ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ บริษัทผู้จำหน่ายและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที จากต้นกำเนิดของกิจการสตาร์ทอัพที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2552 กลายมาเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านไอทีที่มีสาขาทั่วโลกกว่า 80 แห่ง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ก่อตั้งขึ้นในปี 2555
นับจากวันแรกที่เริ่มกิจการในไทย ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี คือ ผู้บริหารหลักที่ดูแลธุรกิจนูทานิคซ์ในไทยต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน “กว่า 8 ปีที่ผมทำงานกับ Nutanix เริ่มต้นและเติบโตมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี” แม่ทัพนูทานิคซ์ไทย เปิดประเด็นพูดคุยกับทีมงาน Forbes Thailand ในการสัมภาษณ์แบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 สำนักงานของนูทานิคซ์ตั้งอยู่บนอาคารเกษรทาวเวอร์ เนื่องจากเป็นทำเลใจกลางเมือง สะดวกในการเดินทางไปพบลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่มักจะมีสำนักงานอยู่ในทำเลย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ เพราะธุรกิจของนูทานิคซ์คือ การให้บริการโซลูชันสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเทคโนโลยี ซึ่งวันนี้ก้าวมาสู่บริการไอทีแบบไม่จำกัดพื้นที่ ไม่ยึดติดกับอุปกรณ์เหมือนในอดีต เมื่อเทคโนโลยีคลาวด์ได้เข้ามาเป็นทางเลือกในการใช้งานแทนระบบเซิร์ฟเวอร์แบบดั้งเดิม บริการของนูทานิคซ์ในปัจจุบันจึงหันมาให้น้ำหนักกับบริการที่เรียกว่า คลาวด์เซอร์วิสเฉพาะองค์กร หรือ private cloud มากขึ้น- เทคโนโลยีอัปเดตเร็วขึ้น -
“จากยุคเริ่มต้นทีมงานเติบโตมาด้วยกัน ธุรกิจก็มี challenge มีความท้าทาย มีปัญหาให้แก้มาอย่างต่อเนื่อง 8 ปีก่อนเทคโนโลยี Nutanix คือ บริการโครงสร้างพื้นฐานไอที ก่อนจะมีเทคโนโลยีคลาวด์ที่พัฒนาเป็นคลาวด์ในองค์กร หรือ private cloud เชื่อมโยงไปสู่ภายนอก public cloud ต่างๆ” ทวิพงศ์อธิบายเหตุผลว่าทำไมเขาถึงแนะนำให้องค์กรต่างๆ มีทั้ง private cloud และ public cloud เพราะข้อมูลหลายอย่างขององค์กรจำเป็นต้องมีความปลอดภัย ป้องกันการถูกโจมตีหากใช้ public cloud เป็นพื้นฐาน ซึ่งเขาเล่าว่า เทคโนโลยีเดินทางมาเร็วมาก และแฮกเกอร์ก็เช่นเดียวกัน มีความก้าวหน้าในการโจมตีเจาะระบบคอมพิวเตอร์องค์กรต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้คนใช้คลาวด์กันมากขึ้น แฮกเกอร์จะมองหาช่องว่างและเน้นเจาะเข้าระบบที่เป็น user รายบุคคลซึ่งจะต่อเนื่องถึงข้อมูลในองค์กรได้ในที่สุด
- “โควิด” ตัวเร่งทรานส์ฟอร์ม -
เมื่อถามว่า 8 ปีที่อยู่มาเปลี่ยนอย่างไรบ้าง ทวิพงศ์บอกว่า มีหลายมุมมองในเรื่องเทคโนโลยี วิสัยทัศน์องค์กร ซึ่งผู้บริหารนูทานิคซ์วางไว้ว่า ต้องทำให้เทคโนโลยีก้าวทันและก้าวไปรอ การคาดการณ์ผ่านยุคสมัยสร้าง infrastructure ไปจนถึง private cloud และเชื่อมโยงไปสู่ public cloud แต่ถ้าในมุมของบุคลากร 8 ปี นูทานิคซ์เริ่มจากสตาร์ทอัพอินโนเวชั่นในปี 2552 ที่สหรัฐอเมริกา โดยผู้ก่อตั้ง 3 คน พวกเขาต้องการที่จะดิสรัปต์เทคโนโลยีด้วยบริการที่เรียกว่า ไฮเปอร์คอนเวิร์จ หรือ HCI ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ที่เป็นการ simplify infrastructure “เมื่อก่อนดาต้าคิดความยากซับซ้อนใช้ทักษะสูง innovation นี้ตัดปัญหาความซับซ้อนออกไป อาศัยทักษะคนน้อยลง เปรียบเหมือนก่อนมีสมาร์ทโฟน ถ้าเราอยากดูหนังสักเรื่องต้องมีเครื่องเล่นวิดีโอ เชื่อมทีวี ต่อสเตอริโอเสียงแบบไหน แต่ทุกวันนี้แค่มีสมาร์ทโฟนทำได้ทุกอย่าง มี software เข้ามาช่วย” นี่คือไอเดียบริการของนูทานิคซ์ที่ทำเรื่องยากของเทคโนโลยีให้นำมาใช้ง่ายขึ้น

- สร้างคนด้วยวัฒนธรรมองค์กร -
ตลาดคลาวด์เซอร์วิสกำลังเติบโต ลูกค้าใช้บริการเพิ่มขึ้น มีความต้องการ มีความจำเป็น และต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยี ทวิพงศ์บอกว่า ทีมงานนูทานิคซ์ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากบริษัทเป็นองค์กรด้านเทคโนโลยีจึงต้องมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ ดังนั้น หัวใจที่สำคัญของการเติบโตจึงต้องมาจากการเรียนรู้ “ที่ Nutanix เราต้องอบรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา อบรมและทดสอบเพื่อให้ทีมงานเกิดความรู้จริง” ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรก่อนจะออกไปบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ “สำหรับผมเทคโนโลยีเป็นโอกาส แต่ผมเน้นสร้าง culture ให้คนรู้หน้าที่รับผิดชอบตัวเอง มันอยู่ที่ทีมและทุกคน ผมใช้วิธีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างให้ทีมรู้สึกว่าผมไว้วางใจได้ จริงใจ และเป็นเหมือนเพื่อนที่รับรู้เสมอว่าโอเคหรือไม่โอเค สร้างวัฒนธรรมแบบไว้ใจกัน แม้เห็นต่างหรือบริษัทเปลี่ยนแปลงก็สามารถเปิดใจคุยกันได้ หาช่องทางไปได้” แม่ทัพนูทานิคซ์ ไทย อธิบายหลักคิดและวิธีนำพาองค์กรก้าวไปข้างหน้า โดยสร้างวัฒนธรรมที่ทุกคนรู้ว่า ความคิดต่าง การมองไม่เหมือนกันเป็นเรื่องปกติ แม้คิดต่างแต่สามารถหาจุดร่วมกัน สามารถสร้างองค์กรที่มีความยั่งยืนได้ มีคนมากขึ้นก็ถ่ายทอดลงไปในแต่ละคนเป็นวัฒนธรรมองค์กร และพยายามขยายไปยังคู่ค้าและลูกค้าด้วย ภาพ: API อ่านเพิ่มเติม:- JUSTIN KIM เปิดตัวสตาร์ทอัพด้านการดูแลสุขภาพจิต AMI รุกตลาดเอเชีย
- งานแต่งงานใน METAVERSE ของบ่าวสาว POTTERHEADS
- MUZE INNOVATION ชูเทคพาร์ทเนอร์ หนุนธุรกิจเสริมเขี้ยวเล็บด้วยดิจิทัล
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine
