Canva แอปออกแบบ จากสตาร์ทอัพพันล้าน - Forbes Thailand

Canva แอปออกแบบ จากสตาร์ทอัพพันล้าน

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Jul 2020 | 11:02 AM
READ 4669

Melanie Perkins สร้างสรรค์ Canva แอปออกแบบ จากสถานที่ที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้จนเติบโตเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่ามากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เพราะเครื่องมือดิจิทัลของเธอทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้จนสร้างผลกำไร และกลายเป็นภัยคุกคามกับ Adobe และ Microsoft

เช้าของเดือนพฤษภาคม ปี 2013 อันอบอ้าว Melanie Perkins ซีอีโอของ Canva พบตัวเองลอยละล่องอยู่บน Kiteboard ในช่องแคบระหว่างเกาะ Necker ซึ่งเป็นเกาะส่วนตัวของมหาเศรษฐี Richard Branson และเกาะ Moskito เรือใบความยาว 30 ฟุตของเธอลอยลำไม่กางใบอยู่ในทะเลแคริบเบียนที่มีกระแสน้ำพัดแรง นักธุรกิจวัย 26 ปีรอความช่วยเหลืออยู่หลายชั่วโมง ขณะเดินอยู่ในน้ำขาซ้ายของเธอกระแทกกับปะการังจนเป็นแผลเป็น แต่ก็บอกกับตัวเองว่างานอดิเรกใหม่นี้คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องเผชิญ ถึงกระนั้นก็ตาม มันก็เป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์การระดมทุนสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพธุรกิจซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบ ที่เธอร่วมก่อตั้งกับแฟนหนุ่มเมื่อ 6 ปีก่อน Canva มีสำนักงานใหญ่อยู่ในออสเตรเลีย คิดเป็นระยะทางหลายพันไมล์จากบรรดาผู้นำวงการที่ทรงอิทธิพลใน Silicon Valley การจะได้รับโอกาสพบปะพูดคุยเป็นเรื่องยาก ส่วนการหาแหล่งเงินทุนมาสนับสนุนนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง Perkins ได้ยินคำว่า “ไม่” จากนักลงทุนมากกว่า 100 คนแล้ว จนกระทั่งเธอได้พบกับกลุ่มผู้จัด Kitesurf ของนักลงทุนประเภทร่วมทุนกลุ่มหนึ่งที่งานเสนอไอเดียของบริษัทสตาร์ทอัพที่เมือง Perth เพราะกลุ่ม Kitesurf ทำให้พวกเขาได้พบกับ Cameron Adams อดีตลูกหม้อของ Google วัย 40 ปี ซึ่งได้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพใน Sydney โดย Adams พบกับทั้งคู่ในฐานะที่ปรึกษาในเดือนมีนาคม 2012 และได้จับมือเป็นผู้ก่อตั้งคนที่ 3 ของบริษัทในเดือนมิถุนายนเมื่อมีผู้นำในส่วนงานด้านเทคนิคแล้ว พวกเขาก็เดินหน้าฉลุย โดย Canva สามารถระดมทุนตั้งต้นได้รวมกัน 3 ล้านเหรียญ ก้อนหนึ่งในปี 2012 และอีกก้อนจากต้นปี 2013 ซึ่งรวมถึงส่วนที่เป็นเงินสมทบในจำนวนเท่ากันกับอีกแหล่งเงินทุนที่ให้โดยรัฐบาลออสเตรเลีย ที่ผ่านมาความอุตสาหะเช่นนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ Canva ซึ่งเริ่มต้นจากธุรกิจออกแบบหนังสือรุ่นขนาดเล็กๆ ใน Perth เมืองหลวงของรัฐทางชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย จากจุดเริ่มต้นเมื่อครั้งนั้น Canva ได้เติบโตมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีผู้ใช้กว่า 20 ล้านคนจาก 190 ประเทศ ที่ใช้โปรแกรมประยุกต์บนเว็บของบริษัทที่ให้บริการในรูปแบบฟรีเมียมในการออกแบบตั้งแต่กราฟิกเตะตาสำหรับ Pinterest ไปจนถึงรายการอาหารของภัตตาคารอันสวยหรู นอกเหนือจากราคาที่ใครก็สู้ไม่ไหว (ผู้ใช้หลายล้านคนไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น)
แอปออกแบบ
เครื่องมือของ Canva ถูกใช้เพื่อการออกแบบมากกว่า 2 พันล้านแบบใน Canva Apps
  ความได้เปรียบสำคัญของ Canva เหนือผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Adobe คือความสะดวกในการใช้งาน ก่อนที่จะมี Canva บรรดามือสมัครเล่นต้องใช้วิธีแปะงานออกแบบเข้าด้วยกันบน Microsoft Word หรือไม่ก็โดนโขกค่าเครื่องมือระดับโปรที่ใช้งานแสนยาก ทุกวันนี้ไม่ว่าใครก็สามารถดาวน์โหลด Canva ได้จากทุกที่ และสร้างสรรค์งานได้ภายในเวลา 10 นาที รายได้ของบริษัทมาจากการขายการบริการแบบที่มีราคาแพงกว่าที่ลูกค้าตั้งใจซื้อแต่แรก โดยเชิญชวนให้ลูกค้าจ่ายเดือนละ 10 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับโปรแกรมที่เป็นเวอร์ชั่นแบบพรีเมียม ซึ่งมีลูกเล่นน่าดึงดูดใจกว่าหรือไม่เช่นนั้นก็จากการขายโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพกว่าสำหรับลูกค้าบริษัทที่เพิ่งดำเนินการ เมื่อเร็วๆ นี้ คลังรูปภาพที่ Canva มีหลายล้านภาพคิดเงินอีก 1 เหรียญ แม้จะเล็กน้อยแต่ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นรายได้ก้อนโต ปีนี้บริษัทคาดว่าจะทำรายได้เป็นเท่าตัว โดยเพิ่มเป็น 200 ล้านเหรียญ เงินทุนก้อนล่าสุดที่บริษัทได้มาทำให้มีการประเมินมูลค่าบริษัทเป็นตัวเลขกลมๆ ที่ 3.2 พันล้านเหรียญ Perkins ซึ่งติดทำเนียบ Forbes 30 Under 30 Asia ปี 2016 มีหุ้นในบริษัทราวร้อยละ 15 คิดเป็นมูลค่า 430 ล้านเหรียญ เมื่อรวมกับหุ้นในจำนวนใกล้เคียงกันของผู้ร่วมก่อตั้งวัย 34 ปี Cliff Obrecht ผู้ที่ตอนนี้เป็นคู่หมั้นของเธอ ทั้งสองจะเป็นคู่รักชาวออสเตรเลียที่น่าจะมีสินทรัพย์รวมกันกว่า 800 ล้านเหรียญ
แอปออกแบบ
Cameron Adams (ซ้าย) ร่วมกับ Melanie Perkins และ Cliff Obrecht แห่ง แอปออกแบบ
Canva เผชิญหน้ากับความท้าทายที่ตรงไปตรงมากว่ามาก นั่นคือการเอาชนะธุรกิจรายใหญ่ ทั้งนี้ Canva ประสบปัญหาคลาสสิกเช่นเดียวกับ Atlassian, Slack และ Zoom นั่นคือ โมเดลฟรีเมียมทำให้คุณเป็นที่รู้จัก แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะไม่ยอมควักกระเป๋าแม้แต่สตางค์เดียว และแม้ Canva จะบอกว่าบริษัทมีผู้ใช้อยู่ในบริษัทใหญ่เกือบทุกแห่งในขณะนี้ก็ตาม แต่คนเหล่านั้นโดยมากเป็นผู้ใช้บุคคล หรือกลุ่มคนเล็กๆ ประเภทที่ใช้ชื่อปลอมไม่ใช่บัญชีบริษัทที่เป็นทางการ การจะเจาะตลาดบนหมายถึงการขึ้นไปต่อกรกับ Adobe ยักษ์ใหญ่ด้านกราฟิก ที่มีมูลค่าตามตลาดอยู่ที่ 1.49 แสนล้านเหรียญ โดยเฉพาะรายได้จากส่วนธุรกิจด้านออกแบบในไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 ก็สูงถึง 1.65 พันล้านเหรียญแล้ว นอกจากนี้ยังมีบริษัทสตาร์ทอัพที่กำลังมาแรงอีกมากมาย รวมถึง Figma และ Sketch ที่จับลูกค้ามืออาชีพ แต่ก็อาจขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปได้ไม่ยาก นั่นยังไม่นับรวมสิ่งที่ Canva มองไว้ในอนาคตคือ การลงไปเล่นในสื่อใหม่อย่างวิดีโอและการทำพรีเซนเทชั่น ซึ่งอาจเป็นการลงสนามประลองกับผู้เล่นมากมาย ตั้งแต่ Instagram ที่มีแอปทำวิดีโอเล็กๆ ไปจนถึงไมโครซอฟท์ผู้ผลิต PowerPoint ที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก จะบอกว่าหนทางดูมืดมนก็ยังน้อยไป แต่ไม่ใช่สำหรับ Perkins ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนนักลงทุนจาก Silicon Valley ผู้เต็มไปด้วยความกังขาให้กระโดดมาสนับสนุนบริษัทของเธอเต็มตัว เธอมองตลาดจีนอย่างทะลุปรุโปร่ง และทำตัวเลขในบัญชีธนาคารไปที่ยอดกว่า 200 ล้านเหรียญ สำหรับเธอแล้วทุกอย่างเป็นไปตามแผน “ฉันรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำนั้นยอดเยี่ยม แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เราต้องการทำแล้วนั่นยังถือว่าน้อยมาก เราทำไปแค่ร้อยละ 1 ของสิ่งที่ฉันคิดว่าเป็นไปได้” Perkins กล่าว ตั้งแต่อดีตมาประเทศจีนเป็นตลาดปราบเซียนสำหรับผู้ผลิตซอฟต์แวร์จากโลกตะวันตก แต่ Canva เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ด้าน Obrecht ซึ่งดำรงตำแหน่งซีโอโอ หนุ่มร่างสูงที่มีบุคลิกเป็นมิตร เขาเปิดสำนักงานนอก Sydney เป็นแห่งแรกที่ Manila ในปี 2014 จากนั้นได้จ้างอดีตหัวเรือใหญ่ของ LinkedIn ประเทศจีน ให้รับผิดชอบสำนักงานในจีนแผ่นดินใหญ่ ทุกวันนี้ทีมวิศวกรท้องถิ่นจัดการดูแล Canva เวอร์ชั่นประเทศจีนเวอร์ชั่นแรก ซึ่งเป็นการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันส่งข้อความของจีน และ QR code ที่สร้างได้ง่ายๆ ซึ่งเป็นที่นิยมที่นั่น มีลูกค้าอย่าง McDonald’s China และบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่นำซอฟต์แวร์นี้ไปใช้กับตัวแทน 1,000 แห่งของบริษัท  
คลิกอ่านฉบับเต็ม Canva แอปออกแบบ จากสตาร์ทอัพพันล้าน ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine