ชีวิตใหม่ของ SK Hynix บริษัทผลิตเมมโมรีชิปอันดับ 2 ในเกาหลีใต้ - Forbes Thailand

ชีวิตใหม่ของ SK Hynix บริษัทผลิตเมมโมรีชิปอันดับ 2 ในเกาหลีใต้

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Jan 2018 | 02:41 PM
READ 13446

การตั้งชื่อใหม่ พร้อมการเข้ามาของเจ้าของใหม่ กลับช่วยพลิกชะตาชีวิตบริษัทที่ประสบปัญหามาหลายต่อหลายปี อย่างบริษัทผู้ผลิตเมมโมรีชิป SK Hynix ที่โกยรายได้และผลกำไรเติบโตขึ้นตามลำดับ นับตั้งแต่ SK Group เข้าซื้อกิจการเมื่อปี 2012 จนกระทั่งในที่สุดก็สามารถเข้ามาติดโผการจัดอันดับ Forbes Asia’s Fab 50ได้เป็นครั้งแรก

SK Hynix ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1983 เพื่อเป็นเครื่องมือที่ Hyundai ใช้ตอบโต้ Samsung Electronicsต่อมาในปี 1996 บริษัทเปิดขายหุ้นให้แก่สาธารณชน ก่อนที่ Hyundai จะจับบริษัทนี้แยกตัวออกไปในปี 2001 ในเวลานั้นบริษัทยังคงมีชื่อว่า Hynix โดยตัวอักษร “Hy” มาจาก Hyundai ขณะที่ “nix” เลียนเสียงคำว่า “nics” จากคำว่า “electronics” นั่นเอง ตลอดระยะเวลา 10 ปีต่อมา สถานการณ์ทางการเงินของ SK Hynix เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย จนกระทั่ง SK Telecom ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจหลักของ SK Group เข้าซื้อหุ้น 20.5% มาจากธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของ Hynix พร้อมกับเติม SK เข้าไปข้างหน้าชื่อบริษัท ปัจจุบัน SK Hynix เป็นบริษัทผู้ผลิตเมมโมรีชิปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ แม้จะยังคงตามหลัง Samsung Electronics อยู่อีกไกล ผลประกอบการของ SK Hynix ได้รับอานิสงส์จากความต้องการเมมโมรีชิป (ผลิตภัณฑ์เดียวของบริษัท) ที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ผนวกกับสไตล์การบริหารงานเชิงรุกของทีมผู้บริหารใหม่ SK Hynix บริษัทผลิตเมมโมรีชิปที่กู้สถานการณ์กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ หลัง SK Telecom เข้าซื้อกิจการมาจาก Hyundai (Cr: businesskorea.co.kr) “SK Hynix โฉมใหม่กำลังพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะลดช่องว่างกับ Samsung ในขณะที่ Hynix เดิมเน้นพัฒนาการผลิต แต่ Hynix ใหม่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนเทคโนโลยีสำหรับหน่วยความจำเข้าถึงโดยสุ่มแบบพลวัต (D-RAM) รวมทั้งเน้นการย่อส่วนหน่วยความจำแฟลชชนิด NAND ด้วย” Ahn Ki-Hyun กรรมการบริการ Korea Semiconductor Industry Association กล่าว Ahn Ki-Hyun นั้นเคยร่วมงานในตำแหน่งวิศวกรให้กับ Hynix เมื่อตอนที่ Hyundai ถอนตัวออกจากธุรกิจเมื่อปี 2001 สำหรับ SK Hynix คาดว่าจะมีรายได้แตะ 2.52 หมื่นล้านเหรียญในปีนี้ หรือพุ่งทะยานจากปี 2012 ถึง 180% ซึ่งต้องยกความดีความชอบส่วนใหญ่ให้กับ Park Sung-Wook ประธานเจ้าที่บริหารซึ่งเริ่มงานกับ Hynix เดิมในตำแหน่งวิศวกร ก่อนจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาเรื่อยๆ และยังคงรักษาเก้าอี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นในช่วงเปลี่ยนถ่ายบริษัทไปให้แก่ SK จนกระทั่งสามารถเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่องนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยผลงานบางส่วนมาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทใน San Jose รัฐ California นั่นเอง SK Hynix มีพนักงานเกือบ 3 หมื่นคนประจำอยู่ที่โรงงานผลิต 3 แห่ง โดย 2 แห่งอยู่ใกล้ Seoul ส่วนอีกแห่งอยู่ใน Wuxi ใกล้ Shanghai บริษัทขายชิปให้กับลูกค้าชาวต่างชาติถึง 90% ส่วนมากแล้วเป็นลูกค้าในสหรัฐฯ และจีน Park Sung-Wook ซีอีโอ SK Hynix ลูกหม้อบริษัทที่ร่วมงานมาอย่างยาวนานตั้งแต่ SK Hynix ยังเป็นบริษัทในเครือ Hyundai (Cr: The Digital Times) ในเวลานี้ SK Hynix กำลังพยายามที่จะเข้าซื้อกิจการบางส่วนของ Toshiba ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปหน่วยความจำแฟลชชนิด NAND อันดับ 2 ของโลกต่อจาก Samsung และอันดับ 4 ในประเภทชิปทั้งหมดต่อจาก Samsung, SK Hynix และ Micron หาก Toshiba สามารถขายหน่วยธุรกิจเมมโมรีชิปออกไปได้นั้นก็น่าจะนำมาชดเชยผลขาดทุนมหาศาลของ Westinghouse ซึ่งเป็นบริษัทผลิตพลังงานนิวเคลียร์ในเครือได้ อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ไม่ค่อยเห็นด้วยกับกลยุทธ์ดังกล่าวสักเท่าไหร่ อย่าง James Rooneyประธาน Advanced Capital Partners ในฮ่องกง Rooney บอกว่าการที่ SK Hynix “พยายามทำสัญญากับ Toshiba” นั้นแสดงให้เห็นว่า “บริษัทจะตกอยู่ในสถานการณ์กดดันทางการเงิน หรือเบี่ยงเบนความสนใจของฝ่ายบริหาร” ซึ่งเขาเตือนว่านี่อาจจะ “ก่อให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่ในช่วงที่ตลาดกำลังทรุดตัวตามวัฏจักร” Hank Morris นักวิเคราะห์ทางการเงินประจำ Seoul เชื่อว่า เป็นความโชคดีแท้ๆ ที่ SK เข้าซื้อ Hynix ได้ถูกจังหวะ “SK เข้าซื้อธุรกิจที่เผชิญความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นช่วงที่ธุรกิจนั้นกำลังดำเนินไปด้วยดี แม้ว่าตลาดเมมโมรีชิปจะขึ้นๆ ลงๆ ในเกาหลี มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งหรอกครับที่จะมีทรัพย์สินทางการเงินมากพอที่จะซื้อกิจการ Hynix ได้ ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ต้องการให้ Samsung ได้สิทธิ์นั้น เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว Samsung จะครองส่วนแบ่งในตลาด D-RAM มากเกินไปจนสร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลได้” เรื่อง: Donald Kirk เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม
คลิกเพื่ออ่าน "การจัดอันดับ 50 สุดยอดบริษัทมหาชน Fab50 ประจำปี 2017" ฉบับเต็ม จาก Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine