“Best Global Private Bank” สำหรับคนไทย เป้าหมายใหญ่ที่ “บล.ภัทร” ต้องไปให้ถึง
สร้างชื่อในฐานะหนึ่งในผู้นำตลาดธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) หรือ ไพรเวทแบงก์ระดับประเทศ มาอย่างต่อเนื่องถึง 20 ปี การันตีด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ไม่พอยังมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUM) กว่า 5.6 แสนล้านบาท
วันนี้บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ บล.ภัทร บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร พร้อมแล้วที่จะก้าวไปอีกขั้นด้วยความมั่นใจ หลอมรวมทั้งประสบการณ์และจุดแข็งครบครัน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรคุณภาพหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกประเภทสินทรัพย์ทั้งไทยและ ต่างประเทศ พร้อมทะยานสู่การเป็น “Best Global Private Bank” สำหรับคนไทย และวางเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี จะสามารถเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำมาอยู่ในระดับ 1 ล้านล้านบาท
ก่อนที่จะขยายความถึงหลากหลายจุดแข็งที่ทำให้บล.ภัทรกล้าฝันใหญ่ และมั่นใจว่าเป้าหมายอยู่ไม่ไกล เกินเอื้อม ณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษา การลงทุนส่วนบุคคล บล.ภัทร เผยถึงตัวแปรสำคัญที่เอื้อให้ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งเติบโตอย่างต่อเนื่องว่า ปัจจัยสำคัญมาจากทิศทางดอกเบี้ยที่ยังคงมีแนวโน้มลดลง และคาดว่าจะยังเป็นเช่นนี้ไปอีกสักระยะ ทำให้กลุ่มผู้ที่มีความมั่งคั่งจำเป็นต้องออกมาแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ชี้ชัดว่า ปัจจุบันเงินฝากในระบบของธนาคารพาณิชย์มีอยู่ 14 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 7 ล้านล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า ยังมีเม็ดเงินอีกมหาศาลที่รอจังหวะแสวงหา ผลตอบแทนในตลาดการลงทุนมากขึ้น
ปัจจัยถัดมาเป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การต่อยอดธุรกิจครอบครัวเริ่มจำกัด ในขณะที่ธุรกิจยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มาก จึงมีการส่งต่อความมั่งคั่งในรูปแบบเงินปันผลเพื่อให้ทายาทนำไปแสวงหาการลงทุนใหม่ๆ
“จากปัจจัยที่กล่าวมา ส่งผลให้บล.ภัทรเองมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากในช่วงเริ่มต้นมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำประมาณ 2 หมื่นล้านบาท วันนี้เรามีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การดูแล 5.6 แสนล้านบาท มีฐานลูกค้าประมาณ 2,500 ครอบครัว เรียกว่าจาก 50 อันดับ อภิมหาเศรษฐีไทยที่จัดโดยนิตยสารฟอร์บส์ ประเทศไทย ประมาณ 80% เป็นลูกค้า บล. ภัทร”
สำหรับจุดแข็งที่ทำให้บล.ภัทรได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามายาวนาน ท่ามกลางสภาวการณ์แข่งขันในธุรกิจ ณฤทธิ์ เฉลยว่านอกจากประสบการณ์ที่สั่งสมจนเชี่ยวชาญ ผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่เชื่อว่าครบและครอบคลุมประเภทสินทรัพย์มากที่สุดแล้ว ยังมีอีก 3 จุดเด่นที่ทำให้เหนือคู่แข่ง เริ่มตั้งแต่การให้บริการที่ไร้รอยต่อ (Seamless Platform) เนื่องจากบล.ภัทรถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงแห่งเดียวที่เป็นบริษัท หลักทรัพย์ ต่างจากผู้ให้บริการที่เป็นธนาคารที่จำเป็นต้องมีผู้ถือใบอนุญาตนายหน้าการซื้อขายหลักทรัพย์มารับช่วงต่อสำหรับบริการด้านตลาดทุน แต่ในขณะเดียวกันด้วยความที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร ก็ทำให้บล.ภัทรมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุมฝั่งธนาคารด้วย จึงถือเป็นจุดต่างที่เติมเต็มธุรกิจได้เป็นอย่างดี
“นอกจากนี้ บล.ภัทรยังใช้หลัก Open Architecture ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการดีไซน์รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ทำให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับเลือกลงทุนที่เปิดกว้างและไม่จำกัดด้วยสังกัดของผู้ออกผลิตภัณฑ์ เสริมด้วยการให้คำแนะนำที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นส่วนตัวของ Financial Consultant (FC) แต่มี Chief Investment Office (CIO) และ Investment Solution เป็นผู้ให้แนวทางและวางมาตรฐานของการลงทุนที่เหมาะสมโดยมีพื้นฐานอยู่บนข้อมูลและบทวิเคราะห์คุณภาพทั้งจากบล.ภัทรและสถาบันการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่ง”
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นบทพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของบล.ภัทรที่ไม่เคยเปลี่ยน และทำให้ผู้บริหารหนุ่มกล้าประกาศว่า “วันนี้เราเชื่อว่าเราเป็น “Best Local Private Bank” อยู่แล้วด้วยหลายจุดแข็งที่กล่าวมา แต่เป้าหมาย ต่อไปของเราคือ การเป็น “Best Global Private Bank” สำหรับคนไทยให้ได้”
ถามว่าทำไม บล.ภัทรจะไปสู่ระดับโกลบอลทั้งทีแต่ยังโฟกัสสำหรับคนไทย
คำถามนี้ ณฤทธิ์ เฉลยได้ทันทีว่า “เพราะเราเชื่อว่าเราเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของนักลงทุนไทยมากที่สุด และขณะเดียวกันก็มีผลิตภัณฑ์และบริการทางเงินที่ครบถ้วนไม่แพ้ไพรเวทแบงก์ต่างชาติ เรียกว่าครอบคลุมทุกประเภทสินทรัพย์ไม่ว่าหุ้น พันธบัตร กองทุนรวม ETF Structure Notes สินทรัพย์นอกตลาด (Private Market) หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์นอกประเทศ ผ่านบริการที่เรียกว่า Global Investment Service (GIS)”
ผ่านมาจะเห็นว่ากลุ่มบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูงยังมี Home Country Bias หรือ เลือกจะลงทุนเฉพาะกับสินทรัพย์ในประเทศ เนื่องจากมีความคุ้นเคยมากกว่า ทั้งที่ในความจริงแล้วการลงทุนในประเทศยังมีข้อจำกัด ไม่ว่าในแง่ขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไทยคิดเป็นเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั่วโลก หรือในแง่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมที่ในไทยยังไม่มีเหมือนในต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ระดับสูง อุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตลอดจนในแง่ความซับซ้อนของการลงทุน เนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางอย่างจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและโครงสร้างกฎหมายที่ยังไม่มีในเมืองไทย ดังนั้นการลงทุนในตลาดไทยอย่างเดียวอาจทำให้มีการกระจุกตัวของ ความเสี่ยงและเสียโอกาสการลงทุนหลายอย่างได้
“ดังนั้น เพื่อขยายขอบฟ้าใหม่ของการลงทุน บริการ GIS จึงช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุนในกองทุน จากบลจ.ต่างประเทศชั้นนำได้โดยตรง โดยไม่ต้องรอว่าจะมีกองไหนมาตั้งเป็นกองทุน FIF ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกถึง 6 บลจ.แล้ว และมีแผนจะขยายเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น บล.ภัทรยังจับมือกับ Private Equity Firm ที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกให้นักลงทุนไทยได้เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ Private Market ด้วย ทั้งที่ปกติแล้วสินทรัพย์ประเภทนี้จะไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปลงทุน เพราะมีมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำสูง และมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นเวลานาน แต่ก็แลกกับผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงถึง 15-20% โดยบล.ภัทรประเดิมกองทุนแรกไปแล้ว ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ”
นอกจากบล.ภัทรจะเดินเกมรุกครั้งสำคัญในการต่อยอดการบริหารความมั่งคั่ง ด้วยการเปิดมิติใหม่แห่งโอกาสการลงทุน ณฤทธิ์ ยังสะท้อนถึงมุมมองการส่งต่อความมั่งคั่งอย่างน่าสนใจว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งผ่านธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นจะอยู่ที่ 8.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดย 1 ใน 4 ของมูลค่าดังกล่าวจะมีการเปลี่ยน ธนาคารหรือผู้ดูแลความมั่งคั่งตามความชอบของทายาทผู้รับช่วงธุรกิจ ดังนั้น ปรากกฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นทั้งโอกาสของธนาคารใหม่ และความท้าทายของธนาคารเก่าว่าจะรักษาฐานลูกค้าไว้อย่างไร
สำหรับประเด็นนี้ กุลนันท์ ซานไทโว กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานลูกค้าบุคคล เสริมว่า ความได้เปรียบของบล.ภัทร คือ ไม่ได้คัดสรรผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากโอกาสทางการลงทุนที่ไร้ข้อจำกัดอย่างแท้จริงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการ ส่งต่อความมั่งคั่งอย่างราบรื่นไม่น้อยไปกว่าการเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน
การส่งต่อความมั่งคั่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่าการใช้ธรรมนูญครอบครัว เพราะมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าเป็นกฎหมายภาษีที่ดินมรดก การปรับโครงสร้างธุรกิจ หรือ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้การวางแผนสืบทอดกิจการ และบริหารจัดการผู้สืบทอดธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญ ทางบล.ภัทรซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ จึงมีบริการให้คำปรึกษาโดยเฉพาะเช่นกัน” กุลนันท์ ทิ้งท้าย