Jason Wang พลิก Food Delivery สู่ Fast Casual Dining - Forbes Thailand

Jason Wang พลิก Food Delivery สู่ Fast Casual Dining

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Oct 2020 | 06:30 PM
READ 2998

Jason Wang คือ หนึ่งในนักธุรกิจที่มีรายชื่ออยู่ในการจัดอันดับ Forbes 30 Under 30 ของวงการอาหาร ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ในฐานะผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน สั่งอาหารออนไลน์ ก่อนจะต่อยอดไปสู่การเป็นเจ้าของร้านอาหารประเภท Fast Casual Dining

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกาช่วงเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา Wang ได้ตัดสินใจที่จะพักอยู่ที่ญี่ปุ่นสักระยะหนึ่ง ระหว่างเส้นทางกลับจากการพักผ่อนที่อินโดนีเซีย เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ในขณะเดียวกัน นักธุรกิจหนุ่มผู้นี้กลับสามารถขยายอาณาจักรร้านอาหารของเขาได้เป็นอย่างดี  ณ เวลาเที่ยงคืน ของวันที่ 23 กันยายน 2020 ตามเวลาท้องถิ่นญี่ปุ่น Wang ยังคงเฝ้ารอการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการของร้านข้าวมันไก่ไทยสาขาล่าสุด ภายใต้ชื่อ Rooster & Rice ที่ห้างสรรพสินค้า Westfield Valley Fair ใน Santa Clara, California ซึ่งเป็นหนึ่งในห้างที่ใหญ่ที่สุดใน Silicon Valley แต่ด้วยพื้นที่เช่าร้านเพียงร้อยละ 25 ได้สร้างข้อจำกัด ที่ทำให้สามารถให้บริการเพียงสั่งกลับบ้าน (takeout) เท่านั้น  “บางทีสถานที่แห่งนี้ อาจจะเป็นที่ตั้งที่แย่ที่สุดสำหรับร้านอาหารที่เพิ่งเปิดใหม่ อีกทั้งค่าเช่ายังราคาสูงอีกด้วย” Wang เล่าถึงการคาดการณ์เบื้องต้นของเขา แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้บริโภคยังสามารถหาร้านเจอ ส่งผลให้ยอดขายในวันแรกมีมูลค่ามากถึง 1,000 เหรียญสหรัฐ และด้วยความไม่น่าจะเป็นที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ Wang ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่อีกครั้ง เพราะห้างแห่งนี้อาจจะกลายเป็นที่ตั้งที่ดีที่สุดในการขยายเครือข่ายร้านอาหารของเขา ซึ่งเขาหวังว่าสักวันหนึ่งจะเติบโตออกนอกภูมิภาคแปซิฟิก “ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้ว” Wang ในวัย 33 ปีกล่าวขณะประชุมทางออนไลน์ผ่าน Zoom เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ร้านเปิดให้บริการ
Jason Wang
ร้านข้าวมันไก่ไทย Rooster & Rice
สำหรับเชนร้านข้าวมันไก่ไทยแห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากความร่วมมือกัน ระหว่างผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันสั่งอาหารออนไลน์ Caviar และเจ้าของร้านอาหารอีก 2 คน ที่ต้องการเปิดร้านอาหารที่เรียบง่าย สะอาด และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการได้ทานข้าวมันไก่ ระหว่างเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย จึงได้ติดต่อให้ ชวยศ รัตตกุล ผู้บริหารเครือ Tenyuu Group พัฒนาสูตรสำหรับ Rooster & Rice โดยเฉพาะ Wang ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร Caviar แพลตฟอร์มที่มีกลุ่มเป้าหมายแรกเริ่ม คือ ร้านอาหารระดับภัตตาคาร (fine dining) ก่อนที่จะต่อยอดให้ครอบคลุมร้านอาหารระดับทั่วไป หลังจากที่มีผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งความสำเร็จในการบริหารแพลตฟอร์มในครั้งนี้ ได้ทำให้เขาตัดสินใจที่จะขายให้กับนายทุนในเวลาต่อมา เพื่อเดินหน้าก่อตั้งและบริหารธุรกิจร้านอาหาร ร่วมกับอดีตบริษัทคู่แข่ง อย่าง DoorDash และ UberEats อย่างไรก็ดี Caviar ในฐานะแอปพลิเคชันสั่งอาหารออนไลน์ ที่เชื่อมโยงร้านอาหาร ผู้จัดส่งอาหาร และผู้บริโภคเข้าด้วยกัน กลับเจอกระแสวิจารณ์ในประเด็นที่ว่า มีการเรียกเก็บค่าคอมมิชชันจากร้านอาหารมากเกินไป ที่ประมาณร้อยละ 25-30 ของมูลค่าในแต่ละออเดอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ร้านอาหารต้องพยายามเอาตัวรอดด้วยการหันมาทำเดลิเวอรี สำหรับข้อเรียกร้องนี้ Wang มีความเห็นว่า “ถ้าผมยอมสูญเสียรายได้ร้อยละ 85 ไป เพียงเพราะไม่ต้องการจะเสียค่าธรรมเนียมให้กับแอปพลิเคชัน ธุรกิจของผมก็คงจะไปต่อไม่ได้” ในทำนองเดียวกัน Wang ก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่ เพื่อรับออเดอร์ของ Rooster & Rice โดยเฉพาะ เนื่องจากหลายสาขายังเปิดให้บริการเพียงสั่งกลับบ้านเท่านั้น ซึ่งผลปรากฎว่า ภายหลังจากการเปิดใช้แอปพลิเคชันไปได้เพียง 2 เดือน กลับมีออเดอร์ทางออนไลน์เข้ามาถึง 1 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมดเลยทีเดียว ปัจจุบัน นักธุรกิจวัย 33 ปีผู้นี้ กำลังใช้เวลาในการบริหารจัดการร้านอาหารในเครือ มากกว่าใน Caviar ซึ่งเขาได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 และในเวลาเพียง 2 ปี ก็สามารถระดมทุนเพิ่มอีก 15 ล้านเหรียญจากธุรกิจรายใหญ่อย่าง Tiger Global และ Andreessen Horowitz ก่อนที่ Caviar จะถูกเข้าซื้อกิจการโดยธุรกิจแอปพลิเคชันรับชำระค่าสินค้าและบริการที่เรียกว่า Square ของมหาเศรษฐีพันล้าน Jack Dorsey ในมูลค่า 90 ล้านเหรียญ  เหตุการณ์ข้างต้น ได้ทำให้ Wang มีรายชื่อติดอยู่ในการจัดอันดับ Forbes 30 Under 30 ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา “ธุรกิจนี้ถือว่าประสบความสำเร็จจริงๆ” Wang กล่าว  แต่ Wang ไม่ได้หยุดแค่เพียงเท่านี้ ด้วยความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของนักธุรกิจ จึงเป็นเหตุให้ในปีเดียวกัน เขาตัดสินใจนำเงินที่ได้รับ มาจัดตั้งกองทุน Beluga Capital ร่วมกับผู้ก่อตั้งอีก 3 คน เพื่อระดมทุนจากธุรกิจที่ต้องการสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารในช่วงแรกเริ่ม นอกจากนั้น เขายังนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปใช้ในการลงทุนธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้ชื่อ Umai ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า อร่อย ก่อนที่จะเริ่มลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ในเวลาต่อมา 
Jason Wang
Jason Wang และผู้ร่วมก่อตั้ง Caviar อีก 3 คน ร่วมลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ไก่ทอดเกาหลี Bonchon
ในเดือนกันยายน 2016 เขาได้เข้าซื้อสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ Halal Guys ใน Seattle, Washington D.C.  ซึ่ง  ณ เวลานั้นเป็น “แฟรนไชส์ที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐอเมริกา” และต่อมาในเดือนมกราคม 2018 จึงขยายอาณาจักรอาหาร ไปสู่เชนร้านไก่ทอดเกาหลีอย่าง Bonchon ใน San Jose, California  ท้ายที่สุด Wang ได้กล่าวถึงสถานที่ตั้งของ Halal Guys สาขาที่ 2 ในเมือง Seattle บนชั้นล่างของสำนักงาน Amazon ที่อยู่ถัดจาก Facebook และ Apple ซึ่งเพิ่งเปิดทำการในเดือนกันยายน 2020 ที่ผ่านมาว่า “บริเวณนี้เกือบจะเป็นเมืองร้างไปแล้ว แทบจะหาคนอยู่บนถนนไม่ได้เลย แต่น่าแปลกที่เรายังดำเนินธุรกิจต่อไปได้” พร้อมทั้งคาดการณ์ถึงยอดขายที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ก่อนที่จะทิ้งท้ายว่า “อาหารของเราคงถูกสร้างมาเพื่อซื้อกลับบ้านจริงๆ” แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ How Food Delivery App Phenom Is Reinventing Fast-Casual Dining เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Stevanato Group ธุรกิจหลอดวัคซีนของตระกูลมหาเศรษฐีอิตาลี