Chow Shing Yuk อดีตนักเล่นไพ่โป๊กเกอร์มืออาชีพซึ่งเคยเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้เข้าร่วมอันดับมหาเศรษฐี แต่ไม่ใช่เพราะแค่เขาจั่วได้ไพ่ดี
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา Chow Shing Yuk ซึ่งในปัจจุบันอายุ 44 ปี อาศัยความแน่วแน่สร้าง Lalamove ให้เป็นยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์และการขนส่งจากสำนักงานใหญ่ในฮ่องกง โดยได้รับการสนับสนุนจาก Neil Shen แห่ง Sequoia China และ Lei Zhang แห่ง Hillhouse Capital
เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2023 บริษัทของ Chow อันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Lalatech Holdings ได้ออกหนังสือชี้ชวนในการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับสาธารณชน (IPO) ในฮ่องกง ซึ่งมีการเปิดเผยว่า Chow ถือครองหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ผ่านทรัสต์ครอบครัว อ้างอิงจากหุ้นในมือ Chow และรายได้จากการเปิดจองซื้อหุ้นก่อนเข้า IPO ทาง Forbes ประเมินทรัพย์สินสุทธิของเขาไว้ที่ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐีจากสตาร์ทอัพที่หาได้ยากยิ่งในฮ่องกง
การระดมทุนในวงจำกัดครั้งล่าสุดซึ่งเป็นรอบ Series G พวกเขาระดุมได้ 230 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดฟองสบู่ในกลุ่มสตาร์ทอัพ ทั้งนี้จากรายงานบนเว็บไซต์ข่าวสารเทคโนโลยี The Information การระดมทุนครั้งดังกล่าวนี้ทำให้มูลค่าของ Lalatech เพิ่มเป็น 1.3 หมื่นล้านเหรียญ ตั้งแต่นั้นผลการประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพหลายรายก็ตกลงท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นและความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งรวมถึง Lalatech ด้วย
หนังสือชี้ชวนในการเข้าทำการซื้อขายมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ หรือ IPO ของทางบริษัทเผยว่า Chow เตรียมเสนอขายหุ้นเป็นจำนวน 2.17 ล้านหุ้นของ Lalatech ให้กับยักษ์ใหญ่แห่งวงการอินเทอร์เน็ตจีนอย่าง Tencent ทั้งนี้ จำนวนหุ้นดังกล่าวอาจคิดเป็นมูลค่า 100 ล้านเหรียญ
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าของ Lalatech อยู่ที่ราว 7.8 พันล้านเหรียญ สูงกว่าที่ Forbes คาดการณ์ไว้
การยื่นขอ IPO ในฮ่องกงของบริษัทโลจิสติกส์ทรงอิทธิพลเกิดขึ้นในระยะเวลาเกือบสองปีภายหลังจากมีรายงานว่าพวกเขายื่นขอเข้า IPO ในตลาดสหรัฐฯ อย่างลับๆ ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาระดมทุนได้ถึง 1 พันล้านเหรียญ อ้างอิงจากรายงานข่าวบน Bloomberg News
นอกเหนือจาก Sequoia China, Hillhouse และ Tencent แล้ว นักลงทุนรายอื่นของ Lalatech ยังมีบริษัทประกันชีวิตสัญชาติเอเชีย FWD Group ของมหาเศรษฐี Richard Li, บริษัท C Capital ของ Adrian Cheng ผู้ทรงอิทธิพลในวงการอสังหาริมทรัพย์, บริษัท Gaw Capital Partners ของ Goodwin Gaw, บริษัท Shunwei Capital ของ Lei Jun ผู้ร่วมก่อตั้ง Xiaomi, บริษัทขนส่งอาหารรายใหญ่จากจีน Meituan, กองทุนบริหารความเสี่ยง D1 Capital Partners ของ Daniel Sundheim และ Boyu Capital บริษัทลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ก่อตั้งโดยหลานชายของอดีตประธานาธิบดีจีน Jiang Zemin
Chow ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและซีอีโอร่วมก่อตั้ง Lalatech ในปี 2013 เพื่อพากระบวนการขนส่งทางถนนทั้งหมดเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้จะต้องดำเนินการผ่านคอลเซนเตอร์ แอปพลิเคชั่นบนมือถือของทางบริษัทเชื่อมต่อผู้คนและธุรกิจเข้ากับผู้ขนส่งซึ่งให้บริการทั้งสิ่งของทั่วไป เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง
Lalatech ดำเนินการภายใต้แบรนด์ Lalamove ในฮ่องกงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่ใช้ชื่อ Huolala บริษัทเปิดตัวในฮ่องกงครั้งแรกเมื่อปี 2013 ก่อนจะขยับขยายไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ในอีกหนึ่งปีถัดมา ทางบริษัทกำลังมุ่งเน้นการเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกา ทั้งยังวางแผนเข้าสู่ตะวันออกกลางในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า
Lalatech ได้แจ้งในหนังสือชี้ชวนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ว่าในครึ่งแรกของปี 2022 พวกเขาเป็นแพลตฟอร์มจัดการด้านโลจิสติกส์ครบวงจร (ตั้งแต่สั่งซื้อสินค้า จับคู่กับผู้ให้บริการขนส่ง และการชำระเงิน) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกหากวัดจากมูลค่าธุรกรรมรวม (GTV) โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 43.5 เปอร์เซ็นต์ ตามการอ้างอิงจากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ Frost & Sullivan มากกว่าอันดับ 2 อย่าง Uber Freight ที่เป็นส่วนโลจิสติกส์แยกมาจากบริษัทให้บริการเรียกรถยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ Uber Technologies ถึง 3.5 เท่า โดยทาง Uber Freight เองก็กำลังพิจารณาการเข้าตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน อ้างอิงจากรายงานข่าวของ Bloomberg เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
Lalatech มุ่งเป้าการขนส่งภายในเมืองเดียวกันทำให้สามารถลดมูลค่าการขาดทุนสุทธิลงมาได้ราว 96 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ 93 ล้านเหรียญในปี 2022 ข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทางบริษัทพบว่ามีรายรับเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์หรือขึ้นมาแตะที่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญอันเป็นผลมาจากยอดขายของธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
Lalatech ยกให้การเติบโตอย่างมั่นคงของทางบริษัทเป็นความดีความชอบของเครือข่ายผู้ค้าขายและผู้ให้บริการขนส่งอันกว้างใหญ่ที่ใช้เวลาสองสามปีที่ผ่านมาในการสร้าง เมื่อปลายปี 2022 Lalatech กล่าวว่าพวกเขามีผู้ให้บริการขนส่งที่ยืนยันตัวตนแล้วกว่า 7 ล้านรายบนเครือข่ายและมีผู้ค้าขายกว่า 11 ล้านรายใช้แพลตฟอร์มของพวกเขาโดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน
Lalatech มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง แต่มีสาขาในกว่า 400 เมืองในตลาด 11 แห่ง ซึ่งร่วมถึงบังกลาเทศ บราซิล อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เครือข่ายของ Lalatech ยังส่งเสริมให้ทางบริษัทสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าสมาชิกและค่าธรรมเนียมจากเหล่าผู้ให้บริการขนส่ง
Chow เกิดที่จีนแผ่นดินใหญ่และเติบโตมาในบ้านไม้สภาพซอมซ่อในฮ่องกง เขาได้รับทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาหลังสอบได้ A ทุกตัวตอนมัธยมปลาย เขาได้ให้ข้อมูลนี้ในการสัมภาษณ์กับ Chinese University of Hong Kong ซึ่งเขาสำเร็จการศึกษาในชั้นปริญญาโท ส่วนในชั้นปริญญาตรีเขาเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หลังเรียนจบก็เริ่มต้นทำงานเป็นที่ปรึกษาของ Bain & Co. บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการธุรกิจ สาขาฮ่องกง
Chow ได้ใช้เวลาในชั่วโมงทำงานส่วนใหญ่ไปกับการเล่นไพ่โป๊กเกอร์ออนไลน์ เขาตัดสินใจลองเสี่ยงดวงเป็นมืออาชีพ โดยตลอดระยะเวลาแปดปีของการเป็นนักเล่นไพ่โป๊กเกอร์มืออาชีพ เขาได้เงินจากการชนะพนันจำนวน 30 ล้านเหรียญฮ่องกง (3.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ในปี 2013, Chow นำเงินจากการชนะเกมไพ่โป๊กเกอร์มาสร้าง Lalatech (ซึ่งในตอนนั้นใช้ชื่อว่า EasyVan) ร่วมกับ Gary Hui และ Matthew Tam หลังจากผิดหวังกับการสั่งจองบริการขนส่งผ่านคอลเซนเตอร์
ครั้งหนึ่ง Chow เคยให้สัมภาษณ์กับ Chinese University of Hong Kong โดยได้กล่าวถึงเป้าหมายว่าต้องการให้ Lalatech เป็นชื่อเรียกติดปากที่หมายถึงการขนส่ง
แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ Former Pro Poker Player, Who Founded Asian Delivery Giant Lalamove With His Winnings, Becomes A Billionaire ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com
อ่านเพิ่มเติม: Trident Seafoods จากเรือหนึ่งลำสู่อาณาจักรประมงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine