เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา
การลดค่าเงินของจีน เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงอันตรายของปัญหาที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และความบกพร่องของแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและจะสร้างปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองให้เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และทั่วทั้งโลกด้วย ซึ่งในระยะยาว มันอาจหมายถึงการสิ้นสุดยุคที่เงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลกก็ได้
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ:
• การลดค่าเงินของจีนไม่เหมือนกับการลดค่าเงินตามปกติทั่วไป แต่เป็นการตอบสนองต่อค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น (เพียงชั่วคราว) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากพิจารณาจากฐานของปริมาณการค้าถ่วงน้ำหนัก ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นมาแล้วถึง 22% นับจากกลางปี 2012 ก่อนที่จีนจะตัดสินใจลดค่าเงิน
• ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ถ้าหาก
Federal Reserve ไม่เปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยและเกณฑ์การควบคุมธนาคาร การปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะไม่เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงผู้บริโภคหรือธุรกิจขนาดเล็กที่เกิดใหม่ นอกจากนี้การที่
Fed ได้แช่แข็งเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์เอาไว้หมายความว่าภาวะเงินฝืด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้ง
Fed และธนาคารกลางทุกแห่งไม่อยากเห็นจะยังคงดำเนินต่อไป ส่วนค่าเงินหยวนก็น่าจะอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อย ในขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน ทองคำ และทองแดงน่าจะลดลง
•
การลดค่าเงินของจีนก็มีต้นทุนเช่นกัน มีบริษัทจีนและหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นจำนวนมากที่กู้เงินดอลลาร์มาใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยไม่นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี 1997–1998
•
จีนอาจจะใช้จังหวะที่ค่าเงินดอลลาร์ขาดเสถียรภาพตั้งศูนย์การเงินที่มีสกุลหยวนเป็นแกนกลางโดยอาจจับมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นอินโดนีเซีย เพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ลง ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้นกำลังสร้างความเสียหายให้กับค่าเงินและเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียอย่างอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้เมื่อรวมกับการที่
Obama ลดกำลังทหารและท่าทีที่อ่อนแอของสหรัฐฯ ในกรณีของอิหร่าน ISIS และรัสเซียแล้ว ปัญหาของค่าเงินดอลลาร์ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จีนจะจับมือกับประเทศในภูมิภาคเพื่อโดดเดี่ยวญี่ปุ่นและและลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นสูตรสำเร็จของการทำลายเสถียรภาพแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1930
• ถ้าเปรียบนโยบายการเงินสหรัฐฯ ในปัจจุบันเป็นบริษัทสักแห่งหนึ่ง มันคงถูกประกาศให้ล้มละลายไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในโลกคอมมิวนิสต์ทุกวันนี้อาจจะคิดว่าเงินเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ขับเคลื่อนและควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งนั่นมันไม่จริงเลย มันทำหน้าที่เพียงแค่เป็นตัววัดมูลค่าของสินค้าและบริการ เหมือนตาชั่ง หรือไม้บรรทัดเท่านั้นเอง ซึ่งจะทำหน้าที่ได้ดีก็ต่อเมื่อมูลค่าของมันมีเสถียรภาพเท่านั้น การที่
กระทรวงการคลังสหรัฐ และ
Federal Reserve ตัดสินใจที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ค่อยๆ อ่อนลงในช่วงต้นของทศวรรษที่แล้วทำให้เศรษฐกิจโลกสูญเสียโอกาสในการเติบโตไปนับเป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงทำให้สินค้าโภคภัณฑ์บูมขึ้นมาและดึงดูดให้เงินหลายพันล้านเหรียญไหลเข้าไปลงทุน
แนวคิดเบื้องหลังนโยบายดังกล่าวก็คือความเชื่อว่าถ้าราคาของสิ่งหนึ่งขยับขึ้นก็หมายความว่ามีความต้องการของสิ่งนั้นมากขึ้น แต่นั่นเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะราคาไม่ได้สะท้อนถึงความขาดแคลนสินค้าแต่สะท้อนถึงค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงต่างหาก ไม่ต้องบอกก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า การที่ค่าเงินดอลลาร์วิ่งขึ้นลงเป็นรถไฟเหาะอย่างนี้ส่งผลเสียหายต่อทุกประเทศ และถือเป็นเชื้ออย่างดีที่อาจก่อให้เกิดส่งครามค่าเงินและการกลับมาของระบบ
protectionism เหมือนในทศวรรษที่ 1930
แล้วจีนจะกลับมารุ่งเรืองได้อีกไหม
บางคนอาจจะมองว่าการลดค่าเงินของจีนเป็นแค่ความพยายามในการกระตุ้นการส่งออกมากกว่าการตอบสนองต่อค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น แต่ยังมีการดำเนินการของทางการจีนที่น่าเป็นห่วงอีกหลายอย่าง เช่น
- การออกเกณฑ์ควบคุมบริการทางการเงินแบบออนไลน์ ธนาคารกลางของจีนกำลังเตรียมออกเกณฑ์ที่เข้มงวดซึ่งจะจำกัดการให้บริการชำระเงินแบบออนไลน์โดยบุคคลที่สาม และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ Tencent บริการทางการเงินออนไลน์เหล่านี้ช่วยให้ประชาชนระดับล่างและธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ซึ่งกลุ่มเดียวที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้คือบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ของรัฐ แต่จะเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมหาศาล
- แนวคิดของ Keynes ใช้กับจีนไม่ได้ผล ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008-2009 จีนใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งใช้จ่ายด้านการก่อสร้างโดยผ่านระบบธนาคาร แต่การลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพและการเร่งใช้จ่ายโดยรัฐบาลไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งขึ้น ซ้ำร้ายยังทำให้ภาระหนี้บวมขึ้นทั้งประเทศอีกต่างหาก
- ความผิดพลาดเรื่องนี้นำไปสู่ความผิดพลาดอื่นๆ จีนได้เข้ามาควบคุมตลาดหุ้นที่ร้อนแรง และทำให้ตลาดร่วงลงมาอย่างแรง ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการแช่แข็งเกือบทั้งตลาด
ผมไม่คิดว่า
จีนกำลังมุ่งเข้าสู่ยุคของ
ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (stagnation) เหมือนญี่ปุ่น เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จะต้องพยายามเอาตัวเองให้รอด เศรษฐกิจจีนที่บูมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1978 คือสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ยังอยู่ได้มาจนถึงวันนี้ ดังนั้นไม่ช้าก็เร็ว รัฐบาลจีนก็จะต้องผลักดันการปฏิรูปในระดับเดียวกับเมื่อทศวรรษ 1990 ซึ่งน่าจะมีเรื่องของการลดภาษี ลดความซับซ้อนของระบบภาษี ยกเลิกเกณฑ์การควบคุมระบบการเงินแบบออนไลน์ ลดขั้นตอนในการเริ่มต้นธุรกิจ และพยายามผลักดันให้เกิดการเปิดเสรีตลาดทุน ซึ่งหากทำสำเร็จ ธุรกิจเล็กๆ ของจีนที่เคยถูกมองข้ามก็จะกลายเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อไปได้
STEVE FORBES
ประธานกรรมการและบรรณาธิการ
นิตยสาร Forbes สหรัฐอเมริกา
อ่านบทความอย่างผู้นำได้ที่ Forbes Thailand ในรูปแบบ E-Magazine