เมื่อ Google Document กลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับผู้ลี้ภัยกว่า 2.8 ล้านราย นับตั้งแต่กองทัพรัสเซียเข้ารุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022
ปัจจุบัน Google Document หรือที่รู้จักกันในชื่อ Google Doc ความยาวมากกว่า 89 หน้า ถูกใช้เพื่อแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการเดินทางข้ามพรมแดน ไปจนถึงขั้นตอนการรับความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย อาหาร การรักษาพยาบาล การจ้างงาน และข้อกฎหมายในทุกพื้นที่ทั่วโลก
ด้าน Svitlana Guzeveta ผู้ซึ่งรอจนถึงวินาทีสุดท้ายเพื่อลี้ภัยจาก Kyiv ไปฝรั่งเศสพร้อมกับลูกวัย 3 ขวบของเธอ ยืนยันว่า ‘เอกสารฉบับนี้มีมูลค่ามหาศาล’ โดยเธอระบุว่า เธอและน้องสาวสามารถเข้าถึง Google Doc ผ่านโทรศัพท์เพื่อค้นหาเส้นทางที่สั้นที่สุดในการข้ามพรมแดน
“ทุกวันมีคนจำนวนมากเพื่อรอคิวขึ้นรถไฟออกนอกประเทศ หรือแม้แต่ถนนก็มีรถติดเป็นแถวยาวเหยียด” เธอกล่าวพร้อมเสริมว่า “การหาเส้นทางที่เร็วที่สุดเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะเราอยู่กับเด็กๆ ฉันรู้ว่าลูกสาวของฉันไม่สามารถใช้เวลา 2 คืนบนรถได้” ซึ่งนอกจากการหาเส้นทางแล้ว Guzeveta ยังใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าวเพื่อค้นหาครอบครัวที่พร้อมให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่เธอเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ระดับรากหญ้านี้จะไม่เกิดขึ้นได้หากไร้ซึ่งการริเริ่มของ Alina Vandenberghe ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มสร้างรายได้ Chili Piper กับ Nicolas สามีของเธอในปี 2016
Vandenberghe ซึ่งเกิดในโรมาเนียในยุคสมัยที่มีการปฏิวัติระบอบคอมมิวนิสต์ให้สัมภาษณ์กับ Forbes ว่า เธอรู้สึกเห็นอกเห็นใจแม่ที่พยายามข้ามพรมแดนพร้อมกับลูกๆ ของพวกเธอ “ฉันมีลูกชายตัวน้อย 2 คน” เธอกล่าว “ฉันรู้สึกเจ็บปวดที่ครอบครัวเหล่านี้ต้องพลัดพรากจากกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแม่ที่ต้องดูแลลูกโดยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคู่รักของพวกเธอบ้าง”
ณ วันนี้ ความพยายามของ Vandenberghe ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานด้านการกุศลของ Chili Piper, Citizens of our Planet (COOP) และ Techfugees ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
โดยอาศัยทีมอาสาสมัครหลัก 10 รายร่วมกับอาสาสมัครอื่นๆ ทั่วโลก ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของรัฐบาลและหน่วยงานด้านมนุษยธรรม ไปจนถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ และกรอกข้อมูลลงใน Google Doc แล้วจึงเผยแพร่สู่สาธารณะขณะที่ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบจะถูกจัดเก็บไว้อีกส่วน
ทั้งนี้ นอกจากผู้ลี้ภัยที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เช่น Guzeveta ที่สามารถเข้าถึงเอกสารผ่านโทรศัพท์ของพวกเธอได้แล้ว ยังมีผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมากที่ได้รับทราบข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในเอกสารดังกล่าวจากการบอกเล่าและแนะนำของเพื่อนและญาติเช่นกัน
ล่าสุด Vandenberghe ซึ่งมีบริษัทที่ทำรายได้ราว 20 ล้านเหรียญในปี 2021 วางแผนที่จะระดมทุนอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญ เพื่อบริจาคให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่น และนอกจากนี้ Chili Piper ยังได้สร้างพอร์ทัลในชื่อ BRIDGE ซึ่งเชื่อมโยงซัพพลายเออร์ที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น อาหารและยากับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ทั้งยังแสดงให้ซัพพลายเออร์และผู้บริจาคเห็นด้วยว่าผ่านไปแล้วกี่ชั่วโมงนับตั้งแต่มีการโพสต์คำขอความช่วยเหลือ
จากรายละเอียดดังกล่าว จึงเป็นงานประเภทเดียวกันที่ Mike Butcher ต้องการทำเมื่อเขาเปิดตัว Techfugees ในปี 2015 "คุณไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตผู้ลี้ภัยด้วยแอปพลิเคชันได้" ผู้ประกอบการและบรรณาธิการของ TechCrunch ซึ่งบริหารองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ได้ช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นมากกว่า 80 ล้านราย ด้วยการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาระบบภายในของ NGO กล่าวกับ Forbes
ด้าน Butcher ซึ่งเติบโตมากับการเล่นฟุตบอลกับผู้ลี้ภัย ก่อตั้ง Techfugees เพื่อรับมือกับวิกฤตผู้ลี้ภัยในซีเรีย ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ เช่น การยืนยันตัวตนของพนักงาน NGO การจัดหางานทางไกลสำหรับผู้ลี้ภัย และการจัดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม “ในบางครั้งหากโชคไม่ดีก็มีการแฝงตัวของผู้ค้ามนุษย์ในรูปแบบของ NGO ที่ลักพาตัวผู้ลี้ภัยไป ฉะนั้นผมรู้สึกว่าเราสามารถช่วยเหลือ NGO ได้โดยการเปิดตัวแพลตฟอร์มการตรวจสอบบัตรประชาชน ร่วมกับพันธมิตรของเรา”
แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ How One Google Doc Is Helping Thousands Of Ukrainian Refugees Navigate Borders เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Arkady Volozh ซีอีโอ Yandex สูญเสียกว่า 2 พันล้านเหรียญฯ นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน