ปฏิเสธไม่ได้ว่า Jensen Huang คือหนึ่งในนักธุรกิจคนสำคัญแห่งยุคนี้ ยิ่งเมื่อเทรนด์ปัญญาประดิษฐ์ดันให้อุตสาหกรรมผลิตชิปเฟื่องฟู พามูลค่าบริษัท Nvidia เพิ่มขึ้นมหาศาล ซึ่งล่าสุด Jensen Huang ก็ได้แบ่งปันแนวทางสู่ความสำเร็จอันแสนเรียบง่าย นั่นคือ “ความเจ็บปวด”
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา ซีอีโอแห่ง Nvidia ได้ไปร่วมพูดคุยกับเหล่านักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนจบมา ณ งาน 2024 SIEPR Economic Summit และเผยว่า
“ความยิ่งใหญ่ไม่ใช่ความฉลาด ความยิ่งใหญ่มาจากบุคลิกภาพ และบุคลิกภาพก็ไม่ได้กำเนิดจากคนฉลาด แต่กำเนิดจากคนที่เจ็บปวด” นี่คือคำตอบของ Huang หลังจากบรรดานักศึกษาได้ถามเขาว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพของตนเองเพื่อไขว่คว้าความสำเร็จได้อย่างไร
การไขว่คว้าสำเร็จคือสิ่งที่ Huang รู้ดียิ่งกว่าใคร โดยในปี 1993 เขาร่วมก่อตั้งบริษัทชิปคอมพิวเตอร์ Nvidia ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งซีอีโอมานานกว่า 30 ปี ความสำเร็จของบริษัทพา Huang ทะยานสู่การเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน
ณ ปัจจุบันนี้ความต้องการชิปก็พุ่งสูงสืบเนื่องจากความต้องการพัฒนาซอฟต์แวร์ AI จน Nvidia กลับกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดของโลกด้วยมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
กระทั่งตัว Huang เองก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่มั่งคั่งที่สุดในโลก โดย Bloomberg ประเมินมูลค่าทรัพย์สินของเขาไว้ที่ราว 7.76 หมื่นล้านเหรียญ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2024
สำหรับ Huang แล้ว หนึ่งคุณลักษณะที่มีแนวโน้มพาให้ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้คือ ความสามารถในการฟื้นตัว ซึ่งเขาก็ได้อธิบายเรื่องนี้แก่บรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
คาดหวังสูง ฟื้นตัวช้า สัญญาณอันตราย
“หนึ่งในข้อได้เปรียบสูงสุดของผมคือ ผมมีความคาดหวังน้อย” Huang อธิบายว่าบัณฑิตจากสแตนฟอร์ดมักมีความคาดหวังสูง อันเป็นผลจากเกียรติยศศักดิ์ศรีทางการศึกษา
“ผู้ที่มีความคาดหวังสูงมักฟื้นตัวได้ช้า” เพราะคนพวกนี้ไม่คุ้นชินหรือเตรียมตัวเผชิญความล้มเหลว “โชคร้ายที่ความสามารถในการฟื้นตัวจำเป็นต่อความสำเร็จ ผมไม่รู้ว่าจะสอนพวกคุณอย่างไร นอกเสียจากหวังว่าพวกคุณจะได้พบเจอกับความเจ็บปวด”
ความสามารถในการฟื้นตัวคือกุญแจสำคัญที่จะกำหนดความสำเร็จในอนาคต โดยเหล่านักจิตวิทยาทั้งหลายก็ค่อนข้างเห็นด้วย มีงานวิจัยเผยว่าคนที่มีความสามารถในการฟื้นตัวมีแนวโน้มที่จะเข้มแข็งและมั่นใจในการรับมือความท้าทายมากกว่า เมื่อล้มก็มีโอกาสลุกได้สูง
Huang เองก็เคยต้องดิ้นรนในช่วงที่เพิ่งก่อตั้งบริษัทใหม่ๆ ในปี 1996 นั้น Nvidia เคยเกือบต้องเลิกกิจการเพราะต้องแข่งขันกับผู้ผลิตชิปรายอื่นๆ ทำให้ Huang ต้องปลดพนักงานออกเกินครึ่ง
Huang เคยบอกกับ Fortune ในปี 2001 ว่าประสบการณ์ในครั้งนั้นสอนเขาให้ “ไปฝึกอ่านตลาดและความต้องการของลูกค้าให้ชำนาญกว่านี้” ซึ่งหมายถึงการโละเทคโนโลยีเก่าของบริษัททิ้ง และเดิมพันกับชิปโมเดลใหม่ที่ท้ายสุดก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่
“จนถึงทุกวันนี้ ผมยึดคติ ‘บาดแผลและความเจ็บปวด’ กับการทำงานในบริษัทด้วยความยินดีเชียวล่ะ” เขาบอกกับนักศึกษาสแตนฟอร์ด “ผมหมายถึงในทางที่ดีมีความสุขนะ เพราะการที่คุณจะขัดเกลาบุคลิกภาพของบริษัท คุณย่อมต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด”
สร้างภูมิต้านทานความล้มเหลว
Huang ชี้ว่า การมีความคาดหวังน้อยสามารถช่วยให้คุณเตรียมพร้อมเผชิญความท้าทายอันยากจะหลีกเลี่ยงในอนาคต เพราะหากคาดหวังเพียงว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างราบรื่นนั้น เมื่อคุณพบกับอุปสรรคย่อมตกใจได้ง่าย ด้วยเหตุนั้น Huang จึงยังคงกังวลตลอดว่า Nvidia อาจล้มลงเมื่อไหร่ก็ได้ แม้ยามนี้จะประสบความสำเร็จมหาศาลก็ตาม
เขาเชื่อด้วยว่าผู้นำที่ดีต้องคอยคำนึงอยู่เสมอว่า บริษัทกำลังเข้าใกล้ความพินาศมากแค่ไหน “หากคุณไม่ทำตัวให้คุ้นเคยกับความรู้สึกแบบนั้นละก็ คุณได้เลิกกิจการจริงๆ แน่” เขาเผยแก่ Columbia Business School ในเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา
Huang ยังเคยบอกแก่นักศึกษาสแตนฟอร์ดในปี 2011 ว่าการระลึกถึงความเป็นไปได้ที่จะล้มเหลวสามารถช่วยสร้าง “ภูมิต้านทานความล้มเหลว” ซึ่งในท้ายที่สุดจะทำให้คุณสามารถปล่อยวางความกลัวที่จะผิดพลาดซึ่งคอยรั้งคุณจากความสำเร็จ
“หากไม่มีภูมิต้านทานความล้มเหลว คุณก็จะไม่ได้ทดลอง และหากไม่เคยได้ทดลอง คุณก็ไม่อาจเริ่มสร้างสิ่งใดขึ้นมาได้” คือคำพูดของเขาเมื่อตอนนั้น “หากคุณไม่เริ่มสร้างสิ่งใดขึ้นมา คุณก็จะไม่มีวันทำสำเร็จ”
ส่วนในงาน 2024 SIEPR Economic Summit เมื่อ 7 มีนาคมที่ผ่านมา Huang ยังบอกบรรดานักศึกษาสแตนฟอร์ดว่า เขาหวังให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ต่อสู้เพื่อสร้างบุคลิกภาพของตัวเอง
“แด่นักศึกษาสแตนฟอร์ดทุกคน ผมขอให้พวกคุณจงดื่มด่ำกับบาดแผลและความเจ็บปวด”
แปลและเรียบเรียงจาก Success requires ‘ample doses of pain,’ billionaire Nvidia CEO tells Stanford students: ‘I hope suffering happens to you’
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “โฟกัสไอเดีย ไม่ใช่ต้นทุน” คำแนะนำทำธุรกิจจาก Richard Branson เจ้าของบริษัทกว่า 400 แห่งทั่วโลก
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine