ตลาดหุ้นเวียดนาม นิวไฮแล้ว น่าลงทุน? - Forbes Thailand

ตลาดหุ้นเวียดนาม นิวไฮแล้ว น่าลงทุน?

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Jun 2021 | 10:01 AM
READ 5578

ตามคาด...ดัชนี VNI ของตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ โตไม่หยุด...ฉุดไม่อยู่ ทำพุ่งทะยานทะลุ 1,340.78 จุด ในวันที่ 2 มิถุนายน

ความแรงของตลาดหุ้นหลักของเวียดนามไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะนอกจากจะยืนเหนือ 1,200 จุดมาได้ตลอด ล่าสุดทำนิวไฮใหม่ไปแล้วเหนือ 1,340.78 จุด ในวันที่ 2 มิถุนายน และทำสถิติสูงสดในรอบ 21 ปี จากวันที่เปิดตลาดหุ้นโฮจิมินห์ในปี 2543 โดยสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ได้ระบุว่า ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามให้ผลตอบแทนปีราวร้อยละ 13.2 แบบทบต้นเลยทีเดียวและถือว่าเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ดีเลิศแห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้ นับเป็นการทำสถิติใหม่ของดัชนี VNI ตามที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ว่า ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ มีลุ้นทำนิวไฮในปี 2564 ส่งผลให้นักลงทุนต้องหันสปอตไลต์ไปดูว่า อะไรทำให้ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม พุ่งแรงได้แบบนี้ สถิติเดิมของดัชนี VNI ที่เคยทำไว้ อยู่ที่ 1,204.33 จุด เมื่อ 9 เมษายน 2561 และนิวไฮใหม่ล่าสุด ใช้เวลาเพียง 3 ปีหย่อนๆ เท่านั้น นักลงทุนหลายท่านที่กำลังสนใจตลาดหุ้นเวียดนาม อาจจะคิดว่า ดัชนีหลักอย่าง VNI ทำสถิติใหม่ขนาดนี้ ร้อนแรงไปแล้วหรือยัง ราคาหุ้นเวียดนามแพงไปหรือยัง หากลังเลว่า ควรจะเข้าลงทุนตลาดหุ้นเวียดนามตอนนี้หรือไม่ ลองมาเช็กลิสต์กันว่า คุณสมบัติของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจเวียดนามปัจจุบันนี้ ตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนหรือไม่ 3 เหตุผลที่ ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ ยังทำนิวไฮได้อีก เวียดนามมีตลาดหุ้น 2 แห่ง ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Stock Exchange - HOSE) มีดัชนีหลักคือ VNI และ VN30 กับตลาดหลักทรัพย์ฮานอย (Hanoi Stock Exchange - HNX) มีดัชนีหลักคือ HNX และ HNX30 นักลงทุนส่วนใหญ่ดูความเคลื่อนไหวของดัชนี VNI เป็นหลัก เพราะเป็นตลาดหุ้นมาร์เก็ตแคปใหญ่ มาดูกันว่า ปี 2564 นี้ ดัชนี VNI นิวไฮ...ยังน่าสนใจหรือไม่ โดยมี 3 เหตุผลเด่นๆ ดังนี้ 1.กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตอย่างเด่นชัด นักวิเคราะห์คาดว่า บริษัทในตลาดหุ้นเวียดนามจะมีกำไรเติบโต้ร้อยละ 23 ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่กำไรลดลงร้อยละ 17 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 2.ราคาหุ้นยังถูกกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค วัดกันที่ค่า Price to Earnings Ratio (ค่า P/E) ของดัชนี VNI ปี 2564 คาดว่า จะอยู่ที่ 18 เท่า เพิ่มขึ้นจากในอดีต แต่นับว่ายังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เทียบกับปี 2563 ค่า P/E อยู่ที่ 16.03 เท่า ค่า P/E เฉลี่ยช่วงปี 2561-2563 ของดัชนี VNI อยู่ที่ 16.4 เท่า ค่า P/E จะเป็นตัวสะท้อนระยะเวลาคืนทุน เมื่อนักลงทุนต้องใส่เงินลงทุนไปในหุ้นตัวนั้นในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับ ค่า P/E ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ราวๆ 20-30 เท่า ลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ใช้เวลาคืนทุนน้อยกว่า 3.มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นจากกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและผลประกอบการดี นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี VNI จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 12.3 ในปี 2564 กลุ่มนักลงทุนที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดหุ้นเวียดนาม คือ นักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนหน้าใหม่ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนถึงสิ้นเดือนเม.ย. ตลาดหุ้นเวียดนามมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ 3.14 ล้านบัญชี หรือประมาณร้อยละ 3.2 ของประชากรเวียดนาม และมากกว่าร้อยละ 95 เป็นนักลงทุนรายย่อย นอกจากนี้มี 2 อุตสาหกรรมใหญ่ในตลาดหุ้นเวียดนาม คือ ธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนในดัชนี VNI ที่ร้อยละ 27 และร้อยละ 26 ตามลำดับ ทั้งธุรกิจธนาคารและอสังหาริมทรัพย์จะได้รับปัจจัยเชิงบวกในช่วงที่เวียดนามกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 จากอัตราดอกเบี้ยขาลง ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้น และราคาที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ๆ สูงขึ้น ดังนั้นเมื่อผลประกอบการอุตสาหกรรมหลักในตลาดหุ้นเวียดนามดี จะส่งผลให้ดัชนี VNI และ HNX สูงขึ้น และมูลค่าหุ้น (Valuation) เพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนีและมูลค่าหุ้นยังมีโอกาสที่จะทำนิวไฮได้อีก 6 เหตุผลที่ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ ยังโตแรงได้อีก คุณสมบัติทางเศรษฐกิจของเวียดนามในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะสะท้อนภาพว่า ในอนาคตอีก 10-20 ปี ข้างหน้า เวียดนามมีโอกาสเติบโตหรือไม่ เครื่องยนต์กลไกด้านไหนจะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลองดู 6 เหตุผลที่เป็นปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนาม 1.เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตในอัตราที่สูงต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตในอัตราร้อยละ 5-8 ต่อปี อ้างอิงจาก World Economic Forum ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) วิกฤตโควิด-19 ยังทำอะไรเศรษฐกิจเวียดนามไม่ได้ ขณะที่เกือบทั้งโลกมีเศรษฐกิจติดลบในปี 2563 แต่เวียดนามยังมี GDP เติบโตได้ร้อยละ 2.9 สำหรับปี 2564 เศรษฐกิจเวียดนามคาดว่า จะฟื้นตัวจากโควิด-19 โตร้อยละ 6.5 จบไตรมาสแรกที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม รายงานว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 4.48 2.การเมืองมีเสถียรภาพภายใต้พรรคการเมืองเดียว เวียดนามมีระบบพรรคการเมืองเดียว นั่นก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ส่งผลให้นโยบายบริหารประเทศมีความต่อเนื่อง มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แม้ว่าตำแหน่งผู้นำประเทศจะเปลี่ยนมือไปกี่คน ก็ยังอยู่ภายใต้การบริหารประเทศพรรคเดียวกัน นอกจากนี้เวียดนามได้ริเริ่มนโยบายปฎิรูปเศรษฐกิจ เปิดประเทศสู่ตลาดโลกทั้งด้านการค้าและการลงทุน ดอย เหม่ย (Doi Moi) ในปี 2529 ประกอบกับมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่องมาจนถึงแผนที่ 11 (2564-2568) ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมามีการเติบโตมาโดยตลอด  3.ประชากรขนาดใหญ่และมีแรงงานมากพอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เวียดนามมีประชากร 97.34 ล้านคน ณ สิ้นปี 2563 อัตราการเกิดอยู่ที่ 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน สัดส่วนของประชากรอายุ 15-64 ปี อยู่ที่ ร้อยละ 69 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน 4.เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ปี 2563 เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment - FDI) อยู่ที่ โดย 28,530 ล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 25 จากปีก่อน จากผลกระทบโควิดแต่ General Statistics Office (GSO) รายงานว่า ยอด FDI ของเวียดนามในปี 2562 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ดิจิทัลระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Samsung Mcnex หรือ Foxconn มาตั้งฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่เวียดนาม และวางแผนจะส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตจากเวียดนามไปฐานผลิตอื่นๆ ทั่วโลก ล่าสุดไตรมาสแรกของปี 2564 ยอด FDI 2564 มีมูลค่ารวม 10,130 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากบริษัทจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เมื่อเวียดนามเป็นจุดหมายสำคัญของการลงทุนจากต่างชาติ ย่อมส่งผลให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการส่งออกและการจ้างงานก็เติบโตขึ้น 5.มูลค่าการส่งออกสูงจากการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ผลพวงจากมูลค่า FDI ที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ภาคการผลิตของเวียดนามเติบโตขึ้น เมื่อผลิตสินค้ามากขึ้น ก็สามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก GSO รายงานว่า ไตรมาสแรกปี 2564 มูลค่าการส่งออกเวียดนามโตร้อยละ 22 อยู่ที่ 77,344 ล้านเหรียญฯ ส่วนมูลค่าการนำเข้าเติบโตร้อยละ 26.3 อยู่ที่ 75,308 ล้านเหรียญฯ เกินดุลการค้า 2,306 ล้านเหรียญฯ  GSO บอกอีกว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปี 2564 ก็เติบโตร้อยละ 5.7 สำหรับปี 2563 ท่ามกลางวิกฤตโควิด มูลค่าการส่งออกเวียดนามโตร้อยละ 6.5 อยู่ที่ 281,500 ล้านเหรียญฯ​ ส่วนมูลค่าการนำเข้าเติบโตร้อยละ 3.6 อยู่ที่ 262,400 ล้านเหรียญฯ อีกข้อดีที่ทำให้เวียดนามสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้มาก เพราะรัฐบาลเวียดนามมีการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศอื่นๆ ไว้มากมาย ข้อตกลงเด่นๆ คือ CPTPP (ภาคพื้นแปซิฟิก) และ EVFTA (สหภาพยุโรป) ที่ทำให้สินค้าจากเวียดนามเข้าประเทศกลุ่มนี้ได้ โดยไม่มีภาษีนำเข้า 6.ประชากรมีกำลังซื้อมากขึ้น เป็นประเทศรายได้ปานกลาง เวียดนามมีเป้าหมายการเป็นประเทศอุตสาหกรรมและประชากรมีรายได้ปานกลางระดับสูง ในปี 2578 ซึ่งตามเกณฑ์ของธนาคารโลกตั้งเกณฑ์ไว้สำหรับประเทศ Upper-middle Income ที่ 4,046 - 12,535 เหรียญฯ ต่อคน ต่อปี วัดตาม Gross National Income (GNI) ตามสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 ประชากรเวียดนามมีรายได้ 2,540 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ยังจัดเป็นประเทศ Lower-middle Income แต่เมื่อการจ้างงานมากขึ้น ประชากรวัยทำงานเป็นกลุ่มใหญ่ รายได้ประชากรเวียดนามยังมีโอกาสเพิ่มได้อีกในอนาคต   นี่คือ 3 เหตุผลที่สะท้อนภาพความน่าสนใจของ ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ และ 6 เหตุผลที่บอกว่า ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ อดีตและปัจจุบัน และมีศักยภาพเติบโตได้อนาคตหรือไม่ ทุกเหตุผลล้วนมีแรงส่งกันและกันเป็นลูกโซ่ เศรษฐกิจเวียดนามเปรียบเหมือนภาพใหญ่ ที่จะบอกเป็นนัยยะว่า เศรษฐกิจเติบโตได้ดี มีการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน ประชาชนมีกำลังซื้อ มูลค่าการส่งออกสูง ย่อมส่งผลให้ภาพย่อยอย่างตลาดหุ้นเวียดนามมีทิศทางเติบโตได้ดี จากเม็ดเงินจากนักลงทุนและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งส่งภาพสะท้อนมาให้ดัชนี VNI ทำนิวไฮ และมูลค่าหุ้นสูงขึ้นตามมา อ่านมาถึงตรงนี้ หากคุณคิดเหมือนว่า ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ มีศักยภาพมากพอ และสนใจลงทุนหุ้นเวียดนามโดยตรง Jitta Wealth มีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking พาคุณไปพบกับ ‘หุ้นคุณภาพดี ราคาถูก’ ในเวียดนาม ตามหลักการลงทุนของ Warren Buffett บทความโดย jittawealth.com
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine