“U2T” จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เปลี่ยน “อนาคตคนและชุมชนไทย” - Forbes Thailand

“U2T” จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เปลี่ยน “อนาคตคนและชุมชนไทย”

ผมเพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต นั่นก็คือ วันคิกออฟโครงการ “U2T” หรือ “โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ” เพราะวันนั้นเป็นวันที่ผมได้ส่งมหาวิทยาลัยลงสู่ 3,000 ตำบล ส่งบัณฑิตนักศึกษาและประชาชนกว่า 60,000 คน ลงไปช่วยชาวบ้านและพัฒนาชุมชน

โครงการ U2T นี้มีที่มาจากโควิด-19 เราคงทราบกันดีว่าที่ผ่านมาไทยจัดการกับโควิด-19 ในทางสาธารณสุขและการแพทย์ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่ในทางเศรษฐกิจและสังคมเราห่วงการว่างงานที่สุด โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน จึงได้วางแผนทำโครงการ U2T นี้ขึ้น โดยร่วมกันทำทั้งองคาพยพของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ซึ่งผมรับหน้าที่เป็นแม่ทัพอยู่ในขณะนี้ โครงการ U2T จึงเป็นการช่วยเหลือลูกหลานชาวบ้าน 60,000 คนให้มีงานทำในภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยให้เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดการสร้างงาน และพัฒนาแก้ไขปัญหาและเศรษฐกิจของตำบลแบบพุ่งเป้าในระยะเวลา 1 ปี ขณะเดียวกันก็จะสร้างคน 60,000 คนด้วยทักษะใหม่ ให้เป็นคนที่จะมาพลิกโฉมประเทศไทยจาก 3,000 ตำบลสู่อำเภอ สู่จังหวัด และทั่วทุกภูมิภาค โดย อว. จะติดอาวุธให้กับผู้ได้รับการจ้างงานทั้ง 60,000 คนให้มีความพร้อมในการลงไปทำงานร่วมกับชุมชน รวมถึงรับมือกับโลกยุคใหม่ โดยสร้างหลักสูตรการพัฒนาทักษะ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการใช้เทคโนโลยี ด้านการเงิน ด้านภาษา และด้านสังคมที่มีบริบทเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาให้เครื่องมือของ อว. ติดตัวไปทำงาน ทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ตลอดจนฐานข้อมูล หรือ big data ที่เปรียบเสมือนแผนที่นำทางในการลงไปพัฒนาชุมชนครั้งนี้ เราตั้งใจจะต่อจิ๊กซอว์เล็กๆ เหล่านี้ให้เป็นภาพประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และที่สำคัญ U2T เป็นโครงการแรกในประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย 76 แห่ง อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และประชาชนลงไปทำงานชุมชนพร้อมกัน เปรียบเสมือนการออกทัพ และเมื่อจะรบแล้วเราต้องชนะ สำคัญที่สุดคือ ให้คนรู้ว่าบัดนี้เรานำมหาวิทยาลัยออกจากหอคอยงาช้างแล้วการเข้าไปช่วยชุมชนครั้งนี้เราไม่ได้แค่จะสอนชาวบ้านให้รู้จักวิธีจับปลา แต่เราจะช่วยแนะนำสร้างแหล่งเลี้ยงปลา สอนวิธีเลี้ยงปลาและช่วยหาหนทางนำปลาไปทำกับข้าวกิน หรือเอาไปขายสร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว เพราะโครงการนี้รัฐบาลอนุมัติเงินกู้กว่า 1 หมื่นล้านบาทให้มา เป็นเงินที่เรายืมจากลูกหลานในอนาคตมาใช้ หมายความว่า เราต้องคืนเงินนี้ และต้องใช้เงินนี้เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับพวกเขา ระยะเวลา 1 ปี คือวันแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งของผู้ได้รับการจ้างงาน 60,000 คน และชีวิตของคนใน 3,000 ตำบล และอีกความท้าทายคือ ต้องช่วยกันทำให้ประเทศของเราลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และแก้ปัญหาสังคม โดยเราจะสามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในปีแรกที่เราหวังไว้ได้ถึง 42,190 ล้านบาท จากต้นทุนเงินกู้ 1 หมื่นล้านบาท อีกด้านเรายังหวังให้เกิดเป็น “ชุมชน U2T” ซึ่งไม่ใช่เพียงคน 60,000 คนที่ได้รับการจ้างงาน แต่ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกมากมายทั้งชุมชนมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่รวมแล้วมีจำนวนกว่าแสนคน เราจึงสร้างแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ (online community platform) ขึ้นในชื่อเว็บไซต์ www.U2T.ac.th เพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีรูปแบบทันสมัยเหมาะกับสังคมยุคใหม่ เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ และเข้าใจภารกิจชัดเจน โดยเน้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย การนำเสนอภารกิจภายในตำบลอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำ Blog หรือ Vlog ของกิจกรรมในแต่ละตำบล การสร้างเว็บบอร์ดสำหรับแบ่งปันเรื่องราวของกิจกรรมที่ทำการสร้างการมีส่วนร่วมจากเรื่องราวที่แชร์ไปยังโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เป็นต้น รวมถึงเติมเต็มความรู้จากเรื่องราวของวิทยากรที่ประสบความสำเร็จและผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดเพื่อสร้างแนวคิดในการพัฒนาท้องถิ่นสร้างแรงบันดาลใจ และกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนร่วมในโครงการ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมแฮกกาธอน (Hackathon) เพื่อเฟ้นหาผลงานที่โดดเด่นและมีผลสัมฤทธิ์ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาท้องถิ่นให้กับตำบลอื่นๆ ต่อไป   ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine