ในปี 2021 เป็นปีแห่งความโกลาหลของบรรดาคนรวยที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่และสร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการระดับพันล้านเป็นอย่างมาก แต่ถึงอย่างนั้นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดของจีนก็ยังรวยขึ้นจากปีก่อน
และในบรรดาผู้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากที่สุดมีคนได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวและอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยรวมแล้วคนที่รวยที่สุด 100 อันดับแรกของจีนยังมีทรัพย์สินรวมเพิ่มขึ้นจากทำเนียบปีเมื่อปี 2020 โดยมีทรัพย์สินรวมเพิ่มเป็น 1.48 ล้านล้านเหรียญ จาก 1.33 ล้านล้านเหรียญในปีก่อน พบกับ ไฮไลท์ 4 มหาเศรษฐี 'ผู้ร่ำรวยที่สุดของจีน' ในปี 2021 ดังต่อไปนี้ชาร์จพลัง
WANG CHUANFU
การเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าของราคาหุ้น BYD ในปีที่แล้วช่วยเพิ่มพูนทรัพย์สินของผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโออย่าง Wang Chuanfu เป็น 2.35 หมื่นล้านเหรียญ ทำให้เขาขึ้นมาอยู่อันดับ ที่ 14 ของทำเนียบ Lu Xiangyang รองประธานกรรมการบริษัทผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ติดอันดับ 100 คนที่รวยที่สุดโดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.86 หมื่นล้านเหรียญ กำไรของ BYD นั้นมาจากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 9 เดือนแรกของปีไปเป็น 337,579 คันจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้ายังคงแย่งส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก Wang ก็มองเห็นช่องทางการเติบโต เขาคาดการณ์ผ่านอีเมลในเดือนกรกฎาคมว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่จะคิดเป็น 70% ของตลาดจีนภายในปี 2030 บริษัทนี้ซึ่งได้รับการหนุนจาก Warren Buffett ก็กำลังคว้าโอกาสในต่างประเทศไปพร้อมกัน เมื่อต้นปีนี้ BYD เข้าเป็นหุ้นส่วนกับ Nexport ใน Sydney เพื่อขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าในออสเตรเลีย และในเดือนพฤษภาคมก็ประกาศแผนส่งออกรถ SUV ไฟฟ้า 100% จำนวน 1,500 คันไปนอร์เวย์ปีนี้บริษัทกำลังแย่งส่วนแบ่งตลาดรถบัสไฟฟ้าในตลาดโลก ด้วยการมีรถของ BYD จำนวนกว่า 60,000 คันที่ให้บริการอยู่ทั่วโลก --R.F.กระจายความมั่งคั่ง
LEI JUN
Lei Jun ติดอันดับเศรษฐีพันล้านใจบุญ Forbes China ประจำปีนี้ จากเงินบริจาคจำนวน 40.3 ล้านหยวน (6.3 ล้านเหรียญ) เมื่อปี 2020 ของ Xiaomi บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่เขารับหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เมื่อเทียบกับการยกหุ้นของ Xiaomi ให้เป็นการกุศลรวมมูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญ คิดเป็นราว 12% จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.79 หมื่นล้านเหรียญของเขา เช่นเดียวกับ Wang Xing ประธานกรรมการ Meituan แพลตฟอร์มบริการส่งอาหารในประเทศจีน ซึ่งบริจาคหุ้นรวมมูลค่า 2 พันล้านเหรียญ หรือราว 9% ของทรัพย์สินสุทธิ 2.19 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่ Tencent ยักษ์ใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ตประกาศบริจาค 1 แสนล้านหยวนเพื่อการกุศล ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางการส่งเสริมนโยบาย “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ของประธานาธิบดี Xi Jinping หลังจากที่ประเทศจีนประสบภาวะช่องว่างความมั่งคั่งมาตั้งแต่ต้นยุคปฏิรูป ในช่วงเวลาระหว่างปี 2011-2020 จีดีพีของจีนเติบโตเกินกว่าเท่าตัวเล็กน้อย ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินของบรรดามหาเศรษฐีที่ติดโผการจัดอันดับ China’s 100 Richest เพิ่มขึ้นราว 6 เท่าตัวในช่วงระยะเวลาเดียวกัน หลังการส่งสาร “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” คาดว่าน่าจะเป็นการปูทางให้มีการ ออกนโยบายใหม่ๆ อย่างเป็นทางการ เพื่อขยายโครงสร้างทางภาษีและกองทรัสต์ เพื่อสนับสนุนให้มีการบริจาคเพิ่มมากขึ้นตามที่ Yibing Shan กรรมการผู้จัดการของ Antidote Health Foundation for Cure of Cancer ได้ระบุไว้ ทั้งนี้เขาได้กล่าวในที่ประชุมสุดยอดด้านการดูแลสุขภาพของ Forbes China ในช่วงต้นปีว่า นโยบายต่างๆ ที่ออกโดยรัฐบาลนั้นเป็น “เรื่องใหญ่” เรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ --R.F.ทุ่มสุดตัวกับแสงอาทิตย์
LI ZHENGUO
ความต้องการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกเป็นโอกาสทองให้กับบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ Longi Green Energy Technology ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ชั้นนำของประเทศจีนทำยอดขาย 8 พันล้านเหรียญเมื่อปี 2020 และยังคงมีผลประกอบการทะยานขึ้นสูงต่อเนื่องในครึ่งปีแรก ด้วยรายได้ 3.51 หมื่นล้านหยวน (5.5 พันล้านเหรียญ) สูงกว่าปีก่อนหน้านั้น 74% คิดเป็นผลกำไร 5 พันล้านหยวน หรือเติบโต 21% จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ Li Zhenguo ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งติดโผในอันดับ 37 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.34 หมื่นล้านเหรียญ Li วัย 53 ปี ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นการแตกก้านออกมาจากความสนใจเดิมคือ เซมิคอนดักเตอร์ เขาก่อตั้ง Longi ขึ้นมาในปี 2000 เพื่อจัดจำหน่ายวัสดุซิลิคอนที่นำกลับมาแปรรูปใหม่ ก่อนจะหันมาเน้นธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในที่สุด ในปี 2012 Longi ระดมทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO ในตลาด Shanghai Stock Exchange ได้กว่า 200 ล้านเหรียญ และเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีมูลค่าตามราคาตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 7.4 หมื่นล้านเหรียญ อานิสงส์จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น 75% ในปีที่ผ่านมา --R.F.อุปสรรคระหว่างทาง
MA JIANRONG
ภาวะ “คอขวด” ที่กระจายเป็นวงกว้างในห่วงโซ่อุปทานทำให้ธุรกิจจำนวนมากหยุดชะงักลงทั่วโลก แต่เมื่อมองภาพรวมของประเทศจีนแล้วนับว่าความพยายามในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ประสบความสำเร็จ จึงช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ Ma Jianrong ในปี 2021 มูลค่าทรัพย์สินของผู้ส่งออกสิ่งทอรายนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.27 หมื่นล้านเหรียญ จาก 1.12 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว Ma วัย 57 ปี นั่งเป็นประธานกรรมการ Shenzhou International Group ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Ningbo โดยมี Nike และ Uniqlo เป็นลูกค้ารายใหญ่ ทั้งนี้เสื้อผ้าและสิ่งทอเป็นธุรกิจสำคัญของประเทศจีน โดยหากนับเฉพาะ 6 เดือนแรกของปี จีนมียอดการส่งออกรวม 1.4 แสนล้านเหรียญ อย่างไรก็ตามภาวะค่าแรงในประเทศที่สูงขึ้น บวกกับนโยบายการค้าที่ไม่แน่นอนกับสหรัฐฯ ทำให้บริษัทของ Ma ต้องหันไปเร่งการลงทุนในต่างประเทศ ในปีนี้ Shenzhou International สร้างโรงงานแห่งใหม่มูลค่า 150 ล้านเหรียญในกัมพูชานับเป็นการขยายโรงงานผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากเวียดนาม รวมแล้วพวกเขาจ้างงาน 40,000 ตำแหน่งใน 2 ประเทศนี้ สถานการณ์ของบริษัทกำลังดำเนินไปด้วยดีจนกระทั่งการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ ในกัมพูชาต้องปิดกิจการชั่วคราวเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมขณะที่การผลิตในเวียดนามหยุดชะงักในไตรมาส 3 แต่ภาพรวมธุรกิจของ Shenzhou International ยังคงเติบโต ทั้งรายได้และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 11% ในครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้ 1.14 หมื่นล้านหยวน (1.8 พันล้านเหรียญ) และกำไรสุทธิ 2.2 พันล้านหยวน การขาดแหล่งผลิตในต่างประเทศชดเชยได้ด้วยอัตราการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น 30% จากการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น บวกกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการควบคุมโรคระบาดในประเทศจีน --R.F. ( ไฮไลท์ 11 มหาเศรษฐี 'ผู้ร่ำรวยที่สุดของจีน' ประจำปี 2021 ตอนที่ 1 ) เรื่อง: RUSSELL FLANNERY เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง, พินน์นรา วงศ์วิริยะ และ รัน-รัน ภาพ: COURTESY OF BYD, FORBES CHINA, ASKA LIU/FORBES CHINA, VISUAL CHINA GROUP อ่านเพิ่มเติม:- ภูวสิษฏ์ วงษ์เจริญสิน ติดแบรนด์แต้มสีให้ผืนหนังอีกทางออกเพื่อเติบโต
- NON-FUNGIBLE TOKEN (NFT) และโอกาสสร้างคุณค่าให้เศรษฐกิจไทย
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine