จิตวิญญาณแห่งการดูแลของ Keiichi Shibahara ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Amvis ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่น - Forbes Thailand

จิตวิญญาณแห่งการดูแลของ Keiichi Shibahara ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Amvis ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่น

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Jan 2023 | 08:00 PM
READ 3546

Keiichi Shibahara เติบโตจากการหาเงินเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการซื้อมาขายไปในตลาดไวน์ สู่การสร้าง Amvis บริษัทศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีมูลค่ามากที่สุดในญี่ปุ่น


    สมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 Keiichi Shibahara ได้เรียนรู้ถึงรสนิยมชั้นเลิศในการเลือกสรรไวน์ควบคู่ไปกับการเป็นเจ้าของกิจการ เขาสร้างเนื้อสร้างตัวจากการซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศและเก็งกำไรหุ้นแบบรายวันพร้อมทั้งซื้อขายไวน์ไปด้วย โดยนำเงินทุนการศึกษามาทุ่มลงทุนเกือบหมด 7,700 เหรียญสหรัฐฯ Shibahara เล่าว่า เขาประมูลไวน์ Bordeaux ได้มาหลายลัง ดื่มไปขวด 2 ขวดและส่งที่เหลือกลับญี่ปุ่นไปขายในราคาสูงกว่าทุน 3 เท่า ซึ่งทำให้เขาได้เงินทุนมาเริ่มต้นธุรกิจมากถึง 200 ล้านเยน (1.5 ล้านเหรียญ) ภายในเวลาประมาณ 1 ปี

    เมื่อกลับมาที่ญี่ปุ่นเขาได้ปริญญาแพทยศาสตร์จาก Nagoya University ที่บ้านเกิดและจบปริญญาเอก สาขาชีวโมเลกุลจาก Kyoto University จากนั้นได้เข้าทำงานเป็นนักวิจัยด้านชีวโมเลกุล และภูมิคุ้มกันวิทยาที่ Kyoto University ได้คุมทีมวิจัยเป็นของตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิจัยระดับชาติ เขามีความฝันที่จะได้ค้นพบอะไรบางอย่างทางวิทยาศาสตร์และถูกกล่าวถึงในตำราเรียนเล่มแล้วเล่มเล่า

    เมื่อเวลาผ่านไป Shibahara เริ่มมีความฝันอย่างอื่นที่ปลุกสัญชาตญาณผู้ประกอบการกับภูมิหลังด้านการแพทย์ในตัว เขาเริ่มเข้าฟื้นฟูกิจการโรงพยาบาลและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาด้านการเงิน 

    และในปี 2013 เมื่ออายุได้ 48 ปี จึงเปิดตัวบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อสร้างและดำเนินกิจการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยจะได้รับการพัฒนาเท่าไรนักในญี่ปุ่น ทั้งที่เป็นประเทศซึ่งมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเป็นจำนวนมาก เขาตั้งชื่อบริษัทว่า Amvis ที่ย่อคำมาจาก ambitious vision หรือวิสัยทัศน์อันก้าวไกล

Keiichi Shibahara ผู้ก่อตั้ง Amvis


    “ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมตระหนักว่า ถ้าที่ใดมีความต้องการคุณก็เปลี่ยนมันเป็นธุรกิจได้ แล้วยังสนุกกับมันได้ด้วย” เขากล่าว ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทที่ Tokyo ซึ่งตกแต่งไว้อย่างเรียบง่าย มีเพียงป้ายสัญลักษณ์ Amvis ติดอยู่บนผนังในส่วนต้อนรับเท่านั้น

    ในปี 2019 เมื่อตั้งศูนย์ดูแลได้ 20 แห่ง และมีชื่อเสียงด้านการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังรวมถึงผู้ป่วยระยะสุดท้าย Amvis Holdings เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo ระหว่างปลายปี 2019-2021 มูลค่าหุ้นของบริษัทนี้พุ่งขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว ส่งให้ Shibahara ซึ่งถือหุ้นอยู่กว่า 70% ขยับขึ้นไปเป็นหนึ่งในเศรษฐีพันล้านผู้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยน้ำมือตัวเองอีกคนหนึ่งของญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2021 ทรัพย์สินสุทธิของเขาเพิ่มขึ้น 35% เป็น 1.35 พันล้านเหรียญ โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดรองจากเขาคือ บริษัท Capital Research and Management จาก Los Angeles ซึ่งถือหุ้นเพิ่มจากเดิม 6.6% เป็น 7.8% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 แต่ทางบริษัทปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในบทความนี้

    Shibahara กล่าวว่า ในช่วงที่โรงพยาบาลต่างๆ พยายามเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ตอนนั้นพวกเขาเริ่มตระหนักว่า Amvis สามารถแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ได้ แผนยุทธศาสตร์สำหรับปี 2025-2026 ของ Amvis ซึ่งเปิดเผยออกมาในช่วงปลายปี 2020 ตั้งเป้าจะทำกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มให้ได้มากกว่าเท่าตัวเป็น 1 หมื่นล้านเยน (77 ล้านเหรียญ) และเปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุให้ได้ 100 แห่ง จากปัจจุบันที่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เป็นหลัก (ข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน ปี 2021) และทางบริษัทยังต้องการเพิ่มรายได้ถึง 3 เท่า เป็น 4.5 หมื่นล้านเยนอีกด้วย

    Shibahara กล่าวว่า Amvis กำลังขยายกิจการไปยังเมืองเล็กๆ ที่จะทำให้ทางบริษัทกลายเป็นผู้ให้บริการหลักและมีอัตราการเข้าพักอาศัยสูง ขณะที่ Tetsuya Nakagawa ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินอธิบายว่า การจ่ายเงินประกันในญี่ปุ่นแต่ละพื้นที่มีความต่างกันไม่มาก ทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้มากกว่าในพื้นที่ชนบทและเมืองเล็กๆ ซึ่งมีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า

    ในรอบปีการเงินจนถึงเดือนกันยายน ปี 2021 Amvis มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานเกือบ 25% และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 24% แซงหน้าบริษัทคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Japan Hospice Holdings ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo เช่นกัน ข้อมูลจาก S&P Global Market Intelligence ชี้ว่าบริษัทนี้มีอัตรากำไรราว 10% และ ROE ประมาณ 17% ตลอดปีงบประมาณจนถึงเดือนธันวาคม

    ข้อมูลจากบทวิเคราะห์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาของ Satoru Sekine นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ Daiwa Securities ประเมินไว้ว่า หุ้นของ Amvis ซึ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหุ้นโดยรวมอาจมีราคาพุ่งสูงถึง 5,000 เยนในปี 2023 สูงกว่าราคาปัจจุบันประมาณ 20%



- แนวการวางแผนขยับขยายกิจการ - 

    หลังปี 2026 ทางบริษัทวางแผนจะขยับขยายไปสู่กิจการฟื้นฟูโรงพยาบาลและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาด้านการเงิน ซึ่งเป็นแนวทางธุรกิจที่ Shibahara ติดอกติดใจจากที่เขาเคยฟื้นฟูกิจการเหล่านี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการเลิกทำงานวิจัยและเริ่มหันมาก่อตั้ง Amvis ในปี 2013 เขานำกำไรส่วนหนึ่งจากการขายกิจการเหล่านั้นมาใช้เป็นเงินทุน ประกอบกับเงินกู้ที่ใช้เงินในบัญชีธนาคารกับเงินสดของตัวเองไปค้ำประกัน ทำให้เขาเป็นเจ้าของบริษัทได้เต็ม 100% ก่อนจะเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เพียงไม่นาน

    ความเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรและสังคมของญี่ปุ่นช่วยเสริมให้แผนการขยายธุรกิจในระยะยาวของ Amvis มั่นคงยิ่งขึ้น จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นหมายถึงอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น แม้จำนวนประชากรญี่ปุ่นจะลดลงก็ตาม 

    ข้อมูลจาก OECD ชี้ว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีสัดส่วนผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 29% ซึ่งถือเป็นอัตราที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมด ส่วนกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า อัตราการเสียชีวิตรายปีจะเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็น 1.7 ล้านคนในปี 2040 จากปัจจุบันที่มีผู้เสียชีวิตปีละ 1.4 ล้านคน โดยจำนวนคนที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลและบ้านกำลังลดน้อยลง เพราะมีผู้สูงวัยจำนวนมากขึ้นที่ไปจบชีวิตลงในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแทน

    นอกจากนี้ จำนวนคนที่ขอไม่รับการรักษาใดๆ นอกเหนือจากการดูแลแบบประคับประคองหากเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายก็มีมากขึ้น ญี่ปุ่นเองประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและยังมีสถานที่สำหรับให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้ใช้เวลาในห้วงสุดท้ายของชีวิตไม่เพียงพอ ทำให้บางส่วนต้องเลือกอยู่ในโรงพยาบาล ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลมากถึงขั้นนั้น ซึ่งเป็นทางเลือกที่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายทั้งทางด้านสาธารณสุขและยังเพิ่มภาระงานแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีภารกิจล้นมืออยู่ก่อนแล้วด้วย

    “ประเทศญี่ปุ่นดูแลคนที่กำลังเตรียมตัวเตรียมใจจะลาจากโลกนี้ไปได้ไม่ดีพอ” นายแพทย์ Yoshiaki Mizuguchi แพทย์เยี่ยมไข้ที่ศูนย์ดูแลของ Amvis ในย่านใจกลางกรุง Tokyo กล่าว “ที่นี่เน้นการรักษาด้วยการผ่าตัดและให้ยาต่างๆ ซึ่งเงินงบประมาณจำนวนมากทุ่มลงไปตรงนั้นและเหลือมาถึงคนที่เข้าใกล้วาระสุดท้ายของชีวิตเพียงน้อยนิด” 

    โดยในมุมมองของ Mizuguchi “เราต้องเห็นอกเห็นใจและดูแลพวกเขาให้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ผมย้ายสาขาจากศัลยศาสตร์ (มะเร็งวิทยา) มาเป็นแพทย์ที่ให้การดูแลตามบ้านเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับบรรดาคนที่ไม่ได้รับการใส่ใจอย่างที่ควร”

    เพื่อควบคุมรายจ่าย Amvis ใช้วิธีให้แพทย์อย่าง Mizuguchi เข้าเยี่ยมดูแลผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1-3 ครั้งตามอาการ แทนที่จะต้องใช้แพทย์ประจำ ซึ่ง Shibahara ได้แนวคิดนี้มาจากช่วงที่เขาเคยทำงานพาร์ตไทม์เป็นแพทย์ที่ไปออกตรวจนอกสถานที่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งแถบชนบท โดยที่ Amvis มีอัตราส่วนพยาบาลและผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้สูงวัยต่อจำนวนผู้ป่วยคือ 1 ต่อ 1 ซึ่งถือว่าสูงกว่ามาตรฐาน 

    ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากเงินประกันสุขภาพและการดูแลผู้สูงวัยของภาครัฐถึง 90% ส่วนที่เหลือมาจากเงินค่าธรรมเนียมการพักอาศัยในศูนย์ดูแลที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเอง ซึ่งอาจสูงถึงเดือนละ 200,000 เยนเป็นอย่างน้อย (Sekine จากบริษัทหลักทรัพย์ Daiwa ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การพึ่งพาเงินประกันในอัตราส่วนที่สูงเช่นนี้เป็นความเสี่ยงข้อหนึ่งของ Amvis เพราะญี่ปุ่นอาจจะทบทวนการบริหารงานเชิงโครงสร้างและเปลี่ยนแปลงนโยบายการจ่ายเงินประกันขึ้นมาก็เป็นได้)



    อีกวิธีหนึ่งที่ Amvis ใช้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจคือ การทำโครงสร้างองค์กรแนวราบ โดยมีสำนักงานใหญ่เป็นฝ่ายบริหารจัดการศูนย์ดูแลต่างๆ โดยตรง Shibahara กล่าวว่า การลดจำนวนแบบนี้ช่วยเพิ่มอัตรากำไรจากการดำเนินงานได้ถึง 2%

    ข้อดีอื่นๆ ของโครงสร้างองค์กรที่ดีแบบนี้คือ ความพึงพอใจของพนักงานและการที่พวกเขาได้มีโอกาสคิดตัดสินใจในสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงที่ญี่ปุ่นเผชิญการขาดแคลนพยาบาลอย่างรุนแรง และโรงพยาบาลต่างๆ ประสบปัญหาในการเหนี่ยวรั้งคนทำงานเหล่านี้เอาไว้ 

    “ฉันสามารถทำตามคำขอและดูแลความต้องการของผู้ป่วยกับญาติๆ ได้อย่างคล่องตัว” Minako Yasuda ที่ดูแลศูนย์ใน Tokyo ซึ่งมีผู้ป่วยอยู่ 40 คนกล่าว ศูนย์แห่งนี้หน้าตาออกจะเหมือนโรงแรมมากกว่าโรงพยาบาล เพราะทั้งปูพรมและตกแต่งผนังไว้อย่างดี “แต่ก่อนนี้ทั้งๆ ที่เป็นหัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาล ถ้าฉันอยากจะเปลี่ยนอะไรขึ้นมาเรื่องมักจะไปติดอยู่ที่ส่วนบริหารระดับกลาง ซึ่งในฐานะพยาบาลการช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับในสิ่งที่ต้องการเป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานเต็มไปด้วยความสุข” เธอกล่าว

    Shibahara มีเป้าหมายทั้งของบริษัทและของตัวเอง สำหรับ Amvis เขาอยากขยายกิจการให้บริษัทมีสภาพคล่องทั้งทางหลักทรัพย์และเงินทุนเอื้อต่อการเติบโต รวมทั้งขยับขึ้นไปเป็นหุ้นบริษัทชั้นดีในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo

    ส่วนเป้าหมายของตัวเอง แม้ว่าเขาจะเลิกฝันถึงการเป็นผู้ค้นพบอะไรบางอย่างทางวิทยาศาสตร์ แต่เขายังคงหวังว่าจะได้มีโอกาสให้ทุนสนับสนุนบรรดานักวิทยาศาสตร์และงานวิจัยต่างๆ โดยเมื่อปี 2020 Shibahara จัดตั้งมูลนิธิขึ้นในชื่อของตัวเองพร้อมตั้งเป้าว่า สักวันหนึ่งจะพัฒนาให้กลายเป็นสถาบันทางการแพทย์เหมือนอย่าง Howard Hughes Medical Institute ซึ่งมีทรัพย์สินถึง 2.7 หมื่นล้านเหรียญ 

    นอกจากนี้ การให้ทุนสนับสนุนสถาบันวิจัยหรือวิทยาลัยก็เป็นความฝันอีกอย่างหนึ่ง “แน่นอนว่าเรื่องนี้ขึ้นกับการสร้างเนื้อสร้างตัวของผมให้มีทรัพย์สินมากเพียงพอ” เขากล่าว การส่งเสริมให้ใครสักคนพัฒนาหรือค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ “ย่อมทำให้ผมมีความสุขอย่างแท้จริง” และด้วยไวน์ Bordeaux ราว 500 ขวดกับ Cheval Blanc ระดับตำนานอีก 3 ขวด เขาจึงมีอีกเป้าหมายหนึ่ง...ดื่มให้เกลี้ยง


เรื่อง: JAMES SIMMS เรียบเรียง: วินิจฐา จิตร์กรี ภาพ: SHUNICHI ODA

อ่านเพิ่มเติม:

>> พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี “Anitech” เชื่อมมิติดิจิทัลไลฟ์สไตล์

>> ทำเงินจากความเสี่ยงฉบับ "David Berns" และ "Paul Kim"


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine