Kenichi Yamato วางโรดแมป “กรุงศรี” รุกทั่วอาเซียน - Forbes Thailand

Kenichi Yamato วางโรดแมป “กรุงศรี” รุกทั่วอาเซียน

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีนายใหญ่คนใหม่ Kenichi Yamato กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566


    หนุ่มใหญ่ชาวญี่ปุ่นผู้นี้เป็นมือบริหารลูกหม้อ MUFG หรือ Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG Bank, LTD.) เขาทำงานกับองค์กรนี้มาเกือบ 33 ปี

    ก่อนจะมาเป็นผู้บริหารสูงสุดธนาคารกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบัน Yamato ดำรงตำแหน่ง Chief Executive of Global Commercial Banking ดูแลรับผิดชอบในส่วนงานกลุ่มลูกค้าธุรกิจของเครือ MUFG ในประเทศอาเซียน

    ในขณะนั้นเขายังได้ดำรงตำแหน่งทั้ง President Commissioner of Bank Danamon ที่ประเทศอินโดนีเซีย และ non-executive director of Security Bank ในประเทศฟิลิปปินส์ด้วย


ซีอีโอมืออาชีพ 

    Yamato มีประสบการณ์โดดเด่นในฐานะซีอีโอระดับภูมิภาค เป็นสายงานที่ตรงกับความรู้และการศึกษาพื้นฐานปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

    ตลอด 33 ปีในแวดวงธุรกิจการเงินเขาเรียนรู้และเติบโตจากงานที่รับผิดชอบเรื่อยมา เป้าหมายของเขาคือสร้างความสำเร็จและยกระดับองค์กรที่รับผิดชอบให้เติบโตและแข็งแรง เช่นเดียวกับวิชั่นที่มีต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา

    เมื่อถูกถามว่าวางเป้าหมายไว้อย่างไร เขาตอบว่า “ผมจะพยายามทำให้กรุงศรี ก้าวสู่ความสำเร็จอีกขั้น ด้วยการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ครบรอบ 10 ปีความร่วมมือ MUFG กับกรุงศรี”

    ด้วยความพร้อมและการพัฒนาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง การเข้ามาของ MUFG ในรอบ 10 ปีมีส่วนทำให้ธนาคารกรุงศรีเติบโตอย่างน่าสนใจ ด้วยมูลค่าธุรกิจที่เติบโตสูงมากอย่างต่อเนื่อง

    Yamato เผยว่า MUFG เข้ามาร่วมถือหุ้นในธนาคารกรุงศรีตั้งแต่ปี 2556 และในปี 2560 ได้มีการปรับระบบการให้บริการต่างๆ เข้าสู่ยุคของธนาคารสมัยใหม่ ให้เป็นธนาคารที่อัพเดททั้งด้านบริการและเทคโนโลยีขึ้นเป็นท็อปเทียร์ของสถาบันการเงินในประเทศไทย

    นอกจากมีระบบบริการที่ดีแล้ว ยังพัฒนาธุรกิจไปในแนวทางของความยั่งยืน เป็นธนาคารที่พัฒนาเรื่องความยั่งยืนในการให้บริการทางการเงินได้อย่างชัดเจน


ยกระดับบริการ

    “แน่นอน digitalization เป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนโลก แต่อีกประเด็นใหญ่คือ climate change สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว” นายใหญ่ธนาคารกรุงศรี เผยว่าหากมองย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยหลายอย่างเข้ามากระทบ เช่น ล่าสุดกรณีสงครามยูเครน-รัสเซีย สร้างผลกระทบไม่น้อย

    Yamato ยังบอกด้วยว่าธนาคารจะต้องนำเสนอทางเลือก หรือโซลูชั่นใหม่ให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือลูกค้าคนสำคัญ เพื่อทำให้ลูกค้าพึงพอใจ เชื่อมั่น และมีความสุข

    และอย่างที่ทราบกันลูกค้าของธนาคารกรุงศรี ไม่ได้จำกัดในเรื่องของการลงทุนในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงขยายกองทุนออกไปในภูมิภาคด้วย ขยายไปยังตลาดเอเชีย และตลาดอื่นซึ่งมีพาร์ทเนอร์เครือข่ายอยู่ โดยธนาคารฯ พร้อมให้บริการและสนับสนุนลูกค้าในการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก

    นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการปรับองค์กร เช่น หากลูกค้าอยากจะลดคาร์บอนหรือทำธุรกิจไปสู่ซีโร่คาร์บอนแต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร กรุงศรีก็พร้อมนำการปรับตัวเหล่านี้ โดยจะแนะนำให้ลูกค้าเหล่านั้นได้พบปะแลกเปลี่ยนกับบริษัทญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์ในด้านนี้ เพราะหลายบริษัทในญี่ปุ่นได้ปรับตัวเรื่องความยั่งยืนมาก่อนหน้านี้ สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในการปรับตัวได้เป็นอย่างดี


ไทยพร้อมแข่งขัน

    อย่างไรก็ตาม Yamato เผยว่าแม้จะมองแนวโน้มดี แต่ก็ยังมีปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องระวังเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างประเทศ เช่น เรื่องสงครามจะเกิดต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งหากเกิดสงครามก็จะเกิดอัตราเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น 

    “สงครามเป็นปัจจัยลบที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูเรื่องของอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยเริ่มชะลอตัวลง ผมมองว่าอัตราเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยยังอยู่ในภาวะที่แข่งขันได้”

    เขาย้ำและว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความมั่นคง อยู่ในฐานะที่แข่งขันได้และหากเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคด้วยแล้วประเทศไทยถือว่าแข็งแรง


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ศรันย์ โรจน์เลิศจรรยา NL เติมแต้มต่อโปรก่อสร้าง

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine พิเศษ! ฉบับนี้แถมฟรี Forbes Life