Kr Space สู้ศึกธุรกิจ co-working เอเชีย "นี่คือตลาดที่ต้องชนะให้ได้" - Forbes Thailand

Kr Space สู้ศึกธุรกิจ co-working เอเชีย "นี่คือตลาดที่ต้องชนะให้ได้"

FORBES THAILAND / ADMIN
25 Jan 2019 | 12:39 PM
READ 6366

แม้ WeWork และเหล่าคู่แข่งรายใหญ่จากจีนจะยังไม่มีกำไรจาก co-working พื้นที่สำนักงานแบบใช้ร่วมกัน แต่ Liu Chengcheng ผู้ก่อตั้ง Kr Space กล่าวว่าการเติบโตจะต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด

ชาร์ตและตัวเลขการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ครั้งล่าสุดในมหานคร หลายแห่งของจีนวิ่งผ่านหน้าจอแล็ปท็อปของ Liu Chengcheng ในขณะที่เขากำลังพูดคุยกับเรา มีบทความในนิตยสารฉบับหนึ่งที่เด่นสะดุดตาอยู่บนโต๊ะทำงานอันเป็นระเบียบเรียบร้อยของเขา

บทความนั้นมีเส้นใต้สีแดงหนาขีดไว้ เป็นบทความที่เล่าเรื่องของ WeWork บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการพื้นที่สำนักงานแบบใช้ร่วมกัน (co-working หรือ office sharing) เราสนใจข้อมูลนี้มาก โดยเฉพาะข้อมูลของคู่แข่ง Liu กล่าว 

Liu วัย 30 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง Kr Space ซึ่งทำธุรกิจให้เช่าพื้นที่ co-working ในจีนเขาทุ่มสุดตัวเพื่อจะปกป้องตลาดในบ้านตัวเองจาก WeWork ซึ่งทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำใน 26 ประเทศและเพิ่งจะระดมทุนจากนักลงทุนมาได้ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ บริษัทจาก New York แห่งนี้มีมูลค่ากิจการเมื่อปีที่แล้ว 2 หมื่นล้านเหรียญ

WeWork สร้างแบรนด์ระดับโลกได้ด้วยพื้นที่สำนักงานซึ่งตกแต่งในสไตล์อินดัสเตรียล-ชิค พื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ มีข้อความที่สร้างแรงกระตุ้นและดึงดูดใจอย่างแรง เช่น ดื่มเบียร์ฟรี และเข้าคลาสโยคะฟรี แต่ Liu มั่นใจว่า Kr Space จะอยู่เหนือคู่แข่งในประเทศจีนได้ เพราะทีมของเขารู้จักตลาดในประเทศดีกว่าตลาดจีนมีความต้องการเฉพาะตัวหลายอย่าง” Liu กล่าว

ผมคิดว่า WeWork ยังไม่เข้าใจความต้องการทั้งหมดอย่างถ่องแท้ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมช่วงแรกที่พวกเขาเข้ามา พวกเขาถึงขยายธุรกิจได้เชื่องช้า

โดยเนื้อแท้แล้ว Kr Space ทำาธุรกิจคล้ายกันกับ WeWork บริษัทจะเช่าพื้นที่สำนักงานจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำการรีโนเวทใหม่แล้วเปิดให้ฟรีแลนเซอร์และบริษัทต่างๆ มาเช่าต่อในอัตราตั้งแต่ 1,000 หยวน (147 เหรียญ) จนถึง 6,000 หยวนต่อหัวต่อเดือน โดยขึ้นอยู่กับทำเล

Kr Space กล่าวว่าเบียร์ฟรีหรือโต๊ะปิงปองที่คู่แข่งเสนอให้ลูกค้านั้นไม่เหมาะสมกับปริมาณงานและตารางการทำงานแบบ “996” อันหนักหน่วง (ทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์) ที่เริ่มจะแพร่หลายในบรรดาบริษัทจีน Kr Space จึงเลือกเสนอบริการเสริมฟรีอย่างอื่นให้กับลูกค้าแทน เช่น บริการให้คำปรึกษาด้านการเงินและกฎหมาย

Kr Space เปิดตัวอย่างเป็นทางการใน Beijing เมื่อปี 2016 ในฐานะธุรกิจที่ต่อยอดมาจาก 36 Kr เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีที่ตอนนี้มี Alibaba หนุนหลัง Liu ก่อตั้ง 36 Kr ขึ้นเมื่อปี 2011 และปัจจุบันเขาก็ยังเป็นประธานอยู่ โฆษกของบริษัทให้ข้อมูลว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน บริษัทใหม่ล่าสุดของ Liu แห่งนี้บริหารจัดการพื้นที่สำนักงาน 270,000 ตารางเมตรใน 11 เมืองทั่วประเทศและมีสมาชิก 40,000 คน (ซึ่งบริษัทเรียกว่าผู้ใช้งาน”)

นักลงทุนก็มุ่งเข้ามาเช่นกัน แหล่งข่าว 3 คนเล่าว่า Kr Space กำลังจะปิดการระดมทุนอีกครั้งหนึ่งด้วยยอดเงิน 200 ล้านเหรียญ และบริษัทได้รับการประเมินมูลค่ากิจการไว้สูงกว่า 1 พันล้านเหรียญ รวมถึงมีการพูดคุยกันเรื่องการขายไอพีโอในสหรัฐฯด้วย

ทั้งนี้ โฆษกของ Kr Space ยังไม่ให้ความเห็นเรื่องการระดมทุน แต่กล่าวว่าตอนนี้บริษัทยังไม่มีแผนจะขาย IPO (Liu ไม่บอกว่าเขาจะถือหุ้นเท่าไร)

Ken Xu หุ้นส่วนของบริษัทเพื่อการลงทุน Gobi Partners และผู้ลงทุนใน Kr ชี้ว่า Liu คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บริษัทเติบโต ประสบการณ์จากการบริหาร 36 Kr ช่วยให้ Liu สร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการในประเทศได้ และเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ดีกว่า

Yan จาก IDG กล่าวว่าขณะที่ WeWork ยังคงความเป็นผู้นำแบรนด์ที่รอบรู้ บริษัทในจีนก็กำลังพยายามตามให้ทัน ทั้งนี้ WeWork เพิ่งดึงเงินจากกลุ่มนักลงทุนซึ่งรวมถึง Temasek ของสิงคโปร์มาได้อีก 500 ล้านเหรียญเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับบริษัทย่อยที่เน้นทำธุรกิจในจีน WeWork วางแผนจะขยายพื้นที่ สำนักงานให้เช่า 40 แห่งและดึงดูดสมาชิก 40,000 คนให้ได้ภายในสิ้นปีนี้

แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่าว่าการพูดคุยระหว่าง Adam Neumann เศรษฐีพันล้านผู้ก่อตั้ง WeWork กับ Liu ที่ Beijing ล้มเหลว เนื่องจากทั้งสองตกลงกันไม่ได้ว่าหากมีการรวมกิจการกันแล้วใครจะคุมบริษัท แต่โฆษกหญิงของ WeWork ไม่เปิดเผยว่า Neumann กับ Liu พบกันจริงหรือไม่

จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา iResearch แห่งเมือง Beijing ตลาดจีนมีมูลค่าถึง 5.5 พันล้านหยวนและน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวภายในปี 2019 ซึ่งเป็นผลดีจากนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อกระตุ้นการสร้างนวัตกรรมภายในประเทศ

แม้ Kr Space กับ Ucommune จะเป็นสตาร์ทอัพกลุ่มยูนิคอร์น แต่ก็ยังขาดความสามารถในการทำกำไร เช่นเดียวกับ WeWork ที่รายงานตัวเลขขาดทุน 933 ล้านเหรียญจากรายได้ 886 ล้านเหรียญ

สำหรับ Liu เขามองว่าการทำเงินยังไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะขณะนี้ Kr Space จะเน้นการขยายธุรกิจก่อน และเขาก็มองออกไปไกลกว่าจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม Kr Space รุกเข้าไปในฮ่องกง ด้วยการเช่าพื้นที่ 7 ชั้นในอาคาร One Hennessy ในย่าน Wan Chai และยังขยายเข้าไปในกรุงเทพฯ, Seoul, สิงคโปร์ และ Tokyo ด้วย โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่รวมของสำนักงานที่บริษัทเป็นผู้บริหารจัดการเพื่อตาม WeWork ให้ทันภายในปี 2021

“WeWork เพิ่งเข้ามาในเอเชีย ดังนั้นการแข่งขันก็ยังคงสูสีกันอยู่เขากล่าว

นี่คือตลาดที่เราต้องชนะให้ได้

 

เรื่อง: Yue Wang เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง

  ติดตามอ่านฉบับเต็ม “Let’s Relax Spa นวดผ่อนคลายแบบ วิบูลย์ อุตสาหจิต” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561 สังคมสูงวัย