Merritt Jenkins กับธุรกิจ "ฝังกลบต้นไม้" พิทักษ์โลก - Forbes Thailand

Merritt Jenkins กับธุรกิจ "ฝังกลบต้นไม้" พิทักษ์โลก

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Dec 2023 | 08:00 AM
READ 2454

Bill Gates และนักลงทุนรายอื่น ๆ เก็งว่า Kodama Systems จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ด้วยการโค่นต้นไม้แล้วนำไปกลบฝัง ต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลสหรัฐจะรับลูกในเกมนี้ด้วยการให้เครดิตภาษีด้วยหรือไม่


    เมื่อปีที่แล้ว Merritt Jenkins ย้ายจาก Boston มาอยู่ที่เมือง Twain Harte รัฐ California ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ตีนเทือกเขา Sierra Nevada ซึ่งมีประชากรเพียง 2,500 คน  ทุกเช้าระหว่างทางไปทำงาน เขาจะแวะทานแซนด์วิช (ไข่กวนบนข้าวไรย์กับอาโวคาโด) ที่ร้าน Alicia’s Sugar Shack ก่อนจะมุ่งหน้าต่อไปที่ผืนป่าขนาด 10 เอเคอร์ใน Stanislaus National Forest ซึ่งเป็นสถานที่ที่ Kodama Systems กิจการสตาร์ทอัพของเขากำลังทดสอบและปรับปรุงการทำงานของเครื่องชักลากไม้กึ่งอัตโนมัติที่ยาว 25 ฟุต และหนัก 17 ตัน

    คนตัดไม้จะใช้เครื่องมือพวกนี้ (ศัพท์เรียกกันในวงการว่า รถลากไม้) ใช้ในการขนต้นไม้และซากไม้หนักเป็นตันๆออกจากป่า เครื่องมือของ Kodama ถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานได้แม้ในเวลากลางคืน ใช้แรงงานคนน้อยลง และอาศัยการเชื่อมต่อกับดาวเทียมควบคู่กับกล้องตรวจจับแสงและระยะทางที่ทันสมัย แบบเดียวกับที่ใช้ในยานยนต์ไร้คนขับเพื่อติดตามการทำงานทางไกล แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะ “เส้นทางที่ใช้ขนไม้มีพื้นผิวที่แตกต่างหลากหลาย โดยทุกๆ 10 ฟุตจะแตกต่างกันเล็กน้อย” Jenkins ในวัย 35 ปี กล่าว

    แต่การตัดและขนไม้ในความมืดยังไม่ใช่สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดของ Kodama ซึ่งสามารถระดมทุนในรอบ seed funding 6.6 ล้านเหรียญสหรัฐมาได้จาก Breakthrough Energy ของ Bill Gates และจากนักลงทุนรายอื่นๆ ทั้งนี้ หลังจากที่โค่นต้นไม้แล้ว Jenkins มีแผนจะนำต้นไม้ที่โค่นลงมาไปทำการกลบฝังเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการขายคาร์บอนเครดิตจากปริมาณคาร์บอนที่ลดลงไปได้ (และบางทีในอนาคตอาจจะได้เครดิตภาษีด้วย)   

    แนวคิดแบบดั้งเดิมคือการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ และนำคาร์บอนเครดิตมาขายให้กับภาคธุรกิจในภาคเอกชน เจ้าของเครื่องบินส่วนตัว หรือ ใครก็ตามที่ต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อมาชดเชยมลพิษที่มีการปล่อยออกมา แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าการกลบฝังต้นไม้สามารถช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะต้นไม้ที่เข้าข่ายจะถูกเผา หรือถูกปล่อยให้ผุไป ซึ่งจะทำให้มีการปล่อยคาร์บอนที่สะสมอยู่ภายในออกมาในอากาศ

    วิกฤตไฟป่าใน California ครั้งใหญ่เมื่อปี 2020 ทำให้เราเห็นว่าการปลูกต้นไม้มากจนเกินไป อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อทั้งสภาพอากาศ รวมไปถึงชีวิตและทรัพย์สินด้วย “เหตุการณ์ท้องฟ้าสีส้มใน San Francisco ถือเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ โดยในปัจจุบันก็มีเสียงสะท้อนในเรื่องนี้ออกมากันแล้ว” Jimmy Voorhis หัวหน้าส่วนการใช้งาน และนโยบายด้านชีวมวลของ Kodama กล่าว เสียงเตือนในเรื่องนี้ยิ่งดังชัดขึ้นอีกในปีนี้ จากการณีไฟป่าที่แคนาดา ซึ่งก่อให้เกิดสภาพอากาศที่เป็นอันตรายกระจายไปทั่วทั้ง New York, Washington D.C. ไปจนถึง Chicago  

    เพื่อจัดการกับปัญหานี้ หน่วยงานที่ดูแลป่าไม้ของสหรัฐ (U.S. Forest Service) ตั้งเป้าหมายจะถางป่าทางฝั่งตะวันตก 70 ล้านเอเคอร์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐ California ภายในทศวรรษหน้า ซึ่งจะก่อให้เกิดสสารชีวมวลที่แห้งสนิทถึงมากกว่า 1 พันล้านตัน ตามปกติแล้ว เมื่อมีการถางป่าในปริมาณมากขนาดนั้น ท่อนไม้ที่มีขนาดพอขายได้จะถูกส่งไปยังโรงเลื่อย สำหรับไม้ที่เหลือส่วนใหญ่จะถูกนำมองกองรวมกันแล้วเผาภายใต้สภาวะที่มีการควบคุม แต่ Kodama ต้องการนำไม้ส่วนที่เหลือนี้ไปกลบฝังในหลุมใต้ดินที่ถูกออกแบบมาให้คงความแห้ง และปลอดออกซิเจนซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ไม้เหล่านี้ผุไปหรือเกิดติดไฟขึ้นมา

    นอกจากเม็ดเงินจาก seed funding ที่ระดมจากบริษัทเงินร่วมลงทุน (VC) มาได้ Kodama ยังได้รับเงินสนับสนุน 1.1 ล้านเหรียญจากหน่วยงานที่ดูแลด้านไฟป่าของรัฐ California และองค์กรอื่นๆ อีก และยังทำข้อตกลงขายคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการฝังกลบต้นไม้ 400 ตันแรกแล้วด้วย โดยในตลาดเปิดคาร์บอนเครดิตดังกล่าวน่าจะขายได้ราคาตันละ 200 เหรียญ ทั้งนี้ Kodama ตั้งเป้าที่จะโค่นและฝังกลบต้นไม้มากกว่า 5,000 ตัน ต่อปี

    นอกจากนี้ เขายังเห็น “ช่องว่างขนาดใหญ่” ในอุตสาหกรรมนี้อีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือจะทำอย่างไรกับสสารชีวมวลจำนวนมากมายมหาศาลพวกนั้น เขาเคยได้ยินแนวคิดเกี่ยวกับการทำหลุมฝังสสารชีวมวลของ Carbon Containment Lab ที่มหาวิทยาลัย Yale และหลังจากนั้น เพื่อนของเขาก็แนะนำให้รู้จักกับ Voorhis ซึ่งเป็นทั้งนักปีนเขา นักธรณีวิทยา และวิศวกรด้านโลกศาสตร์ (สำเร็จปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์จาก Dartmouth) ผู้ซึ่งหลงใหลกับแนวคิดในการนำเหมืองเก่ามาทำเป็นพื้นที่ฝังกลบสสารชีวมวล แล้วทั้งสองก็มาผนึกกำลังกัน

    แนวคิดของการฝังกลบต้นไม้ฟังดูเรียบง่ายและใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีที่ซับซ้อนอย่างเช่น “การจับคาร์บอน” ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อดึงคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ ทั้งนี้ หลังจากที่พรรค Democrats ผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ออกมาในปี 2022 ทำให้บริษัทอย่างเช่น Occidental Petroleum และ Exxon Mobil เข้าข่ายได้รับเครดิตภาษี 85 เหรียญต่อตันของคาร์บอนไดออกไซด์ที่แยกออกมาได้ หากว่าสามารถพัฒนาระบบที่สมบูรณ์ในการดูดก๊าซออกจากอากาศโดยตรง และขนส่งทางท่อก๊าซก่อนที่จะนำไปอัดลงใต้ดินได้อย่างถาวร นอกจากนี้ ร่างกฎหมาย IRA ยังเพิ่มแรงจูงใจให้กับบางโครงการ ด้วยการให้เครดิตภาษี 30% หรือกว่านั้นของมูลค่าเงินลงทุนที่จ่ายออกไปแล้วด้วย ถ้าคุณตัดต้นไม้ แล้วนำไปอัดเป็นเม็ดเพื่อใช้เผาแทนถ่าน ก็ยังได้เครดิตภาษีด้วย แต่ ณ ปัจจุบัน การนำไม้ไปฝังกลบยังไม่ได้เครดิตภาษี

    “ถ้าคุณต้องการที่จะเอาคาร์บอนออกไปในปริมาณมาก ๆ คุณคงบ้าไปแล้วที่จะไม่เรียนรู้จากธรรมชาติ หรือใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ” Lucas Joppa อดีตประธานเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมของ Microsoft ซึ่งปัจจุบันทำงานที่ Haveli Investments กล่าว และเสิรมว่า “เรายังห่างไกลจากวิวัฒนาการของธรรมชาติอีกหลายขุม ในแง่ของการแยกคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศอย่างมีประสิทธิภาพ”

    Ning Zeng ศาสตราจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ชั้นบรรยากาศประจำ University of Maryland ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าพ่อในวงการฝังกลบสสารชีวมวล อธิบายว่า ไม้ที่ตัดสดจากป่าน้ำหนักเฉลี่ย 1 ตันเป็นน้ำหนักของคาร์บอนเกือบ 50% และหากปล่อยให้ผุ หรือ เผาไปจะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน ในชั้นบรรยากาศ เขาบอกว่าหลักง่ายๆ ก็คือ “สสารชีวมวลหนึ่งตันในพื้นโลกเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่ขึ้นไปอยู่บนฟ้า”

    ในรัฐ Texas นาย Chris Knop ทนายความวัย 43 ปี ได้นำสสารชีวมวลกว่า 4,000 ตัน ไปฝังกลบในที่ดิน 45 เอเคอร์ของบริษัท Carbon Sequestration ของเขา ใกล้ๆ พรมแดนรัฐ Louisiana โดยที่ดินแถวนั้นเหมาะกับการฝังกลบแบบปลอดออกซิเจน ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้สสารชีวมวลเสื่อมสภาพลง ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเพราะว่ามีชั้นดินโคลนพอกหนา เมื่อไม่นานมานี้ เขาได้เข้าไปซื้อเศษไม้ 15,000 ตันมาจากเจ้าของที่ดินทางตอนเหนือของ Beaumont ซึ่งกำลังถางป่าสนเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยถ้าไม่ได้ขายให้เขาก็คงจะเผาทิ้งไป ทำให้เขาสามารถขายคาร์บอนเครดิตบน Puro ได้ถึงตันละ 145 เหรียญ

    Knop คิดว่ากิจการของเขาจะถึงจุดคุ้มทุน และมั่นใจว่ารัฐบาลจะให้เครดิตภาษี ซึ่งจะทำให้กิจการของเขาทำกำไรได้ แม้ว่าจนถึงขณะนี้สภา Congress จะยังไม่อนุญาตให้การฝังกลบสสารชีวมวลเครดิตภาษีได้ แต่ทั้ง Knop และบรรดานักล็อบบี้เกี่ยวกับสสารชีวมวลต่างก็หวังว่าเมื่อกระทรวงการคลังสหรัฐร่างเกณ์ขั้นสุดท้ายเพื่อให้เครดิตการแยกสารคาร์บอนจะครอบคลุมถึงสสารชีวมวลด้วย  “ผมแค่รอดูให้มีการยืนยันในบางรูปแบบออกมาเท่านั้น” เขากล่าว 

    นอกจากนี้ Knop ยังมีวิสัยทัศน์ยาวไกลไปในอนาคตที่จะเปลี่ยนพื้นที่ป่าของอเมริกาให้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน ด้วยการโค่นต้นสน นำไปฝังดิน แล้วเปลี่ยนมาปลูกพันธุ์ไม้ที่หิวคาร์บอนอย่างเช่น ต้นไผ่ ต้นปอ และ ต้นป็อปลาร์ เขาบอกว่าในสหรัฐมีการใช้พื้นที่นับร้อยล้านเอเคอร์เพื่อเลี้ยงวัว หรือ ผลิตไม้ “แล้วทำไมถึงจะเปลี่ยนมาทำฟาร์มคาร์บอนบ้างไม่ได้ล่ะ?”

    ย้อนกลับไปที่ Kodama อีกครั้ง Jenkin เน้นฝังกลบไม้ที่ต้องถูกโค่นอยู่แล้วเพื่อดูแลผืนป่า ในขณะที่ Voorhis มุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนเหมืองแร่ และเหมืองหินเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว (แทนที่จะขุดผืนดินใหม่) เพื่อเป็นที่เก็บสสารชีวมวล “เราจะวัดปริมาณก๊าซและน้ำชะแล้วกันคาร์บอนออกไปกักเก็บไว้อย่างสมบูรณ์” Voorhis กล่าว “ถ้าคุณไปเจอใครที่มีเหมืองหินเก่าไม่ได้ใช้งานก็บอกผมด้วยนะ” 


เรื่อง: Chris Helman เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา ภาพ: Ethan Pines 



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 10 อันดับ “มหาเศรษฐีรวยเพิ่มขึ้น” มากสุดแห่งปี 2023

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine พิเศษ! ฉบับนี้แถมฟรี Forbes Life