Xi Jinping ผู้นำจีนต้องการทำให้จีนเป็นมหาอำนาจที่มีความโดดเด่นทางเศรษฐกิจและมีแสนยานุภาพทางการทหารชนิดที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธความยิ่งใหญ่ได้ภายในหนึ่งหรือสองชั่วอายุคน อินเดียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มองว่าตนเองมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น ผู้นำรัสเซีย Vladimir Putin ก็วาดฝันถึงการทำให้อาณาจักรของตนเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญระดับโลก
แต่สิ่งที่ประเทศเหล่านี้ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ก็คือ มีองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้อีก 2 อย่างที่นำไปสู่ความสำเร็จ นั่นก็คือฐานะทางการเงินที่ดี และการเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ ถึงแม้ว่าแนวคิดนี้จะเป็นแนวคิดพื้นฐาน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่บรรดาผู้นำซึ่งมีความทะเยอทะยานจะสามารถเข้าใจได้ • เนเธอร์แลนด์ ในช่วงต้นทศวรรษ 1500 ฮอลแลนด์เป็นเขตปกครองขนาดเล็กและถูกผนวกรวมอย่างไม่เต็มใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสเปน ในปี 1568 ชาวดัตช์ก่อกบฏและประกาศอิสรภาพได้สำเร็จ ที่สำคัญก็คือได้กลายเป็นอาณาจักรที่มีความสำคัญระดับโลก โดยมี Amsterdam เป็นเมืองมหาอำนาจทางการเงิน กุญแจสู่ความสำเร็จของชาวดัตช์ นอกจากการเคารพสิทธิส่วนบุคคลแล้ว ก็คือการมีสกุลเงินที่มีค่าดุจทองคำและระบบภาษีที่เอื้อประโยชน์ • สหราชอาณาจักร ในช่วงปลายทศวรรษ 1600 อังกฤษยังไม่ได้มีฐานะเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่ก็มีองค์ประกอบที่เป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สิทธิในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ สิทธิส่วนบุคคล และรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด อย่างไรก็ตาม อังกฤษยังขาดองค์ประกอบสำคัญ 2 อย่างดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในอังกฤษเมื่อ Isaac Newton ผู้ควบคุมโรงกษาปณ์ของอังกฤษได้ตัดสินใจผูกค่าเงินปอนด์กับทองคำในมูลค่าที่ใช้กันต่อเนื่องมาอีกกว่า 200 ปี เกาะขนาดเล็กและค่อนข้างห่างไกลอย่างอังกฤษได้กลายเป็นประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมและกลายเป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ • สหรัฐอเมริกา ในช่วงที่ได้รับอิสรภาพ อเมริกาเป็นการรวมตัวกันของอดีตอาณานิคม 13 แห่งที่ประสบกับภาวะล้มละลาย ด้วยการสนับสนุนอย่างชาญฉลาดของประธานาธิบดี George Washingtonรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่าง Alexander Hamilton ที่ได้วางระบบการเงินการคลังซึ่งไม่มีข้อบกพร่องและมีอัตราภาษีต่ำ โดยมีค่าเงินดอลลาร์ที่ผูกกับทองคำเป็นหัวใจสำคัญ หนึ่งศตวรรษต่อมา สหรัฐฯ กลายเป็นชาติมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมที่มีอาณาเขตกว้างขวางเท่ากับหนึ่งทวีป มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประชากรเหล่านั้นมีมาตรฐานการครองชีพที่นับว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์ คุณงามความดีของสิ่งที่ Hamilton รังสรรค์ขึ้นนั้นดำรงอยู่จนถึงช่วงทศวรรษ 1970 ประธานาธิบดี Richard Nixon ก็ยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ “เป็นการชั่วคราว” เจ้าพนักงานในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ซึ่งขาดความสามารถแบบ Hamilton และขาดความรู้ความเข้าใจถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดระบบการเงินการคลังที่เอื้อประโยชน์กับเศรษฐกิจนั้น ไม่สามารถสร้างระบบการกำหนดมูลค่าสกุลเงินของตนโดยอิงกับทองคำขึ้นมาใหม่ได้ พวกเขาหลงลืมไปว่าทองคำเป็นเหมือนมาตรวัดการกำหนดมูลค่าของสกุลเงินไว้ตายตัวโดยอิงกับโลหะมีค่าสีเหลืองอร่ามอย่างทองคำก็ไม่แตกต่างกับ “การกำหนด” ว่าความยาวหนึ่งฟุตเท่ากับ 12 นิ้ว กลไกของตลาดจะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมีการกำหนดน้ำหนักและการชั่งตวงวัดที่ตายตัว ซึ่งรวมถึงสกุลเงินที่มีมูลค่าตายตัวด้วย จากเหตุผลหลายประการ ทองคำรักษามูลค่าในตัวเองได้ดีกว่าสิ่งอื่นๆ หลังจากผ่านบททดสอบต่างๆ มาตลอดช่วง 4,000 ปีที่ผ่านมา ความผันผวนของราคาทองคำจริงๆ แล้วคือความผันผวนของมูลค่าของสกุลเงินที่มีการกำหนดค่าไว้ตายตัวนั่นเอง นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดี Nixon “หันหลังให้กับทองคำ” อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยลดลงประมาณ 1 ใน 3 หากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปในอัตราคงที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันน่าจะมีขนาดใหญ่กว่าที่เป็นอยู่นี้อีก 50% ฐานะทางการเงินที่มั่นคงและระบบภาษีที่เอื้อประโยชน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับเพิ่มมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น ประเทศต่างๆ ที่ต้องการเล่นตามระบบของสหรัฐฯ จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย ขณะเดียวกันผู้สังเกตการณ์และผู้นำระดับโลกจำนวนมากต่างคาดหวังหรือหวั่นกลัวว่าสหรัฐฯ จะประสบภาวะถดถอยในระยะยาว ทุกๆ 40 ปีโดยประมาณจะมีผู้รู้ซึ่งทรงอิทธิพลจมอยู่กับความแคลงใจถึงบททดสอบความแข็งแกร่งของอเมริกา แต่อย่างน้อยตอนนี้เราก็เริ่มเดินมาถูกทางแล้วในเรื่องของภาษี อย่างไรก็ตาม แม้เรายังไม่เข้าใจสัจธรรมของ Hamilton เกี่ยวกับค่าเงิน แต่นี่ก็คือโอกาสอันแท้จริงของประธานาธิบดี Trumpติดตามบทความและองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561 ในรูปแบบ e-Magazine