Muze Innovation ชูเทคพาร์ทเนอร์ หนุนธุรกิจเสริมเขี้ยวเล็บด้วยดิจิทัล - Forbes Thailand

Muze Innovation ชูเทคพาร์ทเนอร์ หนุนธุรกิจเสริมเขี้ยวเล็บด้วยดิจิทัล

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Jan 2022 | 10:55 AM
READ 5276
Muze Innovation บริษัทเทคสัญชาติไทย ชูบทบาทพันธมิตรด้านเทคโนโลยี เน้นช่วยธุรกิจดึงจุดแข็ง เสริมเขี้ยวเล็บด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ต่อยอดการเติบโตและเพิ่มรายได้จากออนไลน์ รับ    เทรนด์ตลาดเปลี่ยนเร็วหลัง COVID-19 พร้อมสนับสนุนองค์กรธุรกิจวางรากฐานสู่โลกอนาคต ปัจจุบัน ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นกำลังมีบทบาทสำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเสริมศักยภาพให้กับองค์กรธุรกิจ ซึ่งองค์กรที่ต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นส่วนใหญ่เริ่มจากการวางกลยุทธ์ โดยการหาจุดเด่นที่แตกต่างหรือสิ่งที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยต่อยอดการเติบโตของธุรกิจได้ คุณบี พีรณัฎฐ์ ทูลแสงงาม ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท Muze Innovation ผู้มีประสบการณ์ในการสร้างดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้กับองค์กรใหญ่หลายองค์กร กล่าวว่า การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินการเพื่อสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มตามกลยุทธ์ที่วางไว้ ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่เป็น Tech Partner หรือพันธมิตรด้านเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้แต่ละองค์กรสามารถดำเนินการตามแผนการที่วางไว้ “Execution หรือ ขั้นตอนการลงมือปฎิบัติตามแผนที่วางไว้ คือหัวใจสำคัญในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่แพ้ขั้นตอนการวางกลยุทธ์ หากการวางกลยุทธ์เปรียบเสมือนการออกแบบบ้าน Execution จะเป็นขั้นตอนการสร้างจริง ตั้งแต่ปรับพื้น ลงเสาเข็ม และก่อสร้างบ้านจนเสร็จ แต่ไม่ว่าแบบบ้านจะดีแค่ไหน หากใช้ผู้รับเหมาที่ขาดประสบการณ์ก็จะได้บ้านที่ไม่แข็งแรง สร้างไม่เสร็จตามกำหนด หรือไม่ตรงตามแบบ” บี    พีรณัฎฐ์ กล่าว การลงมือปฎิบัติเพื่อสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มหรือดิจิทัลแพลตฟอร์มให้ประสบความสำเร็จ Muze Innovation วางกรอบการทำงานภายใต้ 3 กลยุทธ์สำคัญ คือ ทีมงาน การเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับโจทย์ และความสามารถในการปรับเปลี่ยนให้ทันกับตลาด โดยยึดหลักในการเป็น Tech Partner ให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
Muze Innovation (Head Office)
บี พีรณัฎฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ทีมที่ไม่ใช่คนในองค์กรหรือทีมเอ้าท์ซอร์ส (Outsource) มักพบปัญหาเรื่องเป้าหมายขององค์กรและเป้าหมายของทีมเอ้าท์ซอร์สที่เข้ามาวางระบบไอทีมีเป้าหมายต่างกัน โดยทั้ง 2 ฝั่ง เลือกที่จะสื่อสารกันด้วยเอกสาร TOR (Terms of Reference) โดยองค์กรระบุรายละเอียดของงาน และเทคโนโลยีที่ต้องการผ่าน TOR ขณะที่ทีมเอ้าท์ซอร์สมีหน้าที่ต้องดำเนินการตาม TOR ให้แล้วเสร็จ “ปัญหาคือ ในระหว่างการพัฒนาระบบ หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบธุรกิจ เช่น COVID-19 การดำเนินการตาม TOR ที่เคยลิสต์ไว้อาจไม่ตอบโจทย์ธุรกิจอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายละเอียดของงาน หรือระยะเวลาเข้าสู่ตลาดที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ แต่หน้าที่ของทีม  เอ้าท์ซอร์สยังคงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตาม TOR ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตามที่ตกลงกันไปแล้วได้ ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ องค์กรอาจได้ระบบที่ไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ ในขณะที่ทีมเอ้าท์ซอร์ส ก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ปิดโปรเจคได้ นับเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่ากับทั้ง 2 ฝ่าย” จาก Pain Point ดังกล่าวนำมาสู่หลักการทำงานของ Muze Innovation โดยนำหลักการทำงานแบบอไจล์ (Agile) เข้ามาปรับใช้กับลูกค้า เน้นเรื่องการรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ทันตามสถานการณ์ มีความเป็น Single Goal Single Team หรือการทำงานเป็นทีมเดียวกับลูกค้าองค์กร เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ธุรกิจของลูกค้าประสบความสำเร็จ
คุณบี พีรณัฎฐ์ ทูลแสงงาม ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท Muze Innovation
Muze Innovation จะทำหน้าที่เทคพาร์ทเนอร์ (Tech Partner) และจัดหาทรัพยากรที่ครบวงจร โดยนำทีมงานที่เรียกว่า Scrum Team ซึ่งประกอบด้วย Full-Stack Software Developer หรือผู้พัฒนาซอฟต์แวร์แบบเต็มรูป Project Owner ซึ่งจะเป็นผู้ที่ช่วยคิดและวางแผนธุรกิจ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทีมเทคโนโลยีที่เข้าใจธุรกิจ System Architect หรือผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมระบบ UX/UI Designer ที่ทำหน้าที่ออกแบบทั้งหน้าตา ความสวยงามของระบบ (User Interface) และออกแบบประสบการณ์การใช้งานระบบ (User Experience) ให้เหมาะสมกับผู้ใช้ เทคทีมเหล่านี้จะเข้าไปช่วยองค์กรตั้งแต่การวางไมล์สโตนของการสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร การดำเนินการวางระบบ พัฒนาระบบ และการส่งมอบระบบให้กับองค์กร โดยเน้นการทำงานแบบ V-Team (Virtual Team) ที่มีสมาชิกจากทีมในองค์กรและทีมของ Muze Innovation เป็นทีมเดียวในการสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มให้กับองค์กร ซึ่งองค์กรจะสามารถพัฒนาต่อยอดหรือขยายระบบตามการเติบโตของธุรกิจในอนาคตโดยใช้คนในองค์กรได้ “องค์กรต้องหา Core Value ของตัวเอง และเราในฐานะเทคพาร์ทเนอร์ก็จะนำดิจิทัลไปเพิ่มศักยภาพและต่อยอด Core Value นั้น เพื่อสร้างอิมแพคให้เกิดขึ้น ดังนั้นการเลือกเทคโนโลยีให้เหมาะกับการใช้งานหรือโจทย์ทางธุรกิจจึงเป็นหัวใจสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องนำดิจิทัลเข้าไปทำในทุกกระบวนการ และไม่ควรเลือกใช้แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะแพงกว่า แต่ไม่จำเป็นและไม่เหมาะกับงาน” บี พีรณัฎฐ์ กล่าว นอกจากการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับโจทย์ Muze Innovation ยังเน้นความสามารถในการปรับเปลี่ยนให้ทันกับตลาด เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว โดยจะเปิดรับฟังฟีดแบคเสมอและนำมาปรับเปลี่ยนระบบและพัฒนาให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ทัน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสำคัญในการทำ Agile Process “การพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่นอาจใช้เวลา 6-12 เดือน แต่การทำงานแบบอไจล์ (Agile) เราจะใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ทำฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการปัจจุบัน และฟังเสียงตอบรับจากผู้ใช้งานว่ามีปัญหาหรือคำแนะนำเพิ่มเติมใดๆ เรานำสิ่งเหล่านั้นมาจัดลำดับความสำคัญและเลือกจากสิ่งที่เปลี่ยนเล็กๆ และสร้างอิมแพคก่อน” แม็คยีนส์ ผู้ผลิตเสื้อผ้ายีนส์แบรนด์ไทย ซึ่งทาง Muze Innovation ได้เข้าไปช่วยสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับ Omni-Channel ตั้งแต่ปี 2560 เป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับโจทย์และการปรับเปลี่ยนระบบระหว่างทางให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยแม็คยีนส์สามารถสร้างกำไรได้ถึง 12.7% ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดของ COVID-19 รอบแรกและมีการล็อกดาวน์หลายเดือน ขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นมีกำไรเฉลี่ยเพียง 0.7% เท่านั้น โดยในปี 2564 แม็คยีนส์ยังสร้างรายได้จาก Omni-Channel ได้กว่า 420 ล้านบาท นอกจากนี้ Muze Innovation ยังเป็นเทคพาร์ทเนอร์ให้กับบีอีซีเวิลด์ ในการสร้างแพลตฟอร์ม OTT (Over The Top) หรือทีวีออนไลน์ ในชื่อ CH3+ จนปัจจุบันมีผู้ใช้งานต่อเดือนมากสุด 12 ล้านคน เติบโต 10 เท่าจากช่วงแรก ล่าสุด คือ OneSiam Application ยังได้เลือกใช้ inCart ของทาง Muze Innovation เป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง OneSiam Application เพื่อช่วยธุรกิจของร้านค้ากว่า 1,000 แบรนด์ใน 4 ศูนย์การค้าของบริษัท ซึ่งใช้ inCart แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช omni-channel เป็นซอฟตแวร์หลักหลักสำหรับร้านค้าเพื่อสื่อสารกับลูกค้าและจัดทำออเดอร์ ช่วยให้ OneSiam Application สามารถเปิดตัว SuperApp ได้อย่างรวดเร็ว
คุณบี พีรณัฎฐ์ ทูลแสงงาม ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท Muze Innovation
“แนวโน้มของดิจิทัลแพลตฟอร์มในปี 2565 จะเป็นเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อนำเสนอสินค้าหรือสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจจึงต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์หลังเกิดการซื้อขาย เพื่อทำความรู้จักลูกค้า และทำให้ Customer Lifetime Value หรือมูลค่าตลอดช่วงชีวิตของลูกค้าเพิ่มขึ้นและกว้างขึ้น นำไปสู่การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ดังนั้นองค์กรจะต้องเริ่มสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เหมาะกับตัวเองให้ได้เพื่อที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ทันในโลกยุคดิจิตอลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” บี พีรณัฎฐ์ กล่าว Muze Innovation ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 โดยในปี 2564 มีรายได้ 140 ล้านบาท เติบโตจากปี 2563 ที่มีรายได้ 67 ล้านบาท โดยคาดว่า จะมีรายได้ 240 ล้านบาทในปี 2565 และ 300 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่ง คุณบี      พีรณัฎฐ์ วางเป้าหมายนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2567 เพื่อสร้างฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งและให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัท โดยปัจจุบัน มีพนักงาน 60 คน และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 120 คนในปี 2565 นี้