Pollo Campero ก่อร่างสร้างรังแบรนด์ดังจากกัวเตมาลา - Forbes Thailand

Pollo Campero ก่อร่างสร้างรังแบรนด์ดังจากกัวเตมาลา

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Apr 2024 | 09:00 AM
READ 2215

ตลอดระยะเวลากว่า 103 ปี สมาชิกครอบครัว 3 รุ่นร่วมกันสร้าง CMI จนกลายเป็นอาณาจักรอาหารขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของลาตินอเมริกา มาถึงวันนี้ Pollo Campero มีเป้าหมายที่จะขยายสาขาร้านให้ครอบคลุมทั่วสหรัฐฯ


    มาสคอตรูปไก่สีเหลืองชื่อ “Pollito” (ภาษาสเปนแปลว่า ลูกไก่น้อย) สวมหมวกปีกกว้างสีสนิม แต่งชุดหัวหน้าพ่อครัวสีขาว พร้อมด้วยผ้าผูกคอเดินลงมายัง Times Square และเริ่มโบกมือทักทายผู้คนที่เดินผ่านไปมาก่อนมุ่งหน้าสู่ Port Authority และ Herald Square ที่ซึ่ง Pollo Campero อาณาจักรอาหารจานด่วนจากกัวเตมาลามาเปิดสาขาแรกๆ ใน Manhattan ภายในร้านเต็มไปด้วยครอบครัวที่พูดภาษาสเปน (รวมถึงผู้อพยพจากอเมริกากลาง) รำลึกถึงวันวาน ขณะเต็มอิ่มไปกับเอมปานาดาและอกไก่ชุบเกล็ดขนมปังทอดจากสูตรประจำตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น 



    Corporacion Multi-Inversiones (CMI) บริษัทแม่อายุ 103 ปีของ Pollo Campero เติบโตอย่างเงียบๆ จนกลายเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในลาตินอเมริกา Forbes ประเมินว่า ทรัพย์สินของตระกูลจากกัวเตมาลาผู้เป็นเจ้าของนั้นมีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เวลานี้ CMI พร้อมแล้วที่จะแสดงตนให้เป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ โดยอาศัยความหลงใหลไก่ทอดจานด่วนของชาวอเมริกันขับเคลื่อนการเติบโตที่เดิมก็น่าประทับใจอยู่แล้ว

    “ผมพูดเสมอว่า เราไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่” Juan Jose Gutierrez ประธานกรรมการ CMI Foods วัย 65 ปีใ ห้สัมภาษณ์เป็นภาษาสเปน ณ สำนักงานใหญ่ของ CMI ใน Zona 10 ย่านไฮเอนด์อันร่มรื่นใน Guatemala City เขาคือผู้นำกิจการครอบครัวในรุ่นที่ 3 “เราเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่”

    CMI เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เอามากๆ และเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกัวเตมาลา โดยมีการจ้างงานกว่า 40,000 คนทั่วโลก Gutierrez บอกว่า CMI ทำรายได้แตะ 4 พันล้านเหรียญในปี 2022 หากนับเฉพาะในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาก็นับว่าโตถึง 3 เท่าตัว เขาคาดการณ์ว่า CMI น่าจะทำยอดขายได้ถึง 6 พันล้านเหรียญในปี 2023 ในแต่ละสัปดาห์อาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้แปรรูปไก่กว่า 4 ล้านตัว และจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ต่างๆ หลายสิบแบรนด์ด้วยกัน ตั้งแต่แป้งไปจนถึงพาสต้า คุกกี้ และอาหารสัตว์เลี้ยง 



    นอกจาก Pollo Campero (ปี 2022 มียอดขาย 684 ล้านเหรียญจากเกือบ 400 สาขา) CMI ยังเป็นเจ้าของเครือข่ายอาหารจานด่วนอีก 3 แห่งคือ Pollolandia, Don Pollo และ Pizza Siciliana มีสาขารวมกันกว่า 1,500 สาขาทั่วทั้งลาตินอเมริกา ส่วนกิจการลำดับที่ 2 ของครอบครัวคือ CMI Capital มี Juan Luis Bosch ลูกพี่ลูกน้องของ Gutierrez ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ประกอบกิจการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาดในอเมริกากลาง รวมถึงลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และในปี 2021 มีการออกตราสารหนี้สีเขียวคิดเป็นมูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่ส่วนใหญ่ CMI ยังไม่ได้เข้าไปสัมผัส โดยมีสาขาของ Pollo Campero เพียง 85 แห่งจนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา แต่จะมีอะไรที่ดีไปกว่าการเจาะตลาดสหรัฐฯ ผ่านกิจการอันร้อนฉ่า 2 ประเภทนี้กันเล่า 

    ในปี 2022 CMI ประกาศแผนลงทุนราว 1.8 พันล้านเหรียญสำหรับขยายกิจการในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า โดยจะแบ่ง 1 พันล้านเหรียญให้กับ CMI Foods และอีกเกือบ 20% ของส่วนที่เหลือให้กับ CamperoUSA บริษัทย่อยของครอบครัวซึ่งเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการร้านอาหารต่างๆ ในสหรัฐฯ โดยมีฐานอยู่ที่ Dallas ภายในปี 2024 Pollo Campero มีแผนจะเปิดสาขาให้ได้เกือบ 40 แห่ง เพื่อรวมแล้วให้ได้กว่า 100 สาขา จากนั้นจึงจะเร่งขยายกิจการ โดยมีเป้าหมายที่ 250 สาขาภายในปี 2026 ซึ่งรวมถึงการขยายสาขาแฟรนไชส์ด้วย

qจนถึงเวลานี้ร้านอาหาร Pollo Campero ของสหรัฐฯ มียอดขายเฉลี่ยปีละประมาณ 2.8 พันล้านเหรียญ จัดอยู่ในระดับเดียวกับยอดขายเฉลี่ยของ McDonald’s และสูงกว่าแบรนด์อาหารจานด่วนอื่นๆ อย่าง Taco Bell, Wendy’s หรือ Burger King (เฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านเหรียญ) อย่างเทียบไม่ติด แต่ยังคงเกินครึ่งหนึ่งของยอดขายสุดอลังการ 5 ล้านเหรียญต่อสาขาที่ Chick-fil-A ภูมิใจเสนอมาเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามสถานการณ์อาจเปลี่ยนไป เพราะ CMI ตั้งเป้าหมายรุกย่านที่พลุกพล่านยิ่งกว่าเดิม “ทำเลที่กำลังจะเปิดสาขาใหม่ล้วนเป็นพื้นที่สำคัญ” Gutierrez โดยยกตัวอย่างสาขาที่กำลังก่อสร้างเช่นที่สถานี Penn Station ปรับปรุงใหม่ใน New York หรือที่ Fisherman Wharf ใน San Francisco และที่ Florida Mall ใน Orlando “ผมว่าเราเพิ่งจะเริ่มต้นเอง”

    เมื่อถามว่า ครอบครัวของเขาจะมีโอกาสได้ขายกิจการหรือไม่ Gutierrez หัวเราะและตอบว่า “การขายกิจการก็คงเหมือนขายลูกออกไปสักคน เราหวังว่าในอีก 100 ปีข้างหน้าก็จะยังคงเป็นกิจการของครอบครัวต่อไป” 



เรื่อง: JONATHAN PONCIANO เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพ: TREVOR PAULHUS 



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Jensen Huang แนะนำ “จงดื่มด่ำกับความเจ็บปวด” ก่อนลิ้มรสชาติความสำเร็จ

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine