Google ไม่ใช้ AI สร้างอาวุธ แต่กลับเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพด้านสงคราม - Forbes Thailand

Google ไม่ใช้ AI สร้างอาวุธ แต่กลับเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพด้านสงคราม

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Jan 2021 | 07:30 PM
READ 4918

ในเดือนมิถุนายน 2018 Sundar Pichai ซีอีโอ Google ได้ให้คำมั่นสัญญาบนบล็อก ‘AI at Google: our principles’ ว่า Google จะหลีกเลี่ยงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้าง “อาวุธหรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเสียหายโดยตรงแก่ประชาชน”

Google
Sundar Pichai ซีอีโอ Alphabet และ Google
อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัทกลับต้องเผชิญหน้ากับข้อเรียกร้องจากพนักงานกว่า 3 พันคน ที่คัดค้านความร่วมมือของบริษัทกับกระทรวงกลาโหมในโครงการ Maven ซึ่งเป็นการนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์รูปถ่ายจากโดรน เพื่อระบุตัวตนของคนและวัตถุได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยโครงการนี้มีมูลค่าราว 250 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับ Google ที่ 15 ล้านเหรียญ เป็นระยะเวลา 18 เดือนด้วยกัน โดยในจดหมายเปิดผนึกของพนักงาน Google มีข้อเรียกร้องหลักๆ อยู่ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ยกเลิกสัญญากับกระทรวงกลาโหมในโครงการ Mavn สอง ให้คำมั่นว่าจะไม่พัฒนาเทคโนโลยีทางทหาร และจะไม่อนุญาตให้รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อใช้ในการปฏิบัติการทางทหาร และสามสัญญาว่าจะไม่เข้าร่วมพัฒนาหรือสนับสนุน ค้า หรือ ผลิต อาวุธอัตโนมัติและสนับสนุนการคว่ำบาตรอาวุธอัตโนมัติ “พวกเราเชื่อว่า Google ไม่ควรจะกลายเป็นธุรกิจแห่งสงคราม” หลังจากที่มีการเรียกร้องและลาออกของพนักงาน Google ทางผู้บริหารได้ตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าวโดยการ ไม่ต่อสัญญากับโครงการ Maven เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงในปี 2019 แม้ Pichai จะให้สัญญาว่า AI ของ Google จะไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงบริษัทแม่ของ Google อย่าง Alphabet โดยในช่วงปลายปี 2019 Pichai ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Alphabet ควบคู่กับการดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Google ซึ่ง ณ เวลานั้น ทั้ง Google และ Google Ventures (GV) ซึ่งเป็นกองทุนการลงทุนต่างมีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจแห่งสงครามอย่างชัดเจน GV ในฐานะกองทุนสนับสนุนบริษัทเกิดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตแต่ยังขาดเงินทุน ได้แยกตัวออกมาจาก Google ในปี 2009 โดยบนเว็บไซต์ของ GV ระบุว่า “GV เป็นกองทุนการลงทุนของ Alphabet ที่เป็นอิสระและแสวงหาผลตอบแทน” (ซึ่งทาง GV และ Pichai ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว) ปัจจุบัน ทั้ง Google และ GV ต่างลงทุนในบริษัทจัดหาอาวุธทางการทหาร โดยในปี 2016 GV ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท Orbital Insight ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Palo-Alto ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่เชี่ยวชาญในการระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์  ขณะที่ในปี 2017 Google ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Planet ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ San Francisco ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัทลงนามในสัญญาร่วมกับกระทรวงกลาโหม ที่มีมูลค่าโครงการอย่างน้อย 30.5 ล้านเหรียญ และสำนักงานข่าวกรองในโปรเจคที่กล่าวได้ว่า “สามารถสร้างความเสียหายโดยตรงแก่ประชาชน” บริษัท Orbital ก่อตั้งโดย James Crawford อดีตผู้อำนวยการ Google Books ด้วยวัตถุประสงค์ในการนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียม วิดีโอจากโดรน และข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งจากสมาร์ทโฟน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 800 ล้านเครื่องทั่วโลก เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนว่ามีลักษณะทางภูมิศาสตร์ใดบ้างบนพื้นผิวโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความสำคัญต่อมนุษยชาติอย่างไร ซึ่งข้อมูลประเภทนี้สามารถนำไปต่อยอดได้อย่างมากมาย อาทิเช่น การตรวจจับพิกัดฐานทดสอบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ หรือค่ายปฏิบัติการของกลุ่มตาลีบัน  เช่นเดียวกับการนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงสันติ อาทิเช่น การควบคุมปริมาณป่าไม้ในป่าแอมะซอน และวัดระดับน้ำท่วมขังในสลัม โดยอาศัยข้อมูลภาพถ่ายทางดาวเทียมจากหลายหลายบริษัท อาทิเช่น Planet ที่ Google ได้เข้าไปลงทุน ด้านบริษัท Planet ก่อตั้งโดยวิศวกร NASA มีภาพถ่ายทางดาวเทียมในครอบครองมากกว่า 150 รูป ซึ่งนับว่ามากที่สุดในโลก โดยจุดเด่นของ Planet อยู่ที่ความสามารถในการส่งดาวเทียมขนาดเล็กไปโคจรในอวกาศได้อย่างรวดเร็วที่สุดในต้นทุนถูกที่สุด 
Google
(ซ้าย) ดาวเทียม NASA Landsat 8 (ขวา) ดาวเทียม Planet Labs Dove
โดยดาวเทียมที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ดาวเทียม Doves ที่มีขนาดเท่ากับก้อนขนมปัง และดาวเทียม Skysat ที่มีขนาดเท่าตู้เย็นขนาดเล็ก แต่กลับให้ภาพที่คมชัดมาก  ล่าสุด Pitchbook หนังสือแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัท ระบุว่า สตาร์ทอัพแห่งนี้มีมูลค่าราว 1.8 พันล้านเหรียญในการระดมทุมเมื่อปี 2018 และไม่นานหลังจากนั้น Google ได้ข้าถือหุ้นร้อยละ 16 ของบริษัท หลังจากที่ขายบริษัทลูกอย่าง Terra Bella ให้กับ Planet ไปเมื่อปี 2017 ภายใต้สัญญาที่ว่า Google จะยังคงได้สิทธิในภาพถ่ายดาวเทียมสำหรับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแผนที่ของ Google ขณะนี้ ทั้ง Orbital และ Planet ต่างร่วมงานกับกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ และหน่วยงานข่าวกรองหลายสำนัก โดย Planet ได้ลงนามในสัญญาร่วมกับ 3 สำนักงานข่าวกรองภายใต้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อย่างสำนักรวบรวมข่าวแห่งชาติ (NRO) สำนักข่าวกรองภูมิสารสนเทศแห่งชาติ (NGA) และหน่วยข่าวเพื่อความมั่นคงของชาติ (NSA) ขณะที่ Orbital ประมูลโครงการ Maven มาได้ ทั้งนี้ จากสถิติการเข้าทำสัญญาของทางรัฐบาลได้ระบุว่า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ถึงกรกฎาคม 2020 Orbital ได้รับเงิน 10 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนา AI ในโครงการ Datahub ของกระทรวงกลาโหม ที่จะนำภาพถ่ายทางดาวเทียมมาใช้ใน "การวิเคราะห์และติดตามรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้ต้องสงสัยตลอด 24 ชั่วโมง" ซึ่งข้อมูลที่ได้มานี้จะนำไปพัฒนากลยุทธ์ของทางกระทรวงที่เรียกว่า Find-Fix-Finish-Exploit-Analyze (F3EA) หรือกระบวนการในการระบุ ติดตาม จับกุมหรือฆ่า สอบปากคำและประเมินโอกาสในอนาคตของผู้ต้องสงสัย ไม่เพียงเท่านี้ ข้อมูลที่ได้รับจาก Datahub ยังจะถูกนำไปใช้ในการติดตั้งอาวุธของกระทรวงกลาโหมที่สามารถ “ยิงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ” โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี แม้การลงทุนด้านอาวุธดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การบริหารงานของหน่วยการลงทุน “อิสระ” แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ยังนำมาซึ่งข้อท้าทายให้ทั้ง Google และ Alphabet อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Maven หรือโครงการ Dragonfly ในปี 2017 ซึ่งเป็นโครงการดัดแปลงเครื่องมือค้นหาให้สอดคล้องกับนโยบายเซ็นเซอร์ข้อมูลในประเทศจีน ที่ได้รับกระแสคัดค้านจากหลายฝ่ายว่าทางบริษัทกำลังช่วยรัฐบาลจีนเซ็นเซอร์และสอดส่องข้อมูล ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยนชน จนในที่สุดต้องยุติโครงการไป
Google
Timnit Gebru อดีตนักวิจัยด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของ Google
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา Timnit Gebru นักวิจัยด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Ethical AI) ได้ออกมาเปิดเผยว่า เธอถูกไล่ออกจาก Google หลังจากพยายามตีพิมพ์งานวิจัยใหม่แต่ถูกผู้บริหารสั่งให้ถอนงานวิจัยออก จนเธอยื่นคำขาดว่าหากไม่ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นนี้เธอจะลาออกจากบริษัท และหลังจากนั้นไม่นาน Gebru ก็ได้รับอีเมลว่าบริษัทตอบรับการลาออกของเธอ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ พนักงาน Google มากกว่า 2,500 คน ได้แสดงความไม่พอใจจนลงชื่อไม่เห็นด้วยต่อการเลิกจ้าง โดย Gebru เป็นผู้ร่วมวิจัยกับ Joy Buolamwini นักวิจัยของ Microsoft ในงานวิจัยเมื่อปี 2018 ที่แสดงให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์จดจำใบหน้ามีแนวโน้มจะจดจำใบหน้ากลุ่มคนผิวสีได้แย่กว่ากลุ่มคนผิวขาวมาก กระตุ้นให้วงการปัญญาประดิษฐ์ศึกษากันมากขึ้นว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้งานกันกว้างขวางนั้นสร้างผลกระทบต่อชนกลุ่มน้อย หรือมีความโน้มเอียงในรูปแบบใดที่กระทบคนกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ งานวิจัยใหม่ของ Gebru ที่ร่วมกับนักวิจัยอีก 5 คน โดยนอกจาก Timnit เองแล้ว ยังมี Emily M. Bender ศาสตราจารย์ด้านการประมวลผลภาษาจาก Washington University ระบุถึงความเสี่ยงของการพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ประมวลภาษาธรรมชาติทุกวันนี้ ที่โมเดลปัญญาประดิษฐ์มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนผู้คนเริ่มไว้ใจในงานหลายๆ อย่าง โดยบทนำของงานวิจัยนี้ตั้งคำถามว่ามีการศึกษาความเสี่ยงของการใช้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ และมีแนวทางแก้ไขความผิดพลาดของโมเดลเหล่านี้เพียงพอหรือไม่ ความเสี่ยงของโมเดลปัญญาประดิษฐ์ซับซ้อนสูงที่งานวิจัยนำเสนอ มีตั้งแต่การใช้พลังงานในการฝึกปัญญาประดิษฐ์ที่สูงมาก เช่นโมเดล Tranformer นั้นปล่อยคาร์บอนประมาณ 284 ตัน และมีต้นทุนการฝึกแต่ละครั้งที่สูงมากจนกระทั่งมีเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถใช้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์แบบนี้ได้ และเนื่องจากโมเดลขนาดใหญ่ต้องอาศัยข้อมูลมหาศาล นักวิจัยมักใช้ข้อความทุกประเภทเท่าที่จะกวาดได้จากอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าข้อความเหล่านั้นจะเหยียดเพศ การมุ่งร้าย หรือมีด้านแย่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลขนาดใหญ่เช่นนี้ยังทำให้นักวิจัยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองมีแนวโน้มเหยียดคนกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ แนวทางการสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ยังดึงความสนใจของนักวิจัย แทนที่จะสร้างโมเดลที่พยายามทำความเข้าใจภาษาอย่างแท้จริง และใช้ข้อมูลในการฝึกลดลง ไปจนถึงใช้พลังงานในการฝึกลดลง สำหรับผู้ใช้งานเองก็อาจจะเข้าใจว่าปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้มีความเก่งกาจทั้งที่หลายครั้งมันทำผิดได้โดยง่าย กรณีตัวอย่างเช่น Facebook แปลคำว่า "อรุณสวัสดิ์" ในภาษาอารบิกผิดเป็น “โจมตีมัน" สำหรับประเด็นนี้ โฆษกของ Google ได้ออกมาระบุว่า “ในช่วงที่ตรวจทานธุรกิจก่อนเริ่มลงทุน ทางบริษัทจะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในการทำความเข้าใจเทคโนโลยีของพวกเขา ตลอดจนแผนการดำเนินธุรกิจ และถ้าเป็นไปได้ก็จะศึกษาถึงความสอดคล้องของจุดประสงค์ 7 ประการของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่ทางบริษัทเคยระบุไปในปี 2018” ซึ่งประกอบไปด้วย
  1. เป็นประโยชน์ต่อสังคม
  2. หลีกเลี่ยงการสร้างหรือสนับสนุนอคติที่ไม่ยุติธรรม
  3. สร้างและทดสอบเพื่อความปลอดภัย
  4. รับผิดชอบต่อมนุษย์
  5. คำนึงถึงความเป็นส่วนตัว
  6. รักษามาตรฐานความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์
  7. นำไปใช้ตรงตามหลักการที่ตั้งไว้
Google
ดาวเทียมของ Orbital ขณะโคจรรอบโลก
GV ได้เข้าระดมทุนใน Orbital ตั้งแต่บริษัทภาพถ่ายทางดาวเทียมแห่งนี้ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดยเริ่มตั้งแต่การร่วมลงทุนมูลค่า 9 ล้านเหรียญในรอบ Series A ในปี 2015 ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 15 ล้านเหรียญในปี 2016 รวมเบ็ดเสร็จทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยครั้งที่ลงทุนมากที่สุด คือ รอบ Series D ที่ 50 ล้านเหรียญเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019  โดย Pitchbook ได้ระบุว่า นับตั้บแต่ต้น Orbital ได้ระดมทุนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 130 ล้านเหรียญ และมีมูลค่าบริษัทล่าสุดอยู่ที่ 480 ล้านเหรียญ ขณะที่ Forbes ได้ประเมินว่า GV มีสัดส่วนอยู่ใน “สตาร์ทอัพพันล้านเหรียญแห่งปี 2017” ราวร้อยละ 13 โดยมี Sequoia เป็นนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดที่สัดส่วนร้อยละ 20 ตั้งแต่ระยะแรก Orbital มักจะทำงานร่วมกับโปรเจคด้านมนุษยธรรม อาทิเช่น ธนาคารโลกเพื่อประเมินสภาวะความยากจน โดยการนับจำนวนตึกแถว ถนน และพื้นที่เกษตรกรรมแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา หรือการเก็บรวบรวมข้อมูลป่าไม้ให้กับสถาบันวิจัยทรัพยากรโลก และล่าสุดในปี 2019 ทางบริษัทได้ใช้ AI ในการดูแลจัดการค่าย “ปฏิรูปทางการศึกษา” ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ แต่เป็นที่ทราบกันว่า เงินรายได้หลักของ Orbital มาจากโครงการที่ร่วมงานกับฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการทหารและความมั่นคงของสหรัฐฯ อาทิเช่น Q-Tel ซึ่งเป็นหน่วยลงทุนของ CIA หน่วยข่าวระดับโลก ในโปรเจคมูลค่ากว่า 5 ล้านเหรียญ ในปี 2015  และไม่นานหลังจากนั้น Cruchbase รายงานว่า พนักงานจำนวนมากของ Q-Tel ก็ย้ายไปทำงานที่ Orbital ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ George Hoyem ผู้จัดการด้านกองทุนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลบอร์ดบริหาร ขณะที่ Robert Cardillo อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองภูมิสารสนเทศแห่งชาติ  (NGA) เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมที่ปรึกษาของ Orbital ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ล่าสุด ในช่วงปลายปี 2019 Orbital ได้เซ็นสัญญาร่วมกับ Booz Allen Hamilton บริษัทที่ปรึกษาจาก Beltway ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อจัดส่งอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการให้บริการ AI ให้กับรัฐบาล อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนที่ทำงานใน Orbital จะรู้สึกพอใจกับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับหน่วยงานทางการทหาร โดย Orbital เองเคยให้คำมั่นสัญญา “เราจะไม่พัฒนาหรือโอนอ่อนให้กับวัตถุประสงค์ใดๆ ที่จะก่อให้เกิดหายนะต่อมนุษยชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคม” ซึ่งหนึ่งในพนักงานอาวุโสของ Orbital ได้ออกมากล่าวว่า แม้ทางบริษัทจะไม่อนุญาตให้นำเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปต่อยอดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “การกำหนดเป้าหมายระเบิด” แต่ “เมื่อใดที่คุณสามารถระบุ...อาคารได้ (รัฐบาล) ก็จะทำทุกอย่างที่พวกเขาต้องการอยู่ดี”  ในทำนองเดียวกัน อดีตวิศวกรซอฟแวร์ได้เสริมว่า ข้อท้าทายหนึ่งของการทำงานด้านความมั่นคง คือ “การต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการทำส่ิงๆ หนึ่งที่คนภายนอกอาจมองว่าขัดต่อศีลธรรม” ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่สตาฟจาก Silicon Valley มองว่า “เป็นเรื่องยากที่จะดึงดูดคนให้เข้ามาทำงานในบริษัทที่กำลังจะ...พึ่งพางบประมาณทางการทหารของสหรัฐฯ”  อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารของ Orbital ได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด  ขณะที่ทางโฆษกได้ออกมาชี้แจงว่า “มีพนักงานจำนวนหนึ่งได้แสดงความกังวลต่อกิจกรรมที่ทางบริษัทดำเนินงานร่วมกับรัฐบาล” แต่บริษัทเองก็มีหน่วยงานด้านจริยธรรมคอยกำกับดูแลและประเมินข้อตกลงต่างๆ อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่รัฐบาลจะทำการปล่อยโดรนที่ติดตั้งเทคโนโลยีจดจำใบหน้าของ Orbital เหนือกองทัพเรือ ซึ่งทาง Orbital ก็ได้ออกมาคัดค้าน เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างมาเพื่อระบุตัวตนรายบุคคล  ทั้งนี้ ทางโฆษกได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน โครงการ Datahub ได้ “สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย” แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม ด้านผลงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ โฆษกกล่าวว่า “เทคโนโลยีของ Orbital ได้มีส่วนช่วยในการติดตามสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ตลอดจนการป้องกันอย่างทันท่วงทีในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง” แม้ว่าในปัจจุบัน Orbital จะไม่ได้ต่อสัญญาในโครงการ Datahub อีกต่อไปแล้ว แต่สตาร์ทอัพแห่งนี้ก็ยังดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับทางรัฐบาลอยู่เป็นระยะ โดยเอกสารจากทางราชการได้ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2018 Orbital ได้ใช้เงินกว่า 3 แสนเหรียญ ในการล็อบบี้รัฐบาลและเจรจากับฝ่ายนิติบัญญัติในประเด็นที่ว่าด้วยการใช้ AI ในการระบุข้อมูลที่มีตำแหน่งบนพื้นผิวโลก ไม่ว่าจะเป็นจากโทรศัพท์มือถือ โดรน ภาพถ่ายทางดาวเทียม เป็นต้น  โดยในเดือนกรกฎาคม 2020 Orbital ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานศุลกากร ที่มีมูลค่ามากถึง 22 ล้านเหรียญ เพื่อใช้อุปกรณ์ของ Orbital ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาจากโดรน บอลลูนตรวจตรา และดาวเทียมในการควบคุมความถี่ของสัญญาณวิทยุ ภายใต้กฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้อ้างอิงมาจาก Jack Poulson อดีตศาตราจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ประจำ Standford University ที่เคยร่วมงานกับ Google ก่อนที่จะลาออกไปเปิดหน่วยงานวิจัยด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ที่มีชื่อว่า Tech Inquiry สำหรับโปรเจคนี้ ทางโฆษกอธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นไป “เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของผู้คนในบริเวณชายแดนภาคใต้ และการสร้างความตระหนักรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกล” หรือกล่าวโดยสรุป คือ มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การค้นหาและการช่วยเหลือนั่นเอง ด้าน Planet สามารถระดมทุนได้มากกว่า Orbital กว่า 400 ล้านเหรียญตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2010 ด้วยศักยภาพของดาวเทียม Doves ที่มีส่วนช่วยในการระบุภาคพื้นของโลก มหาสมุทร ซึ่งรวมไปถึงเกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้และอ่าวเปอร์เซีย เช่นเดียวกับ Orbital ธุรกิจของ Planet เป็นส่วนผสมระหว่างการดำเนินกิจการเพื่อมนุษยชาติ ธุรกิจเอกชน และสัญญาร่วมกับทางรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในโปรเจคที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล คือ โครงการภาพถ่ายทางดาวเทียมที่ทำร่วมกับสำนักข่าวกรองภูมิสารสนเทศแห่งชาติ (NGA) มูลค่า 20 ล้านเหรียญ  มากกว่านั้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทก็ได้ทำงานร่วมกับกองทัพทหารอากาศ ทหารเรือ และทหารบก ในโครงการมูลค่ากว่า 15 ล้านเหรียญ ที่ใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายทางดาวเทียม ล่าสุด Planet กำลังวางแผนที่จะยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐ ดังจะเห็นได้จากการเข้าร่วมประมูลโครงการ EnhancedView ที่อยู่ภายใต้การดูแลของำนักรวบรวมข่าวแห่งชาติ (NRO) โดยโปรเจคนี้จะเป็นการส่งมอบภาพถ่ายทางดาวเทียมเชิงพาณิชย์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ของทางรัฐบาล โดยในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้บริษัท Maxar Technologies เป็นผู้ได้รับสัมปทานไป สร้างรายได้ให้กับบริษัทกว่า 300 ล้านเหรียญต่อปี  ปัจจุบันดาวเทียม Skysats และ Doves ของ Planet กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพในการทำงานว่า มีศักยภาพเทียบเท่าดาวเทียมของทาง Maxar หรือไม่ “เราชื่อว่าเราจะสามารถให้บริการที่ดีที่สุดแก่ทางรัฐบาล” โฆษก Planet กล่าว
Google
Will Marshall หนึ่งในสามนักวิทยาศาสตร์ NASA ผู้ร่วมก่อตั้ง Planet
และเช่นเดียวกับสถานการณ์ใน Orbital อดีตพนักงานอาวุโสของบริษัทก็กล่าวว่า ภายในบริษัทเองก็ได้รับกระแสความไม่พอใจจากพนักงานในโครงการที่ร่วมมือกับทางรัฐบาลเช่นกัน จนเป็นเหตุให้พนักงานจำนวนหนึ่งตัดสินใจลาออก “ในระยะแรก พวกเขาพัฒนาดาวเทียมมาเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ก่อนที่จะค้นพบว่าจริงๆแล้ว คนเพียงกลุ่มเดียวที่พร้อมจะจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อแลกกับข้อมูลจากดาวเทียมก็คือรัฐบาล”  แต่ทางโฆษกกลับระบุว่า “บริษัทไม่เคยมีประวัติพนักงานลาออกเพราะโครงการที่ทำร่วมกับรัฐบาลมาก่อน” พร้อมอธิบายให้ Forbes เข้าใจถึงแนวทางด้านศีลธรรมของบริษัทว่า “พาร์ตเนอร์ของเราไม่ได้รับอนุญาตให้นำผลิตภัณฑ์ของเราไปต่อยอดในการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตราย การใช้ในทางที่ผิด การก้าวร้าว ความรุนแรง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน” พร้อมเสริมว่า “ทางบริษัทยังมีคณะกรรมการด้านศีลธรรมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานจรรยาบรรณของพาร์ตเนอร์เช่นกัน”  จากข้อกล่าวหาข้างต้นทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบให้ Alphabet หยุดการลงทุนในตลาดเทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์แต่อย่างใด เพราะในปี 2018 และ 2020 GV ได้ร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ SpinLaunch ที่ 40 ล้านเหรียญและ 35 ล้านเหรียญตามลำดับ โดยสตาร์ทอัพแห่งนี้มีชื่อเสียงในด้านการส่งดาวเทียมออกไปโคจรรอบโลก  ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์มาจากเงินสนับสนุนทั้งจาก Alphabet และหน่วยงานด้านนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหมที่มีมีมูลค่าราว 2.5 ล้านเหรียญ ทำให้ SpinLaunch ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้รับการอนุมัติด้านเทคโนโลยี แต่กลับได้รับการยินยอมให้ปฏิบัติการในฐานะดาวเทียมสอดแนมทางการทหาร ทั้งนี้ ขณะที่ Pichai ได้ออกมาแถลงการณ์ถึงจุดประสงค์ 7 ประการของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เขาได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “ในกรณีที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายอย่างมีนัยสำคัญ เราจะดำเนินการต่อเมื่อเราเชื่อว่าผลประโยชน์นั้นมีมากกว่าความเสี่ยงอย่างมาก และจะตระหนักถึงข้อจำกัดด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมไว้ด้วย” แต่คำกล่าวนี้ไม่ได้หมายรวมถึงข้อจำกัดด้านการลงทุนร่วมในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาวุธทางการทหารแต่อย่างใด แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Google Promised Not To Use Its AI In Weapons, So Why Is It Investing In Startups Straight Out Of ‘Star Wars’? เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: “สัญญาสาหัส” ของ Eric Baker ผู้ร่วมก่อตั้ง StubHub