ธุรกิจส่งออก K-POP - Forbes Thailand

ธุรกิจส่งออก K-POP

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Oct 2016 | 11:19 AM
READ 2517

Bigbang ทำรายได้ 44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ พวกเขาเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับดนตรีแนว K-Pop ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครและแนวทางการทำเงินจากดนตรีในทั่วทุกมุมโลก Joojong Joe ผู้บริหารค่ายเพลง เดินแทรกตัวผ่านกลุ่มแฟนเพลงที่อัดแน่นเต็ม 19,000 ที่นั่งของ Honda Center ใน Anaheim รัฐ California ซึ่งมีการแสดงของวงบอยแบรนด์เกาหลี Bigbang เขาเห็นหญิงชาวรัสเซียคนหนึ่งกำลังร้องไห้แต่เธอเองก็บอกไม่ได้ว่าร้องทำไม Joojong Joe รอจนมั่นใจว่าเธอไม่ได้มีปัญหาอะไรแน่ๆ เขาจึงเดินต่อไป

“ก็เหมือนกับวง Backstreet Boys เมื่อก่อนนั่นแหละครับ” Joe กล่าวเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ “คนดูก็ร้องไห้กันตั้งมากมาย” แม้กระทั่งชาวรัสเซียยังคลั่งไคล้วง 5 หนุ่มเกาหลีหน้าหวานกับเขาด้วย ในเวลานี้ K-Pop ป็อปสไตล์เกาหลีที่มีความเป็นตัวของตัวเองในแบบที่ไม่เหมือนใครกลายเป็นดนตรีป็อปที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลกไปแล้ว ในปีที่ผ่านมา Bigbang ซึ่งเป็นวงดนตรีหัวแถวของแนวนี้ ทำรายได้ก่อนหักภาษีอยู่ที่ 44 ล้านเหรียญ ทิ้งห่าง Maroon 5 เจ้าของตำแหน่งวงป็อปเพลงติดหูชายล้วนที่ทำรายได้สูงสุดในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันโกยรายได้ 33.5 ล้านเหรียญแบบไม่เห็นฝุ่น Bigbang ติดโผท็อป 100 FORBES Celebrity แม้ว่ารายได้ของพวกเขาจะมาจากการแสดงดนตรีจนโด่งดังมากกว่าทักษะการบริหารธุรกิจของสมาชิกวงก็ตาม “เราทำเงินมากกว่า Maroon 5 เหรอครับ” G-Dragon หรือ Kwon Jiyong หัวหน้าวงวัย 27 ปีให้สัมภาษณ์ผ่านล่าม “ไม่รู้มาก่อนเลยนะเนี่ยแม่ผมเป็นคนดูแลเรื่องรายได้ให้น่ะครับ” นับว่าโชคดีที่ผู้ดูแลบัญชีให้กับ Bigbang ไม่ได้มีแค่เหล่าแม่ๆ เท่านั้น แต่เบื้องหลังความสำเร็จของวงตัวจริงคือ อดีตไอดอล K-Pop “YG” Yang Hyun Suk กับบริษัทของเขาที่มีชื่อว่า YG เหมือนกัน ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนมูลค่า 630 ล้านเหรียญแห่งนี้เป็นทั้งค่ายเพลง แมวมอง และผู้จัดงานคอนเสิร์ต ดูแลงานในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นไปจนถึงการตลาดและภาพยนตร์ ทางบริษัทและผู้ก่อตั้งดูแลรับผิดชอบในการสร้างสรรค์ผลงานไม่ใช่แค่วง Bigbang เท่านั้น แต่พวกเขายังเป็นผู้สร้างกระแส อีกทั้งสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่แนวK-Pop ยุคใหม่ ซึ่งในเวลานี้กำลังแปรสภาพจากวงดนตรีดังที่ยึดตลาดภูมิภาคไว้ได้อย่างเหนียวแน่น สู่กระแสความคลั่งไคล้ในเวทีโลก ศิลปินภายใต้สังกัด YG มีจำนวนมากมาย อย่างเช่น วงเกิร์ลกรุ๊ป 2NE1 ซึ่งขายตั๋วหมดเกลี้ยงมาแล้วทั่วโลก อีกทั้งยังได้ร่วมงานกับ Nicki Minaj ในภาพยนตร์โฆษณาให้กับ Adidas อีกด้วย ขณะที่มิวสิควิดีโอเพลง Gangnam Style ของศิลปินป็อปแร็พ Psy ครองสถิติผู้เข้าชมทางยูทูบมากที่สุดตลอดกาลถึง 2,600 ล้านวิว นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2012 หากย้อนเวลาไปเมื่อ 10 ปีก่อน กระแสนิยมผ่านสื่อออนไลน์ในลักษณะนี้จะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในเวลานั้นหากต้องการติดตาม K-Pop นอกทวีปเอเชียก็ต้องอาศัยการดาวน์โหลดผิดกฎหมายหรือร้านค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น “เมื่อก่อนนั้น การเผยแพร่และการเข้าถึงดนตรียังมีข้อจำกัด” Yang กล่าว บริษัทของเขากำลังจะทำรายได้อีก 250 ล้านเหรียญในปีนี้ “ยุคดิจิทัลในเวลานี้ ทำให้ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ไม่มีผลใดๆ” กระแส K-Pop อาจจะดูเหมือนเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ อิทธิพลของสหรัฐบุกชายฝั่งเกาหลีในช่วงยุค 1950 ผ่านสงครามเกาหลี ก่อให้เกิดผลพวงหลังสงครามจากกองทัพทหารที่ประจำอยู่ในพื้นที่ ทำให้ชาวเกาหลีได้รู้จักกับดนตรีป็อปและร็อกแอนด์โรลของฝั่งตะวันตก แต่กว่าอิทธิพลเหล่านั้นจะสามารถผสมผสานกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของยุโรปบวกฮิปฮอปแบบอเมริกัน เคล้าดนตรีพื้นบ้านของเอเชีย จนกลายเป็นต้นกำเนิดของดนตรี K-Pop ยุคใหม่ได้นั้น ก็ต้องรอจนถึงยุค 1990 เลยทีเดียว Yang เติบโตขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมของสังคมรอบตัวเขาในขณะนั้น เขาใช้ชีวิตในวัยมัธยมเล่นดนตรีตามแบบ Soul Train ซึ่งเป็นดนตรีที่เขาชื่นชอบ พร้อมกับฝึกการเคลื่อนไหวตามแบบท่าเต้นของ Michael Jackson ไปด้วย ในปี 1992 Seo Taiji นักร้องในช่วงเวลานั้น ได้มาเรียนการเต้นกับ Yang ซึ่งต่อมาพวกเขาได้ร่วมทีมกันกับสมาชิกอีกคนเพื่อสร้างวง Seo Taiji and Boys ซึ่งเป็นการผสมผสานของดนตรีฮิปฮอปกับท่วงทำนองที่ติดหู เพลงฮิตแรกของพวกเขาคือ “Nan Arayo (I Know)” ติดอันดับเพลงของบอยแบนด์ที่ดีที่สุดตลอดกาลของ Rolling Stone ในปี 1996 ขณะที่ Seo Taiji and Boys กำลังโด่งดังเป็นพลุแตก Yang ตัดสินใจอำลาวงมาเปิดบริษัท YG ที่เขาสร้างขึ้นเป็นโรงงาน K-Pop ศิลปินคนแรกๆ ที่เขาดูแลคือ G-Dragon ที่เรียนดนตรีกับ Yang ตั้งแต่อายุได้ประมาณ 12 ปี รวมถึง Taeyang Dong Youngbae ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นสมาชิกวง Bigbang เช่นเดียวกัน หลังจากที่ทั้ง 2 คน ฝ่าด่านรายการโทรทัศน์สไตล์เดียวกับ American Idol มาได้แล้ว Yang จึงให้พวกเขากับผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ รวมตัวกันฟอร์มวงบอยแบนด์ขึ้นมา เพื่อปลุกกระแสให้ถึงที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่ Simon Cowell สร้างวง One Direction ขึ้นมานั่นเอง Bigbang สร้างผลงานสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี 2006 ด้วยการทำงานและตารางงานที่ยากลำบากและสุดโหด พวกเขาออกผลงาน 6 อัลบั้มใน 6 ปีถัดมา โดย 2 อัลบั้มเป็นภาษาเกาหลีและอีก 4 อัลบั้มเป็นภาษาญี่ปุ่น โดยมีเนื้อเพลงภาษาอังกฤษแซมตลอดเพลง หลังจากนั้น YouTube ก็ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก “แม้ว่าจะไม่ได้เงิน” Joojong Joe จาก YG กล่าว “แต่ก็เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีนะครับ” YG เป็นบริษัทที่ดำเนินงานแบบรวบยอดเบ็ดเสร็จ ไม่เพียงแต่จะทำรายได้จากการขายแผ่นเพลงเท่านั้น แต่บริษัทยังกระทำเสมือนเป็นผู้จัดการที่ควบรวมหน้าที่หลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียวไม่ว่าผู้จัดคอนเสิร์ตและแมวมอง กลยุทธ์ของบริษัทแตกต่างจากวิธีการที่ Roc Nation บริษัทของ Jay Z ที่เพิ่งจะนามาใช้งานเมื่อเร็วๆ นี้ คือ YG ไม่ได้พึ่งพารายได้จากการขายแผ่นเพลงแต่เพียงอย่างเดียว เพราะรายได้ส่วนนี้คิดเป็นเพียง 25% ของรายได้รวมทั้งหมด แต่การแสดงดนตรีสดก็ทำเงินให้กับบริษัทได้มากพอๆ กัน ซึ่งโดยมากแล้วต้องยกความดีความชอบให้กับ Bigbang เช่นใน Made ซึ่งเป็นโปรแกรมทัวร์รอบโลกที่เพิ่งมีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ Bigbang โกยรายได้เฉลี่ย 2.3 ล้านเหรียญต่อเมืองเลยทีเดียว “แฟนๆ จะมาเข้าคิวหรือตั้งแคมป์รอกันรอบบริเวณงานซึ่งบางทีมากัน 24 ชั่วโมงก่อนที่การแสดงจะเริ่ม” Yongbae Cho กรรมการผู้จัดการของ Live Nation Korea ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตโปรโมเตอร์กล่าว “สำหรับศิลปินตะวันตก เราไม่คิดว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์อะไรอย่างนี้” แม้ว่า Psy จะสามารถแจ้งเกิดในระดับโลก และ Bigbang ก็ทำรายได้มหาศาล แต่หากพิจารณาเฉพาะตัวเงินแล้ว YG มองว่าดนตรี K-Pop ยังจัดเป็นอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคเสียมากกว่า รายได้ที่มาจากเกาหลีใต้คิดเป็น 40% ของรายได้รวมขณะที่รายได้จากแฟนๆ ต่างประเทศมาจากญี่ปุ่น 36% และจีน 20% ในปี 2014 LVMH ตัดสินใจลงทุน 80 ล้านเหรียญเข้าซื้อหุ้น12% ของ YG นอกจากนี้บริษัทยังอาจจะมีเงินเพิ่มเติมจากรัฐบาลเกาหลีใต้อีกด้วย โดยในเวลานี้รัฐบาลกำลังหารือกับ YG เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสถานบันเทิงมูลค่า 100 ล้านเหรียญ นอกกรุงโซล ข้อเสนอร่วมทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะก่อสร้าง Studio City แห่ง K-Pop ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้า เวทีคอนเสิร์ต และสตูดิโอบันทึกเสียง เป้าหมายต่อไปอยู่ในอเมริกาเหนือ ซึ่งอุดมไปด้วยเวทีล้ำสมัยมากมาย ผู้คนพร้อมจะจับจ่ายไม่อั้น แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีสัดส่วนยอดขายของ YG เป็นตัวเลขเพียงหลักเดียวแต่คอนเสิร์ตระดับหัวแถวล้วนแต่สามารถขายบัตรเข้าชมหมดเกลี้ยงทั้งสองฝั่งทวีป เรื่องนี้ถึงกับส่งอิทธิพลให้ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ในฮอลลีวูดต้องเข้ามาร่วมวงด้วย เช่น Scooter Braun ที่เข้ามาเซ็นสัญญากับ Psy และสมาชิกอีกคนหนึ่งของวงเกิร์ลกรุ๊ป 2NE1 (YG จะยังคงรับหน้าที่ผู้จัดการให้กับไอดอล K-Pop ทั้ง 2 คน หากเป็นธุรกิจนอกสหรัฐฯ) สำหรับ Scooter Braun เป็นผู้จัดการให้ศิลปินดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Justin Bieber นักร้องตัวพ่อที่ติดโผเซเลปท็อป 100 และ Martin Garrix ซึ่งติดโผการจัดอันดับท็อป 30 บุคคลในวัยต่ำกว่า 30 หรือ “30 Under 30” ที่น่าสนใจคือ Bigbang ทาเงินมากกว่า Garrix อยู่ไม่น้อย และเกือบจะมากเท่า Bieber เลยทีเดียว ในขณะที่หลายๆ คนอาจจะแปลกใจแต่ไม่ใช่ Yang “ผมไม่แปลกใจเลยครับที่พวกเขาประสบความสำเร็จผมมั่นใจอยู่แล้วว่าทั่วโลกจะต้องหลงรักพวกเขา” Yang กล่าว
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "การจัดอันดับ Celebrity 100" ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016