Stevanato Group ธุรกิจหลอดวัคซีนของตระกูลมหาเศรษฐีอิตาลี - Forbes Thailand

Stevanato Group ธุรกิจหลอดวัคซีนของตระกูลมหาเศรษฐีอิตาลี

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Oct 2020 | 06:30 PM
READ 1760

Stevanato Group คือ ธุรกิจครอบครัว สัญชาติอิตาลี ที่เริ่มต้นจากการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำหอมและไวน์ ก่อนที่จะมาสร้างรายได้มหาศาลจากหลอดวัคซีนต้านโควิด-19

ในช่วงเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นขึ้นภายในอิตาลี ได้ส่งผลให้โรงงานทั่วประเทศจำเป็นต้องปิดทำการ แต่ใน Piombino Dese เมืองเล็กๆ ประมาณ 20 ไมล์จาก Venice ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานในเครือ Stevanato Group กลับมีเสียงเครื่องตัดขวดแก้วขนาดใหญ่ ส่งเสียงดังอย่างไม่มีวันหยุด  ขณะที่พนักงานกว่าร้อยชีวิตต่างสวมหน้ากากอนามัยตลอดการทำงาน 7 วัน ที่ถูกแบ่งออกเป็นวันละ 3 ช่วง เพื่อควบคุมการผลิตหลอดแก้ว (ampule) และเข็มฉีดยา (syringe) กว่าล้านชิ้น ในรูปทรงต่างๆ ตั้งแต่ปากกาฉีดอินซูลิน ไปจนถึงกระบอกตวงขนาดเล็ก ซึ่งในเวลาต่อมา จะถูกนำไปบรรจุวัคซีนต้านโควิด-19  “ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ หรือแม้แต่วันอีสเตอร์ ผมก็ออกไปทำงานเหมือนกับพนักงานทุกคน เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า เราอยู่เคียงข้างเขา” Franco Stevanato ประธานกรรมการบริหาร วัย 46 ปี ของ Stevanato Group ผู้เป็นหลานชายของผู้ก่อตั้ง Giovanni กล่าว วัคซีน ก็เหมือนกับยาประเภทอื่นๆ ที่ต้องฉีดเข้าสู่ร่างกาย คือ ต้องบรรจุอยู่ในหลอดแก้วที่ปลอดเชื้อแล้ว ดังนั้นแก้วที่ใช้จึงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่ไม่สามารถให้แก๊ส อย่างออกซิเจน สามารถซึมผ่านได้ เหมือนกับที่พลาสติกคุณภาพสูงเป็น  ในความเป็นจริง ธุรกิจผลิตขวดแก้วขนาดเล็ก เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ตั้งแต่ก่อนการเกิดโรคระบาดในเดือนมกราคม 2020 เสียอีก  เพราะจากการรายงานในปี 2019 ที่ผ่านมา เภสัชอุตสาหกรรมของโลก ได้ทำการสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ไปทั้งหมด 12 พันล้านชิ้น ซึ่งกว่า 2 พันล้าน ได้รับการผลิตโดยธุรกิจครอบครัว Stevanato Group ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเข็มฉีดยาอินซูลินรายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีแนวโน้มว่าจะต้องฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง ทำให้ความจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นกว่าล้านชิ้น ซึ่งทาง Stevanato คาดการณ์ว่า ความต้องการคงจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 20 ในอีก 2 ปีข้างหน้า “เรามีความพร้อมที่จะจัดหาสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เพื่อใช้ในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็ไม่ได้มีกลยุทธ์อะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่ว่า เราพยายามทำทุกอย่างให้เร็วที่สุด และยอมที่จะเสี่ยง โดยการเพิ่มเงินลงทุน เพราะเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด” Franco กล่าว
Stevanato Group
ซ้าย: เครื่องจักรในโรงงาน Stevano Group ขวา: สำนักงานใหญ่ของ Stevanato Group ที่ Piombino Dese, Italy
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัว Stevanato Group แตกต่างจากบริษัทอื่นๆ คือการที่พวกเขาควบคุมทุกกระบวนการในการผลิตด้วยตนเอง ตั้งแต่เริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างเครื่องจักรที่จะใช้ในการประดิษฐ์ และสามารถฆ่าเชื้อบรรจุภัณฑ์ได้ ซึ่งทางบริษัทได้ทำงานร่วมกับกองควบคุมทางการแพทย์ใน 150 ประเทศทั่วโลก  ในขณะเดียวกัน ลูกค้าจำนวนมากก็ใช้เครื่องจักร ที่ผลิตโดยบริษัท ในการบรรจุยาก่อนนำส่งให้ร้านขายยาและโรงพยาบาลเช่นกัน จนกล่าวได้ว่า เครื่องจักรเหล่านั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างความแตกต่างและโดดเด่นให้กับบริษัทก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2017 Sanofi บริษัทยารายใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส ต้องการเข็มฉีดยาปลอดเชื้อ (sterile syringe) ที่สามารถตีตลาดได้อย่างรวดเร็ว Stevanato จึงได้พัฒนาเข็มฉีดยาที่พร้อมใช้งาน โดยไม่ต้องผ่านการปลอดเชื้อใหม่อีกครั้ง โดยการสร้างเครื่องจักรที่สามารถล้างและปลอดเชื้อบรรจุภัณฑ์ได้ในเครื่องเดียวกัน ก่อนที่จะทำการจดสิทธิบัตรกระบวนการทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว กลายเป็นหนึ่งในรายได้หลักของบริษัทเป็นต้นมา “พวกเขาให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ” Ron Verkleeren ผู้จัดการแผนกวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่ Corning หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก ที่เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ และได้ร่วมงานกับ Stevanato ตั้งแต่ปี 2011 ในปี 2019 Stevanato มีผลประกอบการสุทธิที่ 47 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยยอดขายทั้งสิ้น 675 ล้านเหรียญ ซึ่ง Forbes คาดการณ์ว่า Sergio Stevanato อดีตประธานบริษัท และลูกชายของผู้ก่อตั้ง ในวัย 77 ปี ผู้ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 68 ของบริษัท มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.8 พันล้านเหรียญ  ขณะที่ ลูกชายทั้ง 2 คนของ Sergio ได้แก่ Franco ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และ Marco รองประธาน ในวัย 47 ปี ซึ่งต่างมีสัดส่วนในธุรกิจที่ร้อยละ 16 มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณคนละ 400 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ดี ในเดือนมิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการกู้เงินจากภายนอกเข้ามาใช้ในการบริหาร คิดเป็นมูลค่า 59 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะนำเงินมาลงทุนพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สวมใส่ได้ ตลอดจนการสร้างเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบชิ้นส่วนดังกล่าวโดยอัตโนมัติ มากกว่านั้น ทางบริษัทยังได้มีการวางแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3 ปีข้างหน้าเช่นกัน
Stevanato Group
Franco Stevanato ประธานกรรมการบริหาร
“ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ธนาคารที่เราร่วมงานด้วย กลับต้องการให้เราเข้าตลาดหุ้นให้เร็วกว่านี้ แต่ผมอยากรอให้เราพร้อมกว่านี้มากกว่า” Franco กล่าว Stevanato ได้เตรียมความพร้อมต่อความต้องการที่จะใช้วัคซีนต้านโควิด-19 เป็นเวลาหลายเดือน โดยเริ่มจากการจ้างพนักงานใหม่จำนวน 580 คน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2020 ต่อมา ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน จึงเข้าทำสัญญากับบริษัท Coalition for Epidemic Preparedness and Innovations (CEPI) ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหลอดแก้วทนความร้อนสูง (bolosilicate glass vial) จำนวน 100 ล้านชิ้น สำหรับวัคซีนกว่า 2 พันล้านโดส บริษัท CEPI เป็นบริษัทสัญชาตินอร์เวย์ ที่ได้รับการสนับสนุนโดย Gates Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ให้ดำเนินการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 กว่า 9 ชนิด ร่วมกับบริษํทเทคโนโลยีชีวภาพ Moderna ที่ตั้งอยู่ที่ Boston และมหาวิทยาลัย Oxford ในสหราชอาณาจักร สำหรับหลอดแก้วทนความร้อนสูงที่ได้กล่าวไปข้างต้น มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากแก้วชนิดอื่น ตรงที่ว่าสามารถทนต่อภาวะอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ อีกทั้งยังต่อต้านสารเคมีภายนอก จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับบรรจุยาที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น อย่างวัคซีน  ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงแรกของการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส Stevanato ก็ได้ร่วมคิดค้นวัคซีนจำนวนหนึ่ง จากทั้งหมด 30 ชนิด (ปัจจุบัน มีการคิดค้นวัคซีนทั้งสิ้น 176 ชนิดแล้วทั่วโลก) อย่างไรก็ดี รายละเอียดดังกล่าว ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ “เราติดต่อผู้ผลิตหลอดแก้วจำนวนมาก แต่ Stevanato Group เป็นกลุ่มบริษัทเดียว ที่มีศักยภาพในการผลิตหลอดแก้ววัคซีนที่ทุกคนต้องการ และยังไม่มีข้อผูกมัดใดใด” Jim Robinson ผู้รักษาการแทนประธานสมาคมที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของ CEPI กล่าว วัคซีน มีข้อจำกัดในการดูแลควบคุมที่เข้มงวดกว่าตัวยาชนิดอื่น และต้องเก็บรักษาในบรรจุภัณฑ์ประเภทหลอดแก้วปลอดเชื้อและเข็มฉีดยาเท่านั้น  Verkleeren จาก Corning ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “ยาหลายตัวเสื่อมคุณภาพจากการสัมผัสกับออกซิเจน ซึ่งในที่นี้ จำเป็นต้องใช้เวลาหลายล้านปี ที่จะทำให้ 1 โมเลกุลของแก๊สดังกล่าวซึมผ่านแก้วไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน กลับใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการผ่านพลาสติกเข้าไป ดังนั้น คุณภาพและการปลอดเชื้อจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะถ้าไม่ผ่านการปลอดเชื้อ ปัญหาด้านคุณภาพก็จะตาม แล้วเมื่อคุณฉีดเข้าสู่ร่างกาย จะยิ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่เลยทีเดียว” Stevano Group ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 ที่ชานเมือง Venice ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรมการเป่าแก้วให้เป็นรูปต่างๆ (glassblowing) มาอย่างยาวนาน   โดยในช่วงแรก บริษัทดำเนินการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับไวน์และน้ำหอม ภายใต้ชื่อ Soffieria Stella และเริ่มเติบโตในช่วงภาวะเศรษฐกิจหลังสงครามในอิตาลี ในปี 1959 ด้วยความต้องการในการขยายพื้นที่โรงงาน จึงได้ทำการย้ายบริษัทมาตั้งอยู่ที่ Piombino Dese เมืองอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่ไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำทั้ง 5 สาย ต่อมาในยุค 1960s ซึ่งเป็นยุคที่ผู้ผลิตอาหารเริ่มหันมาใช้ภาชนะพลาสติกกันจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้ Giovanni Stevanato ตัดสินใจที่จะลดปริมาณการผลิตแก้วลงถึง 2 เท่า แล้วหันไปพัฒนาเครื่องจักร ที่สามารถผลิตภาชนะพลาสติก จากเครื่องตัดแก้วขนาดใหญ่ที่มี จนกลายมาเป็นที่มาของเครื่อง 3BS ที่มาจากชื่อของ Stevanato และผู้ร่วมคิดค้นอีก 3 คน ได้แก่ Bormioli, Bottaro และ Bardelli ซึ่งเครื่องดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากถึง 2 เท่า และสามารถเจาะกลุ่มตลาดใหม่ได้ ซึ่งก็คือ เภสัชอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ในช่วง 1970s Soffieria Stella ก็ต้องปิดตัวลง ก่อนที่ครอบครัว Stevanato จะหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้ว เพื่อใช้ทางการแพทย์อย่างเต็มตัว “ช่วง 10 ปีแรกเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งสาเหตุหนึ่ง มาจากการที่ครอบครัวไม่ได้เปิดรับการลงทุนจากภายนอกเลย” Franco กล่าว  แต่ในที่สุด “จากการที่พ่อนำผลกำไรที่ได้มาทั้งหมดไปลงทุนกับการพัฒนา เราเลยสามารถผลิตเครื่องจักรของตนเอง ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตมากกว่าคู่แข่งถึงร้อยละ 50-60 เพราะขณะที่บริษัทอื่นๆ ไปซื้อเทคโนโลยีจากเยอรมัน เรากลับสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึงสองเท่า ด้วยจำนวนพนักงานที่เท่าเดิม”  ทั้งนี้ ในปี 1998 ซึ่งเป็น 2 ปีหลังจากที่ปู่ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเสียชีวิตไป Franco และ Marco ในฐานะหลานชาย ที่ขณะนั้นอายุประมาณ 25 ปี ก็ไ้ด้เริ่มเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว โดยมีภารกิจข้อที่หนึ่ง คือ การปฏิเสธข้อเสนอในการเข้าซื้อกิจการของบริษัทคู่แข่งรายใหญ่ และข้อที่สอง คือ การขยายบริษัทสู่ต่างประเทศ และในปี 2008 พวกเขาก็ได้เปิดโรงงานในต่างประเทศโรงงานแรก ที่ Monterrey, Mexico เพื่อที่จะเจาะตลาดในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ขณะที่ ปัจจุบัน มีเครือข่ายทั้งหมดโรงงาน 12 แห่งใน 4 ทวีป  ในปี 2016 กลุ่มบริษัท Stevanato ได้ขยายสู่สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก โดยการเข้าซื้อกิจการ Balda บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก สัญชาติเยอรมัน ในมูลค่า 112 ล้านเหรียญ ซึ่งมีโรงงานถึง 2 แห่งในตอนใต้ของรัฐ California 
Stevanato Group
Sergio Stevanato (คนที่ 2 จากซ้าย) กับเครื่อง 3BS และผู้ร่วมคิดค้น 3 คน ได้แก่ Bormioli, Bottaro and Bardelli.
ในที่นี้ อาจกล่าวได้ว่า ข้อได้เปรียบข้อหนึ่ง จากการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษและมีความสลับซับซ้อน คือ การจดสิทธิบัตรทางการค้า และได้รับการอนุมัติตามกฎข้อบังคับเป็นที่เรียบร้อย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ บริษัทยาจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์ของบริษัทจนกว่าจะเลิกทำการผลิตตัวยา  Aaron DeGagne นักวิเคราะห์ด้านสุขภาพจาก Morningstar ได้กล่าวอีกว่า กฎข้อบังคับมีผลบังคับใช้เป็นเวลามากกว่า 10 ปี และยังมีแนวโน้วที่ผู้ผลิตยาจะใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทเดิมต่อไป แม้ว่าสิทธิบัตรยาจะหมดอายุ และกลายเป็นยาสามัญไปแล้วก็ตาม ในท้ายที่สุด Franco ได้เปิดเผยถึงอนาคตของธุรกิจครอบครัว ที่กำลังจะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นว่า “วันนี้เรามี ปากกาฉีดอินซูลิน ก็จริง แต่วันพรุ่งนี้ บรรจุภัณฑ์ตัวที่มีอยู่จะต้องมีวิวัฒนาการต่อไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน” เพราะในปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งก็สามารถฉีดยาให้ตนเองที่บ้านได้แล้ว “และนี่คือข้อท้าทายที่เราจะต้องเผชิญในอีก 10-20 ปีข้างหน้า" แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ The Covid Vaccine Will Require Billions Of Tiny Glass Vials - And This Italian Billionaire Family Is Making Them เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: โอกาสทำเงินจากการห้องทดลอง “หาเชื้อโควิด-19”