึง 2,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ทางบริษัทยังยื่นข้อเสนอแยกต่างหากเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ Meralco แบบตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันนาน 20 ปี ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ผ่านการทำโซลาร์ฟาร์มกำลังการผลิต 1,800 เมกะวัตต์ ที่จะนำแบตเตอรี่มาใช้เสริมการดำเนินงานด้วย

    บริษัทจดทะเบียนของ Leviste คือ หมากตัวสำคัญที่จะช่วยให้เขาเดินตามแผนการภาพรวมทั้งหมดได้ เงินทุนส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 2.7 พันล้านเปโซ (50.6 ล้านเหรียญ) ที่ได้มาจากการเสนอขายหุ้น IPO เมื่อเดือนธันวาคมจะนำไปใช้ก่อสร้างพื้นที่ส่วนแรกของโซลาร์ฟาร์มขนาดกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ห่างจาก Manila ไปทางเหนือ 100 กิโลเมตร ซึ่งจะกลายเป็นโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ถึงวันนี้ 

    ส่วนในเดือนกรกฎาคม SPNEC คาดว่าจะออกหุ้นเพิ่มทุนสำหรับเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อระดมทุนประมาณ 3-3.3 พันล้านเปโซ โดยหุ้นบริษัท SPNEC ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในราคาเริ่มต้นที่หุ้นละ 1 เปโซ จากนั้นราคาได้ขยับขึ้นเป็นราว 1.65 เปโซเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน

    ในเดือนมีนาคม SPNEC อนุมัติแผนการเข้าซื้อหุ้นที่บริษัทแม่ไปร่วมลงทุนตามโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ต่างๆ มากกว่า 20 โครงการทั่วประเทศ โดยทาง SPNEC จะออกหุ้นใหม่ 2.44 หมื่นล้านหุ้นแทนการชำระเงิน ซึ่งคาดว่าสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทแม่จะลดลงเหลือ 54.2% จากเดิม 66.8% หลังการออกหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้

    ในช่วง 6 เดือนตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว จนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา SPNEC ขาดทุนเป็นเงิน 48.3 ล้านเปโซ ส่วนบริษัท SPPPHI ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า มีรายได้สุทธิในปี 2021 เพิ่มขึ้น 6 เท่า เป็น 806.4 ล้านเปโซ แม้ว่าหลักๆ แล้วรายได้ดังกล่าวจะมาจากการขายหุ้นบริษัทในเครือก็ตาม ส่วนรายรับลดลง 19% ไปเป็น 1.23 พันล้านเปโซ



    Alberto Dalusung III อดีตผู้อำนวยการในกระทรวงพลังงานของฟิลิปปินส์ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกคณะกรรมการพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติ มองเห็นถึงความหวังในการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียน โดยอิงข้อมูลจากงานวิจัยที่ให้ทุนสนับสนุนจาก USAID ซึ่งชี้ว่าบนเกาะ Luzon มีพื้นที่ซึ่งเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนถึง 9 แห่ง มีทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 35 กิกะวัตต์และพลังงานลมอีก 54 กิกะวัตต์ “เรากำลังเดินหน้าไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนแล้วจริงๆ” เขากล่าว “น่าจะพัฒนาไปได้ไกลกว่าที่ Solar Philippines มองไว้อีกมากด้วย”



เรื่่อง: ROEL LANDINGIN เรียบเรียง: วินิจฐา จิตร์กรี ภาพ: SONNY THAKUR

อ่านเพิ่มเติม:

>> ไฮไลท์ "มหาเศรษฐีสิงคโปร์" ประจำปี 2022 ที่น่าจับตามอง ตอนที่ 1

>> ไฮไลท์ "มหาเศรษฐีสิงคโปร์" ประจำปี 2022 ที่น่าจับตามอง ตอนที่ 2


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine