ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ในแวดวงยานยนต์แทบทุกค่ายต่างก็มุ่งพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ (self-driving car) แต่ไม่ใช่ Mazda เพราะ CEO อย่าง Masamichi Kogai เชื่อว่ายังมีคนอีกมากมายในโลกนี้ที่ชื่นชอบการได้นั่งหลังพวงมาลัยและเพลิดเพลินไปกับการขับรถ
Mercedes-Benz,
Cadillac,
Volvo รวมถึง
Google,
Tesla และลือกระทั่งว่า
Apple ด้วย ต่างก็แข่งขันกันเพื่อที่จะปลิดความสนุกในการขับรถไปจากบรรดาผู้ใช้รถในปัจจุบัน โดยค่ายรถส่วนใหญ่บอกว่าภายในห้าปีจะผลิตรถที่มีการพัฒนาระบบอัตโนมัติขั้นสูงที่สามารถจะเคลื่อนที่ได้เองทั้งในการจราจรแบบที่ต้องวิ่งๆ หยุดๆ และบนถนนหลวงโดยไม่ต้องอาศัยคนขับ เมื่อไม่นานมานี้ ค่าย
Volvo เพิ่งจะเปิดตัว
Time Machine ห้องโดยสารแห่งอนาคตซึ่งจะมีจอแบนขนาด 25 นิ้วเคลื่อนออกมาแทนที่พวงมาลัยซึ่งจะหดเข้าไป ในขณะที่เบาะคนขับเอนราบลงไป ส่วน
Google ก็กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับที่ไม่มีแม้แต่พวงมาลัยหรือคันเร่ง
นี่คืออนาคตที่กำลังจะมาถึง ซึ่ง
Elon Musk CEO ของ
Tesla ทำนายว่าในอนาคต “รถคันไหนก็ตามที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองจะมีมูลค่าติดลบ”
แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีมุมมองเหมือนกับ Musk “มันไม่ใช่แค่การเดินทางจากจุด A ไปยังจุด B”
Masamichi Kogai CEO ของ
Mazda บอก เขาอาจจะเป็นผู้นำของค่ายรถแถวหน้าเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้กำลังพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ “พันธกิจของเราคือการสร้างความพึงพอใจในการขับรถ”โดยเขาบอกอีกว่า “สำหรับผมแล้ว การขับรถก็เหมือนกับการอยู่บ้านนั่นแหละ...ทันทีที่ผมเข้ามาอยู่ในรถ ไม่มีใครจากโลกภายนอกจะมารบกวนผมได้ ผมอาจจะขับไปที่ทะเลสาบ หรือขึ้นภูเขา ผมไม่รู้หรอกว่าผมจะไปไหนจนกว่าผมจะไปถึงที่นั่นแล้ว”
Kogai มี road map ที่ชัดเจนสำหรับอนาคตของค่าย Mazda ซึ่งในอดีตต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อตามคู่แข่งอย่าง
Toyota และ
Nissan ให้ทัน จนถึงขั้นเกือบล้มละลาย และต้องประสบภาวะขาดทุนถึงหลายพันล้านเหรียญในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ต่อจากนั้น
Ford Motor ซึ่งถือหุ้น
Mazda ในสัดส่วนไม่มากนักมาตั้งแต่ปี 1979 ก็ได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดโดยมีหุ้น 33% และกุมอำนาจบริหารกิจการ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเงินโลกขึ้นในปี 2008
Ford ก็ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน
Mazda ลงเหลือ 14% และเมื่อถึงปี 2010 ก็ตัดขายส่วนที่เหลือทั้งหมดออกไป เมื่อถูก
Ford ขายทิ้งในขณะที่ผลประกอบการยังขาดทุนอย่างหนัก
Mazda จึงเคว้งคว้าง และขาดทุนต่อไปอีกเกือบ
3 พันล้านเหรียญในช่วงปี 2009-2012
Masamichi Kogai ถ่ายภาพคู่กับ Takashi Yamanouchi ประธาน Mazda Moter
Mazda ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องปรับกระบวนคิดในทุกด้านของธุรกิจ ตั้งแต่วิธีการออกแบบรถ และกระบวนการทางวิศวกรรม เรื่อยไปจนถึงวิธีการประกอบรถยนต์ ในช่วงนั้น
Kogai รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิต และต่อมาก็ก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง CEO ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา โดยเขาได้ทำการยกเครื่องระบบการผลิตทั้งหมดของ Mazdaใหม่ ปิดสายการผลิตที่ Michigan และเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าที่เม็กซิโก และร่วมลงทุนตั้งโรงงานขึ้นในรัสเซีย และเวียดนาม แต่การลดต้นทุนเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถแก้ปัญหาของ
Mazda ได้
แทนที่จะออกแบบรถทีละคัน แล้วให้ทีมงานฝ่ายผลิตหาวิธีว่าจะผลิตรถออกมาอย่างไร
Mazda หันมาใช้วิธีระดมความคิดของทีมงานจากทุกแผนก ทั้งนักออกแบบ วิศวกร ซัพพลายเออร์ พนักงานจัดซื้อ และผู้ชำนาญด้านการผลิต แล้วมาออกแบบสายการผลิตสำหรับอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้าด้วยกัน
ปัญหาที่ยากเย็นที่สุดที่ทีมงานต้องร่วมกันขบคิดคือ ทำอย่างไรถึงจะสามารถผลิตรถ
Mazda ที่ขับสนุกและยังเป็นไปตามมาตรฐานการประหยัดน้ำมันที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม โดยปราศจากงบสำหรับการวิจัยและพัฒนารถไฮบริดหรือรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า
Mazda ได้เปลี่ยนจุดอ่อนนี้มาเป็นจุดแข็ง ด้วยการเปลี่ยนมุมคิดแบบเดิมๆ ด้วยการตั้งทฤษฎีว่า บริษัทสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายได้ด้วยการใช้เครื่องเบนซิน แม้ว่าจะต้องมีการปรับแบบกันอย่างยกใหญ่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ทีมงานของ Mazda จึงทำการพัฒนาเครื่องยนต์ใหม่หมด ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการจุดระเบิดสูงจนถึงระดับที่ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใดกล้าทดลอง เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้เครื่องน็อค แต่เนื่องจาก
Mazda เริ่มกระบวนการออกแบบใหม่ทั้งหมด ดังนั้นจึงสามารถชดเชยด้วยการออกแบบระบบการปล่อยไอเสีย แชสซี และตัวถังใหม่ทั้งหมด ซึ่งทำให้ได้เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพตามต้องการ โดยประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น 15% เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์รุ่นก่อน และก็มีการนำไปใส่ไว้ในรถรุ่นใหม่ๆ
ในการออกแบบและผลิตเครื่องยนต์ตัวใหม่นี้
Mazda ได้ออกหุ้นใหม่และกู้เงินรวม 2.7 พันล้านเหรียญในปี 2012 ซึ่งถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่สำหรับบริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งในการที่จะพยายามแข่งขันกับคู่แข่งที่ใหญ่กว่าในตลาดโลก
แต่ก็ปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผล เพราะมันทำให้
Mazda สามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้ในช่วงสามปีที่ผ่านมา
หลังจากที่ประสบปัญหาหนักหลังจากที่ถูก
Ford ขายทิ้ง ในปีงบประมาณที่สิ้นสุด 31 มีนาคม 2015
Mazda มีกำไรสุทธิ
1.3 พันล้านเหรียญ และมีรายได้
2.5 หมื่นล้านเหรียญ โดยที่ยอดขายรถเพิ่มขึ้น 12% จากปี 2012

นอกจากนี้ เมื่อปี 2011
Mazda หยุดผลิตรถรุ่น RX-8 ซึ่งขายไม่ดี ก็มีคนออกมาส่งเสียงคัดค้านกันมาก แต่ Kogai ก็ทำให้สาวกของรถสปอร์ต
Mazda เริ่มใจชื้นขึ้นอีกครั้ง โดยในงานมอเตอร์โชว์ที่โตเกียวเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เขาได้เปิดตัว
RX-Vision ซึ่งเป็นแนวคิดการผลิตรถสปอร์ตที่ทำให้แฟนๆ รถ
Mazda ถึงกับน้ำลายหก ซึ่งเมื่อถูกถามว่า
Mazda จะสร้างรถที่ว่านี้ออกมาจริงๆ หรือเปล่า
Kogai ก็ยิ้มและตอบแบบเขินๆ ว่า “เครื่องยนต์แบบเดียวที่ผมคิดว่าจะใส่ในรถคันนั้นได้ก็คือเครื่อง rotary เท่านั้น”เชื่อได้เลยว่าถ้า Mazda ผลิตออกมาขายจริงล่ะก็ คงมีแฟนๆ ต่อคิวรอซื้อกันเพียบ
เรื่อง: Joann Muller เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา
คลิ๊กอ่าน "หวนคืนสู่อดีตเพื่ออนาคต" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 ได้ในรูปแบบ E-Magazine
