กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เตรียมเผยแนวทางการพิจารณาคดี CFO ของ Huawei - Forbes Thailand

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เตรียมเผยแนวทางการพิจารณาคดี CFO ของ Huawei

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Dec 2020 | 07:30 PM
READ 3817

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางในการส่งตัว Meng Wanzhou รองประธาน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและทายาทคนโตของ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง Huawei บริษัทผู้ให้บริการด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศรายใหญ่ของจีน ให้สามารถเดินทางกลับประเทศจีนจากแคนาดา เพื่อแลกกับการยอมรับผิด

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ
Meng Wanzhou รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน Huawei

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2020 สำนักข่าว The Wall Street Journal รายงานว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ร่วมหารือกับทีมกฎหมายของ Meng Wanzhou ในข้อตกลงผัดผ่อนการพิจารณาคดีอาญา ที่เธอถูกจับกุมในแคนาดาเมื่อเดือนธันวาคม 2018 ตามคำร้องของทางการสหรัฐฯ ที่ระบุว่า Meng กระทำผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร HSBC และละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีให้กับอิหร่าน

เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ศาลแคนาดามีคำพิพาษาในขั้นต้นให้ Meng อาศัยอยู่ที่บ้านพักในเมือง Vancouver ต่อไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีทางกฎหมาย ซึ่งเธอก็ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันการสู้คดีกรณีส่งตัวเธอในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปพิจารณาคดีที่สหรัฐฯ ตลอดมา โดยระหว่างนี้ เธอจะต้องติดเครื่องติดตามตัวบริเวณข้อเท้า และต้องอยู่ภายในที่พักเท่านั้นในช่วงห้าทุ่มจนถึงหกโมงเช้า

ทั้งนี้ ความตึงเครียดของประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไม่ได้จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะที่ผ่านมา Huawei โดนข้อกล่าวหาจากทางการสหรัฐฯ ว่าได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยความมั่นคงของจีนให้ส่งเทคโนโลยีเข้ามาล้วงเอาข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญาของคนอเมริกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีคำสั่งให้คนในหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ดังกล่าว พร้อมกับส่งคำเตือนไปยังประเทศพันธมิตร เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา อิตาลี ว่าอุปกรณ์และเทคโนโลยี 5G ของ Huawei อาจเป็นอันตรายต่อข้อมูลของคนในประเทศ

แม้ว่า Huawei จะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่แห่งนี้กลับไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ออกคำสั่งแบนบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในรายงานงบประมาณประจำปี 2019 ทางบริษัทระบุว่า มียอดขายสุทธิอยู่ที่ 1.36 แสนล้านเหรียญฯ

อีกทั้ง เมื่อไม่นานมานี้ Huawei ได้ประกาศขาย Honor ซึ่งเป็นธุรกิจลูกออกไป เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับ Honor ในการเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนในสหรัฐฯ ตลอดจนการเชื่อมโยงกับซัพพลายเออร์รายต่างๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาการคว่ำบาตร และสำหรับมูลค่าการขายกิจการในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มกระแสเงินสดของ Huawei ได้เช่นกัน

ในที่นี้ Kiranjeet Kaur นักวิจัยอาวุโส จาก IDC สถาบันวิเคราะห์ตลาดเทคโนโลยีมองว่า ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งนี้จะสามารถคาดหวังในมาตรการผ่อนคลายจากทางการสหรัฐฯ ได้ ก็ต่อเมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างสองฝ่ายที่ครอบคลุมมากกว่าคดีของ Meng

ผมไม่คิดว่าการส่งตัว Meng Wanzhou กลับมายังจีนจะสามารถเปลี่ยนแปลงผลกระทบต่อธุรกิจได้มากนัก ตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นข้อกล่าวหาด้านภัยคุกคามต่อความมั่นคง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงซัพพลายเออร์รายต่างๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ Kaur กล่าว

Meng เริ่มทำงานที่ Huawei ในปี 1993 ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการของบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และจากการรายงานของ IDC ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 ที่ผ่านมา ระบุว่า Huawei ได้ก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกและอันดับที่ 1 ในจีน ด้วยยอดขายโทรศัพท์จำนวน 55.8 ล้านเครื่อง

แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ U.S. Justice Officials In Talks For Possible Release Of Huawei’s CFO เผยแพร่บน forbes.com อ่านเพิ่มเติม: ‘Huawei’ ขาย ‘Honor’ หวังลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ