ทำงานออฟฟิศ ไม่ฟิตไม่ได้ - Forbes Thailand

ทำงานออฟฟิศ ไม่ฟิตไม่ได้

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Apr 2016 | 02:23 PM
READ 13221
เมื่อดูจากสถานการณ์โดยรวมของบริษัทต่างๆ ใน Silicon Valley แล้ว Fitbit ไม่น่าจะอยู่รอดได้เลย เพราะบริษัทเริ่มต้นจากการขายอุปกรณ์ gadget สวมใส่เพื่อติดตามการทำกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่กิจการ startup ที่ผลิต hardware ส่วนใหญ่ กำลังอยู่ในภาวะยากลำบากในการหาเงินทุน แต่ในตอนเริ่มต้น เจ้าของทั้งสองขายสินค้าไม่ออกสักชิ้นและไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าควรตั้งราคา ที่เท่าไร ยิ่งไปกว่านั้น ในปีที่แล้ว Apple ก็ยังคลอดนาฬิกา smartwatch ออกมาซึ่งทำให้ผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีประเภทสวมใส่ (wearable) กระเจิดกระเจิงไปตามๆ กัน แต่ Fitbit กลับยังยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง และยังคงรักษาแชมป์ในแง่จำนวนยอดจำหน่ายอุปกรณ์ประเภทนี้เอาไว้ได้ ในขณะที่ James Park และ Eric Friedman ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสามารถระดมทุนได้ถึง 841 ล้านเหรียญจากการขายหุ้น IPO ซึ่งถือเป็นหนึ่งในดีลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในปี 2015 โดยคาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิถึง 215 ล้านเหรียญจากยอดรายได้ 1.8 พันล้านเหรียญในปี 2015 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2014 ถึงเท่าตัว แม้รายได้และกำไรจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ เพราะส่วนแบ่งตลาดของบริษัทในสินค้าประเภท wearable หดลงจาก 33% เหลือ 22% ในปีที่แล้ว จากการที่ Apple และ Xiaomi ของจีนนำสินค้าของตนออกวางตลาด เพราะ smartwatch ของ Fitbit รุ่น Surge ราคา 250 เหรียญที่ไฮเทคที่สุดแล้วยังห่างชั้นจาก Apple Watch หรือ Samsung Gear อีกไกล นักวิเคราะห์คาดว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะหันไปใช้นาฬิกาที่ทำอะไรได้ มากกว่าแค่การนับก้าว และเมื่อถึงที่สุดแล้ว อุปกรณ์เพื่อติดตามกิจกรรมด้านสุขภาพก็น่าจะไปกองอยู่ก้นลิ้นชักเก็บถุงเท้า หลังจากใช้งานไปได้แค่ไม่กี่เดือน แต่ Fitbit ก็ยังอยู่ได้เพราะได้อานิสงส์จากตลาด corporate wellness ซึ่งเป็นตลาดที่ไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไหร่ ทั้งนี้นายจ้างอเมริกันประมาณ 80% มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อกิจกรรม อย่างเช่น การให้เงินอุดหนุนค่าสมัครเป็นสมาชิกฟิตเนส หรือ จัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาเพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพแข็งแรง โดย Fidelity Investments ประเมินว่ามีการใช้งบในส่วนนี้เฉลี่ย 693 เหรียญต่อพนักงานหนึ่งคน และ Fitbit ก็มุ่งเป้าไปที่งบก้อนนี้ตั้งแต่วันแรกที่บริษัทเริ่มวางจำหน่ายสินค้าในปี 2009 และคาดว่าในปีนี้จะกวาดเงินจากนายจ้างนับพันๆ รายในสหรัฐฯ ได้ถึง 180 ล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้กลุ่มลูกค้าบริษัทกลายเป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุดของ Fitbit โดยมีบริษัทอเมริกันขนาดใหญ่มากกว่า 70 บริษัทที่สั่งซื้ออุปกรณ์จาก Fitbit เป็นจำนวนมากเพื่อให้พนักงานใช้ อาทิ Barclays ซึ่งจะช่วยอุดหนุนค่าซื้อ Fitbitให้กับพนักงาน 75,000 คน ผู้ผลิตอุปกรณ์ wearable เจ้าอื่นอย่างเช่น Jawbone และ Misfit ก็ขายอุปกรณ์ให้กับนายจ้างในตลาดนี้เช่นกัน แต่ยังสู้ Fitbit ไม่ได้ จุดเริ่มต้นของ Fitbit นั้นย้อนหลังไปถึงเช้าวันที่อากาศหนาวเหน็บในเดือนพฤษภาคมที่ San Francisco ในปี 2006 เมื่อ Park ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งต้องยืนตัวสั่นทนสู้กับความหนาวเพื่อต่อคิว ซื้อเกมส์ Nintendo Wii และเมื่อเขานำเกมส์ที่ซื้อมากลับไปที่บ้านก็ต้องตะลึงกับการจัดส่วนผสมอย่าง ลงตัวระหว่างเซ็นเซอร์ที่ซับซ้อนกับการเชื่อมต่อแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมาซึ่งทำให้ทั้งเด็กและคนแก่สามารถใช้งานได้อย่างง่ายๆ ในตอนนั้น เขารีบโทรศัพท์ไปหา Eric Friedman ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของเขาในกิจการ startup ก่อนหน้านี้ “ผมมีไอเดียดีๆ” สำหรับจะสร้างเครื่องนับก้าวซึ่งมีทั้งความซับซ้อนและสามารถใช้งานได้ง่าย เหมือนกับเครื่อง Wii โดยทั้งสองบินไปเจอกันที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีการใช้งานเครื่องนับก้าวอย่างแพร่หลาย เพื่อทำการสำรวจว่าคนที่นั่นใช้เครื่องนับก้าวกันอย่างไร ต่อมาในปี 2008 Friedman ได้ซื้อกล่องไม้เล็กๆ และติดตั้งแผงวงจรไว้ข้างในซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ต้นแบบของ Fitbit หลายเดือนต่อมา หลังจากที่เริ่มวางจำหน่าย Fitbit Tracker ราคา 99 เหรียญ Park และ Friedmanก็ได้รับโทรศัพท์จาก Vickie Lee ซึ่งเป็น vice president ฝ่ายบุคคลจากบริษัทผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ Tokyo Electron ที่มีสำนักงานในเมือง Austin รัฐ Texas เธอกำลังอยู่ระหว่างการวางแผนโครงการดูแลพนักงานของบริษัทเป็นครั้งแรก ดังนั้นบริษัทของเธอจึงควักเงิน 120,000 เหรียญเพื่อซื้อ Tracker ให้พนักงานของบริษัทคนละเครื่อง นักวิจัยของ Fitbit กำลังทำงานกันอย่างหนักเพื่อหาวิธีใหม่ๆ ในการที่จะติดตามภาวะสุขภาพ โดยเมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของการที่จะสร้างเครื่องที่มีเซ็นเซอร์สำหรับ ติดตามระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อเจาะเข้าไปสู่ตลาดของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน Shelton Yuen หัวหน้าแผนก R&D ซึ่งทีมงานของเขาสร้างเซ็นเซอร์สำหรับวัดการเต้นของชีพจรจากม่านตาได้สำเร็จ ก็เพียงแค่บอกว่า “ไม่มีความเห็น” เท่านั้น ใครจะไปรู้ว่าบางทีคนที่จะสามารถแก้ปัญหายากๆ ได้อาจเป็นคนที่อยู่เหนือความคาดหมายของเราก็ได้   เรื่อง: Parmy Olson เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา
คลิ๊กอ่าน "ทำงานออฟฟิศ ไม่ฟิตไม่ได้" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 ในรูปแบบ E-Magazine