หยุดการปล้นแบบถูกกฎหมายเสียที! - Forbes Thailand

หยุดการปล้นแบบถูกกฎหมายเสียที!

กระบวนการยึดทรัพย์ในทางแพ่งถือเป็นภัยใหญ่หลวงซึ่งสภาคองเกรสของสหรัฐฯ น่าจะสั่งห้ามมาตั้งนานแล้ว ตามกระบวนการนี้รัฐบาลสามารถจะยึดบ้านของคุณ รถของคุณ และเงินสดของคุณ แม้ว่าคุณจะไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายใดๆ เลยก็ตาม ซึ่งในที่นี้หมายถึงกรณีที่คุณไม่ได้ถูกส่งฟ้องหรือถูกตัดสินว่า ได้ก่ออาชญากรรมเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้มีการใช้กระบวนการนี้ยึดทรัพย์จากประชาชนชาวสหรัฐฯ อย่างมากมายจนคุณคิดไม่ถึงเลยทีเดียว

แต่เนื่องจากสภาคองเกรสไม่ได้ให้ความสนใจที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ศาลสูงสุดสหรัฐฯ จึงน่าจะต้องออกมาตัดสินชี้ขาดให้ชัดเจนไปเลยว่า กระบวนการนี้ขัดรัฐธรรมนูญอย่างไม่ต้องสงสัย ตามกระบวนการนี้เจ้าหน้าที่รัฐเพียงแค่ประกาศออกมาว่า พวกเขาสงสัยว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อการประกอบอาชญากรรม หรือได้มาโดยมิชอบ พวกเขาก็สามารถยึดทรัพย์ดังกล่าวได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ข้อสงสัยก่อนแต่อย่างใด ใช่แล้วครับ พวกเขาสามารถยึดทรัพย์ได้เลยโดยไม่ต้องฟ้องคดีด้วยซ้ำ จากนั้นคุณเองนั่นแหละที่มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าทรัพย์สิน ของคุณไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฎหมาย การที่คุณจะติดตามทรัพย์ของตัวเองที่ถูกรัฐยึดไปแล้วนั้นก็เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ และเป็นกระบวนการที่มีต้นทุนแพงมากๆ ตามปกติแล้วเงินที่ถูกยึดไปจะมีจำนวนแค่ไม่ถึง 2,000 เหรียญสหรัฐฯ และในหลายกรณีก็แค่ไม่กี่ร้อยเหรียญเท่านั้นเอง แต่ค่าใช้จ่ายในการติดตามเงินที่ถูกยึดไปนี้มักจะสูงเกินกว่ายอดเงินที่ถูกยึดไปเสียอีก นอกจากนี้ ถ้าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวหรืออสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน หรือรถยนต์ ก็มักจะถูกขายทอดตลาดผ่านกระบวนการประมูล ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามูลค่าของทรัพย์สินและเงินสดของประชาชนที่ถูกรัฐยึดมาตามกระบวนการยึดทรัพย์ในทางแพ่งสูงถึงกว่า 6.8 หมื่นล้านเหรียญ ทั้งนี้มีรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายจำนวนไม่น้อยที่ต้องอาศัยเงินจากกระบวนการยึดทรัพย์ในทางแพ่งมาสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานของตัวเอง ทีนี้พอจะเห็นภาพไหมว่ามันมีช่องโหว่ที่จูงใจให้มีการใช้กระบวนการนี้แบบไม่ถูกไม่ต้องยังไง สถาบันเพื่อความยุติธรรม (Institute for Justice) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่เหยื่อที่ได้รับความไม่เป็นธรรมในด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชนะคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายของเขต Albuquerque และรัฐ Philadelphia โดยทางสถาบันฯ ได้ต่อสู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานละเมิดของกระบวนการยึดทรัพย์ในทางแพ่งมานานหลายปี และได้ออกรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาโดยใช้ชื่อว่า “การปฏิบัติหน้าที่ตำรวจเพื่อแสวงกำไร” ตัวอย่างในเรื่องนี้มีอยู่มากมาย เช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาStephen Lara ซึ่งเป็นอดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ได้ขับรถจากรัฐ Texas เพื่อไปเยี่ยมลูกสาวใน California ระหว่างทางเขาถูกตำรวจในรัฐ Nevada จับในข้อหาแซงหน้ารถบรรทุกโดยไม่เหมาะสม เขายอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นรถและพบเงินสดที่เป็นเงินเก็บทั้งหมดในชีวิตของเขาบรรจุใส่เป้มาในรถด้วย จากนั้นตำรวจก็ยึดเงินของเขาไปแม้ว่า Lara จะมีใบเสร็จเป็นหลักฐานการถอนเงินออกมาจากธนาคาร และพวกตำรวจไม่ได้พบยาเสพติด และไม่ได้ตั้งข้อหาใดๆ กับเขาเลยสักกระทงเดียว ต่อมาเมื่อ Lara ยื่นฟ้อง และหนังสือพิมพ์ Washington Post ลงข่าวเรื่องของเขา ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (DEA) จึงเสนอที่จะคืนเงินให้กับเขา (แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้คืน) การที่คุณจะติดตามเงินหรือบ้านของคุณคืนจากกระบวนการนี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อตำรวจท้องที่ส่งทรัพย์ที่ยึดมาไปให้กับรัฐบาลกลาง ซึ่งจะดูแลเรื่องงานเอกสารทั้งหมดแล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์ตามมูลค่าทรัพย์กลับไปให้กับตำรวจท้องที่ (อาจจะแบ่ง 80% ให้กับรัฐและหน่วยงานในท้องที่) หรืออาจจะเรียกอีกอย่างได้ว่า เป็นเงินสินบนนั่นเอง รัฐ Maine เพิ่งจะประกาศห้ามการกระทำดังกล่าว เช่นเดียวกับรัฐอื่นๆ อีก 3 รัฐที่ประกาศห้ามไปก่อนหน้านี้ ในขณะที่ยังมีอีกหลายรัฐที่มีการตั้งข้อจำกัดในการยึดทรัพย์ในลักษณะนี้ แต่ยังคงมีการใช้กระบวนการนี้ละเมิดสิทธิประชาชนในอีกหลายส่วนของประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการสั่งห้ามใช้กระบวนการนี้ทั่วประเทศ  

- กฎหมายที่สมควรยกเลิกได้แล้ว -

เมื่อร้อยปีก่อนสภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายพาณิชย์นาวี ปี 1920 (Merchant Marine Act of 1920) หรือที่รู้จักกันในนาม Jones Act โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องการค้าของสหรัฐฯ กฎหมายฉบับนี้กำหนดว่า การขนส่งสินค้าใดๆ ระหว่างท่าเรือ 2 แห่งของสหรัฐฯ จะต้องใช้โดยเรือที่ต่อโดยชาวอเมริกันหรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรในอเมริกา และเป็นเรือที่มีชาวอเมริกันหรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรในอเมริกาเป็นเจ้าของและดำเนินการเท่านั้น กฎหมายฉบับนี้ทำให้เศรษฐกิจอเมริกันเสียโอกาสในการเติบโตไปถึงปีละกว่า 1 แสนล้านเหรียญ และทำให้ราคาน้ำมันเบนซินแพงขึ้นโดยใช่เหตุ กฎหมายล้าสมัยฉบับนี้น่าจะถูกเก็บเข้ากรุไปได้ตั้งนานสองนานมาแล้ว หนึ่งในสาระสำคัญที่เป็นปัญหาของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ทุกวันนี้ เรือขนาดใหญ่ที่ต่อในสหรัฐฯ มีต้นทุนสูงกว่าเรือที่ต่อในประเทศคู่แข่งถึงกว่า 4 เท่า ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมาย Jones Act จึงทำให้ต้นทุนของทั้ง ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ มันยังบิดเบือนรูปแบบการเดินเรือทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือ และส่งผลกระทบกับหลายๆ ที่ตามแนวชายฝั่งและเกาะกลางทะเลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Hawaii, Puerto Rico, Alaska และ Guam ซึ่งต้องพึ่งพาสินค้าที่ขนส่งทางเรือมากกว่ารัฐที่อยู่ลึกเข้าไปในทวีปอเมริกา ประเด็นที่เป็นปัญหาหนักที่สุดของกฎหมายนี้คือ เรื่องของพลังงาน เช่น หากพิจารณาตามตรรกะแล้ว Puerto Rico ควรจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากรัฐ Georgia หรือ Louisiana แต่เนื่องจากไม่มีเรือบรรทุก LNG ลำาใดที่เข้าเกณฑ์ตามที่ Jones Act กำหนดเอาไว้เลย ดังนั้น Puerto Rico จึงต้องนำเข้า LNG จากรัสเซียและประเทศอื่นๆ แทน ปัญหาทำนองนี้ก็เกิดขึ้นกับรัฐอื่นๆ ของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น รัฐ New England สามารถซื้อก๊าซธรรมชาติจากประเทศตรินิแดดและโตเบโก หรือแม้แต่ Siberia ได้ถูกกว่าที่ซื้อจากอ่าวทางตอนใต้ของสหรัฐฯ (Gulf Coast) เองเสียอีก มันเป็นเรื่องตลกร้ายที่โรงกลั่นที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสหรัฐฯ สามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ถูกกว่าที่ซื้อจากภายในประเทศสหรัฐฯ เอง หรือในกรณีของรัฐ California ที่ซื้อก๊าซจากสิงคโปร์ได้ง่ายกว่าที่จะซื้อจาก Gulf Coast เสียอีก ในขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่กลั่นจากโรงกลั่นใน Gulf Coast กลับถูกนำไปขายในลาตินอเมริกาแทนที่จะขายในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดเพี้ยนของกฎหมาย ทั้งนี้ Jones Act ไม่ได้ทำให้เกิดการบิดเบือนเฉพาะเรื่องของพลังงานเท่านั้น คุณเคยนึกสงสัยบ้างไหมว่า ทำไมสินค้าปลีกหลายๆ อย่างใน Alaska และ Hawaii ถึงได้แพงกว่าบนแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ มากมายนัก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันเป็นแบบนั้นก็คือ Jones Act นี่แหละ หากมีการยกเลิก Jones Act เสียได้จะทำให้ต้นทุนการขนส่ง สินค้าทางน้ำภายในประเทศสหรัฐฯ ลดลงถึง 50% ซึ่งจากผลการศึกษาของ OECD พบว่า การยกเลิกกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจของอเมริกาเพิ่มขึ้นถึง 1.35 แสนล้านเหรียญ กฎหมายอีกฉบับที่เก่าแก่พอๆ กับ Jones Act คือ กฎหมายการให้บริการเรือโดยสารปี 1886 (Passenger Vessel Services Act of 1886) ซึ่งตั้งข้อกำหนดเอาไว้คล้ายๆ กันคือ อนุญาตให้เฉพาะเรือที่ต่อโดยชาวอเมริกัน มีชาวอเมริกันเป็นเจ้าของ และมีลูกเรือเป็นชาวอเมริกันเท่านั้น ถึงจะรับผู้โดยสารจากท่าเรือแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ไปส่งที่อีกท่าเรือหนึ่งในสหรัฐได้ นี่คือสาเหตุว่าทำไมเวลาคุณนั่งเรือสำราญจาก San Francisco ไป Alaska ถึงต้องแวะหยุดที่ท่าเรือในแคนาดาก่อนถึงจะไปต่อได้ เพราะหากแล่นตรงจาก San Francisco ไป Alaska จะเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎหมาย เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้ต่อเรือสำราญขนาดใหญ่มาตั้งแต่ปี 1958 แล้ว ดังนั้น น่าจะถึงเวลาที่ควรเอากฎหมายทั้งสองฉบับนี้ไปทิ้งลงทะเลได้แล้ว   Steve Forbes Editor-in-Chief แห่ง Forbes   ภาพ: UNSPLASH อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine