การเปิดตัวโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ถือเป็นการเดินหน้าขยายเชนครั้งสำคัญในการลุยเปิดตลาดใหม่ๆ ของเครือเซ็นทาราในต่างแดนหลังยุคโควิด สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเครือที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็น 1 ใน 100 กลุ่มโรงแรมชั้นนำของโลก ด้วยการขยายเชนครอบคลุมยังทวีปต่างๆ
เสียงกลองดังกึกก้องสลับด้วยการแสดงบนเวทีที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมไทยและญี่ปุ่นได้สร้างบรรยากาศการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ในช่วงค่ำของวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ห้อง Orchid Ballroom ชั้น 3 ที่นคร Osaka ประเทศญี่ปุ่น ให้เต็มไปด้วยความชื่นมื่น ขณะที่อีกด้านของห้องก็มีอาหารไทยตั้งเรียงรายไว้ให้ลิ้มลอง ซึ่งก็ได้สร้างความประทับใจให้กับแขกอย่างมากมายโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น
แต่กระนั้นคนที่ดูจะมีความสุขมากที่สุดน่าจะเป็น สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (CENTEL) เจ้าของโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา และลูกชาย ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรดาเครือญาติ เพราะการเปิดตัวโรงแรมสัญชาติไทยของตระกูลที่ปลุกปั้นมา 40 ปีได้ปักหมุดลงในดินแดนอาทิตย์อุทัยเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญของเครือที่มีความมุ่งมั่นจะก้าวขึ้นสู่การเป็น 1 ใน 100 กลุ่มโรงแรมชั้นนำของโลก
“เรามองญี่ปุ่น (ตลาด) มาหลายปีแล้ว” ธีระยุทธบอกกับสื่อมวลชนในงานแถลงข่าววันเดียวกับการเปิดตัวโรงแรมอย่างเป็นทางการ “Osaka น่าสนใจเพราะว่าเป็นเซ็นเตอร์ที่จะไปเที่ยวเมืองอื่นๆ อย่าง Kyoto, Nara เป็นเซ็นเตอร์ที่ตอบโจทย์สำหรับชาวไทย ถ้ามองตลาดอี่นอย่างจีน เกาหลี คิดว่าความรู้สึกคงไม่แตกต่างกัน รวมถึงแหล่งช็อปปิ้งก็สะดวก”
โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า มีการลงทุนมากกว่า 9 พันล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรชาวญี่ปุ่น โดยเครือเซ็นทาราถือหุ้น 53% ขณะพันธมิตรญี่ปุ่นอีก 2 บริษัทถือหุ้นรวม 47% โดยพันธมิตรชาวญี่ปุ่นช่วยทำให้โครงการของเครือเซ็นทาราลุล่วงไปด้วยดี เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ในพื้นที่สูง ช่วยให้คำปรึกษา และให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมและพิธีการของญี่ปุ่นในแง่ของการบริหารจัดการโรงแรม คาดว่าโรงแรมแห่งนี้จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของ Osaka ในอนาคต
โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ตั้งตระหง่าน ณ ใจกลางแหล่งท่องเที่ยวย่าน Namba อันเลื่องชื่อ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเมือง Osaka ซึ่งเป็นแหล่งรวมทุกความบันเทิง ทั้งร้านอาหาร บาร์ ร้านค้า แหล่งช็อปปิ้ง และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมมากมาย โรงแรมแห่งนี้เป็นตึกสูง 33 ชั้น ให้บริการห้องพักและสวีตจำนวน 515 ห้องพัก มีห้องพักหรูหราหลากหลายประเภทให้เลือกลูกค้าเลือกตามความต้องการ โดยห้องพักทุกห้องมองเห็นวิวทิวทัศน์เมือง และมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการนั่งทำงาน รวมถึงห้องสำหรับการจัดประชุมสัมมนาอย่างห้องแกรนด์บอลรูม และพื้นที่ส่วนดาดฟ้าสำหรับการจัดงานอีเวนต์และสังสรรค์ประเภทต่างๆ
จุดที่ตั้งของโรงแรมสะดวกมากสำหรับนักท่องเที่ยวเพราะสามารถนั่งรถไฟทอดเดียวราว 45 นาทีตรงจากสนามบิน อีกทั้งการบริการโรงแรมยังนำเสนอประสบการณ์การเข้าพักและการรับประทานอาหารมาตรฐานระดับโลก ทั้งห้องอาหารและบาร์เลิศรส วิวตระการตาบนชั้นดาดฟ้า มีสปาเซ็นวารี โดยรวมโรงแรมสามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจได้อย่างลงตัว
จุดเด่นของโรงแรมที่แตกต่างจากตลาดที่นั่นก็คือ เสนอ “ความเป็นไทย” ไม่ว่าจะรูปแบบการออกแบบและการตกแต่งภายในที่ใส่กลิ่นอายของวัฒนธรรมไทยลงไป หรือรูปแบบการให้การบริการที่มีความยิ้มแย้มด้วยไมตรีจิตอบอุ่นแบบไทยๆ
โดยพนักงานญี่ปุ่นจะได้รับการอบรมอย่างเข้มข้น พร้อมกับยังจ้างพนักงานคนไทยถึง 10% จากพนักงานทั้งหมดของโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นส่วนห้องอาหาร ห้องพัก หรือสปา เพื่อให้การบริการแบบไทยๆ สมบูรณ์แบบที่สุด นอกจากนี้ จุดขายของโรงแรมที่น่าสนใจมากๆ คือ ยังมีให้บริการรถตุ๊กๆ ซึ่งไม่ค่อยเห็นในประเทศญี่ปุ่น โดยผู้เข้าพักสามารถนั่งรถตุ๊กๆ ไปรอบๆ Namba ได้
หลังการเปิดตัวโรงแรมก็ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น โดยธีระยุทธ์คาดว่า อัตราการเข้าพักของโรงแรม (occupancy rate) ในครึ่งปีหลังจะอยู่ราว 70% โดยรวมเขามองว่าตลาดสำคัญของโรงแรมคือ ลูกค้าชาวญี่ปุ่นราว 30-40% ที่เหลือก็มีจีน เกาหลี และไทย ซึ่งน่าจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน และอาจมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปบ้างในช่วงไฮซีซั่น
“ภาพรวม 70% occupancy rate 6 เดือนที่เหลือน่าจะได้ ก็พอใจนะ แต่ก็อยากได้มากกว่านี้ 6 เดือนแรกยังต้องมีอะไรต้องปรับ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนที่มาญี่ปุ่นคนข้างเยอะ ชาวญี่ปุ่นก็ค่อนข้างเยอะ เที่ยวบินก็เพิ่มมากขึ้น การบินไทยก็เพิ่มมา Osaka มีดีมานด์มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 อัตราการเข้าห้องพักที่จะดีทีเดียว ในฐานะโรงแรมที่เปิดใหม่ และอยู่ในโลเกชั่นที่ดี เรามีจุดเด่น Thai-ness มี culture” ธีระยุทธกล่าว
ทั้งนี้ในปี 2025 เมือง Osaka จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Osaka Expo ซึ่งคาดว่าโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า จะได้รับอานิสงส์กับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น
แม้โรงแรมจะเปิดได้ไม่นานแต่ธีระยุทธได้มองถึงแผนการเปิดโรงแรมแห่งที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเขาให้ความสนใจเมือง Kyoto ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น เพราะมีวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาสัมผัส โดยบอกว่า “เกียวโตน่าจะเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ 2 ที่เรา อาจจะเปิด เพราะเราเพิ่งเริ่มที่แรกและเรามองหาโรงแรมโลเกชั่นแห่งที่ 2 ว่าจะขยายธุรกิจโรงแรมของเรา”
ปัจจุบันโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทาราเป็นเครือโรงแรมชั้นนำของประเทศไทย มีโรงแรมและรีสอร์ตภายใต้การบริหารของแบรนด์ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญรวมทั้งสิ้น 93 แห่งทั่วโลก ได้แก่ ไทย มัลดีฟส์ ศรีลังกา เวียดนาม ลาว เมียนมา จีน ญี่ปุ่น โอมาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งใช้ชื่อ 6 แบรนด์ ประกอบด้วย Centara Reserve, Centara Boutique Collection, Centara Grand Hotels & Resorts, Centara Hotels & Resorts, Centra by Centara และ COSI ครอบคลุมตั้งแต่รีสอร์ตหรูบนเกาะที่เงียบสงบสำหรับครอบครัว ไปจนถึงโรงแรมไลฟ์สไตล์ในช่วงราคาที่จับต้องได้ ซึ่งผสมผสานกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการพักผ่อนที่ลงตัว
โดยเซ็นทาราเปิดตัวแบรนด์ใหม่สุดหรู “เซ็นทารา รีเซิร์ฟ” เป็นที่แรกที่สมุย ในปี 2564 เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย นำเสนอคอนเซ็ปต์ในการรังสรรค์ประสบการณ์การเข้าพักที่จะทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงการพักผ่อนอันหรูหราเหนือระดับ ทั้งยังเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำอันสุดแสนพิเศษเฉพาะตัว
เป้าหมายของเซ็นทาราคือ มุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็น 1 ใน 100 กลุ่มโรงแรมชั้นนำของโลก โดยเดินหน้าขยายสาขาไปยังทวีปและตลาดใหม่ๆ ที่ผ่านมาเซ็นทาราเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงด้วยฐานของลูกค้าที่เหนียวแน่น ผ่านการบริการที่เป็นเอกลักษณ์และการเสนอบัตรสิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิกเซ็นทารา เดอะวัน ช่วยให้สมาชิกทั่วโลกได้อภิสิทธิ์ที่เหนือกว่า ข้อเสนอสุดพิเศษและเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อเซ็นทารา
การเปิดโรงแรมในต่างแดนนั้นทางกลุ่มฯ จะพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการลงทุนด้วยตัวเองจะดูเรื่อง “ความเสี่ยง” และความคุ้มค่ากับการลงทุน เช่น ที่เมือง Osaka บริษัทตัดสินใจลงทุนเองเพราะได้มีการประเมินอย่างละเอียดและรอบคอบ ไม่ว่าจะด้านเงินทุน หรือผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งส่วนหลังนี้ก็พบว่า “ได้สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของบริษัท” และที่สำคัญคือ บริษัทได้พันธมิตรญี่ปุ่นที่ดีและแข็งแกร่งเข้าร่วม
นอกจากนี้ จุดแข็งอีกหนึ่งของตลาดญี่ปุ่นในมุมมองของ CENTEL คือ สภาพท่องเที่ยวโดยรวม “ค่อนข้างแข็งแรง” มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย ถือเป็นประเทศแรกๆ หลังเปิดประเทศที่ทุกคนอยากมาเที่ยว โดยเฉพาะคนไทย ในขณะที่ตลาดที่บริษัทยังไม่มีความมั่นใจ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศใหม่ๆ บริษัทก็อาจจะเลือกเข้าไปในรูปแบบการเข้าไปบริหาร (management contract) ในโรงแรมท้องถิ่นนั้นๆ แทน
อ่านเพิ่มเติม : รัฐการ จูตะเสน นำทัพ Ford ไต่อันดับผู้นำกระบะ-พีพีวี