วิวัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลจากที่ถูกใช้ประโยชน์อยู่ในวงจำกัดในเฉพาะภาคการเงินแต่เมื่อทุกคนตระหนักถึงข้อดีของบล็อกเชนกับสัญญาอัจฉริยะ รวมถึงโอกาสอีกมากมายในระบบกระจายศูนย์ (decentralization) จึงมีการปรับใช้ในวงการอื่นๆ จนพัฒนามาเป็น NFT ที่ประเทศไทยตื่นตัวมากในปัจจุบัน
เหตุใดที่สินทรัพย์ชนิดใหม่ที่ความสนใจและกระแสมาแรงที่สุดในช่วงนี้ สาเหตุเพราะเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัลมีประโยชน์มาก เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ที่ทำให้ทุกอย่างที่ถูกจัดเก็บไว้ในบล็อกเชนปลอดภัย ตรวจสอบได้ เชื่อถือได้ อีกเทคโนโลยีหนึ่งคือ สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ที่ทำให้สามารถตั้งเงื่อนไขโปรแกรมธุรกรรมทางการเงินของเราได้แบบอัตโนมัติ ลดตัวกลางให้น้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนต่ำลง รวมไปถึงทำให้ปลอดภัยและถูกต้องมากขึ้น เพราะทุกอย่างถูกบังคับใช้แบบอัตโนมัติ
Non-Fungible Token (NFT) คืออะไร
NFT คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ผลงาน ชิ้นงาน ในโลกดิจิทัล มีความปลอดภัยมาก เพราะเก็บข้อมูลเอาไว้ในบล็อกเชนจึงไม่สามารถทำาซ้ำได้ สินทรัพย์ดิจิทัลชนิดนี้มีความเป็นเอกลักษณ์คือ แต่ละชิ้นจะมีเพียงชิ้นเดียว ทดแทนกันไม่ได้ ในทางกลับกันเวลาเพื่อนเรายืมเงินเป็นจำนวน 1,000 บาท ตอนที่ใช้คืนก็ไม่จำเป็นต้องคืนด้วยธนบัตรใบเดิมก็ได้ ขอเพียงแค่มูลค่าเท่ากับ 1,000 บาทก็พอ ต่างกับเวลาที่เพื่อนเรายืมรถยนต์ไปใช้ชั่วคราว เวลาที่นำมาคืนจะต้องนำรถยนต์คันเดิมมาคืนเท่านั้น NFT ก็เช่นเดียวกัน แต่ละชิ้นจะมีความเฉพาะตัว ทดแทนกันไม่ได้ ทำให้มูลค่าแตกต่างกันออกไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษเช่นนี้ทำให้ NFT น่าสนใจและเติบโตมากในระยะเวลาอันสั้น
การเติบโตและความสนใจจากภาคธุรกิจ
หากจะวัดการเติบโตของ NFT ทำได้หลายมุม เช่น market cap ของชิ้นงาน NFT, market cap ของ NFT coin และปริมาณการซื้อขายชิ้นงาน NFT ใน marketplace เริ่มจากภาพใหญ่อย่างมูลค่าตลาดของ NFT ทั้งหมดอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังมีแนวโน้มจะเติบโตสูงขึ้นอีกในอนาคต ส่วนของ NFT ที่เป็นคอลเล็กชั่นมีมูลค่าตลาดประมาณ 700 ล้านเหรียญ ซึ่งแต่ละชิ้นก็มีราคาที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก บางชิ้นก็ซื้อขายกันประมาณ 3,000 บาท ชิ้นที่แพงและโด่งดังมากคือ 69 ล้านเหรียญ หรือราว 2 พันล้านบาทต่อชิ้น
เมื่อขนาดตลาด NFT เติบโต ภาคธุรกิจจึงเริ่มเข้ามาสนใจในวงกว้าง เช่น วงการสื่อ วงการเกม วงการกีฬา วงการแฟชั่น วงการศิลปะ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดชิ้นงาน NFT หลากหลายรูปแบบ เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย วิดีโอ เพลง การมาของ NFT จึงนับเป็นการดิสรัปต์อุตสาหกรรมที่ขาดความคึกคักเป็นเวลานาน เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในโลกดิจิทัล แต่ NFT ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป ผู้ประกอบการ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน และนักลงทุนจึงตื่นตัวเป็นอย่างมากที่จะเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ เพิ่มมูลค่าให้ผลงานกับ marketplace NFT
กรณีศึกษาการเพิ่มมูลค่าให้ภาคธุรกิจ
การเพิ่มมูลค่าด้วยยูทิลิตี้ (utility) อย่างวงการแฟชั่นและวงการเกม เวลาออกสินค้าใหม่ที่เป็น limited edition ที่มีเอกลักษณ์ มีจำนวนจำกัดก็สร้างมูลค่าเพิ่มสูงอยู่แล้ว แต่ถ้านำมาทำเป็น NFT ด้วยและสามารถมอบยูทิลิตี้ให้ผู้ซื้อ NFT นำไปใช้เป็นอุปกรณ์แต่งตัวในเกมหรือในโลกเสมือนจริง (metaverse) ด้วยจะเพิ่มตลาดได้อีกระดับ
ตัวอย่างแบรนด์หรู Burberry ได้จับมือกับเกม Blankos Block Party และออก NFT เป็น digital shoes มีมูลค่ารวมถึง 395,000 เหรียญ ซึ่งทาง Burberry เองก็จะได้รับรายได้จากการขาย NFT, การอัปเกรดไอเท็มในเกม และอาจจะได้เปอร์เซ็นต์เมื่อมีคนนำ NFT นี้ไปขายต่อในตลาดรอง
นอกจากนั้น อีกกรณีหนึ่งคือ Burberry และ Louis Vuitton ได้ใช้ NFT ด้วยการร่วมงานกับ The Fabricant บริษัทแฟชั่นดิจิทัลช่วงปี 2562 ที่จัดประมูล NFT สำหรับเสื้อผ้าดิจิทัล มีมูลค่าประมูลแต่ละครั้งเกือบ 10,000 เหรียญ รวมทั้งปัจจุบัน Louis Vuitton, Gucci, Balenciaga หรือแบรนด์ดังอื่นๆ อีกมากก็เข้าร่วมแวดวง NFT อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ของ Gucci หรือการจัดงานครบรอบ 200 ปีของ LV เป็นต้น
การเพิ่มมูลค่าในวงการเพลงและวงการศิลปะก็สามารถทำได้ด้วย NFT เพราะโลกดิจิทัลมีปัญหาพอสมควรเรื่องลิขสิทธิ์ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้ไม่มีทางรู้เลยว่า ผลงานชิ้นไหนคือต้นฉบับ เพราะดูเหมือนกันหมด แต่ NFT แยกได้และมีเพียงชิ้นเดียว
ดังนั้น ภาคธุรกิจและนักสร้างสรรค์ผลงานจึงเริ่มนำงานของตนไปสร้างเป็น NFT และขายให้ผู้ที่สนใจโดยตรง ผู้ที่ซื้อไปก็เสมือนมี certificate ของงานทุกชิ้น เท่านั้นยังไม่พอนักผู้สร้างสรรค์ผลงานยังมีสถานะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทำให้เวลามีการแลกเปลี่ยนชิ้นงานในตลาดรอง เจ้าของผลงานยังเลือกได้ว่าต้องการแบ่งเปอร์เซ็นต์การแลกเปลี่ยนนั้นๆ หรือไม่ จึงเป็นสาเหตุให้ประเทศไทยที่มีฝีมือด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหันมาสนใจและศึกษา NFT เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ศิลปินรายบุคคลบางคนสามารถขายงานได้เฉลี่ยหลักแสนบาทต่อเดือน
NFT สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อชูจุดแข็งประเทศ
ภาคการท่องเที่ยวที่โดดเด่นของประเทศไทยก็สามารถนำ NFT มาประยุกต์ ใช้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเพิ่มมูลค่าได้ เช่น การใช้ E-Voucher, proof of travel หรือแม้แต่การนำ NFT มาแปลงเป็นกิจกรรมเพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เกิดความต้องการบนเหรียญ NFT แลกกับการเข้าพักหรือแลกของสมนาคุณ รางวัลชิงโชค ส่วนลด สิทธิพิเศษต่างๆ เป็นต้น
สำหรับต้นแบบการนำ NFT มาส่งเสริมการท่องเที่ยว ออสเตรเลียและกรีกได้ริเริ่มทำร่วมกับพาร์ตเนอร์โรงแรมที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนในประเทศไทยด้วยสถานการณ์การชะงักของการท่องเที่ยวนั้น ทาง ททท. หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้แสดงให้ประชาชนเห็นถึงการเปิดกว้างรับนวัตกรรมเหล่านี้ และแสดงจุดยืนที่จะเปิดรับผู้ใช้คริปโตฯ (เช่น Japanese crypto holders) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ประชาชน และเพื่อช่วยเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันการนำา NFT มาใช้ในการท่องเที่ยวไทยจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองและพัฒนาร่วมกับทางภาครัฐไปพร้อมกัน
นอกจากนั้น Jim Thompson แบรนด์ผ้าไหมไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ราชาผ้าไหมไทยยังได้หันมาเข้าร่วมวงการ NFT โดยการนำสินค้าไทย ผ้าไหมไทยมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบ NFT ในโอกาสเฉลิมฉลองวันช้างโลกสร้างเป็นคอลเล็กชั่นขึ้นมาขายเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งที่มาจากการประมูลนี้ไปช่วยสมทบมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม
การสนับสนุนและผลักดัน NFT ในไทย
ในช่วงที่ผ่านมา Zipmex ได้มีการเปิดตัว NFT ภายใต้ชื่อ ZipWorld รุ่น Beta Version ก่อนเตรียมให้บริการเต็มรูปแบบในอนาคต ซึ่ง ZipWorld เป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์เอ็กซ์คลูซีฟและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตรงตามความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ NFT
แม้ปัจจุบัน ZipWorld จะยังคงเป็นการแลกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในลักษณะวันเวย์จากการคัดสรรของ Zipmex แต่ในอนาคตจะเปิดกว้างให้สามารถวางขายสินค้าได้ หลังจากนั้นจึงจะเริ่มพัฒนาเป็น NFT แพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบให้สามารถแลกซื้อสินค้าและบริการ เพื่อจุดประสงค์ทั้งในการเก็งกำไรหรือมองเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าก็ทำได้ พร้อมตอบสนองความต้องการด้านไลฟ์สไตล์แบบใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าของผลงานและบริการนั้นๆ สามารถลิสต์ผลงานบนแพลตฟอร์ม และเป็นหนึ่งในช่องทางการหารายได้ของผู้ประกอบการด้วย
ภายใต้โจทย์ของ Zipmex ที่ต้องการพัฒนาช่องทาง NFT ให้เกิดประโยชน์และสามารถแลก NFT เป็นสินค้าที่จับต้องได้จริงจากการจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ รวมถึงต้องการสร้างแพลตฟอร์มของบริษัทให้เป็น digital assets services ที่จะมาช่วยจัดการกับปัญหาผู้บริโภค และขณะนี้สินทรัพย์เองก็มีการยอมรับมากขึ้นในระดับโลกจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรสนใจและให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ดิจิทัล
บทความโดย
พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด
บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex)
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine