เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกผันผวนมากขึ้นและเม็ดเงินจากธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) ลดลงอย่างมาก ผู้ประกอบการหนุ่มสาวในเอเชียแปซิฟิกจึงต้องเผชิญความท้าทายระลอกใหม่ในปีที่แล้ว แต่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ฆ่านวัตกรรมไม่ได้ กลุ่มผู้ได้รับเกียรติให้เข้าทำเนียบ 30 Under 30 Asia ในปีนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความคิดสร้างสรรค์คือสินทรัพย์ที่มีค่ามากต่อความอยู่รอดและความรุ่งเรืองท่ามกลางสถานการณ์ที่ลำบากกว่าเดิม และไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ การสร้างความรู้ด้านการเงินให้คนทุกกลุ่ม หรือการพลิกโฉมแฟชั่นงานฝีมือและเสื้อผ้าสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย ก็ไม่มีอุปสรรคใดจะขัดขวางผู้เข้าทำเนียบของเราได้
คนหนุ่มสาวผู้โดดเด่นเหล่านี้มีแรงผลักดันมาจากความมุ่งมั่นและปรารถนาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และนอกจากผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ปรับตัวเก่งแล้ว ทำเนียบนี้ยังมีศิลปิน นักกีฬา และนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในแต่ละวงการทั้งในประเทศของตนและต่างประเทศ ในการจัดทำทำเนียบรายชื่อประจำปีฉบับที่ 8 นี้ทีมนักข่าวและบรรณาธิการของเราตรวจสอบผู้ได้รับการเสนอชื่อกว่า 4,000 รายชื่อ และคัดเลือกผู้เข้ารอบสุดท้าย 300 รายชื่อเพื่อนำมาให้เหล่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดกรอง
ศิลปะ (ศิลปะ สไตล์ อาหารและเครื่องดื่ม)
HARSH AGARWAL
อายุ: 27 • ผู้ก่อตั้ง Harago • อินเดีย
Harsh Agarwal สะสมผ้าและออกแบบเสื้อผ้าของตัวเองตั้งแต่เกรด 7 กระทั่งความหลงใหลของเขาได้พบหนทางปลดปล่อย เมื่อเขาเปิดตัวแบรนด์เสื้อผ้าบุรุษ Harago (ได้มาจากชื่อของเขาเอง) ในปี 2019 โดยเป็นการนำงานฝีมือดั้งเดิมของอินเดีย เช่น งานปักและงานพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์บล็อก ใส่ไว้ในแบบชุดลำลอง สำหรับ Harago เป็นแบรนด์จาก Jaipur โดย Agarwal ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อปี 2017 ขณะเข้าร่วมโครงการเพื่อความยั่งยืนในฐานะนักศึกษาฝึกงานขององค์การสหประชาชาติใน New York เขาต้องการอาชีพที่นำความเป็นช่างฝีมือมาผสมผสานกับแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใส่ไว้ในแฟชั่น
ดังนั้น หลังจากจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Symbiosis International University เมือง Pune เมื่อปี 2018 เขาก็ออกเดินทางทั่วอินเดียเพื่อเยี่ยมชมบ้านและร้านค้าของบรรดาช่างฝีมือทั้งหลายเพื่อทำความรู้จักกับงานฝีมือ คอลเล็กชั่นแรกของเขาประกอบไปด้วยเสื้อเชิ้ตและกางเกงที่ทำจากผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ และผ้าวินเทจ 4 ปีผ่านไป Agarwal นำแบบของเขาขายส่งให้กับผู้ค้าปลีกทั่วโลก รวมถึง Saks Fifth Avenue ใน New York และ Hanstyle ของเกาหลีใต้ โอกาสทองของ Harago เกิดขึ้นในปี 2021 เมื่อมีคนเห็นคนดังอย่าง Harry Styles สวมเสื้อของ Harago สำหรับ Harago ผลิตเสื้อผ้าปีละ 8,500 ชิ้น โดยเป็นผลงานของช่างฝีมือกว่า 200 คนทั่วประเทศอินเดีย ใช้เวลาในการผลิตเสื้อผ้า 1 ชิ้นราว 7-10 วัน แต่ทั้งนี้ Agarwal ไม่ได้วางตำแหน่งให้ Harago เป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนเนื่องจาก “ธุรกิจแฟชั่นไม่มีทางยั่งยืนได้ 100% เราให้ความสำคัญกับงานฝีมือ ช่างฝีมือ และการสืบสานมรดกงานฝีมือดั้งเดิมของช่างฝีมือ” Agarwal กล่าว Harago เพิ่งเปิดตัวคอลเล็กชั่นสตรีชุดแรกไปบางส่วนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา - Anuradha Raghunathan
ผลลัพธ์เชิงสังคม
EMMA CLEGG และ MOLLY ROGERS
อายุ: 29, 28 • ผู้ร่วมก่อตั้ง JAM the label • ออสเตรเลีย
Emma Clegg (ซ้าย) และ Molly Rogers สองนักกิจกรรมบำบัดร่วมกันก่อตั้ง JAM the label ขึ้นในปี 2019 เพื่อสร้างสรรค์เสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับผู้พิการ JAM the label เป็นแบรนด์สำหรับทุกคน ออกแบบโดยใช้แม่เหล็กเป็นตัวยึด ใช้วัสดุที่ยืดหยุ่น และไม่มีป้าย เพื่อให้สวมใส่ได้สบายและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยวางเป้าหมายที่จะให้เสื้อผ้าดัดแปลงนี้กลายเป็นธุรกิจกระแสหลัก เมื่อครั้งยังเรียนมหาวิทยาลัย Clegg และ Rogers ได้เรียนรู้ว่าการแต่งตัวเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันที่ยากที่สุดที่ผู้พิการต้องเผชิญเมื่อทั้งสองให้ความช่วยเหลือ Jack และ Maddie ลูกค้าภาวะสมองพิการที่ต้องใช้รถเข็น หากซื้อเสื้อผ้าจากร้านก็ต้องซื้อให้ใหญ่กว่าตัว ส่วนเสื้อผ้าที่ออกแบบ “สำหรับทุกคน” ก็มักจะไม่สวยและ “มีความเป็นการแพทย์มากเกินไป” Clegg กล่าว
“เราไม่จำเป็นต้องเลือกการใช้ประโยชน์มาก่อนแฟชั่น แล้วทำไม Jack และ Maddie ต้องเลือกด้วย” จากความคิดเห็นที่ต้องการเสื้อผ้าที่เก๋ไก๋มีสไตล์ยิ่งขึ้นทำให้ JAM พัฒนาแบบเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใส ดูเยาว์วัย ตอบสนองความต้องการของผู้พิการทางร่างกาย สติปัญญา และประสาทสัมผัส โดยมีการวางจำหน่ายออนไลน์ ทั้งทางเว็บไซต์ของตนเองและแพลตฟอร์มร้านค้าปลีกอื่นๆ พร้อมจัดส่งไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสิงคโปร์ Clegg และ Rogers มุ่งผลักดัน JAM ขึ้นแท่นผู้นำธุรกิจในหมวดหมู่เสื้อผ้าดัดแปลงและเสื้อผ้าสำหรับทุกคน โดยมีการให้ความรู้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และจัดทำวิดีโอเผยแพร่ทางเว็บไซต์ รวมถึงหัวข้อ “การถ่ายภาพที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้” เมื่อปีที่แล้ว JAM เข้าร่วมกิจกรรมแสดงโชว์เสื้อผ้าดัดแปลงในงาน Australian Fashion Week โดยมี Chloe Hayden นักแสดงจาก Heartbreak High ทาง Netflix ร่วมเดินแบบ “ในการเดินทางของเรากับ JAM มีส่วนหนึ่งที่เกินคาดคือ การให้ความรู้แก่ชุมชนผู้พิการว่า มันมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น และพวกเขาไม่จำเป็นต้องยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับพวกเขามาโดยตลอด” Rogers กล่าว - Karsha Green
อุตสาหกรรม การผลิต และพลังงาน
KYOSUKE SHIBATA
อายุ 28 • ผู้ร่วมก่อตั้ง Rutilea • ญี่ปุ่น
Rutilea ซึ่งร่วมก่อตั้งโดย Kyosuke Shibata ในปี 2018 เข้ามาทำให้การควบคุมคุณภาพการผลิตทำได้ง่ายขึ้นผ่านการใช้ AI วิเคราะห์ภาพถ่ายของผลิตภัณฑ์ จากปกติที่แม้ว่าสายการผลิตจะเป็นระบบอัตโนมัติเสียส่วนใหญ่แต่ก็ยังคงต้องใช้การตรวจสอบโดยมนุษย์ “เป็นอะไรที่น่าเหนื่อยหน่ายมาก” Shibata กล่าว “เรามองว่าขั้นตอนนี้ต้องดีขึ้นได้” Shibata ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจของทางบริษัทบอกว่า Rutilea ที่ไม่ใช้คำสั่งอะไรซับซ้อนแต่อาศัยการควบคุมแบบลากและวางจะช่วยประหยัดเวลาติดตั้งระบบได้มากกว่า 95% เมื่อเทียบกับซอฟต์แวร์แบบเดิมๆ และเพื่อสร้างฐานลูกค้าให้ได้อย่างรวดเร็วในช่วงแรก Rutilea เปิดให้ใช้งานแบบโอเพนซอร์สในปี 2019 ทำให้มีบริษัทมากกว่า 500 แห่งดาวน์โหลดไปใช้งานภายในเวลาเพียง 6 เดือน ต่อมาในปี 2020 จึงได้ Toyota และบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับการก่อสร้างอย่าง Komatsu มาเซ็นสัญญาเป็นลูกค้า และได้เริ่มขายผลิตภัณฑ์เรือธงคือ ImagePro ในปี 2021
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมายังได้เปิดตัว Rutilea Efficient Operations ซึ่งจะช่วยให้บริษัทต่างๆ ยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัยได้ด้วยการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของพนักงาน ทาง Rutilea เปิดเผยด้วยว่า ปีที่แล้วได้ลงนามความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับ Rockwell Automation เพื่อขยายธุรกิจไปทั่วโลก และระดมทุนได้จำนวนหนึ่งจากการระดมทุนรอบซีรีส์ B ซึ่งนำโดย Abies Ventures และ Riyadh Valley กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย จนถึงตอนนี้ Rutilea ระดมทุนได้ 608 ล้านเยน (4.5 ล้านเหรียญ) และ Shibata ระบุว่า กำลังวางแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี “เราอยากเป็นตลาด AI สำหรับให้ลูกค้าเข้ามาเลือกสรรเครื่องมือที่ตรงใจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการผลิตของพวกเขา รวมถึงในภาคธุรกิจอื่นๆ ทั้งเภสัชกรรมหรือธุรกิจอาหารด้วย” เขากล่าว - James Simms
ธุรกิจขายปลีกและอี-คอมเมิร์ซ
LORIN WINATA
อายุ 29 • ผู้ก่อตั้ง Melati Drinks • สิงคโปร์
ในฐานะอดีตเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลด้านการลงทุนของบริษัท VC การเข้าสังคมถือเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ แต่ Lorin Winata ไม่ค่อยปลื้มกับการดื่มสักเท่าไร จนกลายเป็นต้นกำเนิดแนวคิดเบื้องหลัง Melati กิจการผลิตเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ที่ยึดตำรับดั้งเดิมแบบเอเชีย ต่อมาเธอจึงเปิดตัวบริษัท Melati ในปี 2020 โดยมีผลิตภัณฑ์ 2 ตัว ได้แก่ Melati Classic ซึ่งผสานส่วนผสมต่างๆ จากพืช ทั้งชบา โกจิเบอร์รี่ และโกโก้ดิบเข้าไว้ด้วยกัน กับอีกตัวคือ Melati Fresh ที่มีส่วนผสมเป็นมะม่วงดิบ ฝรั่ง และผิวมะนาว ข้อมูลจาก Allied Market Research ในสหรัฐฯ ชี้ว่า ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในระดับโลกจะขยายตัวขึ้นอีกกว่าเท่าตัวเป็น 642 ล้านเหรียญภายในปี 2031 โดยมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง Pernod-Ricard และ Diageo เป็นผู้เล่นรายสำคัญที่มีแบรนด์ Ceder และ Seedlip อยู่ในตลาด
แต่ Winata หวังว่าเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อยระดับพรีเมียมของเธอจะดึงดูดใจผู้บริโภคได้ด้วยส่วนผสมอันหลากหลาย กระบวนการอันพิถีพิถันทำให้การผลิตเครื่องดื่มของเธอแต่ละรอบได้เครื่องดื่มขนาดบรรจุ 500 มิลลิลิตร เพียง 500 ขวด ซึ่งขายในราคาขวดละ 58 ดอลลาร์สิงคโปร์ (52 เหรียญ) ซึ่งถือว่าราคาสูงที่สุดเจ้าหนึ่งในตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ทั่วโลก ปีที่แล้วเธอทำยอดขายได้ 7,500 ขวด รวมถึงตามร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลินหลายแห่งด้วย Winata เติบโตในสิงคโปร์และ Jakarta จากนั้นจึงไปศึกษาต่อที่ California ก่อนจะกลับมาทำงานกับบริษัท VC ชื่อว่า East Ventures ในอินโดนีเซีย และบริษัทด้านการลงทุน Reapra ในสิงคโปร์ “ฉันอยากเปิดบริษัทเป็นของตัวเองมาโดยตลอดแต่ไม่เคยรู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน กระทั่งได้รู้จักกับเครื่องดื่มประเภทที่ไม่มีแอลกอฮอล์เหล่านี้” Winata ที่ระดมทุนจากนักลงทุนได้จำนวนหนึ่งโดยไม่มีการเปิดเผยตัวเลขกล่าวไว้ เธอเพิ่งจะตั้งสำนักงานที่ Los Angeles เมื่อไม่นานมานี้เพื่อเตรียมทำตลาดในสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าขายปลีกเป็นหลัก - A. W
การดูแลสุขภาพและวิทยาศาสตร์
ZHAO YARAN
อายุ 27 • ผู้ร่วมก่อตั้ง Veminsyn Biotech • จีน
Zhao Yaran ไม่เคยขาดแรงบันดาลใจในการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2021 บริษัท Veminsyn Biotech ของเขาซึ่งตั้งอยู่ใน Beijing มุ่งเป้าทำตลาดในธุรกิจที่โตเร็วที่สุดของจีนอย่างธุรกิจความงามผ่านการพัฒนาและจัดหาส่วนผสมสำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวให้แก่ผู้ผลิตในจีน โดยเน้นที่การชะลอวัยและรักษาสภาพผิวให้ดูสุขภาพดีอยู่เสมอ “บรรดาแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง L,Oréal หรือ Estée Lauder ต่างก็มีส่วนประกอบสำคัญเป็นของตัวเอง แต่แบรนด์เครื่องสำอางจีนไม่มีแบบนั้น” Zhao ที่เรียนจบปริญญาเอกด้านชีววิทยาจาก Peking University กล่าว
“สิ่งที่เราต้องการจะทำคือ การสร้างนวัตกรรมด้านวัตถุดิบ และก้าวเข้าไปแทนที่ส่วนผสมที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ” บรรดานักวิจัยที่ Veminsyn ซึ่ง Zhao นั่งเก้าอี้ซีอีโอพร้อมเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดต่างกำลังอยู่ระหว่างการทดลองเปลี่ยนโครงสร้างทางโมเลกุลของสารอย่างคอลลาเจนเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของเครื่องสำอาง เช่น ทำให้ดูดซึมได้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทมีลูกค้าหลายรายรวมถึงแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Zhuben และ GenuineNamir บริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ไม่ใช่กิจการแรกของ Zhao เพราะตั้งแต่ที่ศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมชีวภาพที่ South China University of Technology เขาเคยเปิดบริษัทเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาชาวจีนสำหรับการศึกษาต่อและเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติมาแล้ว และยังทำงานเสริมด้านการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพให้กับบริษัทด้านการลงทุนท้องถิ่นหลังจบปริญญาเอก จากนั้นจึงตั้งบริษัท Veminsyn กับเพื่อนอีก 3 คน จนถึงตอนนี้ทางบริษัทระดมทุนได้แล้วถึง 20 ล้านเหรียญจากนักลงทุนมากหน้าหลายตา ทั้ง Citic Capital, Next Capital และ ZhenFund ตามข้อมูลเอกสารที่ยื่นชี้แจงต่อหน่วยงานท้องถิ่น - Y. W.
อ่านพิ่มเติม : SCAP โชว์กำไรครึ่งปีแรก 706 ลบ. พอร์ตสินเชื่อ 3 หมื่นล้านเข้าเป้าก่อนกำหนดในครึ่งปีแรก