แม้มูลค่าทรัพย์สินรวมของเหล่าบรรดามหาเศรษฐีของฮ่องกงจะมีเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปบ้างตามผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ แต่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดก็น่าจะช่วยจุดประกายความหวังของพวกเขาได้ว่าภาวะเศรษฐกิจในอนาคตจะฟื้นตัวกลับมาดียิ่งขึ้นและช่วยหนุนความร่ำรวยมั่งคั่งของแต่ละบุคคลได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
เศรษฐกิจฮ่องกงหดตัว 3.5% ในปี 2022 ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกหยุดชะงักและอุปสงค์ภายในประเทศลดลง แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และการเดินทางแบบไม่ต้องกักตัวก็กลับมาทำได้อีกครั้งในเดือนมกราคมหลังจากชะงักงันไป 3 ปี
แม้ดัชนีฮั่งเส็งจะลดลง 12% นับตั้งแต่ตอนที่เราวัดมูลค่าทรัพย์สินเมื่อปีที่แล้ว แต่ทรัพย์สินรวมของผู้มั่งคั่งที่สุด 50 อันดับแรกของฮ่องกงกลับลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเป็น 3.24 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 3.28 แสนล้านเหรียญ
ทำเนียบปีนี้ยังมีจ่าฝูงคนเดิมคือ Li Ka-shing ผู้ครองอันดับ 1 ด้วยทรัพย์สิน 3.9 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 3 พันล้านเหรียญจากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีข้อมูลใหม่ออกมาเกี่ยวกับทรัพย์สินของเขา แม้หุ้นในกลุ่มบริษัทโครงสร้างพื้นฐาน CK Hutchison Holdings ที่เป็นกิจการหลักของเขาจะมีมูลค่าลดลงเนื่องจากกำไรลดลง
แต่เมื่อหุ้นที่เขาถือในบริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง Celsius Holdings มีมูลค่าเพิ่มขึ้นก็ช่วยชดเชยได้บางส่วน โดยราคาหุ้นวิ่งขึ้นเกือบเท่าตัวหลังจาก PepsiCo ประกาศลงทุน 550 ล้านเหรียญในบริษัทนี้
นักธุรกิจใหญ่สายอสังหาริมทรัพย์ Lee Shau Kee ยังคงครองความมั่งคั่งเป็นอันดับ 2 แม้ทรัพย์สินสุทธิลดลง 11% เหลือ 3.03 หมื่นล้านเหรียญจากการที่ตลาดอสังหาฯ ซบเซา Henderson Land ของ Lee มองการณ์ไกลด้วยการเร่งเดินหน้าทำตามแผนการก่อสร้างโครงการอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์มูลค่า 1.46 หมื่นล้านเหรียญให้เป็นแลนด์มาร์กริมอ่าวในย่าน Central
Horst Julius Pudwill ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะกรรมการ Techtronic Industries บริษัทผลิตเครื่องมือช่างและผลิตภัณฑ์ดูแลพื้น คือ มหาเศรษฐีฮ่องกงอันดับที่ 14 ซึ่งแม้บริษัทจะทำกำไรเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าทรัพย์สินกลับลดลง 19% เหลือ 6 พันล้านเหรียญในรอบปีที่ผ่านมา
โดยในครึ่งแรกของปี 2022 บริษัทมียอดขาย 7 พันล้านเหรียญ คิดเป็นกำไรสุทธิ 578 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างละ 10% แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลงกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Techtronic ซึ่งมีรายได้จากทวีปอเมริกาเหนือคิดเป็นสัดส่วนถึง 77% และมี Home Depot ร้านค้าปลีกอุปกรณ์ตกแต่งบ้านจากสหรัฐฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด
อีกทั้งยอดขายบ้านใหม่เมื่อปี 2022 ยังทำสถิติต่ำสุดในรอบ 4 ปี จึงเป็นผลให้หุ้นของ Techtronic ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ปรับตัวลดลงกว่า 20% จากปีก่อนหน้า
Jean Salata มหาเศรษฐีฮ่องกงอันดับที่ 15 คือผู้ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ เขาได้อานิสงส์จากอภิมหาสัญญามูลค่า 6.7 พันล้านเหรียญ จากขาย Baring Private Equity Asia (BPEA) ให้กับ EQT กลุ่มบริษัทลงทุนในหุ้นนอกที่ตลาดจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปจาก Stockholm
หลังการขายกิจการดังกล่าวทำให้ Salata มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวมาอยู่ที่ 5.9 พันล้านเหรียญ เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของ BPEA คือ การลงทุนเพิ่มในธุรกิจเทคโนโลยีในเอเชีย
ปัจจุบันบริการด้านเทคโนโลยีคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการลงทุนทั้งหมดของ BPEA ซึ่ง Salata ไม่มีแผนที่จะชะลอการลงทุนในกลุ่มนี้ อีกทั้ง ยังมุ่งเป้าทำสัญญาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาที่มีมูลค่ากิจการ 1 พันล้านเหรียญขึ้นไป เพื่อผลักดัน EQT สู่ก้าวแรกในเวทีธุรกิจที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
Helmut Sohmen มหาเศรษฐีอีกรายผู้มีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นและมีความมั่งคั่งอยู่ในอันดับที่ 17 เขาคือผู้ทรงอิทธิพลแห่งธุรกิจขนส่งทางเรือจากฮ่องกงที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.5 พันล้านเหรียญ เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 53% จากความต้องการบริการขนส่งทางทะเลที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทในกลุ่ม BW Group ของเขานั่นเอง
การคว่ำบาตรบริการขนส่งน้ำมันจากรัสเซียจากเหตุการณ์บุกรุกยูเครนนั้นทำให้ผู้ซื้อต้องรีบเสาะหาผู้ให้บริการรายอื่นจากตะวันออกกลางและสหรัฐฯ การขาดแคลนเรือส่งผลให้การขนส่งน้ำมันและก๊าซมีอัตราค่าระวางสูงขึ้น
หุ้นของ Hafnia และ BW LPG บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Oslo ที่อยู่ในความควบคุมของ BW Group มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 217% และ 76% ตามลำดับ ในปีที่พวกเขากอบโดยรายได้มหาศาล
อ่านเพิ่มเติม: การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไต้หวัน ประจำปี 2023