ไฮไลท์ "มหาเศรษฐีสิงคโปร์" ประจำปี 2022 ที่น่าจับตามอง ตอนที่ 2 - Forbes Thailand

ไฮไลท์ "มหาเศรษฐีสิงคโปร์" ประจำปี 2022 ที่น่าจับตามอง ตอนที่ 2

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Dec 2022 | 08:01 PM
READ 3956

แม้สิงคโปร์จะยังคงดึงดูดใจเศรษฐีต่างชาติได้ แต่กระแสลมต้านในระดับโลกก็ยังส่งผลกระทบอย่างมากกับทรัพย์สินรวมของคนรวยที่สุดในปีนี้


    ความมีชื่อเสียงว่าเป็นสถานที่หลบภัยของสิงคโปร์ได้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นในช่วงที่โควิดระบาดทั่วโลก ประเทศนี้จึงกลายเป็นแม่เหล็กดึงคนรวย และการมีคนต่างชาติผู้ร่ำรวยหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของนครรัฐแห่งนี้ จนราคาและค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นอีกทั้งการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราค่าที่พักของโรงแรมพุ่งตามไปด้วย

    แม้จะมีแนวโน้มเชิงบวกดังกล่าวแต่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและธุรกิจเทคทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงได้ส่งผลกระทบกับความมั่งคั่งรวมของเศรษฐีสิงคโปร์ 50 อันดับแรก โดยมีจำนวนมูลค่าสินทรัพย์ลดลงไปจากปีก่อนไปกว่า 1 ใน 5 ไปอยู่ที่ 1.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

    แม้มูลค่าทรัพย์สินที่ลดลงไปจะเยอะกว่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาอย่างเทียบกันไม่ติดแต่ก็มีเศรษฐีในทำเนียบเกินครึ่งที่รวยขึ้นกว่าเดิมคนที่โดดเด่นในกลุ่มนี้คือ Min-Liang Tan ผู้ก่อตั้ง Razer ซึ่งได้ประโยชน์จากการนำบริษัทอุปกรณ์เล่นเกมของเขาออกจากตลาดหลักทรัพย์

    และมีเศรษฐีใหม่ชื่อ Laurent Junique เขาเกิดในฝรั่งเศสและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทให้บริการเอาต์ซอร์สคอลเซ็นเตอร์และกระบวนการธุรกิจชื่อ TDCX ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ติดตามไฮไลท์ของมหาเศรษฐีสิงคโปร์ที่น่าจับตาได้ในตอนที่ 2 ดังต่อไปนี้


- บริษัทอุปกรณ์เล่นเกมระดับโลก Razer ยังคมอยู่ -



MIN-LIANG TAN  (อันดับ 43)

อายุ: 44 ปี

มูลค่าทรัพย์สิน: 995 ล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้น)

ธุรกิจ: RAZER

    5 ปีหลังจากบริษัทอุปกรณ์เล่นเกมระดับโลก Razer เสนอขายหุ้น IPO ที่นักลงทุนรอคอยกันมาก ประธานกรรมการและซีอีโอ Min-Liang Tan ก็เป็นผู้นำในการเอาบริษัทนี้ออกจากตลาดหลักทรัพย์ด้วยมูลค่าประเมิน 3.2 พันล้านเหรียญ การนำหุ้นออกจากตลาดเมื่อเดือนพฤษภาคมเกิดขึ้นโดย Tan เสนอซื้อหุ้น Razer ในราคาหุ้นละ 2.82 เหรียญฮ่องกง (36 เซนต์) เทียบกับราคาหุ้น IPO เมื่อปี 2017 หุ้นละ 3.88 เหรียญฮ่องกง หลังจากที่หุ้นตัวนี้ทำผลงานไม่น่าพอใจในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ทรัพย์สินสุทธิของ Tan เพิ่มขึ้นเป็น 995 ล้านเหรียญ และเขาเลื่อนขึ้น 6 อันดับมาอยู่ในอันดับ 43

    Razer กล่าวว่า บริษัทกำลังวางแผนจะขยายธุรกิจซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีการเงินเพิ่มอีก ซึ่งปัจจุบันเป็นสัดส่วน 10% จากรายได้ต่อปี 1.6 พันล้านเหรียญ และบริษัทก็กำลังสำรวจโอกาสในธุรกิจการเงินไร้ศูนย์กลาง (DeFi) และบล็อกเชนด้วย Razer ซึ่งเป็นที่รู้จักจากเครื่องคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปเล่นเกมและอุปกรณ์เสริมกำลังง่วนอยู่กับการสร้างสิ่งที่บริษัทเรียกว่าเป็นระบบนิเวศของการเล่นเกม โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนรุ่นมิลเลนเนียลและเจน Z

    แต่เส้นทางไม่ได้ราบเรียบเสียทีเดียว เมื่อปี 2019 Razer ตัดจบความพยายามในช่วงสั้นๆ ที่จะรุกเข้าสู่การผลิตโทรศัพท์มือถือสำหรับเล่นเกม และยังเลิกทำแอปกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ Razer Pay ซึ่งเน้นธุรกรรมแบบร้านค้าสู่ผู้บริโภค (B2C) ไม่นานหลังจากขอใบอนุญาตเปิดธนาคารดิจิทัลในสิงคโปร์ไม่สำเร็จเมื่อปลายปี 2020

    ในปี 2021 Razer รายงานว่า มีกำไรสุทธิ 46 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 8 เท่าจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ตลาดสหรัฐฯ สร้างรายได้ให้บริษัทมากที่สุด บริษัทก็มีตลาดใหญ่พอสมควรอยู่ในจีนและเอเชียแปซิฟิก และมีเป้าหมายจะปักหลักให้มั่นคงขึ้นอีกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเจาะตลาดใหม่อย่างลาตินอเมริกาและตะวันออกกลางด้วย Tan ก่อตั้งบริษัทนี้ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ และสิงคโปร์เมื่อปี 2005 ร่วมกับ Robert Krakoff กรรมการผู้จัดการกิตติมศักดิ์ผู้ล่วงลับไปเมื่อเดือนเมษายนนี้ด้วยวัย 81 ปี --J.T.



- TDCX พร้อมให้บริการ -



LAURENT JUNIQUE  (อันดับ 47)

อายุ: 56 ปี

มูลค่าทรัพย์สิน: 825 ล้านเหรียญ  (ติดอันดับครั้งแรก)

ธุรกิจ: TDCX

    ผู้เข้ามาใหม่ในทำเนียบ Laurent Junique เป็นนักท่องโลกที่ชีวิตโลดโผนมาก เขาโตมากับการย้ายไปประเทศใหม่ทุกๆ 2 ปี เพราะพ่อแม่ของเขาทำงานในอุตสาหกรรมน้ำมัน พลเมืองฝรั่งเศสคนนี้ ณ ปัจจุบันมีบริษัทคอลเซ็นเตอร์ในสิงคโปร์ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York เมื่อปลายปี 2021 Junique วัย 56 ปี ถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัทชื่อ TDCX ซึ่งมีช่วงเวลา 10 เดือนแรกที่โหดหินในฐานะบริษัทมหาชน เพราะแม้รายได้จะเติบโต แต่มูลค่าหุ้นกลับลดลง 65% ตั้งแต่ขายหุ้น IPO ราคาหุ้นที่ลดลงนี้ได้ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงจาก 3 พันล้านเหรียญเมื่อต้นเดือนตุลาคมปีที่แล้วเหลือ 825 ล้านเหรียญ

    ว่ากันว่า Junique ผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่า “ผู้มีหัวใจของผู้ประกอบการ” เกิดไอเดียทางธุรกิจครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี นั่นคือการหลอมขวดแก้วเก่าและรีไซเคิลเป็นแก้วไวน์ (ซึ่งสุดท้ายก็ไปไม่รอด) หลังจากใช้เวลา 2 ปีหลังจบมหาวิทยาลัยทำงานกับ Unilever ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค Junique ก็มุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์โดยมีแผนที่จะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ในปี 1995 เขาเปิดตัว Teledirect ที่ใช้จัดการสายเรียกโทรศัพท์ อีเมล และแฟกซ์สำหรับลูกค้าที่หลากหลาย 

    บริษัทได้ทำการรีแบรนด์เป็น TDCX ในปี 2019 หลังจากขยายไปสู่บริการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบเนื้อหา การสนับสนุนด้านการตลาดและอี-คอมเมิร์ซ ซึ่ง CX เป็นศัพท์เฉพาะในวงการหมายถึง “ประสบการณ์ของลูกค้า” ในปี 2021 บริษัทมีกำไร 77 ล้านเหรียญจากรายได้ 410 ล้านเหรียญ ส่วนในปี 2020 รายได้ 62% มาจากลูกค้า 2 ราย ได้แก่ Facebook (ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อเป็น Meta Platforms) และ Airbnb

    ในการประชุมทางไกลกับนักวิเคราะห์ในเดือนพฤษภาคม TDCX ได้ลดตัวเลขคาดการณ์ปี 2022 ลง โดยกล่าวว่ารายได้น่าจะโตขึ้นประมาณ 19% ไม่ใช่ตามที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ราว 25% เนื่องจากการเติบโตของรายได้ที่ลดลงจากลูกค้าหลัก อย่างไรก็ตาม TDCX ก็ยังขยายธุรกิจต่อไปโดยตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ในอินโดนีเซียและเวียดนาม เพิ่มเติมจาก 11 ประเทศที่บริษัทดำเนินการอยู่แล้ว --Kerry A. Dolan



เรื่อง: NAAZNEEN KARMALI และ JANE HO เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง และ พินน์นรา วงศ์วิริยะ ภาพ: BLOOMBERG, COURTESY OF TCDX

อ่านเพิ่มเติม:

>> ไฮไลท์ "มหาเศรษฐีสิงคโปร์" ประจำปี 2022 ที่น่าจับตามอง ตอนที่ 1

>> “5 เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine