Ken Griffin เศรษฐีพันล้านฝ่าวิกฤตทะลุแนวต้าน - Forbes Thailand

Ken Griffin เศรษฐีพันล้านฝ่าวิกฤตทะลุแนวต้าน

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Oct 2022 | 09:00 PM
READ 6342

ท่ามกลางสงครามในยุโรป แนวร่วมระหว่างจีนและรัสเซีย และกระแสทิ้งเงินเหรียญสหรัฐฯ มหาเศรษฐี Ken Griffin กำลังคว้าโอกาสที่ดีที่สุดในช่วงเวลาเลวร้ายที่สุด


    เศรษฐีพันล้าน Ken Griffin ทอดตามองออกไปนอกผนังกระจกจากชั้น 10 ของอาคารสำนักงาน Midtown Manhattan อย่างครุ่นคิด อาคารแห่งนี้เป็นทรัพย์สิน 1 ใน 3 รายการในทำเล New York City ที่อยู่ในความครอบครอง ของ Citadel กองทุนบริหารความเสี่ยงจาก Chicago มูลค่า 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเขา เวลานั้นยังเพิ่งต้นเดือนมีนาคม Vladimir Putin เพิ่งจะสั่งหยุดใช้อาวุธรุกรานยูเครน แต่หันมาขู่เป็นนัยๆ ว่า จะหันมาโจมตีด้วยนิวเคลียร์แทน ด้วยวิสัยทัศน์ที่เหนือกว่า Griffin มองว่าจะไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ แต่เขาก็ยังรู้สึกวิตกกังวลไม่น้อย

    ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 12% จนถึงวันนี้ ขณะที่หุ้นยุโรปรวมถึงตลาด Nasdaq ลดลงไปเกือบ 18% สวนทางกับราคาน้ำมันพุ่งทะยาน ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องกะทันหันเหลือเกินสำหรับ Citadel หลังจากที่เพิ่งผ่านพ้นปีทอง 2021 ด้วยกำไร 26% ส่วนตัว Griffin ทำรายได้ 2.5 พันล้านเหรียญ เวลานี้มูลค่าทรัพย์สินของเขาอยู่ที่ 2.72 หมื่นล้านเหรียญ แต่ในใจเขามีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าสมบัติส่วนตัว

    “ภัยสงครามในยูเครนที่ยังเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนคือ ความผิดพลาดครั้งมโหฬารของมนุษย์ โดยที่ไม่มีใครบังคับให้มันเกิดขึ้น” เมื่อมองย้อนกลับไปในยุค 1990 บางทีอาจไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องนักที่ยูเครนหลงเชื่อคำแนะนำของสหรัฐฯ และส่งคืนอาวุธนิวเคลียร์กลับไปให้รัสเซียหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เวลานี้ประเทศสมาชิก NATO กลับมาตื่นตัวอีกครั้งเมื่อเห็นว่ารัสเซียเอาจริง Griffin ชี้ให้เห็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการระดมอาวุธระลอกใหม่คือ หุ้นในกลุ่มป้องกันประเทศและพลังงานซึ่งทั้งคู่มีราคาซื้อขายที่สูงลิบอยู่แล้ว

    นั่นคือมุมมองในระยะสั้น แต่ในระยะยาวกว่านั้น Griffin เห็นเค้าลางอันตราย เขาประเมินว่า การคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตกเป็นวิธีการที่รุนแรงและจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบการเงินโลกที่พึ่งพาสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ชาติมหาอำนาจจากฝั่งตะวันตกมีการเคลื่อนไหวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พวกเขาปิดกั้นไม่ให้รัสเซียเข้าถึงตลาดทุน ซึ่ง Griffin มองว่าเท่ากับเป็นการประกาศใช้เงินเหรียญสหรัฐฯ เป็นอาวุธ

    ผลกระทบอย่างรุนแรงย่อมตามมา เพราะรัสเซีย จีน และประเทศอื่นๆ ต่างไม่มีทางเลือก จึงต้องหันหลังให้กับเงินเหรียญสหรัฐฯ กลุ่มการค้าที่ประกอบไปด้วยจีน รัสเซีย อิหร่าน และบราซิลเริ่มลดการใช้เงินเหรียญสหรัฐฯ และอาจไม่ยอมให้บรรดาบริษัทและนักลงทุนสหรัฐฯ มีส่วนร่วมในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของพวกเขาด้วย “เราได้เพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อสร้างยุคแห่งความเหนือกว่าด้านเทคโนโลยีให้กับสหรัฐฯ แล้วหรือยัง” Griffin ตั้งคำถาม

    คำเตือนของเขาฟังไว้ก็ไม่เสียหาย Griffin คือคนที่มองภาพรวมได้ขาด เขามีประวัติผลงานที่ยากจะเทียบเท่าได้ใน Wall Street ตลอดระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมาเขาติดลบเพียง 2 ปีเท่านั้น และสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้เฉลี่ยปีละ 19% ซึ่งมาจากการศึกษาแนวโน้มระดับมหภาคอย่างใกล้ชิด บวกกับอยู่ในตำแหน่งที่ทรงพลังไม่เหมือนใครในตลาดที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่งของโลก

Citadel Securities เป็นอีกธุรกิจหนึ่งของ Griffin และเป็นผู้สร้างสภาพคล่องรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของสหรัฐฯ บริษัทมีการซื้อขายหุ้นคิดเป็นกว่า 25% ของการซื้อขายทั้งหมดในสหรัฐฯ และคิดเป็น 40% ของการซื้อขายรายย่อย และกว่า 30% ของปริมาณออปชันหุ้น Griffin จ้างนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ฝีมือดี ซึ่งนำเทคโนโลยีล่าสุด (การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ การเรียนรู้ของเครื่อง และปัญญาประดิษฐ์) มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลมากมายมหาศาลได้แบบเรียลไทม์ จนทำให้ Citadel Securities สามารถขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ พร้อมกับเติบโตได้รวดเร็วกว่ากองทุนบริหารความเสี่ยงของเขาเอง

ในการซื้อขายแต่ละครั้ง Citadel Securities จะได้ส่วนแบ่งต่อหุ้นเพียงเศษสตางค์เท่านั้น แต่ยังทำรายได้ถึง 7 พันล้านเหรียญในปี 2021 และเป็นครั้งแรกที่ Griffin ยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมอาณาจักร หลังจากที่ขายหุ้น 5% ไปให้กับ 2 บริษัทร่วมลงทุนรายใหญ่คือ Sequoia และ Paradigm ในราคา 2.2 หมื่นล้านเหรียญ ส่งผลให้ Griffin มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นอีก 5 พันล้านเหรียญ

การเข้าลงทุนของ Paradigm ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านคริปโตเป็นพิเศษนั้นเป็นการตอกย้ำความตั้งใจของ Griffin ที่ต้องการจะกลายเป็นผู้สร้างสภาพคล่องชั้นนำของธุรกิจซื้อขายคริปโต ที่แม้จะกระจัดกระจายแต่ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว Citadel Securities บริหารกิจการโดย Peng Zhao อัจฉริยะด้านข้อมูลจาก Beijing วัย 39 ปี เขาจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านสถิติจาก Berkeley และมีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่จะเป็นผู้นำ Citadel เพื่อก้าวเข้าสู่โลกแห่งการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล

หากใช้ศัพท์วงการกาสิโน Citadel Securities ก็คือบ่อนดีๆ นี่เอง ไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง ถ้าคนยังคงซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรเสียกำไรก็ต้องเป็นของ Citadel พวกเขาเลี้ยงชีพด้วยปริมาณการซื้อขาย แม้ Griffin จะยังคงผวากับผลลัพธ์ของสงครามในยุโรปแต่เขารู้ดีว่าความไม่แน่นอนและตลาดที่ปั่นป่วนจะป้อนเงินเข้ากระเป๋าของเขาได้อีกแน่นอน

แหล่งข่าวที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่รายหนึ่งเปิดเผยว่า “Griffin ลดต้นทุน ลดการประมวลผล และลดการใช้เทคโนโลยี ทำให้คนอื่นจะมาแข่งกับ Citadel ได้ยากมากๆ”


- Griffin กับการเติบโต -

Griffin ที่ศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ในเวลานั้น ระดมทุนจากครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ 265,000 เหรียญ เพื่อนำมาซื้อขายออปชันและหุ้นกู้แปลงสภาพ การเดิมพันขาลงสร้างรายได้มหาศาลจากเหตุการณ์ตลาดล่มเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1987 ถึงกับทำให้ Frank Meyer เจ้าของ Glenwood Capital ใน Chicago มอบทุนให้กับเขาถึง 1 ล้านเหรียญเมื่อตอนจบการศึกษาถัดจากนั้นมา 2 ปี เพียงปีแรกเขาทำกำไร 70%

ต่อมาในปี 1990 Griffin วัย 22 ปี พร้อมกับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจาก Meyer จึงก่อตั้ง “ร้านค้าเพื่อลงทุนเชิงปริมาณ” เป็นรุ่นแรกๆ ด้วยคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว พนักงาน 2 คน กับทุน 4.6 ล้านเหรียญ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วได้พัฒนาจนกลายมาเป็น Citadel Investments

Citadel สร้างผลตอบแทนระดับดาวเด่นได้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยในการซื้อขายแบบเต็มปีในช่วง 2 ปีแรกเขาทำกำไรเฉลี่ยได้ถึง 42% ต่อมาในปี 1998 เมื่อ Griffin อายุได้ 30 ปี กองทุนบริหารความเสี่ยงของ Citadel ก็มีมูลค่าสินทรัพย์ 1 พันล้านเหรียญ

ในปี 2002 เขาก่อตั้ง Citadel Securities ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาไม่พอใจที่นายหน้า ซึ่งดูแลการซื้อขายออปชันให้กับเขาเรียกค่าตอบแทนมหาโหด ในปี 2003 Griffin วัย 34 ปี ติดทำเนียบ The Forbes 400 เป็นครั้งแรกด้วยทรัพย์สินสุทธิ 650 ล้านเหรียญ และเป็นสมาชิกในทำเนียบที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเองที่อายุน้อยที่สุดในปีนั้น



เวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่า เขาหาโอกาสดีๆ เข้าซื้อกิจการได้หลายครั้ง ในปี 2002 เขาเข้าซื้อหุ้นบางส่วนในธุรกิจซื้อขายพลังงานของ Enron และ 4 ปีต่อมาเขาได้มาทั้ง Amaranth Advisors และ Sowood Capital หลังจากที่ทั้งสองแห่งประสบผลขาดทุนอย่างหนักจากการซื้อขาย แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น กองทุนหลักของ Citadel ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงช่วงวิกฤตการเงินในปี 2008 จนขาดทุน 50% และหมิ่นเหม่จะต้องเสียกิจการ Griffin จึงประกาศห้ามขายคืนหน่วยลงทุน ซึ่งเขาบอกว่า เป็น “การตัดสินใจที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต” เพียงปีต่อมาเขาสามารถทำกำไรคืนได้ด้วยผลตอบแทน 62%

เมื่อถามว่า กุญแจสู่ความสำเร็จคืออะไร? Griffin จะบอกว่า เขาชอบคนเก่ง ตลอดชีวิตการทำงาน Griffin บอกว่า เขาน่าจะได้สัมภาษณ์ผู้สมัครงานด้วยตนเองไปแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 คน หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 2 คน เฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Citadel จ้างงานวิศวกรไปแล้วกว่า 400 ตำแหน่ง บางคนเป็นบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ขณะที่อีกหลายคนมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่สายเทคโนโลยีและบริษัทคู่แข่งใน Wall Street

Citadel ยึดมั่นในวัฒนธรรม “ไม่สู้ก็ตาย ไม่ว่ายก็จม” อย่างเคร่งครัด “ที่ Goldman ใครๆ ก็รู้จักว่าผมเป็นคนที่มุ่งมั่นเกินไป ผมบริหารพนักงานบางคนใกล้ชิดเกินไป” Pablo Salame ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนร่วมของ Citadel กล่าว


- ผลกระทบจากสถานการณ์สงครามและเงินเฟ้อ -

สงครามในยูเครนกลายเป็นเรื่องสำคัญเข้ามาแทนโรคโควิด-19 และสถานการณ์หุ้นมีมอันเลวร้าย เช่นเดียวกับนักเทรดเก่งๆ ทั่วไป Griffin สนใจผลกระทบต่อเนื่องมากกว่า กล่าวคือ เขากำลังไตร่ตรองว่าปฏิกิริยาที่มีต่อภัยพิบัติครั้งหนึ่งจะทำให้ทางเลือกดีๆ ที่มีอยู่ลดลงไปแค่ไหนในการเผชิญเหตุร้ายแรงในภายภาคหน้า เขาบ่นอุบกับนโยบายเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เลือกนำมาตอบโต้กับสถานการณ์โรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหว่านงบจับจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 ล้านล้านเหรียญ “เป็นการเพิ่มภาระซ้ำเติมการขาดดุลทางการเงิน และทิ้งหนี้สินไว้ให้กับคนรุ่นหลัง เมื่องบจับจ่ายหมดแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร”

นอกจากนี้ งบกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีส่วนผลักดันเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 8% “ตั้งแต่โตมาเราไม่เคยได้เห็นเงินเฟ้อแบบจริงๆ จังๆ และเราไม่ต้องการคุยสัญญาค่าจ้างระยะยาวโดยที่ค่าจ้างเพิ่มขึ้นในอัตราคงที่”

Griffin เชื่อว่าเงินเฟ้อจะบีบให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกยิ่งเข้มงวดในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่ดีนักสำหรับทวีปยุโรป ปัจจุบันยุโรปต้องเผชิญราคาไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติสูงเป็นประวัติการณ์ (สูงกว่าราคาในสหรัฐฯ กว่า 10 เท่า) ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตต่างๆ เช่น สารเคมีและปุ๋ยจากก๊าซ

Griffin บอกว่า การใช้เงินเหรียญสหรัฐฯ เป็นอาวุธอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงสำคัญที่สุด เวลานี้ชาติมหาอำนาจในยุโรปได้ตัดขาดรัสเซียไม่ให้เข้าถึงบัญชีธนาคารที่สะสมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์มูลค่ารวมกันนับแสนล้านเหรียญแล้ว

“Putin เรียกสิ่งนี้ว่า การก่อสงคราม” Griffin กล่าว “ประเทศของเรามีหนี้สินทางการเงินเป็นจำนวนมาก หากผู้ซื้อรายสำคัญทั่วโลกหันหลังให้กับพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ อื่นๆ เราจะมีต้นทุนจากหนี้สินดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และจะทำให้เราหมดความสามารถในการจัดหาโครงข่ายสวัสดิการสังคม หรือในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา การศึกษา หรือโครงสร้างพื้นฐาน”



สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมารัสเซียกำหนดให้ผู้ซื้อเชื้อเพลิงจากญี่ปุ่นชำระเงินในสกุลรูเบิลแล้ว ยังเหลือเวลาอีกเท่าไรก่อนที่จีนจะหันมาชำระด้วยเงินหยวนแทนเงินเหรียญสหรัฐฯ “หลายประเทศจะไม่ต้องการพึ่งพาสหรัฐฯ อีกต่อไป”

นี่เป็นเพียงผลกระทบประการแรก ซึ่ง Griffin คิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ “ไม่มีอะไรเทียบเท่าได้กับการผลักดันนวัตกรรม” การปฏิเสธตัวละครร้ายอย่างรัสเซียและจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มีแต่จะทำให้พวกเขาหันไปหาทางออกอื่นๆ “การไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูงจากสหรัฐฯ อีกต่อไปกลายเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ เพราะว่าพวกเขาพึ่งพาเราไม่ได้”

Griffin ไม่เข้าใจว่าเหตุใดประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างสหรัฐฯ กลับไม่สามารถผลิตน้ำมันให้เพียงพอได้ “มันคือการกำหนดเงินเฟ้อขึ้นมาเองในรูปแบบหนึ่ง ผ่านการตัดสินใจเชิงนโยบายจากสำนักงานใหญ่ เราโชคดีเหลือเกินที่สหรัฐฯ มีแหล่งเก็บพลังงานอุดมสมบูรณ์ เป็นส่วนผสมระหว่างเชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เข้ากับขนาดของประเทศ เพื่อให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากลมและแสงอาทิตย์ เรามีความได้เปรียบทั้งทางเทคโนโลยีและธรณีวิทยา การที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากประเทศอื่นจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง”

แม้กลางสถานการณ์จะมืดหม่น แต่ Griffin ไม่ต้องการให้นักลงทุนตกใจกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เขาเชื่อว่าราคาที่พุ่งทะยานนั้นท้ายที่สุดแล้วจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ด้วยตนเอง

เช่น ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่งจะขาดแคลนและมีราคาแพงเมื่อ 15 ปีก่อน แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่เรียกว่า การปฏิวัติการขุดเจาะแบบแฟรกกิ้งในเวลาต่อมาส่งผลให้สหรัฐฯ มีก๊าซเหลือเฟือและราคาถูก จนสามารถส่งออกไปยังทวีปยุโรปได้ถึงวันละ 7 พันล้านลูกบาศก์ฟุตแทนที่ก๊าซจากรัสเซีย

Griffin บอกว่า “ในอดีตที่ผ่านมาสินค้าโภคภัณฑ์มักจะมีราคาถูก เพราะเราค้นพบวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ให้ได้ในราคาไม่แพง หรือสรรหาวิธีการที่ใช้ต้นทุนลดลง”

สำหรับการเดิมพันระยะยาวที่ดีที่สุดนั้น Griffin ยกให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างนวัตกรรมใหม่มากมาย และเป็นผู้นำการปฏิวัติวิธีการทำงานขององค์กรต่างๆ ในสหรัฐฯ

แต่สำหรับบิตคอยน์ นักลงทุนอย่าง Griffin ยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัย “จากมุมมองทางเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อม บิตคอยน์ไม่ใช่ของที่มีประสิทธิภาพ และผมไม่ได้มองว่าบิตคอยน์เป็นโซลูชันการชำระเงินอีกทางหนึ่งด้วยซ้ำ ส่วนตัวแล้วผมไม่สนใจจะเก็บคริปโตไว้สะสมมูลค่า แต่ผมเองก็มีทรัพย์สินที่หลายๆ คนคงค้านแบบนี้เช่นกัน ผมเป็นนักสะสมศิลปะแนวแอ็บสแตรกต์ของสหรัฐฯ”

กระนั้นก็ดี Griffin ในฐานะนักยุทธศาสตร์ธุรกิจผู้ชาญฉลาดยังต้องยอมจัดฝึกอบรมให้กับบรรดานักวิเคราะห์เชิงปริมาณอัจฉริยะที่ Citadel Securities เกี่ยวกับการซื้อขายคริปโตในตลาดมูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญ โดยใช้สูตรที่ผลักดันพวกเขาขึ้นครองตลาดอยู่ในเวลานี้ ยิ่งไปกว่านั้นหากการหาเงินจากนักเทรดทาง Robinhood ยังทำได้ง่ายๆ มาแล้ว การทำกำไรจากนักลงทุนซื่อๆ ที่ดันมูลค่าตามราคาตลาดของ Dogecoin จนแตะ 2 หมื่นล้านเหรียญมาแล้วก็คงไม่ยากเย็นอะไร

Griffin เคยเอาชนะชาวคริปโตมาแล้วจากการทุ่มทุน 43 ล้านเหรียญซื้อสำเนารัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก นอกจากนี้ เขายังมีคู่แข่งสำคัญในการประมูลของ Sotheby’s เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2021 เป็นองค์กรเงินดิจิทัลระบบบล็อกเชนดำเนินงานในรูปแบบอัตโนมัติกระจายศูนย์ที่รู้จักในชื่อ ConstitutionDAO ซึ่งสามารถระดมทุนได้นับสิบล้านโดยหวังจะซื้อสำาเนารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

หลังจากที่สมบัติล้ำค่าอยู่ในมือของ Griffin เขาก็ติดต่อสมาชิก DAO กลุ่มนี้ “เราคุยกันเกี่ยวกับแนวคิดต่างๆ เช่น การกำกับดูแลร่วมกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรืออนุญาตให้พวกเขาสร้าง Constitution NFT ให้กับบรรดาผู้สมทบทุนของ DAO” Griffin กล่าว “แต่พวกเขาตัดสินใจไม่ได้” Griffin จึงจะนำเอกสารดังกล่าวส่งให้กับพิพิธภัณฑ์ Crystal Bridges Museum of American Art ของมหาเศรษฐี Alice Walton ซึ่งตั้งอยู่ที่ Bentonville ใน Arkansas ยืมไปจัดแสดง

    “คุณต้องมีการจัดลำดับ ต้องมีโครงสร้างผู้นำ ต้องมีการตัดสินใจที่ชัดเจน เช่นเดียวกับสายอำนาจที่ชัดเจน” Griffin กล่าว “วัฒนธรรมการมอบรางวัลให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนไม่สามารถสร้างผู้นำที่จำเป็นในการบริหารประเทศได้ ไม่ว่าจะในแง่ของธุรกิจหรือการเมือง”


เรื่อง: MANEET AHUJA และ CHRIS HELMAN

เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพ: AARON KOTOWSKI

อ่านเพิ่มเติม:

>> 10 อันดับ บุคคลร่ำรวยที่สุดในสหรัฐฯ ประจำปี 2022

>> 4 สุดยอดสถานที่พำนักหลังเกษียณในสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2022


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine