ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โมเดลยุคแรก “ประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตรเป็นหลัก เช่น ผลิต และขายพืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์
ต่อมาเข้าสู่ยุคที่ 2 “ประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา เช่น ผลิตและขายเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เครื่องประดับ และก้าวสู่ “ประเทศไทย 3.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก เช่น ผลิต ขายและส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ การกลั่นน้ำมัน การแยกก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ แต่ทว่าภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 3.0” ขณะนี้ต้องเผชิญกับดักสำคัญที่ไม่อาจนำพาประเทศพัฒนาไปมากกว่านี้ จึงเป็นประเด็นที่ประเทศไทยต้องสร้างโมเดลใหม่ขึ้นมาเพื่อวางภาพอนาคตทางเศรษฐกิจให้ชัดเจนขึ้น ถ้าเปรียบไปก็คล้ายกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกาที่มี “A Nation of Makers”, เยอรมนี “High-tech Strategy 2020”, อังกฤษ “Design of Innovation”, ญี่ปุ่น “Industry Value Chain Initiative”, จีน “Made in China 2025”, อินเดีย “Made in India”, เกาหลีใต้ “Creative Economy” และไต้หวันที่มี “Productivity 4.0” เป็นต้น
นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยุคแรกๆ เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า มีการให้สิทธิทางภาษีผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ต่อมามีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้มีการหลั่งไหลของทุนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก และมีการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมบางประเภทเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ขณะเดียวกันก็มีผลทำให้โครงสร้างการส่งออกและการนำเข้าเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ยุคต่อมาเป็นยุคที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และเป็นแรงกดดันให้ประเทศไทยต้องเปิดเสรีการค้า การเงิน และการลงทุนไปพร้อมๆ กัน ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งที่มีการผลิตอยู่เดิม เช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์ ปิโตรเคมี และโรงกลั่นน้ำมัน ตามนโยบายลงทุนเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก และตามการย้ายฐานการผลิตระลอก 2 จากประเทศญี่ปุ่น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือที่เรียกกันว่าโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งมีการวางแผนที่ดีทำให้ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในเรื่องความเหมาะสมของการพัฒนา
ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคนี้ พบว่าประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดัน 2 ด้าน ด้านแรกจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งสามารถพัฒนาสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมไปถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เริ่มมีผลให้ความต้องการสินค้าดั้งเดิมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานของไทยลดลง ขณะที่แรงกดดันอีกด้านมาจากประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่า จึงกลายเป็นคู่แข่งสินค้าอุตสาหกรรมเบาของไทยด้วย ในระยะหลังนโยบายอุตสาหกรรมของไทยจึงเน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพให้อุตสาหกรรมไทย การให้ความสำคัญในการแข่งขันด้านมูลค่า คุณภาพมาตรฐาน ระบบการบริหารงาน การตลาด และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการกระจายอุตสาหกรรมไปยังต่างจังหวัด เป็นต้น
ในยุคปัจจุบัน ไทยอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีการสนับสนุนการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาค (New Regional Clusters) แทนการส่งเสริมในเขตพื้นที่ (Zoning) เช่น การส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) การส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือเอสอีซี ทำให้การส่งเสริมกิจการที่ใช้เทคโนโลยีสูง มีแนวโน้มได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า ขณะเดียวกันก็ได้มีการลดขั้นตอนกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคของภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ การต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) การสนับสนุนเครือข่ายความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อผลักดันห่วงโซ่อุปทาน และการมีทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ตลอดจนการเสริมสร้างจุดแข็งที่มีอยู่ของภาคอุตสาหกรรมไทย คือ การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค การมีวัตถุดิบที่หลากหลายและมีคุณภาพ เป็นต้น
มองต่อไปข้างหน้า จากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ปัญหาอุปทานส่วนเกินในหลายๆ อุตสาหกรรม ข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิต เช่น ขาดการพัฒนาทักษะแรงงาน นวัตกรรมการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องยกระดับผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย
อ่านเพิ่มเติม- EEC ทำเลแห่งอนาคต ตลาดอสังหาฯ คึกรับโอกาสการเติบโต
- คิง ไว กรุ๊ปผุด “สมาร์ท ซิตี้” 2,000 ไร่รับอีอีซี รุกตลาดคอนโดฯ หรูกรุงเทพฯ
เรื่อง : จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจอื่นๆ ในนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2562 ในรูปแบบ e-magazine