ย้อนหลังไปก่อนปี 2560 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หน่วยงานด้านน้ำทำงานในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน รัฐบาลเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ปี 2560
ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)” ทำหน้าที่บูรณาการงาน ข้อมูล แผนงาน โครงการ และงบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผล และการควบคุมการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ บุคลากรเพียงไม่กี่คน ในเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้ขยายการดำเนินการจนปัจจุบันมีบุคลากรราว 400 คน จากสำนักงานในส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ก็ขยายการดำเนินงานไปยังส่วนภูมิภาค มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1-4 เชื่อมโยงการทำงานระหว่างส่วนกลางและระดับลุ่มน้ำ ด้วยปณิธานที่ยึดถือร่วมกันที่จะพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน ภายใต้บทบาท “เสนาธิการด้านน้ำของประเทศ” เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริงและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เราได้ปรับปรุงแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีแนวทางการดำเนินงาน ตัวชี้วัด และเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน และยังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ปี 2562 เป็นกฎหมายหลักฉบับแรกที่ตราขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการใช้น้ำ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของประเทศเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน หน้าที่ที่สำคัญของเราอีกประการคือ การทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะอนุกรรมการฯ ด้านน้ำต่างๆ โดยทำหน้าที่กำกับนโยบาย ขับเคลื่อนการดำเนินการให้ความเห็นทางวิชาการ และนำเสนอแผนงานที่สำคัญ อาทิ การขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปี 2563-2580 การเสนอแผนงาน/โครงการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร การกำกับดูแลแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ ตลอดจนการติดตามประเมินผลโครงการทั้งการลงพื้นที่จริงภาคสนาม และการตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน “Thai Water Plan” ที่พัฒนาขึ้นโดยนำฐานข้อมูลด้านน้ำเชื่อมโยงกับระบบภูมิสารสนเทศใช้ในการประกอบคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี การเสนอแผนงาน/โครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเร่งด่วนจากรัฐบาล และยังใช้รายงานผลการดำเนินงานโครงการด้านน้ำในทุกแหล่งงบประมาณได้อย่างถูกต้อง ในปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นอีกปีที่ประเทศไทยประสบวิกฤตภัยธรรมชาติที่เกี่ยวกับน้ำ ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ สทนช. จัดตั้ง “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” โดยมีหน่วยงานด้านน้ำทั้งหมดบูรณาการร่วมแก้ไขปัญหาจนสามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สทนช. ยังมีผลงานด้านต่างประเทศโดยเป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในการบริหารจัดการแม่น้ำโขง ความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศและองค์กรด้านน้ำระดับนานาชาติ ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของผลงานในบทบาท “เสนาธิการด้านน้ำของประเทศ” ที่ สทนช. ดำเนินการอยู่ เรายังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศต่อไป สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อ่านเพิ่มเติม:- “U2T” จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เปลี่ยน “อนาคตคนและชุมชนไทย”
- “BEN FRANCIS” ผู้ก่อตั้ง “GYMSHARK” ยิมผู้ทรงอิทธิพล
- ตลาดหุ้นเวียดนาม นิวไฮแล้ว น่าลงทุน?
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine